ถ้าให้ยกตัวอย่างศิลปินญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักของคนไทย คนส่วนมากมักจะยกตัวอย่างศิลปินชื่อดังเช่น ป้าลายจุด ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) เจ้าพ่อดอกไม้หลากสีอย่าง ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ศิลปินในวงการถ่ายรูปอย่าง ไดโดะ โมริยามะ (Daido Moriyama) หรือเจ้าพ่อสายมัดอย่าง โนบุโยชิ อารากิ (Nobuyoshi Araki) แต่ถ้าถามคนในวงการศิลปะจัดวาง (installation art) แล้ว หนึ่งในชื่อที่ต้องโผล่ขึ้นมาแน่ๆ ก็คือชื่อของศิลปินหญิงตัวกระทัดรัดแต่ฝีมือร้ายกาจอย่าง ชิโอตะ ชิฮารุ (Shiota Chiharu) ศิลปินจัดวางและแสดงสดที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะญี่ปุ่น
ตลอดการทำงานนาน 25 ปี เธอมีงานแสดงกว่า 300 ครั้งทั่วโลก โด่งดังในในฐานะศิลปินที่สำรวจเรื่องความสัมพันธ์และความเป็นความตายได้ลุ่มลึกที่สุดคนหนึ่ง และได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนญี่ปุ่นเพียงผู้เดียวจากศิลปินทั้งประเทศในงาน Venice Biennale ครั้งที่ 56 เมื่อปี 2015
และตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน จนถึง 27 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2562 นี้เอง ที่พวกเราจะได้มีโอกาสสัมผัสผลงานเด่นๆ ทั้งหมดของเธอในงาน ‘Shiota Chiharu: The Soul Trembles’ ที่พิพิธภัณฑ์ Mori Art Museum กลางกรุงโตเกียว
จากโรคร้าย สู่แรงสร้างสรรค์
นับแต่เริ่มทำงานศิลปะในปี 1994 เธอทำงานสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งงานจัดวาง แสดงสด ประติมากรรม และภาพวาด คว้ารางวัลต่างๆ ทั่วโลก ได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำในต่างประเทศ ทว่าการทำงานหนักตลอดหลายสิบปีก็ทำให้สุขภาพของเธอแย่ลงจนโรคร้ายเริ่มเพรียกหา เธอได้รับการวินัจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในปี 2005 ต้องเข้ารับการรักษาจนหายดี ก่อนกลับไปทำงานหนักยิ่งกว่าเดิม
แต่แล้วโรคมะเร็งก็กลับมาเยือนเธออีกครั้งในปี 2017 อย่างร้ายแรงกว่าเก่า ครั้งนี้เธอต้องเข้ารับการรักษาด้วยคีโมและการผ่าตัด ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อการรักษา แต่แทนที่จะหมดกำลังใจ โรคร้ายกลับผลักดันให้เธอจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อ “ทบทวนและพูดคุยกับตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจ” ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวชีวิตการทำงานตลอด 25 ปี เปิดเผยถึงความเป็นมาและพัฒนาการของชิ้นงานทั้งหมดที่เธอเคยทำครบถ้วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เข้าชมงาน
ผู้เขียนไปชมนิทรรศการประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศกรุงโตเกียวหน้าฝนขมุกขมัว ผู้เขียนมั่นใจว่าคงจะต่อคิวเข้าชมงานไม่นานเพราะวันนั้นเป็นวันธรรมดา แต่เมื่อขึ้นลิฟท์ไปถึงชั้นบนก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบคนเป็นร้อยอัดแน่นยาวลงบันไดเป็นร้อยเมตร ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าเป็นเพราะวันนี้เป็นวันหยุด Marine Day ของคนญี่ปุ่นนั่นเอง ต้องบอกว่าอดชื่นใจไม่ได้ที่คนญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นเลือกที่จะมาชมผลงานศิลปะในแกลเลอรี่กันอุ่นหนาฝาคั่งในวันหยุดแบบนี้
หลังฝ่าคิวเข้าไปได้ ทางสตาฟก็พาผู้เขียนขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 52 ของตึก Mori Tower ที่ตั้งของนิทรรศการ เมื่อผู้เขียนเข้าไปถึงโถงของงาน ก็ต้องตื่นตาตื่นใจเมื่อเห็นงานชิ้นใหญ่นับสิบเมตรลอยอยู่เหนือบันไดเลื่อนด้านหน้า นี่คืองานชิ้น ‘Where Are We Going?’ (2008) ที่เป็นโครงเหล็กรูปเรือ ทอด้วยด้ายสีขาว ห้อยด้วยด้ายสีดำนับพันเส้น คล้ายเชื้อเชิญให้พวกเรานั่งเรือเข้าไปชมงานศิลป์ที่อยู่ด้านบน
เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้เห็นชิ้นงานหลักที่เป็นดาราประจำงานครั้งนี้ นั่นคือห้องเรือแดง หรืองาน ‘Uncertain Journey’ (2016) ที่เต็มไปด้วยโครงเรือบนพื้น พันด้วยด้ายสีแดงที่พุ่งขึ้นไปยังเพดานและพันกันไปทั่วห้อง เหมือนความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายที่เรามีโอกาสได้พบเมื่อนั่งเรือไปถึงจุดหมาย ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นด้ายสีแดง ทางคุณชิโอตะเองได้บอกไว้ว่า สีแดงนั้นเหมือนสีของเลือดที่ทำให้ทุกอย่างมีชีวิต และถ้ามองอีกนัยหนึ่ง ด้ายแดงเหล่านี้ก็เหมือนด้ายในตำนานด้ายแดงของคนญี่ปุ่น ที่คู่แท้ทุกคนจะมีด้ายแดงล่องหนคล้องนิ้วก้อยของทั้งสองคนเอาไว้ มีหน้าที่ดึงให้ทั้งคู่มาเจอกันในวันที่เหมาะสม
หลังเดินผ่านสองงานใหญ่คับห้อง ผู้เขียนก็พบตัวเองอยู่ในโถงทางเดินเล็กๆ สีดำที่เต็มไปด้วยรูปต่างๆ เต็มผนัง ที่นี่เองที่ตัวนิทรรศการเริ่มเล่าถึงชีวิตของชิโอตะตามหัวข้อและเทคนิคที่เธอสนใจตั้งแต่ตอนยังเป็นนักศึกษาจนถึงตอนที่เป็นศิลปินมืออาชีพมีชื่อเสียงในปัจจุบัน
ลำดับชีวิต
เมื่อเข้ามาในทางเดินนี้ ผู้เขียนก็ต้องประหลาดใจเมื่อเห็นภาพวาดฝีมือเด็กน้อยบนผนังด้ายซ้าย ในรูปเต็มไปด้วยดอกไม้หลากสี ลายเส้นน่ารัก นี่คือผลงานของเด็กหญิงชิโอตะตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งเธอเขียนอธิบายไว้ว่า “ฉันเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก สงสัยเป็นเพราะอย่างนี้ฉันถึงได้โตมาเป็นศิลปิน” เหตุผลที่เธอนำรูปวัยเด็กของเธอมาจัดแสดงก็เพื่อเปรียบเทียบกับรูปข้างๆ ที่เป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ สมัยเป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรม วิทยาลัย Kyoto Seikan สีสันของรูปสีน้ำมันสดใสไม่แพ้รูปวาดวัยเด็กของเธอ แต่ที่คำบรรยายข้างๆ นั้นกลับเต็มไปด้วยความปวดร้าวตรงกันข้ามกับสีสันในภาพโดยสิ้นเชิง
“นี่คือผลงานที่ฉันวาดด้วยอุปกรณ์ศิลปะทั่วไปเป็นชิ้นสุดท้ายในชีวิต ฉันวาดรูปนี้ด้วยความอึดอัด เหมือนความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดด้วยฝีแปรงและเนื้อสีหยาบกร้าน จนฉันเสนอความรู้สึกข้างในออกมาไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าคนเราจะทำงานศิลปะต้องใช้แค่อุปกรณ์พวกนี้อย่างเดียว ฉันว่าฉันเลิกดีกว่า” นี่คือความรู้สึกของชิโอตะในโมงยามท้อแท้ขณะเรียนมหาวิทยาลัยที่บังคับให้เธอใช้แค่อุปกรณ์ศิลปะตามขนบ ซึ่งชิโอตะก็อาจจะเลิกทำงานศิลปะไปจริงๆ ถ้าเธอไม่ได้บังเอิญไปโครงการแลกเปลี่ยนที่ออสเตรเลีย และฝันเห็นภาพประหลาดในคืนๆ หนึ่งที่เปลี่ยนเธอไปตลอดกาล
“คืนหนึ่ง ฉันฝันว่าตัวเองกระโดดเข้าไปอยู่ในรูปที่วาด ได้แหวกว่ายอยู่ในเนื้อสี ข้างในมันอิ่มเอิบไปหมด ฉันใช้ตัวของฉันเองละเลงสี วาดเส้น ได้อย่างง่ายได้ นี่แหละคือทางของฉัน”
ชิโอตะรวบรวมสีแดงทั้งหมดที่มี เอาผ้าใบมาห้อยไว้บนตัว แล้วขอให้เพื่อนสาดสีใส่จนมิด ถึงสีเคมีจะกัดผิวจนแสบ ย้อมตัวเธอเป็นสีแดงนานเป็นสัปดาห์ แต่ชิโอตะกลับมีความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในชั่วข้ามคืน ชิโอตะคนเดิมได้ตายจากไป เกิดเป็นชิโอตะคนใหม่ที่ทิ้งฝีแปรงและผ้าใบเพื่ออุทิศตนสร้างผลงานศิลปะด้วยวิธีใดก็ได้ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ศิลป์แบบดั้งเดิม
ตลอดทางเดินชิโอตะนำเสนอผลงานสมัยนักศึกษาที่เธอใช้วัสดุนอกเหนือจากอุปกรณ์ศิลปะทั่วไปมาสร้างสรรค์ชิ้นงาน เธอนำเอาเอาเมล็ดพืชมาเรียงเป็นเส้นยาวเต็มกำแพง จนเกิดเป็นงานชื่อ One Line (1994) ใช้ด้ายสีดำทอเป็นใยในแกลเลอรี่ในงาน Accumulation (1994) และใช้ด้ายแดงโยงจากเพดานลงมาที่ตัวเองที่นอนอยู่บนพื้นในงานธีสิสจบมหาวิทยาลัยอย่าง ‘From DNA to DNA’ (1994) เป็นครั้งแรกๆ ที่ด้ายเริ่มปรากฏในงานของเธอ
ชิโอตะเขียนเอาไว้ว่า “แรงบันดาลใจในการใช้ด้ายของฉันเกิดจากการที่คุณยายของฉันเสียชีวิต ฉันคิดถึงคุณยายมาก เลยตั้งคำถามว่าวิญญาณของคุณยายตายแล้วไปไหน มีทางไหนอีกไหมที่ฉันจะได้เห็นวิญญาณของคุณยายอีก ฉันเริ่มทำการโยงด้ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เพื่อทำสิ่งที่มองไม่เห็นในอากาศให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นคุณยายอีกครั้ง”
ชิโอตะทดลองการใช้ด้ายอย่างไม่หยุดยั้ง หลังเรียนจบ เธอสร้างผลงานที่ใช้ด้ายมากขึ้นและพัฒนาแนวคิดงานไปในทิศทางใหม่ๆ เช่น ‘Similarity’ (1996) ที่พัฒนาคอนเซ็ปต์ใยด้ายสีดำไปอีกขั้นด้วยการทาสีแดงบนด้าย ปล่อยให้สีหยดลงมาจนเกิดเป็น pattern บนพื้น ‘Return to Consciousness’ (1996) ที่เปลี่ยนจากสีแดงบนด้ายเป็นเลือดจริงๆ และ Flow of Energy (1996) นำเอาไม้ไผ่สีดำมาจัดเรียงบนพื้นใต้ใยด้ายเป็นวง
จนหลังจากทำงานไปสองปี เธอก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่เยอรมนีตามรอยศิลปินเยอรมันที่ชื่นชอบ เธอได้เข้าเรียนที่ Braunschweig University of Art เมืองฮัมบูร์ก แต่แทนที่จะได้เรียนกับศิลปินในฝัน โชคชะตากลับพาเธอไปพบกับศิลปินชื่อดังอีกคนที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล ศิลปินคนนั้นก็คือ มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic)
ร่างกายเพื่อศิลปะ ความแปลกแยกที่ต้องชะล้าง
มารินา อบราโมวิช ถือได้ว่าเป็นศิลปินแสดงสดอันดับต้นๆ ของโลก ผลงานของเธอเน้นไปที่การท้าทายขีดจำกัดของร่างกายและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ชมงาน ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเธอก็เช่น Rhythm 0 (1974) ที่เธอยืนนิ่งๆนาน 6 ชั่วโมง ในห้องที่มีของ 72 อย่าง ทั้งอาวุธและของทั่วไป ให้ผู้ที่มาเข้าชมงานใช้ของเหล่านั้นกับเธออย่างไรก็ได้โดยเธอจะไม่ตอบโต้ จนเธอโดนทำร้ายนับสิบครั้งก่อนที่การแสดงจะยุติลง หรือ The Artist is Present (2012) ที่เธอนั่งนิ่งกลางโถงหลักของ Museum of Modern Art เชิญชวนให้ผู้ชมงานมานั่งลงตรงข้ามเธอแล้วจ้องตากันเป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นานเกือบ 3 เดือน
ภายใต้การสอนของมารินา ชิโอตะจึงเข้าสู่วงการศิลปะแสดงสดเต็มตัว เธอทุ่มเทตัวเองฝึกฝนการใช้ร่างกายกับมารินา ประจวบกับความรู้สึกแปลกแยกในฐานะคนเอเชียนอกญี่ปุ่น โดดเดี่ยวแปลกแยกนอก ‘ดิน’ แดนบ้านเกิด ทำให้เกิดแนวงานใหม่ขึ้นมาในใจของชิโอตะ นั่นคือการใช้ดินและร่างกายของตัวเองเป็นผลงาน
ที่ผนังทางขวา ผู้เขียนได้เห็นผลงานที่ชื่อ ‘Try and Go Home’ (1997) ที่เธอแสดงในวิชาเรียนของอะบราโมวิช เธออดอาหารนาน 4 วัน ก่อนทาตัวเองด้วยโคลน แล้ววิ่งขึ้นหน้าผาดินจนตัวเองตกลงมาซ้ำๆหลายชั่วโมง แล้วจบงานด้วยการคลานเข้าไปในรูดิน ราวกับการที่การมาเรียนที่นี่ทำให้เธอไม่มีวันกลับไปที่ญี่ปุ่นได้อีก และเธอไม่มีทางเลือกนอกจากคลานเข้าไปในรกของ ‘พระแม่ธรณี’ เพื่อกำเนิดใหม่ในดินแดนแปลกหน้า
หรือชุดงาน ‘Congregation’ ที่เธอใช้เวลานานนับเดือนในการรวบรวมกระโหลกวัวจากตลาดสดมาเลาะเนื้อจนเหลือแต่กระดูก จัดวางให้เป็นวงกลมรอบสระโคลนแล้วลงไปแช่ในนั้นนานหลายชั่วโมง
เธอยังคงหมกมุ่นในเรื่องดินโคลนและสีผิวเมื่อเธอย้ายเข้าไปเรียนในเบอร์ลิน โดยเธอเริ่มสงสัยว่า “ถึงฉันจะอยู่ในเยอรมนีมาหลายปี แต่จริงๆแล้วฉันนับว่าเป็นคนที่นี่ได้หรือยัง ฉันสามารถชะล้างความเป็นญี่ปุ่นของฉันบนผิวกายออกไปได้หรือไม่ แล้วความญี่ปุ่นที่อยู่ข้างในผิวกายของฉันล่ะ” จนเกิดเป็นผลงาน video performance อย่าง Bathroom (1999) ที่เธอนอนในอ่างอาบน้ำ ทาโคลนบนตัวให้สกปรก เทน้ำล้างให้สะอาด แล้ววนลูปไปเรื่อยๆนับหลายชั่วโมงเพื่อ ‘ชำระล้าง’ สีผิวของเธอให้ ‘สะอาด’
หรือผลงานอย่าง After That (1999) ที่เธอถักกระโปรงยาวสูงขนาดตึกสามชั้นด้วยมือ ละเลงด้วยดินโคลน แล้วห้อยไว้จากเพดาน ปล่อยให้น้ำไหลลงมาเรื่อยๆจนเปียกโป่ง
ชิโอตะครุ่นคิดถึงประเด็นเรื่องสีผิวนี้อีกนับสิบปี จนไปถึงจุดสูงสุดในปี 2008 เมื่อเธอตีความผิวของคนเราว่า “เป็นกำแพงที่ปิดกั้นสิ่งที่เราเป็นอยู่ข้างในที่แท้จริง” เธอจริงนำความ ‘ความจริง’ ข้างในออกมาให้คนเห็น จำลองหลอดเลือดออกมานอกร่างกายของเธอแล้วพันไว้รอบตัว จนเกิดเป็นงานวิดีโอบันทึกการแสดงอย่าง Wall (2010) ที่ชิโอตะแสดงไว้ที่ปลายทางเดิน เป็นอันจบนิทรรศการงานช่วงนักศึกษาในเยอรมนีของเธอ
ผู้เขียนรู้สึกอินกับงานชิ้นนี้เป็นพิเศษเพราะผู้เขียนก็กำลังศึกษาต่ออยู่ต่างประเทศเช่นกัน ความรู้สึกของการเป็นคนนอกในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่บ้านเกิดเป็นความรู้สึกที่รุนแรงประมาณหนึ่ง ซึ่งการที่ชิโอตะสามารถนำเอาความรู้สึกนี้มาดัดแปลงเป็นผลงานที่สร้างสรรค์สวยงามได้ขนาดนี้ ผู้เขียนต้องขอชื่นชมในความสามารถของเธอ
เชื่อมโยงโดยความเงียบงัน สร้างสรรค์ในสิ่งที่ขาดหาย
หลังออกจากทางเดิน ผู้เขียนก็ได้พบงานชิ้นใหม่ที่เธอทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะอย่าง Out of My Body (2019) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากอาการป่วยของเธอเอง หลังเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็ง แพทย์ได้ตัดชิ้นส่วนอวัยวะของเธอออกไป จนทำให้เธอรู้สึกราวกับวิญญาณบางส่วนของเธอถูกตัดออกไปด้วยจนไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เธอเลยสรรค์สร้างผลงาน sculpture เป็นชิ้นส่วนร่างกายที่เชื่อมต่อกันด้วยด้าย ราวกับเป็นการเชื่อมชิ้นส่วนร่างกายเหล่านั้นกับตัวเธอเอง เพื่อทดแทนชิ้นส่วนที่เธอต้องเสียไป
ชิโอตะยังคงพูดถึงเรื่องเดียวกันในห้องตัดไป ผู้เขียนเดินเข้าไปในห้องขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยด้ายสีดำปกคลุมไปทั้งห้อง ในดงด้ายคือเก้าอี้กว่า 70 ตัวที่รายล้อมเปียโนไหม้ไฟกลางห้อง นี่คือชิ้นงาน In Silence (2008)
ครั้งแรกที่ได้เห็นงานชิ้นนี้ ต้องบอกว่าผู้เขียนรู้สึกขนลุกซู่ รู้สึกได้ถึงก้อนอารมณ์หนักอึ้งอัดแน่นอยู่ในห้อง ทั้งๆ ที่เก้าอี้ทุกตัวว่างเปล่า แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกได้ว่าเก้าอี้ทุกตัวเหมือนมีคนนั่งฟังเปียโนอยู่ และทุกคนกำลังหันมาจ้องผู้เขียนที่บังอาจบุกเข้ามาในงานแสดงดนตรีครั้งนี้เขม็ง
บนผนังข้างตัวงาน เธอเขียนไว้ว่า “ตอนฉันอายุ 9 ขวบ ฉันจำได้ว่าบ้านข้างๆ ไฟไหม้ แล้ววันต่อมาเพื่อนบ้านก็เอาเปียโนหลังหนึ่งมาตั้งไว้หน้าบ้าน มันไหม้ไฟจนพังทั้งหลัง ไม่มีวันส่งเสียงอะไรได้อีก แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ฉันกลับรู้สึกว่าความเงียบผิดปกติของมัน จริงๆ แล้วคือความสวยงามที่เราไม่เคยเห็น” สำหรับผู้เขียนแล้ว งานชิ้นนี้เหมือนเป็นการตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งๆ หนึ่งสูญเสียหน้าที่ดั้งเดิมของมันไป สิ่งนั้นๆ ยังคงมีความงามอยู่หรือไม่ เทียบได้เปียโนไหม้ไฟที่ไม่มีเสียง แต่ความเงียบของมันยังคงล่องลอยอยู่ในอากาศรอบๆ จนเราเห็นเป็นรูปร่างได้จากด้ายดำที่ทักทอให้เราเห็น
สักครู่หนึ่ง ผู้เขียนเลือกที่จะรีบเดินออกไปจากห้องนี้ ปล่อยให้คอนเสิร์ตเงียบเล่นต่อไปโดยที่ไม่มีเราไปรบกวน
ภายใน / ภายนอก
ในห้องถัดมา ผู้เขียนเห็นประตูหน้าต่างตั้งเรียงเป็นกำแพงสูงอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง นี่คืองาน Inside – Outside (2009) ช่วงปี 2004 อาคารในเบอร์ลินฝั่งเยอรมนีตะวันออกเริ่มโดนทุบเพื่อพัฒนาเป็นตึกสมัยใหม่ เกิดการทิ้งประตูหน้าต่างเก่าๆ มากมาย ความสนใจเรื่องผิวและโลกภายใน/ภายนอก ทำให้ชิโอตะมองว่า ทั้งหน้าต่างและประตูเป็นได้ทั้งกำแพงที่ปิดกั้นเราจากโลกอีกด้านและช่องทางที่เราจะได้เห็นโลกใบนั้น เธอจึงตระเวนรวบรวมประตูหน้าต่างเหล่านี้มาสร้างเป็นผลงาน เพื่อพูดถึงพิ้นที่ภายใน/ภายนอกที่หน้าต่างเป็นตัวขวางกั้น และประวัติศาสตร์การเมืองเข้มข้นของกำแพงเบอร์ลินอีกด้วย
ในห้องนี้มีงานอีกชิ้นที่พูดเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ Reflection of Space and Time (2018) ที่เป็นชุดเดรสหนึ่งตัวลอยอยู่ในใยด้ายดำหน้ากระจก เกิดเป็นภาพสะท้อนเดรสสองตัว ชิโอตะมองว่า เสื้อผ้าอย่างกระโปรงก็เป็นเส้นแบ่งระหว่างร่างกายกับโลกภายนอก และภาพสะท้อนของกระโปรงในกระจกเป็นการทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกสมมติพร่าเลือนไป
ศิลปะการละคร
หลังจากทำงานศิลปะที่จัดแสดงในแกลเลอรี่มานับสิบปี ผู้กำกับละครเวทีโตชิบะ โอคาดะ (Toshiba Okada) ก็เชื้อเชิญชิโอตะให้มาออกแบบฉากของละครเวทีเรื่องใหม่ของเขา Tattoo (2009) ซึ่งเธอก็ได้นำผลงาน Inside/Out มาดัดแปลงเป็นฉากละครเวทีได้อย่างน่าตื่นตา ห้องนี้รวบรวมผลงานฉากละครเวทีของเธอทั้งหมดให้พวกเราได้ชม เธอได้รับโอกาสให้ดัดแปลงงานเก่าๆของเธอมาเป็นฉากละครเวทีอีกหลายเรื่องในประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี เช่นเรื่อง Matsukaze (2011) ที่นักเต้นในเรื่องปีนด้ายดำขึ้นลงไปมา หรือ Tristan und Isolde (2014) ที่เธอใส่เรือและใยด้ายลงไป นอกจากงานละครเวที ชิโอตะได้ออกแบบงานคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน เช่นงาน Alif:: Split in the Wall (2016) ที่นำผลงานหลอดเลือด Wall ของเธอมาขยายเป็นขนาดใหญ่
ความทรงจำออกเดินทาง
แล้วผู้เขียนก็มาถึงห้องสุดท้ายของนิทรรศการ กลางโถงยาว กระเป๋าเดินทาง 430 ใบถูกห้อยด้วยด้ายแดงอยู่กลางอากาศตลอดความยาวของห้อง กระเป๋าบางใบหมุนและลอยขึ้นลงอยู่กับที่ นี่คือชิ้นงาน Accumulation – Searching for the Destination (2016) ที่ชิโอตะได้แรงบันดาลใจจากกระเป๋าที่เต็มไปด้วยหนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่เธอพบในกรุงเบอร์ลิน กระเป๋าใบนั้นทำให้เธอรู้สึกว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมีความทรงจำผูกพัน กระเป๋าเดินทางทุกใบย่อมเต็มไปด้วยประวัติการเดินทาง ทั้งการท่องเที่ยวและการเสาะหาบ้านใหม่ของผู้คน โดยเฉพาะผู้อพยพ แต่นอกจากนั้น ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่า งานชิ้นนี้อาจสื่อถึงชะตากรรมของชาวยิวที่ถือกระเป๋าเดินทางขึ้นรถไฟ มุ่งหน้าไปยังค่ายกักกันเพื่อพบกับจุดจบอันน่าเศร้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นได้
และที่มุมสุดท้ายของห้องก่อนเข้าสู่กิฟท์ช็อป ชิโอตะปิดงานด้วยคลิปวิดีโอสั้นๆ ขณะเธอกำลังถามเด็กๆ ในเบอร์ลินว่า “วิญญาณคนเราอยู่ไหน” ให้เด็กๆ ได้ตอบคำถามเป็นการปิดท้าย
และนี่ก็คือบทสรุปของชีวิตในโลกศิลปะตลอด 25 ปีของชิโอตะ ชิฮารุ ปัจจุบันเธอยังคงทำงานชิ้นใหม่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีงานแสดงทั่วโลกและกล้าพัฒนาแนวคิดของเธอไปในทิศทางใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้เขียนแอบหวังว่างานนี้จะทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเมืองไทยไม่มากก็น้อย
*ขอขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Mori Art Museum และเว็บไซต์ของศิลปิน*
Fact Box
นิทรรศการ Shiota Chiharu: The Soul Trembles ยังจัดอยู่จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม ปีนี้ ถ้าใครได้มีโอกาสไปโตเกียวต้องขอแนะนำให้ไปทำความรู้จักกับศิลปินญี่ปุ่นผู้ลุ่มลึกเรื่องความสัมพันธ์และจิตวิญญาณคนนี้ รับรองเลยว่าจะไม่เสียใจ