กระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ายินดีคือมีผู้คนมากมายที่เริ่มลงมือทำ ทั้งยังมีหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่ทว่าโลกกลับต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่ความรุนแรงของสถานการณ์เข้ามาเบียดขับกระแสสิ่งแวดล้อมให้หลุดออกไปจากความสนใจของสังคม 

พฤติกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดขยะ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจึงถูกเบรกไว้ก่อน ซ้ำร้ายปริมาณขยะทั่วโลกยังเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงขยะติดเชื้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความต้องการลดการแพร่ระบาดของไวรัส – จริงไหมที่วิกฤตโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมการลดขยะ ในสถานการณ์เช่นนี้เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่จริงแล้วเราสามารถรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ พบคำตอบในบทสนทนากับ ‘โปรโม’ – โมรียา จุฑานุกาล และ ‘โปรเม’ – เอรียา จุฑานุกาล สองพี่น้องโปรกอล์ฟระดับโลก ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนหันมาสนใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงบทบาทของการเป็นทูตรณรงค์เรื่อง Circular Economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ และทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญในการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน   

เพราะแม้หลายวิกฤตในโลกจะชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราทุกคนก็สามารถมีส่วนช่วยโลกนี้ได้เช่นกัน และทัศนคติที่ว่า “คัดแยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้ายเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี” เป็นความเชื่อที่ไม่จริง 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนสนใจเรื่องการคัดแยกขยะ 

โปรเม: เพราะเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กๆ ที่นั่นการคัดแยกขยะถือเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว แทบทุกบ้านจะคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โมและเมจึงได้รับการปลูกฝังนิสัยนี้มาจนเป็นความเคยชิน ส่วนจุดที่ทำให้เราเริ่มหันมาศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นก็ตอนที่เราได้มาเป็นทูตรณรงค์เรื่อง Circular Economy ผ่านแนวทางปฏิบัติ SCG Circular Way ให้กับทาง SCG ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจให้เราและยืนยันว่าสิ่งนี้สำคัญกับเราทุกคนและโลกของเรา เมื่อเรามองเห็นว่าเราควรจะคัดแยกขยะยังไง เพื่ออะไร มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและอยากจะทำมันมากขึ้น 

โปรโม: ตอนที่เราไปอยู่อเมริกาแรกๆ เราไม่สนใจเรื่องการคัดแยกขยะเลย ตอนที่เห็นคนเขาทำกันเราก็จะงงๆ ว่าเขากำลังทำอะไร แล้วเขาทำเพื่ออะไร ซึ่งเราก็จะโยนขยะลงไปในถังต่างๆ ด้วยความไม่แน่ใจว่าถูกต้องแล้วหรือเปล่า ส่วนจุดที่ทำให้เราเริ่มแยกขยะอย่างจริงจังก็คือตอนที่เริ่มซื้อบ้านที่อเมริกา ทุกครั้งที่เก็บขยะจะแยกออกเป็นสามถังอย่างชัดเจน ได้แก่ ขยะแห้ง ขยะเปียก และขยะรีไซเคิล เพราะที่นั่น เขาจะให้คนทิ้งแยกขยะให้ชัดเจน 

ดูเหมือนว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกคุณ 

โปรโม: ใช่ๆ ด้วยความที่ทุกคนทำ มันก็เปลี่ยนให้คนที่ไม่เคยให้ความสนใจในการแยกขยะอย่างเราหันมาทำสิ่งนี้บ้าง ในกรณีของเราต้องบอกว่าสิ่งแวดล้อมมีส่วนมาก ระบบที่อเมริกาปลูกฝังให้คนสนใจสิ่งแวดล้อม พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นว่าถ้าวันไหนเราทิ้งผิดถังขึ้นมา วันนั้นเราจะรู้สึกไม่ดีไปเลย 

โปรเม: นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว เมคิดว่าเราต้องเริ่มศึกษาหาความรู้ด้วย เมื่อก่อนเมไม่เข้าใจเลยนะว่าเราจะแยกขยะไปทำไมกัน เพราะเราโตมากับทัศนคติที่ว่า เดี๋ยวเราแยกขยะไป สุดท้ายเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี คือเราไม่รู้มาก่อนว่าจริงๆ แล้วขยะที่เราทิ้งมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าโลกนี้จะไม่มีคำว่า ‘ขยะ’ ถ้าเรารู้จักแยกมันให้ถูกวิธี 

โปรโม: ยกตัวอย่างเช่นขยะเปียกหรือเศษอาหารต่างๆ เราสามารถนำไปทำปุ๋ย หรือยังนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อได้อีกด้วย ส่วนขยะแห้งอย่างเช่นขวดพลาสติกหรือกระป๋อง เราก็นำกลับมาใช้ต่อได้เช่นกัน อีกอย่างที่โมมักทำเป็นประจำก็คือการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันให้นานที่สุด เช่น การนำเสื้อยืดที่เริ่มเบื่อแล้วมาตัดแขน หรือดัดแปลงรูปแบบของมัน นอกจากเราจะได้เสื้อตัวใหม่แล้วเรายังรู้สึกสนุกด้วย รวมไปถึงการนำสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) อย่างง่ายๆ  ที่ใครๆ ก็ทำได้ อย่างเช่น นำกล่องพลาสติกที่ร้านอาหารให้มาล้างแล้วใช้ซ้ำอีก พอถึงเวลาต้องทิ้งจริงๆ ก็แยกให้ถูกถัง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการช่วยชะลอการเกิดขยะไปได้ไม่น้อยทีเดียว 

ในวิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนว่ากระแสรักษาสิ่งแวดล้อมจะถูกเบรกไว้ก่อน และขยะต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง 

โปรเม: หลายคนจะรู้สึกว่าหยุดทุกเรื่องไว้ก่อนเถอะ เพราะไวรัสกำลังท้าทายชีวิตพวกเราทุกคนอยู่ในระดับวิกฤตด้วย แต่เมคิดว่าเรายังสามารถใช้ชีวิตโดยป้องกันโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการแยกขยะได้ อย่างน้อยคือเราแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และอุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอาไว้เพื่อให้คนเก็บขยะทำงานได้สะดวกมากขึ้น ต่อให้วิธีนี้ไม่อาจลดขยะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้ช่วยเหลือคนและโลกบ้าง 

โปรโม: เราสองคนมักจะพกกระติกน้ำไปไหนมาไหนอยู่แล้ว ซึ่งมันก็สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อด้วยการไม่ใช้ของร่วมกัน ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยกับตัวเองและคนอื่น รวมถึงเป็นการไม่เพิ่มปริมาณขยะที่ไม่จำเป็น โมว่าเรื่องนี้ทุกคนสามารถทำได้เลยนะ 

ในการสื่อสารให้คนอื่นๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวเป็นปัญหาสำหรับพวกคุณหรือเปล่า

โปรเม: เมคิดว่าพอทุกคนเจอปัญหาจากสภาวะโลกร้อน เจอสถานการณ์ต่างๆ ที่บ่งบอกว่าธรรมชาติกำลังทวงคืนเราอยู่ เราจะมองถึงอนาคตมากขึ้น แล้วเราจะพบคำตอบว่าทำไมวันนี้เราต้องเริ่มแยกขยะกันได้แล้ว ซึ่งการสื่อสารให้คนรอบตัวสำหรับเมไม่มีปัญหาเลย พ่อแม่ของเมพร้อมซัพพอร์ตเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ด้วยความเข้าใจว่าโลกกำลังพบสถานการณ์อะไรอยู่ แล้วเขาเข้าใจจริงๆ ว่าอนาคตจะแย่ขนาดไหนถ้าเราไม่เริ่มกันตั้งแต่ตอนนี้ เมคิดว่าทุกคนพร้อมจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพราะว่าวันนี้ผลกระทบจากการทำลายธรรมชาติของคนรุ่นก่อนๆ รวมถึงพวกเรากันเองมันมาถึงพวกเราแล้ว 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณคิดว่าการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากเป็นโปรกอล์ฟระดับโลก กับการรณรงค์ให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการแยกขยะ สิ่งใดยากกว่ากัน  

โปรเม: แน่นอน การชี้ให้คนเห็นความสำคัญกับการคัดแยกขยะเป็นเรื่องที่ยากกว่าและต้องใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์ เพราะการเป็นโปรกอล์ฟมือหนึ่งของโลกมันชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผลดีจะเกิดขึ้นกับคนที่มีความพยายาม อย่างเวลาคุณเห็นคนทำอะไรได้ดีหรือเห็นนักกีฬาที่มีความสามารถมันก็สร้างแรงบันดาลใจ ให้คุณอยากเป็นแบบเขาอยู่เสมอใช่มั้ยล่ะ ซึ่งเมว่าเรื่องนี้เป็นความอยากพื้นฐานที่ทุกๆ คนก็น่าจะเป็น 

แต่สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อม คนจะรู้สึกว่ามันไกลตัว และคุณเป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในภาพกว้าง อีกอย่างก็คือเมื่อทำแล้วก็ไม่ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ถามว่าพอเมมาทำหน้าที่ตรงนี้เมหวังไหม เมหวังนะ ยิ่งเราได้ศึกษา เราก็ได้เข้าใจถึงกระบวนการของขยะที่มันไหลจากเมืองไปสู่ธรรมชาติ เราก็ยิ่งอินมากขึ้นไปอีก วันนี้เมมองเห็นความหวัง เมมองเห็นว่าทุกอย่างสามารถเริ่มต้นที่ตัวเรา เมจึงอยากพูดให้ทุกคนเข้าใจได้ว่า การที่คุณจะช่วยโลกมันไม่ต้องรอคนอื่นเลย คุณสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ 

โปรโม: แต่อยากย้ำว่าการที่มันจะเห็นผลได้ ไม่ใช่แค่เราสองคนเท่านั้น แต่ทุกคนต้องออกมาช่วยกัน โมมองว่าการที่คนรู้จักเราเขาอาจจะหยุดฟังว่าเราพูดอะไร อ๋อ พูดเรื่องขยะเหรอ เขาก็อาจจะเอะใจอยู่บ้างว่าเพราะอะไรเราสองคนถึงออกมาพูดเรื่องนี้ แต่สิ่งที่จะทำให้การแยกขยะมันกลายเป็นวัฒนธรรมของเราได้จริงๆ ก็คือ เขาต้องนำความเอะใจนั้นกลับไปคิดต่อ กลับไปศึกษามากขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของมันจริงๆ แล้วเขาจะรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของภาพกว้าง และเขาสามารถสร้างโลกที่อยากเห็นในอีกสิบปีข้างหน้าได้ 

จะทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าเราเป็นคนที่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่พูดเพราะเราแค่รับหน้าที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เท่านั้น 

โปรเม: ทุกอย่างวัดได้จากการกระทำของเรา เช่นเดียวกับการที่เราได้เป็นมือหนึ่งของโลกนั่นแหละ ถ้าเมไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นมาก่อน แล้ววันหนึ่งเมไปบอกคนอื่นๆ ว่าการจะเป็นมือหนึ่งของโลกได้เธอต้องทำแบบนี้นะ คุณคิดว่าคนฟังเขาจะเชื่อไหม ก็คงไม่ แต่การที่เราเป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก มันทำให้เรามีพลังในการพูดและคนก็จะเชื่อถือเรามากขึ้น 

ซึ่งในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม เราเองก็บอกได้แค่ว่าเราสองคนทำจริงๆ และเราก็จะทำตามที่เราพูด เพราะตามธรรมชาติของพวกเราแล้ว ต้องบอกว่าอะไรที่เราไม่อินเราจะไม่ทำเด็ดขาด แต่ถ้าเราอิน เรารู้สึกว่ามันมีประโยชน์จริงๆ เราถึงจะทำ สำหรับเม การกระทำจึงดังกว่าคำพูดเสมอ 

‘เราแยกกันเถอะ’ 

สำหรับใครที่สงสัยว่าเราจะคัดแยกขยะอย่างไรให้ถูกวิธี แล้วสุดท้ายขยะที่เราคัดแยกไว้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้จริงหรือ คลิปวิดีโอนี้มีคำตอบ 
‘เราแยกกันเถอะ’ คือคลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดให้เห็นไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของโปรโมและโปรเม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความชอบส่วนตัวของทั้งคู่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดขยะอะไรได้บ้าง สำหรับโปรเมที่เป็นคนที่มีความสุขกับการกินอาหาร มักสั่งอาหารมาที่บ้านอยู่บ่อยๆ พฤติกรรมนี้ทำให้เกิดทั้งขยะเปียกจากเศษอาหารที่เหลือ รวมทั้งขยะจากบรรจุภัณฑ์ ส่วนโปรโมที่ชอบสั่งของออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างขยะจำพวกกล่องกระดาษ พลาสติก และวัสดุกันกระแทกต่างๆ 

ทีนี้ลองจินตนาการต่อไปว่า ในแต่ละบ้านที่อาจมีสมาชิกหลายคนมากกว่านี้ ซึ่งต่างก็มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน เมื่อต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะสามารถสร้างขยะได้ในปริมาณมากมายแค่ไหน 

อย่างที่โปรเมได้ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ไว้ว่าเราทุกคนต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อคำว่า ‘ขยะ’ เสียใหม่ เดิมเราอาจจะคิดว่าขยะคือสิ่งที่เราไม่ต้องการ ใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ และต้องทิ้งเท่านั้น แต่แนวคิดของการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งของหลายอย่างที่เราเห็นว่ามันเป็นขยะ แท้จริงแล้วมันยังสร้างประโยชน์ให้กับตัวเรา รวมถึงคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่นเดียวกับการที่คลิปวิดีโอนี้ถ่ายทอดให้เห็นต่อไปว่า วิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้คือการแยกขยะเปียก และขยะแห้งหรือขยะรีไซเคิลออกจากกัน เมื่อทิ้งขยะเปียกไปแล้ว จากนั้นก็มาจัดการขยะรีไซเคิลต่อ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารก็สามารถล้างและนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง ส่วนกล่องใส่สินค้าออนไลน์ต่างๆ ก็มักจะมีขนาดใหญ่ จึงไม่ควรนำไปทิ้งในทันที แต่ควรที่จะนำมาจัดเรียงกันให้เป็นระเบียบก่อนจะทิ้ง วิธีการนี้นอกจากจะลดพื้นที่ในถังขยะ ยังเป็นการช่วยให้คนเก็บขยะสามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับรีไซเคิลขยะได้อย่างสะดวก  

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือทัศนคติผิดๆ ที่ฝังหัวเรามาตลอดนั่นคือ ความเชื่อที่ว่าแยกขยะไปก็เท่านั้น สุดท้ายเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี แต่คลิปวิดีโอนี้ย้ำให้รู้ว่าปัจจุบันมีหลากหลายหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่นำขยะที่เราแยกไปจัดการต่อได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ อาทิ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่รับขยะจากกระดาษ ไปรีไซเคิล กลุ่มความร่วมมือของภาคเอกชนที่พัฒนา Drop Point หรือจุดรับขยะในจุดต่างๆ ทั่วเมือง เช่น กลุ่มมือวิเศษ X วน และยังมีกลุ่มความร่วมมือ หรือ Startup อื่นๆ อีกมากมาย  รวมไปถึงร้านรับซื้อขยะต่างๆ ที่รับซื้อขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกระดาษ เป็นต้น 

ท้ายสุดกลับมาที่ตัวเรา แค่เราปรับพฤติกรรม เริ่มง่ายๆ แค่แยกขยะ โลกก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เป็นโลกที่ยังคงรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานเราได้ 

อยากรู้ว่าจะเริ่มต้นแยกกันยังไงดี? คลิก >> https://bit.ly/31izaZC

Tags: , , , , , ,