คุณคิดว่าอะไรคือจุดร่วมระหว่างบ้านที่เราอยู่ เขื่อนขนาดใหญ่ โทรศัพท์สมาร์ตโฟน แก้วที่ใช้ดื่มน้ำ และท้องถนน?

หลายคนคงเดาได้จากชื่อบทความนะครับ เพราะสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเราพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น มีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ‘ทราย’ นั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงทราย บางคนอาจคิดไปถึงคำกล่าวแสนโรแมนติกว่าเม็ดทรายนั้นมีจำนวนมหาศาลไม่ต่างจากดวงดาวบนท้องฟ้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทรายที่เราคิดว่าจะไม่มีวันใช้หมดนั้นกำลังถูกขุดมาใช้อย่างไม่บันยะบันยังและเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนในอนาคต

ทุกวันนี้ สื่อได้พยายามฉายภาพภาวะ ‘เร่งด่วนอย่างยิ่ง’ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ แต่หากเทียบตามสถิติ ทรายคือสินแร่ที่ถูกขุดขึ้นมาใช้มากที่สุดในโลก แซงหน้าเชื้อเพลิงฟอสซิลไปด้วยปริมาณการใช้กว่า 3.2 – 5.0 หมื่นล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับคอนกรีต แก้ว และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ตอบสนองต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่ต้องใช้ทรายจำนวนมหาศาลสร้างเมืองให้ทันสมัย

นอกจากการเติบโตของความต้องการทรายเนื่องจากการเกิดขึ้นของเมือง ทรายยังถูกนำไปใช้เพื่อปรับภูมิทัศชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะและจมลงเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตัวอย่างใกล้ตัวก็เช่นโครงการที่มีความขัดแย้งอย่างเติมทรายหาดชลาทัศน์เพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์จากการถูกกัดเซาะ แม้กระทั่งการถมทะเลในประเทศซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างน้อยอย่างสิงคโปร์ โครงการเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มการใช้ทรายให้สูงเกินกว่าระดับที่ธรรมชาติจะผลิตไหว

(บน) กราฟแสดงการคาดการณ์ปริมาณทรายที่มีอยู่ (เส้นสีเหลือง) และปริมาณความต้องการทราย (เส้นสีแดง) (ล่าง) กราฟแสดงการคาดการณ์ราคาทราย (ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ภาพจากบทความ Time is running out for sand

ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน ทรายเป็นทรัพยากรที่ถูกขุดนำมาใช้มากที่สุดอันดับสองรองจากน้ำเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในกลางศตวรรษนี้ หากไม่มีการจัดการทรัพยากรทรายอย่างถูกวิธี ความต้องการใช้ทรายจะมีสูงเกินกว่าระดับที่ธรรมชาติจะสามารถสร้างมาทดแทนได้ทัน ทำให้ราคาของทรายสูงขึ้น ยังไม่นับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ทราย ทรัพยากรที่มองไม่เห็นกับผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน

แม้เราจะคุ้นตากับรถและเรือขนทรายในฐานะคนเมืองอยู่บ้าง แต่เราแทบไม่ทราบเลยว่าทรายเหล่านั้นมาจากไหน ปริมาณเท่าไหร่ กำลังจะถูกขนส่งไปยังที่ใด เพื่อสร้างอะไร ส่วนหนึ่งเนื่องจากอุตสาหกรรมทรายส่วนใหญ่จะมีคู่ค้าเป็นภาคธุรกิจไม่ใช่ปัจเจกชน ในชีวิตประจำวัน เราจึงมองเห็นทรายที่ปลายทางในฐานะสินค้าสำเร็จรูปโดยอาจไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่นั้นมีทรายเป็นส่วนประกอบสำคัญ

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกถึงบทเรียนโลกของเราสมัยเด็กที่กล่าวถึงทะเลทรายกว้างใหญ่ชื่อว่าซาฮารา ซึ่งน่าจะมีปริมาณทรายมากเพียงพอที่จะนำมาใช้อย่างไม่รู้จักหมดสิ้น แต่ความเป็นจริงคือ ทรายในทะเลทรายนั้นเกิดจากกระบวนการกัดกร่อนโดยลมทำให้มีอนุภาคกลมเกลี้ยงและไม่สามารถนำมาใช้ผสมคอนกรีตเพื่อการก่อสร้างได้ แตกต่างจากทรายแม่น้ำที่จะมีอนุภาคเป็นเหลี่ยมมุมมากกว่า

ตัวอย่างชื่อดังคือตึกบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (Burj Khalifa) อาคารที่สูงที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ในประเทศดูไบ แม้ว่าจะล้อมรอบด้วยทะเลทรายแต่การก่อสร้างตึกดังกล่าวกลับต้องนำเข้าทรายจากประเทศออสเตรเลีย

อุตสาหกรรมขุดทรายแม่น้ำส่วนใหญ่ในโลกยังอยู่ในพื้นที่สีเทาซึ่งมักดำเนินการแบบถูกกฎหมายบ้าง ไม่ถูกกฎหมายบ้าง และควบคุมโดยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2559 ปริมาณทรายที่ระบุว่าส่งออกจากประเทศกัมพูชาไปยังสิงคโปร์คิดเป็นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นหากเทียบกับปริมาณทรายที่สิงคโปร์นำเข้าจากกัมพูชา นั่นหมายความว่าทราย 96 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นทราย ‘ใต้ดิน’ ที่นำเข้ามายังสิงคโปร์ราวกับผุดออกจากอากาศ ซึ่งเสี่ยงอย่างยิ่งว่าจะเป็นทรายซึ่งถูกขุดมาอย่างผิดกฎหมาย

การขัดแข้งขัดขาผู้มีอิทธิพลในธุรกิจทรายยังนำไปสู่การข่มขู่คุกคามและความรุนแรง เช่นในรัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย ผู้ที่แจ้งจับการขุดทรายผิดกฎหมายจากเขตอนุรักษ์จระเข้กลับถูกลอบสังหาร นักสิ่งแวดล้อมที่รณรงค์ต่อต้านการลักลอบขุดทรายเองก็ถูกหมายหัว กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังกริ่งเกรงที่จะต้องเข้าไปยุ่งกับอุตสาหกรรมทราย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ราคาทรายปรับตัวสูงขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการก่อสร้างเมืองของเหล่าประเทศกำลังพัฒนา

การขุดทรายจากแม่น้ำยังสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การขุดทรายในแม่น้ำคงคาที่ทำลายแหล่งขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของตะโขงอินเดีย (Gharial Crocodile) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนการขุดทรายในลุ่มน้ำโขงยังทำให้ตลิ่งพังทลายและประชากรกว่า 500,000 คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการขุดทรายจากทะเลซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากจะต้องล้างเกลือออกจากทราย ก็อาจสร้างผลกระทบต่อปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพอื่นๆ เช่น การฟุ้งกระจายของตะกอนที่รบกวนกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช รวมถึงการทำลายสัตว์หน้าดินจากทรายที่ขุดขึ้นไป

รายงานกองทุนสัตว์ป่าสากลระบุว่า การขุดทรายในแม่น้ำทำลายโครงสร้างพืชพรรณริมตลิ่ง เปลี่ยนแปลงระดับตะกอนท้ายน้ำให้ผิดปกติ รวมถึงขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น การอพยพของปลา และพลวัตของห่วงโซ่อาหาร อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่แน่ชัด เนื่องจากมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพียงหยิบมือที่เน้นศึกษาผลกระทบจากการขุดทรายจากแม่น้ำ

ทรายขาดแคลน รับมืออย่างไรดี?

โจทย์ใหญ่คือการหาวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนทราย โดยอาจใช้กรวดบดทดแทนกันได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ สถาปนิกบางรายจึงหันกลับไปหาวัสดุโบราณอย่างไม้ที่นอกจากจะสามารถปลูกทดแทนได้ง่ายแล้ว ยังช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตอีกด้วยเรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว การสร้างตึกระฟ้าและสารพัดโครงสร้างด้วยไม้เริ่มกลายเป็นเทรนด์ในโลกตะวันตก ปัจจุบัน มีตึกระฟ้าโครงสร้างไม้ครอสลามิเนต (cross-laminated timber) ในหลายเมืองใหญ่ โดยตึกที่สูงที่สุดมีความสูง 85.4 เมตรตั้งอยู่ในประเทศนอร์เวย์ซึ่งสร้างเสร็จหมาดๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

Mjøstårnet ตึกโครงสร้างไม้ที่สูงที่สุดในโลก ภาพจาก dezeen.com

อีกข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาขาดแคลนทรายคือการสร้างธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรมขุดทราย เช่น การกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าทรายในประเทศพัฒนาแล้วว่าทรายที่นำมาใช้ก่อสร้างจะต้องมีแหล่งที่มาที่ถูกกฎหมายและยั่งยืน การเลือกแหล่งขุดทรายที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด รวมถึงการนำทรายในสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีการใช้งานแล้วมารีไซเคิลใหม่ อย่างไรก็ดี กรอบแนวทางดังกล่าวพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลนานาประเทศซึ่งนับว่าไม่ง่ายนักในโลกที่ราคาและความต้องการทรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการออกแบบวิธีจัดการทรัพยากรทรายคือข้อมูล เพราะอุตสาหกรรมทรายเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างลึกลับ แม้ว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการขุดทรายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นมักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หลายครั้งอยู่ในแม่น้ำที่ห่างไกลและมีผู้ทรงอิทธิพลหนุนหลัง ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขและผลกระทบจากอุตสาหกรรมการขุดทรายจึงไม่ได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน

แน่นอนว่าทรายคงไม่หมดในปีสองปีนี้ แต่สิ่งที่สามารถเริ่มต้นได้คือการตระหนักรู้ว่าทรายเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากตอนต้นของห่วงโซ่อุปทาน กว่าจะกลายร่างมาเป็นบ้านที่เราอยู่ เขื่อนขนาดใหญ่ โทรศัพท์สมาร์ตโฟน แก้วที่ใช้ดื่มน้ำ และท้องถนน

 

เอกสารประกอบการเขียน

Time is running out for sand

Why Sand Is Disappearing

IMPACTS OF SAND MINING ON ECOSYSTEM STRUCTURE, PROCESS & BIODIVERSITY IN RIVERS

Is the world running out of sand? The truth behind stolen beaches and dredged islands

We’re Running Out off Sand… And Cities Are to Blame

Built on Sand

 

 

Tags: ,