หากว่าคนดังต้อง ‘ตื่นตีสี่’ ไปกองถ่าย คนที่ตื่นเช้า (หรืออาจไม่ได้นอน) ที่ต้องมาเร็วกว่านั้น คือมนุษย์กลุ่มใหญ่ในนามของ ‘คนกอง’ 

ทีมอาร์ต ทีมฉาก คนทำอาหาร ช่างไฟ ฯลฯ ต้องมาเตรียมความพร้อมก่อนถ่ายทำจริง และโดยมาก มันย่อมหมายถึงล่วงหน้าก่อนที่นักแสดงหรือองค์ประกอบอื่นๆ ของงานจะเดินทางมาถึงอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เพื่อเริ่มถ่ายคิวแรกของนักแสดงหรือแม้กระทั่งเก็บฟุตเตจบรรยากาศต่างๆ ก่อนนักแสดงเข้าฉากเสียอีก ยังไม่นับว่าถ้าถ่ายทำเสร็จ ก็เป็นพวกเขาอีกเช่นกันที่ต้องอยู่โยงเก็บของหรืออาจต้องเตรียมอุปกรณ์ไปถ่ายทำในกองอื่นๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่เหมือนกัน เครื่องดื่มชูกำลังเลยเป็นของต้องมีของทีมกองถ่ายหลายๆ คน และทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าพวกเขาได้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาน้อยกว่าคนดังมาก ก็ใช่ว่าหากวัดกันในระบบทุนนิยม คนดังย่อมมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องละเลยประกันและสวัสดิการของคนกอง 

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด การเป็นคนกองนั้นไม่ง่ายและไม่เคยง่ายเลย หลายครั้งมันแลกมากับสุขภาพกายและสุขภาพจิต อย่างที่หลายครั้งปรากฏในชะตากรรมของทีมงานทำหนังหลายต่อหลายเรื่อง ที่คุณอาจเคยได้ดูผ่านตาแต่ไม่รู้ว่ามัน ‘โคตรจะเดือด’ แค่ไหนในงานเบื้องหลัง

หนังเรื่องหนึ่งที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างวิบากกรรมคนกอง (และรวมถึงนักแสดง) อยู่เสมอคือ Roar (1981) หนังที่ว่ากันว่าเป็นหนัง ‘หาทำ’ ที่สุดของ โนล มาร์แชล เพราะเขาทำหนังว่าด้วย แฮงค์ส (มาร์แชลแสดงเองจ้า) นักธรรมชาติวิทยาที่เข้าป่าเข้าดงไปอยู่กินกับสัตว์ป่าทั้งหลาย ซึ่งเขาก็อยู่อย่างสุขสงบดีจนเมื่อเมียรักและลูกๆ มาอยู่ด้วยกันในวันหยุด เรื่องชวนหัวของคนเมืองกับเหล่าสัตว์ป่าจึงก่อตัวขึ้น

และความหาทำที่สุดของมาร์แชล นอกจากการเอาสมาชิกครอบครัวทั้งหมดในบ้านมาแสดงหนังด้วยกันแล้ว คือเขาเกณฑ์เอาสัตว์ป่าที่ไม่ได้ถูกฝึกให้เจอหรืออยู่กับมนุษย์มาก่อนให้มาร่วมแสดงด้วยกัน ลงเอยด้วยการที่ตัวเขาเองเกือบเสียแขน นักแสดงนำหญิงเจอสิงโตเขมือบทั้งหน้าจนตาเกือบบอดต้องเข้ารับการศัลยกรรม และทีมงานอีก 70 ชีวิต ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสตลอดทั้งการถ่ายทำ จนมันได้ชื่อว่าเป็นมหากาพย์ที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์การถ่ายหนังเลยทีเดียว

ไอเดียตั้งต้นมันเริ่มมาจากตอนที่มาร์แชลกับ ทิปปี เฮเดรน ภรรยาและนักแสดงร่วมในเรื่อง เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติโกรองกอซาแล้วเห็นฝูงสิงโตเกาะกลุ่มกันอยู่หน้ากระท่อมร้างแห่งหนึ่ง ด้วยความประทับใจในความสง่างามของพวกมัน ทั้งสองเลยเกิดดำริขึ้นมาว่าอยากทำหนังที่ว่าด้วยมนุษย์และสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันในบ้านหลังน้อย ก่อนจะไปติดต่อขอเอาสัตว์ป่าต่างๆ มาเข้าฉากซึ่งสถานการณ์เลวร้ายมากเพราะเขาแหกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ของอเมริกาไปไม่รู้ตั้งกี่ข้อรวมถึงรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act of 1973) 

ปรากฏว่าเปิดกล้องไปได้ไม่เท่าไหร่ ตัวมาร์แชลโดนสิงโตตะปบแขนแทบหลุด ไม่นับถูกกัดอีกสิบเอ็ดครั้งจนเลือดอาบต้องหามส่งโรงพยาบาล สุดท้ายเขาเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ ทั้งเนื้อบางส่วนก็กลายเป็นเนื้อตายต้องตัดทิ้ง กว่าเขาจะฟื้นคืนร่างกายได้ก็กินเวลานานหลายปีทีเดียว เฮเดรนโดนนางสิงห์งับหัวเธอจนเขี้ยวขูดกะโหลก ข้อเท้าหักจากการถูกช้างเอางวงบีบ เจอเสือดาวและเสือภูเขาเอากรงเล็บหวดเข้าที่แขนและหน้าอก ส่วนนักแสดงหญิงอีกคน เมลานี กริฟฟิท เจอสิงโตกระโจนเข้าใส่จนถูกหามส่งโรงพยาบาลฉุกเฉินและเย็บไปห้าสิบเข็มจนตาเกือบบอดและต้องศัลยกรรมปกปิดรอยแผล (เธอให้สัมภาษณ์ว่า “การทำงานกับสิงโตมันยากมากเลย ไม่ใช่เพราะมันอันตรายนะ แต่เพราะมันน่ารักมากๆ ต่างหากล่ะ”) ส่วนลูกชายของมาร์แชลโดนขย้ำหลังหัวจนหนังศีรษะเปิดเย็บไปอีก 56 เข็ม

ความหายนะไม่ได้เกิดแค่กับตัวนักแสดง แต่ยังลามไปถึงทีมงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยาน เดอ บอนต์ ผู้กำกับภาพชาวดัตช์ที่เพิ่งมาถ่ายทำหนังฮอลลีวูดเป็นเรื่องแรก พบว่านั่งอยู่ดีๆ ก็น็อกกลางอากาศเพราะสิงโตพุ่งเข้างับเต็มแรงทำหนังศีรษะฉีกจนเย็บ 220 เข็ม ตอนหลังเขาบอกว่า “นี่เป็นหนังเรื่องแรกเลยนะที่ผมหัวเกือบขาดระหว่างถ่ายทำ” (ในอีกหลายปีต่อมา เขาคือคนกำกับภาพ Die Hard (1988) หนังแอ็กชันขายดีตลอดกาลเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด) ชะตากรรมของเดอ บอนต์ใกล้เคียงกับ โดรอน คูเปอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับที่โดนสิงโตตะปบจนเนื้อส่วนคอแหว่งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ ขากรรไกรถูกกัด แถมสิงโตอีกตัวยังพยายามเข้ามากระชากหูเขาออกไปเคี้ยวเล่น และยังมีทีมงานอีกหลายสิบชีวิตที่เป็นเป้าหมายของสิงโต พวกเขาเกือบเสียหู แขนหรือขาให้พวกมันอย่างน้อยสัปดาห์ละสองสามครั้ง จนสุดท้าย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่เลยมีนโยบายให้ทีมงานส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในกรงแทนทั้งในช่วงระหว่างพักและการถ่ายทำจริง ทั้งอย่างนั้น จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บก็ยังเพิ่งมากขึ้นเรื่อยๆจนกว่าจะปิดกองได้ก็ลากยาวมาอีกหลายเดือน ทั้งหนังก็ไม่ทำเงินแถมคนยังเอาแต่ถามว่า นี่พวกเอ็งรอดชีวิตจากกองถ่ายนั่นมากันได้ยังไงฟะ

และถ้าว่ากันด้วยงานหินในการถ่ายทำ Apocalypse Now (1979) ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ติดโผทุกสำนักอย่างแน่นอนเพราะลำพังก่อนหนังออกฉายจริงมันก็อื้อฉาวด้วยเรื่องวิบากกรรมที่ทีมงานต้องผจญระหว่างออกกองในป่าดงดิบที่ฟิลิปปินส์ ยุงป่า ความบ้าระห่ำเจียนคลั่ง และศพมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้คอปโปลาออกปากในภายหลังว่า “เออ มันทำเอาคนของเราบางคน เสียสติไปจริงๆ” 

Apocalypse Now เล่าภายใต้บริบทของสงครามเวียดนาม นายทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐอเมริกา ร้อยเอกวิลลาร์ด (มาร์ติน ชีน ซึ่งระหว่างถ่ายทำก็เกิดหัวใจวาย ทั้งยังทำตัวเองหัวแตกจนได้เลือด และคอปโปลาก็ตัดเอาฉากนี้ใส่ในหนังช่วงต้นเรื่องด้วย) ถูกมอบหมายให้เดินทางมายังป่าลึกของเวียดนามพร้อมทหารหน่วยย่อย เพื่อออกล่า พันเอกเคิร์ตซ์ (มาร์ลอน แบรนโด) ผู้บังคับบัญชาหนีทัพและถูกทางการมองว่าวิปริตไปแล้วโดยสิ้นเชิง การเดินทางครั้งนี้ของวิลลาร์ดและทีมจึงอวลไปด้วยกลิ่นอายความตึงเครียดของป่า สงคราม และความบ้าระห่ำของผู้คน

เบื้องหลังการถ่ายทำก็ระห่ำไม่แพ้กัน เพราะเดิมทีงบตั้งต้นของมันแค่สองล้านเหรียญฯ โดยวางตัวให้ จอร์จ ลูคัส กำกับแล้วคอปโปลานั่งแท่นโปรดิวซ์แทน แถมยังตั้งใจจะถ่ายทำใกล้ๆ ในซานฟรานซิสโก และไกลสุดคือประเทศไทย แต่ความหายนะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนมือผู้กำกับจนคอปโปลาต้องทำเอง งบขยายเป็นสามสิบล้านเหรียญฯ และกำหนดให้ไปออกกองที่ฟิลิปปินส์นาน 17 สัปดาห์ แถมยังวุ่นวายเรื่องแคสติ้งนักแสดงอยู่นานพักใหญ่ หากแต่เค้าลางของปัญหาก่อตัวขึ้นภายหลังจากที่คอปโปลาพาทีมงานไปยังกรุงมะนิลา แล้วเช่าบ้านขนาดยักษ์อยู่ด้วยกัน ด้วยระยะเวลาถ่ายทำตามกำหนดเดิมคือแค่สี่เดือน เพื่อจะพบว่า พวกเขาถ่ายทำไปได้แค่สองเดือนก็เจอพายุไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์ และทำทุกอย่างชะงักงันจนคอปโปลาแทบเสียสติ เนื่องจากถ่ายต่อไม่ได้จนต้องพักกองยาวกว่าสี่สัปดาห์ (คอปโปลาเลยพยายามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นว่าเขาเศร้ามากกว่าเดิมอีก เพราะทางฝั่งนั้นปฏิเสธให้ความช่วยเหลือในการทำหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะในด้านใดๆ เพราะมันเป็นหนังที่ทำให้คนมองอเมริกาในสงครามเวียดนามในแง่ลบ) ฉากแสดงโชว์ที่ทีมฉากเซ็ตมาอย่างดีถูกพายุถล่มราบเป็นหน้ากลองและ ดีน ทาโวลาริส หัวหน้าทีมโปรดักชันดีไซน์เล่าอย่างเศร้าๆ ว่า “ฝนมันเอาแต่ตกหนักขึ้นทุกที ทุกทีจนสุดท้ายแล้ว ก็เหลือแต่สีขาวโพลนอยู่ด้านนอกโรงแรม ต้นไม้ทุกต้นเอน 45 องศา” เขาเลยต้องอดทนจนพายุสงบแล้วออกไปหาโลเคชันใหม่ๆ เพื่อสร้างฉากสำหรับถ่ายซีนแสดงโชว์แห่งใหม่ทั้งหมด

ยังไม่นับว่าการถ่ายทำในป่ามันตึงเครียด เนื่องจากเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งพายุ แสงแดด สภาพอากาศหรือโรคภัย ซึ่งการเกิดภาวะ ‘หัวใจวาย’ ของมาร์ติน ชีน คากองถ่ายก็ยิ่งทำให้หนังเจ้ากรรมเรื่องนี้ของคอปโปลาอื้อฉาวเข้าไปอีก เพราะมันสะท้อนความตึงเครียดสุดขีดระหว่างการถ่ายทำ (รวมถึงจากบทวิลลาร์ดที่เรียกร้องความบ้าระห่ำขั้นใกล้เคียงอาการเสียสติ) และสภาพอากาศร้อนจัดจนชีนหมดสติ 

รวมถึงเรื่องเซอร์แตกที่ทำเอาทีมงานถูกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ยึดพาสปอร์ตและเรียกไปสอบสวนกลางกองถ่าย เมื่อพวกเขาเอา ‘ศพมนุษย์’ ตัวจริงเสียงจริงมาเข้าฉากและทำเอา เกรย์ เฟรเดอริกสัน โปรดิวเซอร์หนังกรีดร้องแทบคลั่งตอนเห็นทีมงานลำเลียงศพเข้ามาในเต็นท์ระหว่างที่เขากำลังกินมื้อเย็น “พวกนายบ้ากันไปแล้วรึไงวะ! เอามาจากไหนเนี่ย เอาออกไปเดี๋ยวนี้เลยนะ” แต่ทีมงานก็ค้านหัวชนฝาว่าอุตส่าห์ไปเอามาแล้ว จะให้เอาคืนก็ไม่ใช่เรื่องไหม ทั้งยังบอกว่าได้มันมาอย่างถูกต้องจากชายที่ทำหน้าที่จัดหาศพให้โรงเรียนแพทย์ในฟิลิปปินส์ แต่ปรากฏว่าทั้งกองถ่ายโดนหลอกเพราะกลายเป็นว่า ชายคนดังกล่าวขโมยศพเหล่านั้นมาจากสุสาน และเฟรเดอริกสันเล่าอย่างขมขื่นว่า “พวกตำรวจบุกมาหาเรากลางกองถ่ายแล้วยึดพาสปอร์ตเราหมดเลย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเราฆ่าคนพวกนี้มาหรือเปล่า เนื่องจากศพพวกนี้ยังไม่ถูกระบุตัวตนว่าเป็นศพใคร ผมเกือบบ้าไปอยู่สองสามวันแต่สุดท้าย พอทีมงานพูดความจริง ตำรวจเลยสืบไปหาคนขโมยศพแล้วยัดหมอนั่นเข้าคุกจนได้” แต่เรื่องเซอร์เรียลกว่านั้นคือ อยู่ดีๆ พวกเขาก็พบว่ามีกลุ่มทหารท้องถิ่นขับรถขนศพมาให้ถึงกองถ่ายโดยไม่บอกว่าเอามาจากไหน เงื่อนไขเดียวคือถ้าเอาศพพวกนี้ไปถ่ายทำเสร็จแล้วก็เอาไปจัดการฝังให้ด้วย ซึ่งทีมงานรีบปฏิเสธกันพัลวันเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปฝังที่ไหนได้ เฟรเดอริคสันบอกว่า “สุดท้ายทหารพวกนั้นบอกแค่ว่างั้นเดี๋ยวจะเอาไปทิ้งเอง แต่เราก็ไม่ยอมเอามาใช้ในหนังอยู่ดี พวกเขาเลยขับรถขนศพนั้นหายไปไหนไม่รู้ และจนทุกวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจัดการพวกศพนั่นยังไง แต่เอาเป็นว่า ในหนังเราน่ะใช้นักแสดงสมทบแสดงเป็นศพที่โดนแขวนบนต้นไม้ ไม่ใช่ศพจริงละกัน”

และหากว่า Apocalypse Now ทำทีมงานเจียนคลั่งจากภัยพิบัติไปแล้ว เราขอผายมือไปสู่กระบวนการสร้าง Fitzcarraldo (1982) หนังมหากาพย์ของเสด็จพ่อ แวร์เนอร์ แฮร์โซก กับการดั้นด้นไปถ่ายในป่าพร้อมความพยายามจะแบกเรือกลไฟขึ้นไปบนเขา พิษไข้ในป่า การขู่ฆ่านักแสดงนำ และการ ‘ตัดเท้า’ ตัวเองหลังโดนงูกัดของหนึ่งในทีมงาน

แฮร์โซกไปได้พล็อตทำหนังมาจากชีวิตของ คาร์ลอส เฟร์มิน ฟิตซ์คาร์รัลด์ พ่อค้ายางชาวเปรูที่โด่งดังจากการแยกชิ้นส่วนเรือกลไฟน้ำหนักสามสิบตันแล้วข้ามคอคอดของแม่น้ำสองสายตลอดความยาว 11 กิโลเมตร ในเวลาต่อมามันถูกสร้างสะพานเชื่อมที่กลายเป็นเส้นทางการค้ายางสำคัญของเปรู แต่แฮร์โซกดัดแปลงให้เป็นเรื่องของ ไบรอัน สวีนีย์ ‘ฟิตซ์คาร์รัลโด’ ฟิตซ์เจอรัลด์ (แสดงโดย เคลาส์ คินสกี นักแสดงคู่บุญของแฮร์โซกที่แทบจะหักคอกันกลางกองถ่ายจากเรื่องนี้) ชายชาวไอริชที่อยากสร้างโรงละครโอเปรากลางป่าเลยดั้นด้นทำทุกทางที่จะแบกอุปกรณ์ ขนย้ายสิ่งของขึ้นไปสร้าง รวมถึงขนเรือกลไฟหนักสามร้อยตันด้วย! (จากเรื่องจริงซึ่งหนักแค่สามสิบตัน)

ความที่ต้นธาร แฮร์โซกประทับใจการขนเรือไฟข้ามคอคอดของคาร์ลอส ฟิตซ์คาร์รัลด์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีอะไรน่ามหัศจรรย์ใจไปกว่าการขนย้ายเรือยักษ์ในยุค 1890 โดยใช้แค่แรงกายกับเทคนิคการเคลื่อนย้ายด้วยล้อเลื่อน ตอนที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในป่าที่เปรู แฮร์โซกเลยตั้งใจจะลากเรือกลไฟขนาด 320 ตัน ทั้งยังเอียงกระเท่เร่ 40 องศาและมีโอกาสคว่ำตกเขาทุกเมื่อ ข้ามเขาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายล้วนๆ ด้วยความเชื่อว่าไม่เคยมีใครทำเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การทำหนัง และในอนาคตก็คงไม่มีใครทำเหมือนกัน! (ก็แน่สิปู่)

เค้าลางความวุ่นวายก่อตัวตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อนักแสดงอเมริกัน เจสัน โรบาร์ดส์ ที่เดิมทีรับบทนำและถ่ายทำไปได้แล้วสี่สิบเปอร์เซ็นต์ล้มป่วยด้วยโรคบิดและโดนหมอสั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้มากองถ่ายหรือทำงานนี้อีก แฮร์โซกเลยต้องหานักแสดงคนใหม่และถ่ายซ่อมเกือบทั้งหมดที่ถ่ายไปแล้ว หวยมาออกที่คินสกีที่ร่วมงานกับแฮร์โซกมาแล้วตั้งแต่ ‎Aguirre, the Wrath of God (1972) และมีความสัมพันธ์แบบ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ กับแฮร์โซกมาโดยตลอด (ลือกันว่าสมัยถ่ายทำ Aguirre, the Wrath of God คินสกีเกิดหงุดหงิดไม่ยอมแสดงต่อ แฮร์โซกเลยหยิบปืนขึ้นเล็งแล้วบังคับให้อีกฝ่ายแสดงต่อไปจนกว่าจะจบซีน) ทั้งตัวคินสกีเองก็มีชื่อเสียงเรื่องอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาจึงเป็นไม้สุดท้ายภาคบังคับใช้ของแฮร์โซก (ในทางกลับกัน หลายคนก็แย้งว่า ถ้าไม่ใช่คินสกีก็ไม่น่าจะมีใครทนไม้ทนมือแฮร์โซกได้เหมือนกันแหละ)

แฮร์โซกยังจ้างชนพื้นเมืองเปรูมาเป็นนักแสดงสมทบและเป็นทีมงานช่วยขนย้ายข้าวของนับพันชีวิต และความโหดหินสุดขีดของการถ่ายทำก็ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เป็นต้นว่าเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกระหว่างขนย้ายทำให้ทีมงานได้รับบาดเจ็บสาหัส คนหนึ่งเป็นอัมพาต ทั้งการขนย้ายเรือกลไฟเจ้ากรรมก็ยากเย็น เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยแม้จะใช้รถไถมาปรับหน้าดินแล้วก็ตาม ตลอดจนความป่วยไข้จากโรคภัยหรือสัตว์ร้าย ซึ่งแม้แฮร์โซกจะจ้างทีมแพทย์ให้ไปออกกองด้วย ก็ยังเกินกำลังจะดูแลคนนับพันที่บาดเจ็บ ความเมื่อยล้าจากการแบกหามแถมอาหารการกินยังไม่ทั่วถึง แต่ไม่มีอะไรโหดมากไปกว่าการที่ชาวพื้นเมืองคนหนึ่งโดนงูพิษกัดและจำต้องตัดสินใจโดยด่วนว่าจะรักษาอย่างไร เนื่องจากไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะลงจากภูเขาเพื่อเข้าไปยังตัวเมืองเปรูและเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้ทันเวลา ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจเอาเลื่อยหั่นเท้าตัวเองออก เพื่อกันไม่ให้พิษไหลไปสู่ร่างกายส่วนอื่น ซึ่งแฮร์โซกถึงขั้นออกปากว่า “ก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องนะ อย่างน้อยเขาก็ไม่ตาย” 

นอกจากนี้ สภาพความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองในฐานะทีมงานและนักแสดงสมทบของหนังยังย่ำแย่มาก พวกเขาต้องจากบ้านและครอบครัวมาหลายร้อยไมล์เพื่อมาลากเรือยักษ์บนเขาสูงชันนานหกเดือน แลกค่าแรงตกวันละสองเหรียญฯ อาหารและยาไม่เพียงพอ ทั้งยังถ่ายทำตามประสาแฮร์โซกคือ ไม่ยอมคัตจนกว่าจะได้ซีนที่เขาพอใจ ทีมงานเหล่านี้จึงต้องแสดงซ้ำไปซ้ำมาบวกกับต้องลากเรือ ถางป่าไปพลาง แต่ไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่าเมื่อพวกเขาคนหนึ่งเสียชีวิตจากไข้มาลาเรีย ความบันเทิงเดียวที่พวกเขาพอจะมีได้คือการเล่นฟุตบอลจนกว่าลูกหนังจะเปื่อยและขาดไปเอง 

ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ แฮร์โซกเลยดึงดันจะเอาโสเภณีพื้นเมืองมาออกกองด้วยเพื่อบรรเทาความเครียดให้ทีมงาน ซึ่งเขาต้องไปเถียงกับบาทหลวงคาทอลิกที่ยืนกรานว่าโสเภณีเป็นบาปคอแทบแตก เพราะสุดท้ายแล้วแฮร์โซกไม่ได้แยแสว่าหนังเขาจะบาปหรือไม่บาป แต่เพราะถ้าไม่มีหญิงบริการไป ‘ไอ้พวกผู้ชายในกองมันต้องคลั่งคาป่าแน่ๆ’ และก็เป็นโสเภณีนี่เองที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้บริการทางเพศอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเยียวยาความเจ็บปวดด้วยเมื่อ โธมัส เมาช์ ผู้กำกับภาพเกิดอุบัติเหตุขณะถ่ายทำจนมีแผลฉกรรจ์ที่มือ ทีมแพทย์ต้องเย็บมือเขากลับเข้ามาติดกันอีกครั้งโดยปราศจากยาชา เป็นเวลาสองชั่วโมงครึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นสองชั่วโมงครั้งที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของเมาช์ และทั้งหมดนี้ แฮร์โซกส่งโสเภณีนางหนึ่งไปปลอบประโลมเขาระหว่างที่แหกปากร้องด้วยความเจ็บปวด ด้วยการให้เมาช์นอนซุกหน้าอกเธอขณะที่ยื่นมือขาดกะรุ่งกะริ่งนั้นให้หมอเย็บแผล

มากไปกว่านั้น กองถ่ายยังเจอเรื่องเกินความคาดหมายสุดขีด อย่างการยกกองไปรุกล้ำพื้นที่ของเผ่าพื้นเมืองอีกเผ่าคือชาวอมาฮัวกา ซึ่งพวกเขาโกรธจัดและจู่โจมกองถ่ายทันทีด้วยการเปิดฉากรบอย่างดุเดือดจนทีมงานของแฮร์โซกโดนธนูปักเข้าที่ลำคอหนึ่งดอก ขณะที่ภรรยาของเขาซึ่งมาออกกองด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัสที่หน้าท้องและทีมแพทย์ต้องพาเธอไปผ่าตัดเร่งด่วนบนโต๊ะอาหารนานแปดชั่วโมงเต็ม มีแฮร์โซกยืนถือไฟฉายส่องช่องท้องที่แพทย์พยายามเย็บแผล “ผมยืนถือไฟฉายส่องแผลให้เธอด้วยมือนึง อีกมือโบกยุงฝูงเบ้อเริ่มที่มาตอมเลือด” หลังจากนั้น พฤติกรรมต่างๆ ของแฮร์โซกในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าขาดมนุษยธรรม ซึ่งเขาน้อมรับโดยดี

อย่างไรก็ตาม มันได้กลายเป็นโคตรหนังมหากาพย์อีกเรื่องของแฮร์โซกและได้รับการจดจำในฐานะหนังบ้าพลังอีกเรื่องของเขา (ขณะที่เขาเรียกความสำเร็จจากการถูลู่ถูกังเอาเรือยักษ์ไปไว้บนเขาด้วยกำลังคนของตัวเองว่า “เป็นผู้ชนะในเรื่องที่ไร้ประโยชน์ซะจริ๊ง”) 

ส่วนเรือเจ้ากรรมลำนั้นก็ยังคงอยู่ในป่า จุดตรงที่พวกเขาถ่ายทำกันจนถึงทุกวันนี้

 ยังมีตัวอย่าง ‘กองถ่ายนรก’ อีกมาก สิ่งหนึ่งที่เราควรเรียนรู้ไว้คือการให้เกียรติเพื่อนร่วมงานและตระหนักเสมอว่าหนังทั้งเรื่องนั้นไม่อาจสำเร็จได้แค่เพราะคนคนเดียว แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ควรครอบคลุมทีมงานทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เราอยู่ในปี 2021 กันแล้ว ยังจะมีเหตุผลอะไรให้เราต้องปฏิบัติต่อกันราวกับอยู่ในกองถ่ายหนังของแฮร์โซกเมื่อปี 1982 กันอีกเล่า

Tags: , , ,