นี่ๆ แกได้เงินเดือนเท่าไรอ่ะ?

คำถามข้างต้นดูจะสงวนไว้เฉพาะกับคนสนิท แต่หากใครถามโพล่งไปที่ออฟฟิศก็คงถือว่า ‘น่าเกลียด’ เพราะเงินเดือนไม่ใช่เรื่องที่เราจะถูกนำมาพูดอย่างโจ่งแจ้ง บริษัทส่วนใหญ่เก็บงำไว้เป็นเรื่องลับสุดยอด บางรัฐในอเมริกาถึงกับตรากฎว่าการพูดคุยเรื่องเงินเดือนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

คงยากที่จะหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดเงินเดือนถึงเป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว ที่ผู้ถูกถามรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะเท่าไรที่จะเปิดเผยสู่ที่สาธารณะ พอๆ กับคำถามที่ว่าเคยมีเซ็กซ์มาแล้วกี่คน บ้านที่อาศัยอยู่ซื้อมากี่บาท หรือตอนนี้น้ำหนักกี่กิโลกรัม

หากพิจารณาในบริบทของโลกสมัยใหม่ที่พนักงานเงินเดือนคือแรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คำถามที่ว่าเงินเดือนเท่าไรนั้นเปรียบเสมือนการถามว่า ‘คุณอยู่บนบันไดขั้นไหนของสถานะทางสังคม’ แถมยังอาจถูกนำไปตีความว่าคุณทำงานหนักแค่ไหน และบางคนอาจใช้เงินเดือนเป็นสิ่งตัดสินคุณค่าของงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

การเปิดเผยเงินเดือนของพนักงานแก่เพื่อนร่วมงาน มีบริษัทต้นแบบอย่าง Whole Foods ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ราว 3 ทศวรรษก่อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง ‘องค์กรแห่งความเชื่อใจ’ นโยบายนี้ก็ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เว็บไซต์หางานและรีวิวนายจ้างอย่าง Glassdoor ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 ก็มีฟังก์ชันที่โดดเด่น โดยเชิญชวนให้พนักงานมาแชร์เงินเดือนของแต่ละตำแหน่งแบบนิรนาม อีกทั้งยังมีระบบ ‘แปลง’ เงินเดือนที่ใส่เข้ามาให้เป็นกรอบเงินเดือนกว้างๆ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว เว็บไซต์ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก และเปรียบเสมือนสถานที่ส่องค่าตอบแทนก่อนที่จะสมัครงานจริง

ส่วนสตาร์ตอัปยุคใหม่ก็เริ่มยักไหล่ไม่แคร์กับค่านิยมเดิมที่ว่า ‘เงินเดือนต้องเป็นความลับ’ และเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนให้เพื่อนร่วมงานทราบ บางบริษัทเช่น Buffer อาจก้าวไปถึงขั้น ‘โปร่งใสสุดขั้ว’ โดยนอกจากจะแชร์ข้อมูลเงินเดือนพนักงานกันภายในองค์กรแล้ว ยังนำมาเปิดเผยอยู่บนหน้าเว็บไซต์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเผยแพร่สูตรการคำนวณเงินเดือนว่าตัวเลขเหล่านั้นมีที่มาอย่างไรอีกด้วย

สูตรการคำนวณเงินเดือนล่าสุดของ Buffer หากใครสนใจ สามารถเข้าไปดูเงินเดือนพนักงานทุกคนของ Buffer ได้ที่นี่

หลายคนอาจสงสัยว่า แค่เปิดเผยเงินเดือนจะไปมีผลอะไรกับการทำงาน?

มีการทดลองโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและเทลอาวีฟ กับลูกจ้างชาวอิสราเอล 280 คน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่รู้ว่าคนอื่นได้ค่าตอบแทนเท่าไร และกลุ่มที่ค่าตอบแทนของแต่ละคนเป็นความลับ โดยพบว่ากลุ่มแรกมีผลิตภาพดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าหากใครมองว่ากลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยข้างต้นจิ๋วจ้อยเกินไป ก็มีอีกหนึ่งงานวิจัยบนแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมอย่าง Amazon Mechanical Turk ซึ่งให้บริการงานที่ต้องใช้ ‘ความฉลาดของมนุษย์’ แบบออนดีมานด์ ซึ่งมักเป็นงานจิ๋วจ้อยที่ใช้เวลาไม่นานแต่ค่อนข้างน่าเบื่อ เช่น การยืนยันว่าระบบอ่านตัวอักษรจากภาพทำงานถูกต้องหรือไม่ โดยทำการทดลองกับผู้เข้าร่วม 2,000 คนและแบ่งออกเป็น 2 รอบ ผลการศึกษาก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นนั้น พบในทั้งกลุ่มที่ทำงานได้ดีกว่ามาตรฐาน และกลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เหตุผลที่พอจะอธิบายผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นได้คือความรู้สึกว่าพนักงานได้รับ ‘รายได้ที่เป็นธรรม’

ผู้เขียนเคยอยู่ในสถานการณ์ที่เงินเดือนของพนักงานแต่ละคนเป็นความลับ และต้องเจอกับเพื่อนพนักงานที่ไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง บทสนทนาจึงเต็มไปด้วยการเดาต่างๆ นานาว่าเขาหรือเธอนั้นได้ ‘ค่าตอบแทน’ เท่าไร และหากคำตอบจากการคาดเดานั้นคือ ‘มากกว่า’ ย่อมสร้างความขุ่นข้องหมองใจ ทั้งที่เรายังไม่รู้จริงๆ ด้วยซ้ำว่าเงินเดือนของเขาหรือเธอนั้นมากกว่าจริงหรือไม่ และมากกว่าเท่าไร

บริษัทซอฟต์แวร์เงินเดือน PayScale เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในสหรัฐอเมริการ่วม 70,000 ชีวิต และพบว่าราว 2 ใน 3 รู้สึกว่าถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบโดยได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เขาหรือเธอเหล่านั้นได้รับค่าจ้างที่ ‘สมน้ำสมเนื้อ’ หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยราวร้อยละ 60 ของคนกลุ่มนี้ระบุว่ากำลังเตรียมที่จะเปลี่ยนงานใหม่ภายใน 6 เดือนข้างหน้า

ความโปร่งใสของเงินเดือนจะทำให้หมอกมัวเหล่านั้นจากหายไป หากใครที่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนอื่น ก็ควรจะรู้สึกตัวและยืดอกรับผิดชอบมากเป็นพิเศษ ส่วนคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจเข้าไปคุยกับผู้จัดการถึงสาเหตุ และพยายามปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ความโปร่งใสในระดับอุตสาหกรรมยังทำให้นายจ้างเขี้ยวลากดินหมดโอกาสที่จะได้แรงงานคุณภาพสูงเข้าสู่องค์กรอีกด้วย

2 ใน 3 รู้สึกว่าถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบโดยได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เขาหรือเธอเหล่านั้นได้รับค่าจ้างที่ ‘สมน้ำสมเนื้อ’ หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ การเปิดกล่องแห่งความลับของเงินเดือนยังนำไปสู่บทสนทนาว่าด้วยความเท่าเทียมทางรายได้ เพราะเราสามารถสงสัยได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ทำไมคนบางกลุ่ม เช่น ผู้หญิง หรือคนเชื้อชาติอื่น จึงได้รับเงินเดือนมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางถูกพูดถึงหรือวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ หากเงินเดือนยังเป็นเรื่องต้องห้ามไม่ให้นำมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย

แต่ใช่ว่าการเปิดเผยเงินเดือนแบบโปร่งใสสุดขั้วจะมีแต่ข้อดีเสมอไป

ท็อดด์ เซนเกอร์ (Todd Zenger) อาจารย์ด้านกลยุทธ์และความเป็นผู้นำจาก Eccles School of Business มองว่า การเปิดเผยเงินเดือนแบบโปร่งใสสุดขั้วอาจมีความท้าทายในทางปฏิบัติ เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะมองว่าความสามารถของตัวเองนั้นสูงเกินจริง นำไปสู่การมองว่าผลตอบแทนที่ตนได้รับนั้นไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความขุ่นข้องหมองใจจนอยากเปลี่ยนงานใหม่ รวมไปถึงการ ‘เล่นการเมือง’ เพื่อเรียกร้องให้เงินเดือนตนเองเพิ่มขึ้น โดยลดค่าตอบแทนของบุคลากรที่ตนมองว่าได้รับเงินเดือนสูงเกินจริง

ท็อดด์มองว่า แรงกดดันดังกล่าวอาจทำให้บริษัททำให้ความแตกต่างของเงินเดือนแต่ละตำแหน่งน้อยลง และให้ผลตอบแทนอิงตามวัยวุฒิและประสบการณ์เนื่องจากเป็นคุณลักษณะที่รับรู้ได้ง่ายกว่า แทนที่จะเป็นความรู้ความสามารถ หรืออาจตัดปัญหาโดยการจ้างองค์กรที่สามมาทำงานซึ่งเป็นงานค่าแรงต่ำไปเลย

แนวคิดประมาณนี้แหละครับ ทำให้องค์กรยักษ์ใหญ่ไม่กล้าที่จะขยับตัวมาเปิดเผยเงินเดือนของบุคลากร อย่างไรก็ดี เทรนด์ในยุคปัจจุบันสะท้อนว่าเหล่ามิลเลนเนียลดูไม่ค่อยแคร์เท่าไรกับการพูดเรื่องเงินเดือนกับครอบครัว แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าการงุบงิบเงินเดือนเป็นความลับเริ่มเป็นเรื่องล้าสมัย และในอนาคตอันใกล้ เงินเดือนอาจกลายเป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกองค์กรต่างต้องมาแข่งขันกันเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาให้ได้มากที่สุด

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

Wagemark องค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศแคนาดา ทำหน้าที่รับรององค์กรที่จ่าย ‘ค่าแรงอย่างรับผิดชอบ’ โดยมีจุดเริ่มต้นจากบทความโดยปรมาจารย์ด้านธุรกิจอย่างปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ที่ตั้งคำถามว่า “ผู้บริหารได้ค่าแรงสูงเกินไปไหม” โดยมีการระบุว่าผู้บริหารในหลายองค์กรจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานถึง 50 เท่า ปัญหาดังกล่าวดูจะหนักหนาสาหัสขึ้น จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2555 ระบุว่าค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทที่อยู่ในดัชนี Fortune 500 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานถึง 350 เท่า

Wagemark ระบุนิยาม ‘ค่าแรงอย่างรับผิดชอบ’ ว่าต้องไม่เกิน 8 ต่อ 1 คำนวณจากผลตอบแทนเฉลี่ยของพนักงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก และผลตอบแทนเฉลี่ยของพนักงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย จะต้องแตกต่างกันไม่เกิน 8 เท่าหรือน้อยกว่า โดยปัจจุบันมีองค์กรที่ได้รับการรับรองราว 50 องค์กร

Tags: , ,