ระหว่างศตวรรษที่ 11 และศตวรรษที่ 13 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทวีปยุโรปเต็มไปด้วยสงคราม และความขัดแย้ง  อีกทั้งมีระบบศักดินาและศาสนาที่มีอิทธิพลต่อบรรทัดฐานทางสังคมอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อพูดถึงยุโรปในยุคกลางแล้ว คนในยุคปัจจุบันจะนึกถึงภาพของความโหดเหี้ยม และภาพของผู้คนที่ยึดถือเรื่องจารีตประเพณี รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาอย่างเคร่งครัด และมองว่าเรื่องเพศคงเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

ทว่าในความเป็นจริง เรื่องเซ็กซ์เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยยุคกลาง ในตำราการแพทย์ หรือเอกสารจำพวกต้นฉบับลายมือ (Manuscript) ต่างๆ ในช่วงยุคกลางนี้ พบว่ามีรูปวาด (marginalia หรือ doodle) ที่เกี่ยวกับเรื่องความรักและเรื่องเพศอยู่ตามขอบหน้ากระดาษหลายแห่ง เช่นในโรมอง เดอ ลา โรส (Roman de la Rose) หนึ่งในวรรณกรรมที่สำคัญในยุคกลาง ได้เผยให้เห็นรูปวาดมากมาย บางรูปค่อนข้างล่อแหลมจนแลดูเหมือนว่าเป็นภาพลามกอนาจาร

ที่มาภาพ: Roman de la Rose (Paris, Bibliothèque nationale de France)

ในเวลานั้น ศาสนจักรมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ศาสนจักรในยุคนั้นได้กำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติ การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน รวมถึงกิจกรรม “บนเตียง” ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่า ช่วงเวลา หรือบทลงโทษหากมีการละเมิดบทบัญญัติที่ตั้งไว้ โดยกำหนดอย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ทางเพศมีไว้เพื่อ “มีลูก” เท่านั้น หากไม่ใช่เพื่อการสืบพันธุ์แล้ว จะถือว่าประพฤติมิชอบ

นอกจากนี้ ศาสนจักรในยุคกลางยังได้จำกัดช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ไว้อีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับรอบเดือนของฝ่ายหญิงและปฏิทินพิธีกรรม (liturgical calendar) ศาสนจักรได้กำหนดให้คู่สามีภรรยาละเว้นจากกิจกรรมทางเพศระหว่างที่ภรรยามีประจำเดือน และทุกวันอาทิตย์ วันพุธ และวันศุกร์ (ในศาสนาคริสต์ สองวันหลัง ถือว่าเป็นวันใช้โทษบาป) และถ้าหากเป็นไปได้ ศาสนจักรยังสนับสนุนให้งดกิจกรรมดังกล่าวทุกวันเสาร์ เนื่องจากวันเสาร์เป็นวันที่เตรียมตัวสำหรับวันอาทิตย์  (หมายความว่า เหลือเพียงวันจันทร์ อังคาร และพฤหัสบดี)

ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงเวลาที่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ จะต้องไม่ใช่ 40 วันก่อนวันคริสต์มาส วันอีสเตอร์ (วันปัสกา) และวันเปนเตกอสเต (Pentecost หรือ 50 วันหลังจากวันอีสเตอร์) หากคำนวณวันที่ศาสนจักรในยุคกลางอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์อย่างคร่าวๆ ก็จะอยู่ระหว่าง 91-113 วัน ต่อปี แน่นอนว่ามีผู้ทั้งที่ปฏิบัติตามและไม่ปฏิบัติตาม โดยคนกลุ่มหลังเชื่อว่า หากไม่เคารพกฎดังกล่าว สิ่งไม่ดีจะเกิดขึ้นกับตนเองและบุตรได้

จนถึงศตวรรษที่ 12 ท่าเซ็กซ์ที่ได้รับอนุญาตและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ คือ ท่า มิชชันนารี (missionary) เนื่องจากเชื่อว่าเป็นท่าที่ดีที่สุดสำหรับการสืบพันธุ์ ทว่าท่าเซ็กซ์อื่นที่ไม่ใช่ท่าธรรมชาติซึ่งเรียกว่า ‘กอนทร่า นาทูร่าม’ (contra naturam) ในภาษาลาติน หรือท่า มิชชันนารีอย่างที่พูดกันในปัจจุบันนั้น จะถูกประณามอย่างรุนแรง เช่น ท่า ‘โมเร่ กานิโน่’ (more canino) ซึ่งมาจากภาษาลาติน แปลว่า ‘แบบสุนัข’

จากเอกสารการพิจารณาคดีต่างๆ ท่าเซ็กซ์ที่เลวร้ายที่สุดในบรรดาท่าเซ็กซ์ต้องห้าม คือ วิซิอุม โซโดมิติกุม (vitium sodomiticum) หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า เปกกาตุม โซโดมิติกุม (peccatum sodomiticum) ซึ่งเป็นที่รู้จักในโลกปัจจุบันว่า sodomy (การร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก หรือระหว่างคนกับสัตว์) ด้วยเหตุผลที่ว่า ท่าดังกล่าวเป็นท่วงท่าที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการสืบพันธุ์แต่อย่างใด

ในช่วงปี ค.ศ. 1020 เบอร์ชาร์ด ออฟ เวิร์มส (Burchard of Worms) (ค.ศ. 965 – ค.ศ. 1025) สังฆราชชาวเยอรมัน และนักกฎหมายทางศาสนา ได้เขียนหนังสือสำหรับศีลอภัยบาป (penitential) โดยแบ่งออกเป็น 55 บท เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘กิจกรรมบนเตียง’ ด้วยกันทั้งสิ้น เช่น

“เธอทำสิ่งที่ผู้หญิงบางคนชอบทำหรือเปล่า? เธอประดิษฐ์สิ่งของ หรือเครื่องมือที่มีรูปร่างเหมือนอวัยวะของผู้ชายตามขนาดที่เธอต้องการ และผูกเข้ากับเข็มขัด แล้วเธอก็ใส่เข็มขัดนั้น พร้อมกับจัดวางสิ่งประดิษฐ์นี้ให้ตรงกับอวัยวะของเธอ แล้วเธอก็มีอะไรกับผู้หญิงอื่นใช่มั้ย หรือคนอื่นทำสิ่งที่พ่อว่ามากับเธอ…”

ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือยังพูดถึงการเพิ่มความต้องการของคนในสมัยนั้นไว้อีกด้วย

“เธอทำตามหญิงอื่นที่ได้นำปลามาใส่ไว้ในช่องคลอด แล้วทิ้งไว้ในนั้นจนกว่าปลาจะตาย และเมื่อปลาตัวนั้นตายแล้ว เธอเอามาทำให้สุกหรือย่าง ก่อนจะนำไปให้สามีรับประทาน เพื่อเพิ่มความปรารถนาของสามีใช่ไหม ?”

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลักฐานมากมายที่เล่าถึงเซ็กซ์ของผู้คนในยุคกลาง ทว่าเอกสารอ้างอิงที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่สมบูรณ์ และเปิดเผยเพียงแค่ด้านหนึ่งของชีวิตส่วนตัวของผู้คนในสมัยนั้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการตีความที่ไม่เหมือนกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ แต่ถึงอย่างไร สิ่งเดียวที่เราสามารถสรุปได้ ก็คือ อารมณ์ และความต้องการเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ในทุกยุคสมัย

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน เรื่องเพศยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับศาสนจักร และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครอยากจับต้องมากนัก แต่ถึงกระนั้น มุมมองและหลักคำสอน (catechism) ของศาสนจักรในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเทียบกับศาสนจักรในยุคกลาง โดยกิจกรรมทางเพศไม่ได้มีไว้เพื่อการสืบพันธุ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งทรรศนะดังกล่าว สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในอาโมริส เลติเชีย (Amoris Lætitia) สมณสาสน์ของสันตปาปาฟรันซิส ว่าด้วยเรื่องครอบครัว

“…เราไม่สามารถมองได้ว่า ความรู้สึกทางเพศ ซึ่งมากับความรักนั้น เป็นสิ่งไม่ดี ที่เราจำเป็นต้องยอมรับ เพื่อประโยชน์สุขของครอบครัว หากแต่ความรู้สึกดังกล่าวเป็นของขวัญ (จากพระเจ้า) ที่ทำให้การพบกันระหว่างสามี และภรรยาสวยงามยิ่งขึ้น […] เป็นการยืนยันความรักอย่างแท้จริง ซึ่งเผยให้เราเห็นถึงสิ่งที่พิเศษที่สุด ที่หัวใจของมนุษย์สามารถแสดงออกมาได้…”  

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก: Decretum Gratiani, 1340-1345, with the commentary of Bartholomaeus Brixiensis (Lyon, Bibliothèque municipale)

บรรณานุกรม

  • Jacques Rossiaud : Sexualités au Moyen Age
  • Burchard of Worms : Corrector sive Medicus (question 154, 172)
  • Didier Lett : “Avant-propos. Sexualités illicites, douces et violentes”
  • Pope Francis : Amoris Lætitia (AL 150-154)
  • Sex in the Middle Ages – Nota Bene #29

Fact Box

ที่มาของชื่อท่า มิชชันนารี ไม่ได้มีต้นกำเนิดจาก มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และสอนว่าท่าดังกล่าวเป็นท่าที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ แต่มาจากความเข้าใจผิด ซึ่งโรเบิร์ต เจ. พรีสต์ (Robert J. Priest) นักมานุษยวิทยา ได้เขียนไว้ในบทความวิชาการชื่อ Missionary Positions: Christian, Modernist, Postmodern (2001) ระบุว่าอัลเฟรด คินซีย์ (Alfred Kinsey) นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้จำรายละเอียดของงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงผิดพลาด และสับสนกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคริสตศาสนาในยุคกลาง นอกจากนี้พรีสต์ยังพบว่าไม่มีนักพจนานุกรม หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศคนใดกล่าวถึงท่ามิชชันนารีก่อนหน้าคินซีย์

Tags: , , , ,