ยูนิฟอร์มกะลาสีในแฟชั่นผู้หญิง
การหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนของเทรนด์แฟชั่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสของป็อปคัลเจอร์ ไม่ว่าจากเรื่องของสี จากเรื่องราว และกระแสสังคมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่มักจะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ และไม่เคยหายไปจากวงการแฟชั่น ก็คือสไตล์ nautical เสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจที่มาจากกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลและการเดินเรือ ภาพชัดสุดน่าจะเป็นลายทางสีกรมท่าสลับขาว รวมถึงรูปแบบอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดกะลาสีเรือ ที่เรียกได้ว่าอยู่เหนือกาลเวลาไปแล้ว
สไตล์ที่ว่านี้ถือเป็นความคลาสสิคอย่างหนึ่งของคนอังกฤษ เพราะมันมีที่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในยุคของพระราชินีวิคตอเรีย ที่พระองค์สั่งตัดชุดกะลาสีตัวน้อยๆ ให้องค์ชาย อัลเบิร์ต เอ็ดวาร์ด (Albert Edward, Prince of Wales) ใส่ล่องเรือไปต่างประเทศ และแม้จะเริ่มจากการเป็นเสื้อผ้าเด็ก แต่ด้วยความอินในราชวงศ์ก็ทำให้สไตล์นี้กลายเป็นนิยมในหมู่สุภาพสตรีในวงสังคมอย่างรวดเร็ว
นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่รูปแบบของยูนิฟอร์มทหารปรากฏอยู่ในแฟชั่นผู้หญิง ก่อนจะค่อยๆ หายไปและกลับมาตามประสาแฟชั่น บ้างก็ว่าการสวมใส่เสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยูนิฟอร์ม ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเหมือนมีคนคอยปกป้อง ปลอดภัย หรือบ้างก็เป็นเรื่องของความรู้สึกถึงอำนาจที่มาพร้อมยูนิฟอร์มที่สวมใส่ บางครั้งเมื่อยูนิฟอร์มที่มาพร้อมกับความรู้สึกถึงอำนาจ มาอยู่กับผู้หญิง ก็เกิดเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจอย่างความขบถและกลิ่นอายมาสคิวลีนที่ทำให้เธอคนนั้นดูยูนิเซ็กส์มากขึ้น
สไตล์เหล่านี้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในแฟชั่นอีกครั้งเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่สอง บางครั้งมันกลายเป็นสัญลักษณ์ สิ่งแทนใจ หรือมาพร้อมกับแนวคิดชาตินิยมที่หลายๆ ประเทศต้องการหลังผ่านพ้นสงคราม
ขณะที่ยูนิฟอร์มทหารบกดูจะเต็มไปด้วยความเป็นชายมากกว่าความเป็นหญิง ความน่าสนใจของยูนิฟอร์มทหารเรือหรือชุดสไตล์กะลาสีคือความยูนิเซ็กส์ของมัน อาจเพราะสิ่งที่ชุดกะลาสีเรือต้องการสื่อสารมาตั้งแต่แรกก็คือความเป็นหมู่เหล่าของทหารเรือเป็นหลัก ไม่ว่าคนบนเรือจะเป็นหญิงหรือชาย ยูนิฟอร์มก็พยายามจะบอกว่าทุกคนคือกลุ่มก้อนเดียวกัน
ในยุคปัจจุบัน เราก็พบว่ารูปแบบยูนิฟอร์มของทหารเรือ ถูกนำมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหมวกกะลาสี ปกเสื้อ ผ้าผูกคอ เสื้อคอปาด (boat neck) เสื้อพีโค้ท (peacoat) หรือแรงบันดาลใจจากทะเล อย่างเส้นลายขวาง และสีน้ำเงินกรมท่า-ขาว ที่หมุนเวียนมาให้เราได้เห็นอยู่ตลอด
ในปัจจุบันเสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดยูนิฟอร์มทหารเรือ ก็ไม่ได้บอกเล่าความรู้สึกชาตินิยมของบ้านไหนเมืองไหนเพียงอย่างเดียว บางครั้งมันอาจเป็นเพียงอารมณ์หรือประสบการณ์ส่วนตัวของดีไซเนอร์ เรื่องราวความหลัง สถานที่ที่คุ้นเคย หรือ กระทั่งความรักความคิดถึง
และหากนักออกแบบที่มาจากเมืองท่ารู้สึกคิดถึงบ้าน อะไรที่จะทำให้เขาสื่อสารออกมาเป็นงานได้ดีเท่ากับเครื่องแบบกะลาสี และการเดินเรือ (แม้เขาจะไม่ใช่คนอังกฤษก็เถอะ)
Chanel Métiers d’Art Pre-Fall 2018 Paris-Humburg
คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกอย่างชาแนล เกิดในเมืองฮัมบูร์ก เมืองท่าใหญ่ที่อยู่ทางเหนือของประเทศเยอรมัน เขาจึงหยิบความรู้สึกผูกพันและความหลังที่คุ้นเคยกับกะลาสีมาออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชั่น Pre-fall 2018 Métiers D’art Paris-Hamburg ของชาแนล ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราว ความหลัง ปัจจุบัน และอนาคตของเมืองฮัมบูร์กในความรู้สึกของลาเกอร์เฟลด์ได้เป็นอย่างดี
ดีไซเนอร์ได้นำรายละเอียดของท่าเรือฮัมบูร์กมาประยุกต์ใช้ ออกแบบโดยผสมผสานความเป็นชาแนล เข้าไปในสไตล์ชุดกะลาสี ตั้งแต่เสื้อพีโค้ทติดกระดุมสองแถว ที่ปรับรูปทรงให้ดูเป็นแฟชั่นสำหรับผู้หญิงด้วยการตัดเย็บให้ชายเสื้อบานออกเล็กน้อย ตัวเสื้อยาว ปกสูง ยกเอวสูงให้ชายเสื้อทิ้งตัวได้กว้าง ดูกล้าหาญ มั่นใจ แต่ก็ยังมีเสน่ห์อ่อนหวาน สง่างามแบบผู้หญิงชาแนล
ภาพรวมของคอลเลคชั่นนี้ยังคงเน้นซิลลูเอทของเสื้อผ้าแบบชาแนล ที่น่าสนใจก็คือเซ็ตชุดผ้าทวีต ซึ่งเป็นผ้าสัญลักษณ์ของชาแนล กระโปรงทรงตรงเป็นกระโปรงกะลาสีหญิง ที่เข้าคู่กันกับเสื้อสูทปกแบบทหารเรือ ผูกด้วยผ้าคลุมสไตล์กะลาสี
นอกเหนือจากการหยิบรูปทรงและเสื้อสไตล์กะลาสีแล้ว ดีไซเนอร์ยังดึงเรื่องราวจากสถานที่ และธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพื่อให้ภาพรวมของเมืองท่าเรือนั้นสมบูรณ์มากขึ้น โดยแสดงออกผ่านดีเทลตกแต่ง อย่างกระโปรงกะลาสีผ้าทวีตผ่าหน้า ที่ผสมทองหรือผ้าซาตินสีดำ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแสงสะท้อนของผิวน้ำที่กระทบกับกระจกอาคาร ดูระยิบระยับเป็นลูกคลื่น หรือเสื้อแจ็กเก็ตและกางเกงขายาวที่ประดับด้วยเลื่อม ตัดเย็บด้วยผ้าทวีดทอสีส้มสด ที่ทำให้นึกถึงย่านในเมืองฮัมบูร์ก ที่จะเปิดไฟสีแดง เวลาลูกเรือมาแวะพักก็จะมีการสังสรรค์ และเล่นดนตรีโดยใช้แอคคอร์เดียน ซึ่งได้ดึงมาเป็นดีไซน์ของกระเป๋าสะพายไหล่
ความเป็นกลางทางเพศที่ปรากฎบนเสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของชาแนล ที่สามารถดีไซน์ออกมาได้อย่างลงตัวในคอลเลคชั่นนี้ ในรูปแบบของการมิกซ์แอนแมทช์ไอเทมต่างๆ หรือเสื้อสูท ทักซีโด ที่มากับความเป็นชาย ก็นำมาปรับรูปทรงให้ดูอ่อนช้อยขึ้น กลายเป็นผู้หญิงที่ดูเข้มแข็งและมีสเน่ห์ลึกซึ้ง
จุดสำคัญของเครื่องแบบกะลาสีเรือก็คงหนีไม่พ้นหมวก และเครื่องประดับ เข็มกลัดต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นของคอลเลคชั่นนี้อีกอย่างหนึ่ง ชาแนลต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงพลังของเครื่องประดับ จึงออกแบบเครื่องประดับเสริมออกมาให้เลือกสรร เพื่อให้ทุกคนได้สามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ชุดที่สวมใส่มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกะลาสีนั้นถือได้ว่าเป็นสไตล์ที่ไร้กาลเวลา ดีไซเนอร์สามารถดึงดีเทลต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายไม่รู้จบ ทั้งยังน่าสนใจที่ความเป็นยูนิฟอร์มของมันได้กลายเป็นยูนิเซ็กส์ไปแล้วโดยปริยาย สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือการ ‘ทำใหม่’ ของดีไซเนอร์ ที่มักจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราได้เสมอ และการทำใหม่ของลาเกอร์เฟลด์ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ขอขอบคุณ
ข้อมูลและภาพประกอบบทความจาก Chanel
Tags: Fashion, Chanel, Sailor, nautical, uniform