ในบังกลาเทศมีหญิงค้าบริการทางเพศที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 100,000 คน และการระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเธอต้องหยุดงาน หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นจึงพยายามจัดส่งอาหารและเงินสนับสนุนให้กับพวกเธอ ที่ล้วนแต่มีฐานะยากจน ต้องทำงานหาเงินวันต่อวันเพื่อเลี้ยงตัวเองและลูกๆ
รัฐบาลบังกลาเทศสั่งปิดซ่องทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ผู้ค้าบริการทางเพศงดให้บริการจนถึงวันที่ 5 เมษายน (แม้ตอนนี้จะครบกำหนดแล้วแต่ยังไม่พบรายงานว่าซ่องจะกลับมาเปิดให้บริการหรือไม่) ระหว่างที่ขาดรายได้ หลายคนต้องกู้เงินเพื่อใช้จับจ่ายซื้อข้าวของในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน ขณะที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและมูลนิธิที่ทำงานด้านนี้ก็พยายามให้ความช่วยเหลือกับผู้ค้าบริการทางเพศให้ได้มากที่สุด
“มีหญิงค้าบริการกว่า 1,800 คนที่อยู่ในเขตของเรา เราได้ทำเรื่องขอข้าวสาร 30 กิโลกรัม และเงิน 2,000 ตากา (ประมาณ 774 บาท) ต่อพวกเธอหนึ่งคน” รูบาเยท ฮายัต ผู้ว่าการเขตหนึ่งในแคว้นกัวลันโด ( Goalanda) กล่าว อาหารและเงินจะถูกส่งไปยังผู้ค้าบริการทางเพศในซ่องแห่งอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ฮายัตยังเสริมอีกว่า พวกเธอต้องการการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ค้าบริการทางเพศจะอยู่กันอย่างแออัดในห้องเล็กๆ เรียงติดๆ กันที่เป็นทั้งที่ทำงานและที่พักของพวกเธอ ทำให้มีสุขอนามัยที่ย่ำแย่ อีกทั้งหลายคนไม่กล้าไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย เนื่องจากกลัวการถูกตีตราจากสังคม
บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีการค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย ยกเว้นแต่ในแคว้นที่เป็นมุสลิม หญิงที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่จากรายงานของบีบีซีพบว่ามีเด็กอายุ 7 ขวบที่เริ่มถูกฝึกให้ทำงานนี้แล้ว หมู่บ้านเดาลัตเดีย (Daulatdia) ในบังกลาเทศได้ชื่อว่าเป็นซ่องขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ให้บริการอยู่ 2,000 คน ความเป็นอยู่ของคนทำงานนั้นยากลำบาก ทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่เข้ามาทำงานนี้โดยสมัครใจ
อ้างอิง:
https://www.researchgate.net/publication/299506841_Economics_of_Sex_Work_in_Bangladesh
https://www.youtube.com/watch?v=d-rX5UKhcSg
ภาพ: จากสกู๊ปเรื่องงานศพของผู้ค้าบริการทางเพศ โดย Munir UZ ZAMAN / AFP
Tags: sex workers, โควิด-19, COVID-19, บังกลาเทศ