เที่ยงวันกลางฤดูร้อน เปลวแดดแรงจนกระทั่งยืนเฉยๆ ก็มีหยาดเหงื่อไหลซึม

หลังก้าวลงจากรถเมล์สาย 8 บนถนนวรจักร แล้วเดินย้อนกลับไปเลี้ยวขวาเข้าถนนเจริญกรุง เสื้อยืดของผมก็เริ่มเปียกชุ่ม แสงแดดดูจะร้อนแรงทบทวีเมื่อมันตกกระทบพื้นคอนกรีตแข็งกระด้าง ขณะที่การปรับปรุงทางเท้าในบางช่วงตอนก็เพิ่มอุปสรรคขวากหนามให้กับการเดิน และปัดเป่าความขรึมขลังคลาสสิกของย่านเมืองเก่าไปอย่างน่าเสียดาย

เดินต่อมาจนเสื้อชุ่มโชก ผมเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมิตรพันธ์ ก่อนจะถึงวงเวียน 22 กรกฎา ผมก็ข้ามถนนมายังอีกฝั่ง

จุดหมายของผมอยู่ในตรอกมะขาม 2 ตรอกซอยเล็กแคบอันอุดมไปด้วยอบายมุขสถาน

 

0 0 0

 

บรรยากาศในตรอกมะขาม 2 อบอวล ก้ำกึ่งระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ เสียงรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เอ็ดอึงอยู่รายรอบ หญิงสาวจับกลุ่มคุยกันเซ็งแซ่ในสำเนียงถิ่นอีสาน ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการจัดเรียงหนังสือ

‘หนังสือเก่าเยาวราช’ ซ่อนตัวอย่างเปิดเผยท่ามกลางความอึกทึกคึกคักของหลากหลายชีวิตในย่านตลาดเก่า หนังสือมากมายหลายร้อยเล่มวางเรียงซ้อนกันล้นออกมาหน้าร้าน ข้อความ ‘อ่านสู่อิสรภาพ’ ตัวโตดูย้อนแย้งกับชีวิตของผู้คนที่ผ่านไปมา และบ่ายวันนั้น ‘เฮียฉาย’ ต้อนรับลูกค้าคนแรกของวันด้วยเสียงเพลงของคาราวาน

ผมกวาดสายตาไปตามสันหนังสือที่ถูกแบ่งประเภทแบบคร่าวๆ หลายเล่มไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะเดียวกันก็เห็นอย่างน้อยสองเล่มที่ผมมีส่วนร่วมกับการผลิตมันขึ้นมา

เฮียฉาย ลูกจีนจากสุพรรณบุรี อยู่กับอาชีพซื้อ-ขายหนังสือมา 40 ปีแล้ว

“ผมเกิดที่สุพรรณฯ พอเรียนจบ ม.ต้นก็ตามพี่ๆ เข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณปี 2521”

เฮียฉายเล่าให้ฟังว่าเขาเติบโตมาในร้านรับซื้อของเก่าของพ่อ เมื่อเข้ามาเห็นความรุ่งเรืองของตลาดหนังสือมือสองที่สนามหลวง เขาจึงมองเห็นลู่ทางในการมีชีวิตอยู่กับธุรกิจนี้

จากจักรยานสู่มอเตอร์ไซค์ เฮียฉายตระเวนซื้อหนังสือทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรวบรวมนำไปส่งให้กับร้านหนังสือที่สนามหลวง สำหรับเฮียฉาย ขายส่งสบายกว่าขายปลีกเยอะ “เราก็ตระเวนหาของแล้วเอาไปส่ง ส่งเสร็จเราก็กลับบ้านนอน ไม่ต้องนั่งรอลูกค้า”

ผมถามเฮียฉายว่าหนังสือส่วนใหญ่มาจากที่ไหน

“ส่วนใหญ่มาจากบ้านคน แล้วเราก็ไปติดต่อกับคนที่ซื้อมาอีกที เพราะเราไม่มีปัญญาไปซื้อโดยตรงหรอก เราเป็นมือสาม เป็น ซาปั๊ว ไปซื้อต่อเขามาอีกที ซึ่งต้องใช้ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ใครก็ซื้อได้ เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ทำไม่ได้หรอก ขนาดผมทำมานาน บางร้านผมยังต่อไม่ติด บางคนผมก็ซื้อไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่มีความรู้ทางด้านภาษาจีน หนังสือภาษาจีนจึงเป็นอีกแหล่งรายได้ของเฮีย

“ผมร่ำเรียนภาษาจีนมา ผมก็เลยขายภาษาจีนด้วย เพราะเราเจอของ เราก็ซื้อมาขาย และเราอยู่ในย่านคนจีน ผมขายอยู่คนเดียว สมัยก่อนขายเล่มละเป็นร้อยนะ ผมขายส่งถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ผมว่าง ผมก็มาวางขายริมถนน ตรงโรงหนังเท็กซัส ทำเงินดี สร้างเนื้อสร้างตัวจากหนังสือจีน”

0 0 0

เรายืนคุยกันตรงทางเดินเล็กๆ ภายในร้าน เฮียฉายในชุดกางเกงขายาวตัวเดียวมีเบียร์กระป๋องอยู่ในมือ ผมนึกอยากร่วมแจมด้วย แต่หลังจากคิดทบทวน บ่ายร้อนๆ แบบนี้ น้ำเปล่าเย็นๆ สักแก้วก็น่าจะพอ

ผมถามเฮียถึงที่มาที่ไปของร้านหนังสือแห่งนี้

“ที่มาเปิดร้านเพราะธุรกิจมันไปไม่ไหว ไม่ใช่ธุรกิจดีเลยมาเปิดร้านนะ ธุรกิจมันไปไม่ไหว เมื่อสิบปีที่แล้วนี่เอง ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้ามา หนังสือก็ขายไม่ได้”

เมื่อคนซื้อหนังสือน้อยลง ร้านหนังสือก็ต้องคัดเลือกหนังสือมากขึ้น ธุรกิจขายส่งหนังสือของเฮียฉายจึงเริ่มเข้าสู่ทางตัน

“ร้านนี้มันเป็นทางรอดของผม เพราะขายส่งแบบเก่ามันขายได้น้อยลง ร้านเขาก็จะเลือกเฉพาะเล่มที่ขายได้ เล่มที่ขายไม่ได้เขาก็ไม่ซื้อ ซึ่งเราก็ไปไม่รอด เราก็ต้องมาเปิดร้านเอง ร้านแรกอยู่ตรงโรงหนังสิริรามา ตอนนี้กำลังสร้างคอนโดฯ ผมก็ย้ายมาที่นี่”

เฮียฉายบอกว่าด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้ทุกวันนี้เขายังคงอยู่กับธุรกิจนี้ได้ “ขอให้เจอของอย่างเดียว” เฮียฉายสำทับอย่างนั้น

 

0 0 0

 

“ผมใกล้จะหกสิบแล้ว ลูกค้าที่เคยซื้อหนังสือของผมเขาก็ตายไปหมดแล้ว”

เฮียฉายหัวเราะหลังจบคำพูด

เป็นเสียงหัวเราะแบบจริงจังและจริงใจ ส่งมอบให้กับผู้คนและความรุ่งเรืองในอดีต

“ขนาดลูกผมยังไม่ให้ทำเลย ผมบอกให้หาอาชีพใหม่”

สิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าขายหนังสือเก่าของเฮียฉายไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปรุ่งเรืองเหมือนในอดีต เฮียฉายยอมรับความจริงข้อนี้ แล้วอาศัยประสบการณ์และความรู้ประคับประคองธุรกิจที่เขาสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง

‘พ่อค้าขายหนังสือเก่า’ ไม่ใช่อาชีพที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ทำไมเฮียฉายยังคงมีชีวิตอยู่กับอาชีพนี้   

ผมนึกถึงคำถามนี้ตอนแหงนมองคอนโดฯ ที่กำลังก่อสร้างบนผืนดินซึ่งเคยมีร้านหนังสือของเฮียฉาย

Fact Box

‘หนังสือเก่าเยาวราช’ เปิดทำการเวลา 13:00 น. ถึง 19:30 น. (ปิดวันพุธ)

หรือแวะทักทายเฮียฉายได้ที่ หนังสือเก่าเยาวราช

Tags: , , ,