นั่นเป็นครั้งแรกที่นางนากไว้ผมสั้นอย่างที่คนยุคนั้นไว้กันจริงๆ เป็นครั้งแรกที่นางเอกของเรื่องไม่ได้เป็นไปตามพิมพ์นิยมของยุคสมัย และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ ทราย—อินทิรา เจริญปุระ ได้ปรากฏตัวบนฟิล์มภาพยนตร์ และมันก็กลายเป็นตำนาน

นางนาก ภาพยนตร์เมื่อปี 2542 โดยนนทรีย์ นิมิบุตร กลายเป็นอีกหนึ่งเวอร์ชั่นของแม่นากพระโขนงที่ติดตาตรึงใจผู้ชม ไม่ว่าจะด้วยความสมจริงของฉากและยุคสมัย บรรยากาศหลอนปนเศร้า จนถึงความละเมียดละไมในการใส่ ‘ชีวิต’ ให้กับผู้หญิงที่พยายามใช้ความรักเอาชนะความตาย 

หนังเรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์รายได้ 150 ล้านบาท (ซึ่งถือว่าถล่มทลายสำหรับยุคนั้น) ทั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า ภาพของการรอคอยที่ท่าน้ำ นางนากห้อยหัว หรือการเจาะกะโหลกสะกดวิญญาณ ล้วนเกิดขึ้นครั้งแรกในภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้ และหากใครได้แวะไปที่วัดมหาบุศย์ที่มีศาลนางนากอยู่ที่นั่นก็จะพบว่า รูปปั้นนางนาก มีรูปลักษณ์เดียวกับที่ นางนาก เคยถ่ายทอดเอาไว้ 

มาถึงตอนนี้ก็ 20 ปีแล้ว นางนาก ได้กลับมาฉายเป็นวาระพิเศษในโรงภาพยนตร์ สังคมได้ย้อนกลับไปมองตัวบทชิ้นนี้กันอีกครั้ง เราเองก็มีโอกาสได้พูดคุยกับทราย เจริญปุระ และโดยมีตำนานของนางนากพระโขนงเป็นจุดตั้งต้น ทรายพาเราไปถึงประเด็นความเป็นหญิงในภาพยนตร์ จนถึงความรัก ความตาย และพลังของเรื่องเล่า ซึ่งล้วนแต่ชวนคิดต่อ ทั้งฟังดูสมเหตุสมผลและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกในเวลาเดียวกัน   

ระหว่างโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้คุณมักกล่าวถึง ‘ย่านาก’ สำหรับคุณแล้ว ย่านากหมายถึงอะไร

เรามองเป็นญาติผู้ใหญ่ คือที่มาของตำนานแม่นากพระโขนงมันมีหลายเส้นทางมาก มีตั้งแต่ที่ว่าเป็นเรื่องจริงแต่ไม่ใช่ชื่อนี้ หรือเป็นชื่อนี้แหละแต่เป็นเรื่องแต่ง คือมีเยอะแยะมากมาย แต่ในฐานะคนแสดง เราต้องเล่นด้วยความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเราไม่รู้จะเกาะกับอะไรไปตามเส้นเรื่องนี้ คือทรายเกิดมาไม่เคยเจอกับย่าจริงๆ ของตัวเอง ก็เลยเรียกย่านากว่าย่าเลยแล้วกัน แล้วก็มีความรู้สึกว่า กำลังเล่าเรื่องของญาติผู้ใหญ่อยู่ เราเลือกที่จะเชื่อเส้นทางนี้เพื่อความรู้สึกใกล้ชิด

และต่อให้มันจะเป็นเรื่องแต่งอย่างไรก็ตามแต่ เราเชื่อในพลังของเรื่องเล่า พลังของคนที่เล่ามันต่อๆ กันมาซ้ำๆ จนกลายเป็นตำนานของผู้หญิงคนหนึ่งที่คลอดลูกตาย ถามว่ายุคนั้นมันแปลกเหรอ มันก็ไม่แปลก แต่มันกลับอยู่มาได้นานสุดๆ ดังนั้นมันต้องเป็นอะไรสักอย่างแล้วล่ะ มันค่อนข้างเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์เลยนะ ที่ความรักมันจะมีพลังอะไรได้มากขนาดนี้ เพราะว่าเราในวัยนั้น วัย 18 ขนาดเป็นวัยที่ก็ต้องเชื่อในความรักมากที่สุดแล้วนะ เราก็ยังรู้สึกว่า โห คนเรามันจะทำได้ขนาดนั้นเลยเหรอวะเพื่อความรัก เราไม่ได้มองในแง่อิทธิฤทธิ์ แต่เรามองในแง่ power of love 

คือพี่อุ๋ยก็บรีฟมาแบบนี้ ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้อยากจะออกมาอยู่ด้วยกันไปตลอดกัลปาวสาน ขอแค่ว่าสามวันห้าวัน ซึ่งมันเป็นพลังที่ทำให้คนคนหนึ่งกลับมา มันทำให้คนคนหนึ่งฝืนสิ่งที่ไม่มีวันฝืนได้ของมนุษย์ได้ นั่นก็คือ ความตาย แค่นี้มันก็ทรงพลังมากแล้ว แล้วยิ่งพอเรารู้สึกว่าเค้าเป็นญาติเรามันก็ยิ่งเชื่อออกมาจากใจ ยิ่งหลังๆ มีคนบอกว่าไปเอาเรื่องผีมาทำทำไม เชื่อไปทำไมวะ มันเป็นเรื่องแต่ง เราก็อยากบอกว่า ไม่เป็นไรพี่ มันเป็นเรื่องแต่งของพี่ แต่มันเป็นเรื่องจริงของหนู

ถ้าคนกับผีจะรักกันจริงๆ ปัญหาของมันคืออะไร

เราว่ามันเป็นเรื่องของพลังงาน ไม่ใช่แค่คนกับผีหรอก คนกับคนก็เป็นเรื่องนี้ คนเรามันไม่มีใครโหยหากันทุกวัน นี่พูดอย่างคนแก่มากๆ เลยนะ น้องๆ เด็กๆ คงจะบอกว่าไม่จริงหรอกพี่ หนูอยากอยู่กับแฟนหนู 24 ชั่วโมงทุกๆ วินาที แต่พอถึงจุดจุดหนึ่งความหมายของคำว่าชีวิตคู่มันไม่ได้หมายถึงการอยู่ตัวติดกันแบบนี้ไปตลอด มันมีความจุกจิกอะไรมากกว่านั้น มันก็มีชีวิตเดี่ยวบ้าง ชีวิตคู่บ้าง

แล้วเรามาคิดในแง่ของพลังงาน ว่าถ้าด้วยความรักนั้น ทำให้ผีสามารถดำรงอยู่ได้กับคนเป็นๆ มันก็คงต้องมีวันที่รักน้อยแล้วตัวอาจจะหรี่ลง ตัวจางๆ ลง นั่นแหละที่น่าจะเป็นปัญหา มันไม่บาลานซ์กัน ไม่ได้มองว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่านะ แต่เราเชื่อว่าพลังงานมันไม่สามารถจะเท่ากันได้ทุกวัน ยิ่งคู่ที่จะอยู่จนตายจากกันได้  มันไม่มีแต่วันดีดีหรอก มันไม่มีหรอก ที่จะจูงมือกันไปกินข้าวทุกวัน มันก็ต้องมีวันแย่ๆ บ้าง แล้วก็ประคองประคองกันไปต่อได้ มันก็เป็นปัญหาสำหรับคนเป็นเหมือนกัน คือความไม่เสถียรของความรู้สึก

ที่สุดแล้วความตายพรากคนรักออกจากกันได้จริงไหม

จริงๆ ความอะไรก็พรากความรักไปได้อยู่ดี คือเรารู้สึกโชคดีมากๆ ที่เราเล่นเป็นนางนากตอนอายุ 18 มาถึงตอนนี้เรารู้สึกว่าพี่เมฆ (วินัย ไกรบุตร รับบท พี่มาก) เก่งมากที่สามารถเล่นเรื่องนางนากได้ในตอนที่แกไม่ใช่วัยของนายมาก-นางนาก เพราะว่าพอคนเราโตขึ้น เราก็ตั้งคำถามกับความรักว่าแบบ เหรอวะ? ถ้าให้เราเล่นในวัยนี้ เราก็จะแบบ ไม่มีหรอก คนที่จะรักกันจนถึงขนาดนั้น หรือกระทั่งตัวเราในวันนั้นในฉากไถนา เรายังรู้สึกว่า กูจะมีผัวไปทำไม ถ้ากูต้องเหนื่อยขนาดนี้ เราคิดด้วย mindset ของคนยุคนี้ รู้สึกว่าเราอยากทำอะไรก็ต้องทำได้สิ ไม่อยากทำอะไรเราก็ต้องไม่ทำดิ แต่นี่มันไม่ใช่อะมันเป็นอีกอย่างหนึ่งไปเลย มันเอาเราที่เป็นเราตอนนี้ไปตัดสิน

เรามีความรู้สึกว่าคนที่อายุมากขึ้น ก็จะมีความเข้าใจชีวิตมากขึ้น ซึ่งสอนยังไงวัยรุ่นก็จะไม่เข้าใจ แล้วบอกวัยรุ่นยังไงก็นึกไม่ออก มันมีช่องระหว่างวัยอยู่เสมอ ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม คือผู้ใหญ่จะรู้ว่า ไม่เฉพาะความตายหรอกที่จะพรากคนสองคนจากกันได้ แค่ความนอนกรนหรือความฉี่ไม่ลงโถมันก็สามารถแยกคนออกจากกันได้แล้ว มันเล็กขนาดนั้น ซึ่งถ้าไปบอกคนอายุ  17 – 18 จะบอกว่าไม่จริงหรอก ฉันต้องข้ามผ่านเรื่องพวกนี้ไปได้สิ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ทุกครั้ง

การได้เล่นบทนางนากเวอร์ชั่นนี้ สำคัญกับคุณอย่างไร

มันเปลี่ยนในทางอาชีพของเรามากกว่า ถามว่าในวันที่ถ่ายน่ะ รู้ไหมว่าคนจะมาดูเยอะ เราก็ไม่รู้ แล้วตอนนั้นก็โดนสารพัดย่ำยี ว่าแบบ ดาราสวยๆ ทั้งวงการ แต่เขามาเลือกแกเนี่ยนะ เราก็เข้าใจคนที่คนเขาตั้งคำถามเนอะ เพราะว่า ก่อนหน้านั้นยี่สิบกว่าเวอร์ชั่น มันไม่ใช่แบบนี้เลย ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์ ภาพพจน์อะไร ใดๆ ต่างๆ 

เราไม่ได้มีส่วนแบ่งอะไรเลยกับรายได้ สิ่งที่เราได้คือการพิสูจน์ว่าเราเล่นได้ คนเขาวิจารณ์ คนเขาเชื่อ เมื่อคุณคิดจะเป็นนักแสดงอาชีพ ถ้าคนจ้างเขาไม่เชื่อว่าคุณเล่นได้ แล้วใครจะจ้าง ความสำเร็จของเรื่องนี้มันคือเสียงที่บอกว่า เออ เราเชื่อเธอ ทั้งจากสองฝั่ง คนทำแล้วก็คนดู แล้วมันเลยเหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงอีกแบบในภาพยนตร์ด้วย 

คือก่อนหน้าที่จะมาเป็นยุคกระโปรงบาน ขาสั้น หนังวัยรุ่น เราว่าผู้หญิงมีบทบาทในภาพยนตร์สูงมากนะ เรามีฟิล์มนัวร์ เรามีผู้หญิงร้าย ผู้หญิงเลว แล้วเราก็มาในยุคต่อมา ที่เราจะไปสดใสแบบคนอื่นก็ไม่ได้ แต่จะให้เราเป็นเราก็ไม่มีใครเก็ตอีก เพราะฉะนั้น นางนากมันมาตรงนี้พอดี ที่จะเสนอภาพของผู้หญิงที่แบบ ฉันทำได้ ฉันสู้ชีวิต ซึ่งมันหาทางให้เราไปต่อ 

ที่ทางของผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ในมุมมองของคุณ

ก็หลากหลายขึ้นนะ เราไม่ได้มองในแง่ของการเปลี่ยนโลก หรือว่าการขับเคลื่อนอะไรอย่างนี้หรอก เพียงแต่มันก็มีอะไรหลายอย่างมากที่ เออว่ะ เราก็ทันได้เห็นในช่วงอายุนี้ของเราเนอะ ทุกสิ่งมันเป็นไปได้แล้ว เรารู้สึกดีนะ แต่เราก็ยังต้องการความเป็นอิสตรีในยุค 80s อยู่นะ ที่ไม่ต้องทำอะไร ทาปากแดงแล้วก็เดินยั่วๆ พอ

บางทีตำแหน่งของผู้หญิงมันไม่ควรจะโดนจำกัดอยู่ที่อะไรแค่บางอย่าง เพราะว่าพอยุคนี้ปุ๊บ  เป็นผู้หญิงมึงต้องก้าวหน้านะ มึงต้องพูดเรื่องใหญ่ๆ มึงต้องกว้าง ต้องลึก คือไม่ต้องปะวะ ผู้หญิงก็เกิดมาเพื่อทำอะไรที่ไม่ต้องมีเหตุผลก็ได้รึเปล่า ไม่งั้นจะเป็นผู้หญิงไปทำไม น่าเบื่อมาก เราก็ทำหนังอย่างสมัยก่อนบ้างก็ได้มั้ง ซึ่งบางบทบาทผู้ชายเล่นก็ไม่สนุกหรอก ผู้หญิงเดินสวยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่สวยไง บทแบบนี้เป็นบทที่เราคันไม้คันมือ อยากเล่นมากๆ  

หมายถึงยุคของการ PC (political correctness) เกี่ยวกับภาพลักษณ์ผู้หญิง ควรผ่านพ้นไปได้แล้ว

ไม่เป็นไร ใครจะ PC ก็ PC ไป แล้วแต่นะ เรามอง PC ในแง่อย่างนี้มากกว่า ให้เกียรติกัน แต่เราไม่ได้มองแบบลึกไปในระดับที่ว่า กูต้องรื้อทุกอย่าง ออกมาสร้างใหม่ ใช่ ทุกอย่างเป็นไปได้แล้วตอนนี้ แต่บางอย่างการจะกลับไปตามขนบ มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร เราไม่ได้รู้สึกว่า เอาเราไปเป็นตัวตลกในหนัง ปิดบทเราแบบโง่ๆ บางคนมันโง่มันก็ต้องโง่ไปจนจบอะ มันไม่ใช่เรื่องผิดรึเปล่า

ตัวละครบางตัวมันถูกเซ็ตมาเพื่อให้เป็นบทเรียนสอนใจได้ นึกออกมั้ย เราไม่ได้ดูหนังเพื่อดูชีวิตเพื่อนบ้านทุกเรื่องนะ บางเรื่องเราก็ดูเป็นนิทาน บางเรื่องก็ดูเป็นบทสวดมนต์ เป็นหนังสือเรียน เป็นอะไรได้อีกเยอะแยะ ถ้าทุกคนพยายามจะทำเรื่องของคนข้างบ้านอย่างเดียว เหรอวะ เราต้องรู้เรื่องของคนข้างบ้านเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ บางทีเราก็ไม่อยากนะ

ตอนที่เล่นบทนางนาก คุณตีความผู้หญิงคนนี้ในแบบไหน

คือเรามองย้อนกลับไปในความเป็นผู้หญิงในยุคนั้นน่ะ ปลายรัชกาลที่ 4 ตัวตนของเรามันจะสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับความเป็นเมีย เป็นแม่ 

มันมีคำว่า ‘ขึ้นคาน’ มาทุกยุคทุกสมัย ฉะนั้นตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งมันคือคุณจะทำภารกิจให้สำเร็จได้คือคุณมีผัว มีลูก และดูแลบ้านเรียบร้อย ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ทุกคนก็จะ โห ไม่จริงหรอก ซึ่งมันคนละยุคกันไง พลังของตัวย่าที่จะกลับมาให้ได้ กลับมาอุ้มลูก ให้ผัว ให้ตั้งชื่อด้วยกัน ได้ทำกับข้าวด้วยกัน มันมาจากพลังตรงนี้ด้วย การอยากจะเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ เป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งมันพิสูจน์ได้ด้วยการที่กูจะต้องกลับมาเจอผัวให้ได้เท่านั้น 

ผู้หญิงในยุคนี้มันพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยอะไรตั้งหลายอย่าง แต่ตอนนั้นมันมีแค่นี้ แล้วกูยังทำไม่ได้อีกอะ เราว่ามันมีพลังมาก แล้วมันเกือบจะสำเร็จแล้วด้วย ผัวมีแล้ว ลูกมีแล้ว ตายตอนคลอดมันอีกนิดเดียวเท่านั้น เราเลยรู้สึกว่ามันทรงพลังตรงนี้ล่ะมั้ง การกระทำของย่านากขับเคลื่อนไปด้วยความต้องการที่จะมีความสมบูรณ์แบบอะไรสักอย่างในชีวิต 

ถ้าเรื่องของนางนากเกิดขึ้นในปี 2018 – 2019 เรื่องราวจะเป็นอย่างไร

พี่มากจะรู้เร็วมาก วิดีโอคอลมาแล้วเมียไม่รับหรืออะไรสักอย่าง เฮ้ย! นากอยู่ไหนวะ ส่งสติ๊กเกอร์ไลน์ไปแล้วทำไมไม่ตอบ ความลับจะไม่เป็นความลับอีกต่อไป ยากมากเลยนะที่เดี๋ยวนี้คนคนหนึ่งจะหายไปจากโลกโดยไม่มีใครรู้เลยอะ 

คือเราต้องทำวิธีไหนวะ เพื่อปิดทุกคนที่รู้ไม่ให้มาบอกคนคนเดียว ถ้าเป็นยุคนี้เรื่องน่าจะจบภายในเที่ยง เริ่ม 9 โมง เที่ยงก็จบแล้ว มันตายแล้วแก กรุ๊ปไลน์หมู่บ้านเด้งรัวๆ เลย ตายแล้ว ตายแล้ว เรื่องจะรู้เร็วมาก แล้วตำนานก็จะไม่เป็นตำนานอีกต่อไป

ขณะที่นางนากที่ตายแล้ว กลายเป็นอื่นในตำนานของตัวเอง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถูกมองด้วยสายตาแง่บวก คุณคิดเห็นอย่างไร

เราชอบมากเลยที่เมื่อเช้าเราไปศาลย่านากมา (วัดมหาบุศย์) มีคำขอให้ไม่ต้องเป็นทหาร ตอนแรกเราไม่เคยรู้เลยนะ เรื่องไอเดียที่ว่า ถ้าไม่อยากให้เป็นทหารให้มาขอย่า เพราะว่า ย่าไม่แฮปปี้กับการที่คนจะต้องจากคนรักไปเป็นทหารเพราะว่าตัวเองก็โดนมา เราจะแบบ เออว่ะ ทำไมเราไม่ได้คิดมุมนี้ นี่เป็นการสนธิกำลังกันระหว่างความเชื่อและอะไรก็ได้ 

เราชอบอะไรแบบนี้ มันอาจจะไม่ได้หรูหราหรือก้าวหน้ามาก แต่มันมีสารอะไรแบบนี้อยู่เสมอในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเป็นความหวัง ตัวย่าในเรื่องสามารถกลับมาจากความตายได้ ก็น่าจะไปดลบันดาลใบแดง ใบดำได้ ซึ่งเราว่ามันแบบเจ๋ง มันไทยๆ ไทยๆ ในน้ำเสียงปกติด้วย อะไรที่บันดลบันดาลให้เราไฟต์กับระบบได้ มันก็นับว่าศักดิ์สิทธิ์มากๆ นะ

อยากให้จินตนาการถึงโลกที่คนไม่เชื่อเรื่องตำนาน ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกต่อไปแล้ว

น่าเบื่อมาก เราเองไม่กลัวผี แต่เราเชื่อเรื่องผี อยากให้มี คือเรารู้สึกว่าเราจะได้เจอพ่อ คือพอเรามีคนรักมากๆ ในชีวิตจากไป เราจะอยากให้เรื่องผีเป็นเรื่องจริงมากๆ ขอแบบชัดๆ ด้วยนะ ขอแบบพิธีกรรมที่สามารถยืนยันได้ว่าทำอันนี้แล้วเขาจะมา แล้วถ้าโลกที่มันไม่มีอะไรแบบนี้แล้ว มันคงเหงามากเลยนะ มันไม่ละเอียดอ่อนเลย

เราไม่ได้มองในแง่ของการงมงาย ต่อให้โลกนี้ไม่มีผี ไม่มีวิญญาณคนก็ไปยึดติดอยู่กับอย่างอื่นได้อยู่ดี มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดอยู่กับอะไรอยู่แล้วมันจะดีทุกคน เรามองกลับกันในเรื่องของวิญญาณ มีคนเชื่อจนพังไปเลยก็มี แต่มันก็จะมีมนุษย์อย่างเราที่รู้สึกว่า จริงๆ แล้วคนที่ไม่อยู่แล้ว เชื่อมต่อเรากับโลกที่อยู่ได้มากกว่าคนที่ยังอยู่เสียอีก

ที่เราเล่นละคร ที่เรายังถ่ายหนังอยู่ เพราะเราทำในสิ่งที่พ่อเราเคยทำ มันคืออาชีพเดียวที่พ่อเลี้ยงเรามา เขาทำเป็นอยู่อาชีพเดียว วันนี้พ่อจากไปแล้ว เราก็ยังทำสิ่งนี้อยู่ มันมีพลังมากกว่าการที่จะบอกว่ามันคืออาชีพ อาชีพหนึ่ง แต่สำหรับเรามันคือการทำตามคนคนหนึ่งที่ไม่อยู่แล้ว 

แล้วถ้าสมมติว่านี่เป็นโลกที่ อ๋อ ผีไม่มีอยู่จริงค่ะ โห เจ็บนะ มันจะว่างเปล่าไปเลย ทำไมวะ นอกจากหาเลี้ยงชีพคนเรามันควรจะมีอย่างอื่นหล่อเลี้ยงชีวิต เราว่าวิญญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง

เราว่าเราเป็นคนที่มีตรรกะโอเคคนหนึ่งแหละ ไม่ล่ม ไม่งง แต่เรายินดีจะเชื่อเรื่องนี้มากกว่า แล้วถ้าบอกว่าการเชื่อในเรื่องวิญญาณเป็นเรื่องไม่มีตรรรกะ งั้นโอเค เรายอมเป็นคนไม่มีตรรกะก็ได้

ตายก่อนคนที่เรารัก หรือ ให้คนที่เรารักตายก่อน

ให้คนที่เรารักตายก่อน อย่างน้อยเราเคยทำมาแล้ว เราจัดการกับมันได้ ไม่ดีหรอก แต่เราจัดการมันได้ ถ้าเราตายก่อนเรานึกไม่ออกเลยอะว่าคนที่ยังอยู่จะเป็นยังไง เราไม่อยากให้ทุกคนมีปัญหาจากการไม่มีอยู่ของเรา มันแย่นะ ตายแล้วทุกคนยังวุ่นวายอีก 

แต่ถ้าเป็นเรารู้สึกว่าเรารับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ ไอ้ความพังพินาศ ความควบคุมไม่ได้ เรากลัวว่าคนอื่นจะรับมันไม่ได้เท่าที่เราทำได้ เราไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีฝีมือ หรือไม่มีความสามารถนะ เพียงแต่มันไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนควรจะเจออะ คนที่เจอแล้วก็ควรจะโดนสาปให้เจอไปเรื่อยๆ มึงทำหน้าที่นี้ มึงจงก็ทำไปจนตาย มันเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรต้องแบ่งปันกับใคร

คุณมองว่ามันคือคำสาปในชีวิต?

คือ ทางเดินชีวิตเรามันค่อนข้างกลับหัวกลับหางจากคนอื่น เรามีพ่อที่โตกว่าเรามาก แน่นอนว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เขาต้องตายก่อนเราแน่ๆ เป็นความจริงที่เรารู้มาตั้งแต่เด็ก คือเวลาพ่อมารับที่โรงเรียน พ่อคนอื่นสามสิบกว่าๆ แต่พ่อเราห้าสิบ คือมันก็เห็นอยู่แล้ว และเราก็ทำงานเร็ว เรามาอยู่ในโลกของผู้ใหญ่ วันนี้คนนี้มากองฯ พรุ่งนี้พี่เขาไม่มาแล้วนะ มันกลับด้าน การที่คนบอกว่าถ้าถึงช่วงชีวิตหนึ่งก็ต้องไปแต่งานศพ ซึ่งสำหรับเรา กูไปงานศพมาทั้งชีวิต ไปงานศพอยู่เรื่อยๆ มันคงเป็นอะไรบางอย่างที่คนที่เคยเจอแบบนี้ก็ต้องเจอแบบนี้ละมั้ง

คนที่ไม่ได้เจอก็จะไม่ได้เจอ คือ อาจจะนึกภาพไม่ออก พอมีคนในชีวิตตายไปต้องจัดการอะไรยังไง แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาจริงๆ อะ ขนาดเราจินตนาการมาทั้งชีวิตแล้วนะว่าถ้าเราไม่โดนรถชนตาย พ่อเราก็ต้องตายก่อน แล้วพ่อเราก็ตายก่อนจริงๆ แล้วมันก็ไม่ง่าย ทั้งๆ เตรียมใจแล้ว พ่อเรานอนป่วย เรามีเวลาทำใจเยอะแยะมาก แต่มันก็ไม่ง่ายขึ้นเลย ดังนั้น เราไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่เลือกแบบไหนนะ เราเลือกแบบนี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้นานขึ้นกว่าคนอื่น แต่เรารู้สึกว่าเรารับมือกับเรื่องนี้ได้ เราทำมันได้ เราจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย

สมมติในวันที่ความตายมาถึง คุณจะเลือกการไปต่อหรือกลับมา

ถ้ามันเลือกได้แบบนั้น เราตายวันนี้เลยก็ได้ไง ถ้ามีอะไรผิดพลาดเราก็กลับมาใหม่ได้ ปัญหาคือคนเรามันเลือกไม่ได้ ว่าเราจะตายตอนพร้อมหรือไม่พร้อม ถ้าตายตอนพร้อมเราก็ไม่กลับมาแล้ว แต่คนเรามักจะตายตอนที่เราไม่พร้อมแหละ คนส่วนใหญ่ ไม่เห็นมีใครพร้อมสักคน แล้วพร้อมของแต่ละคนมันแค่ไหน อย่างเราไม่มีลูก เราไม่มีครอบครัว เราตายเลยก็ได้นะ แต่ว่า แล้วใครจะเลี้ยงแม่ล่ะ มันก็คือไม่พร้อมล่ะมั้ง 

คุณมองภาพโลกหลังความตายเป็นอย่างไร 

มองเป็นอีกเมืองหนึ่ง คือบางคนจะกลัวบ้านเก่า โรงแรมนี้ห้องนี้ เราก็จะเฉยๆ มาก เหมือนทุกพื้นที่มันมีคนตาย พื้นที่เราอยู่มันเป็นดินปนกระดูก มันไม่ใช่ดินเปล่าๆ มันคือดินปนร่าง ถ้าเรากลัวผี เราต้องกลัวทุกที่ และทุกวินาที เพราะมันมีอยู่ทุกที่และทุกวินาที เรารู้สึกว่าเราก็อยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นอยู่แล้ว มันไม่ได้ต้องแยกกันขนาดนั้น เราว่ามันก็คงเป็นเมืองอีกเมืองที่แบบถ้าเรารู้ทาง เราก็จะไปได้

คือคนจะค่อนข้างงงกับคอนเซปต์เชื่อเรื่องผีแต่ไม่กลัวผีของเรา เราไปต่างจังหวัด เรานอนคนเดียวนะ เรานอนกับคนอื่นไม่ได้ แล้วก็สมมติเดินไปไหนแล้วอยู่ๆ ไฟดับเราก็จะรู้สึกแค่ว่า อะไรวะ สวิตช์ไฟอยู่ไหน เราไม่มีจินตนาการที่จะมีผีออกมาแฮ่ หรืออะไร เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าผีต้องมาเป็นกรณีพิเศษ ผีอยู่ของเขาตลอดเวลาอยู่แล้ว เราก็เลยไม่รู้สึกต้องกลัวเป็นพิเศษในเวลาที่พิเศษ 

มองว่าทำไมคนถึงกลัวผี แม้ว่าจะเป็นผีของคนที่เรารักก็ตาม

เราว่าเรื่องมาไม่บอกนี่แหละ เราควรโทรนัดกันก่อน ปุบปับจะโผล่มาเลยเนี่ย คนรอมามันเครียดไง มันรอทั้งวันแหละ มันเกร็ง อันนี้ใช่ไหม ใช่ไหม ใช่ไหม อยู่อย่างนี้ ลองคิดดูดิ 24 ชั่วโมง 60 นาทีต่อชั่วโมง แล้วอยู่กับคำว่า เฮ้ย ใช่เปล่าวะ ใช่เปล่าวะ ถ้าอยู่แบบนี้ตลอดเราว่ามันประสาทเสีย จะมาก็มา จะไม่มาก็ไม่มา เลือก! คุณต้องเลือก หรือเราเลือก ให้เราเป็นคนติ๊กได้ไหม มาตอนนี้ห้าทุ่มนะ เราจะมายืนรอที่หน้าบ้าน 

ถ้ามันมีความแน่นอนแบบนี้คนไม่กลัวผีกันหรอก รอเลย เดี๋ยวพ่อมาห้าทุ่ม เจอกัน แต่นี่คือจะมาไหม? จะนอนแล้วจะมาปลุกไหม? มันเป็นไปได้หลากหลายมาก โคตรแรนดอม พ่อจะมายังไง นี่เราพูดถึงพ่อเราเองนะ ซึ่งถามว่าเรากลัวพ่อเหรอ ไม่กลัว แต่เรากลัวการที่ไม่รู้ว่าพ่อจะโผล่มาตอนไหน ในรูปแบบไหนมากกว่า พ่อไหลออกมาจากฝักบัวเหรอ ยังไงวะ หรือพ่ออยู่ใต้เตียง พ่อมาแค่แขนซ้าย แขนซ้ายก็แขนซ้ายพ่ออะ แต่มาแค่นี้จริงๆ เหรอ เราว่ามันเป็นอะไรแบบนี้มากกว่า การคาดเดาไม่ได้ เราดูไม่ดีหรือเปล่า เรากำลังโป๊อยู่หรือเปล่า เรากำลังนู่น กำลังนี่ กำลังขับรถอยู่หรือเปล่า แล้วโผล่พรวดขึ้นมาเลย ใครจะไปตั้งตัวทัน

มันมีมุมมองที่ว่า การยังยึดติดกับคนที่ตายไปแล้ว เท่ากับการไม่ปล่อยวาง คุณคิดเห็นอย่างไร

เราปล่อยนะ คือ พ่อเราตายแล้ว นี่คือความจริง ไม่มีทางไหนที่พ่อเราจะกลับมาได้ แต่ถ้าจะให้เป็นแบบ ไม่ เราต้องไม่คิดถึงพ่อ เราทำไม่ได้ ไม่ได้เลย ไม่ได้จริงๆ เรากับพ่อไม่มีอะไรติดค้างนะ บางคนจะรู้สึกว่าติดค้าง น่าจะนู่น น่าจะนี่ น่าจะเที่ยว น่าจะกิน แต่เราไม่มีอะไรติดค้างเลย 

เราแค่รู้สึกคิดถึงเพราะคิดถึง เรื่องที่มันเกิดขึ้นเรื่องนี้ถ้าเราเล่าให้พ่อฟังพ่อต้องเอนจอยมากแน่ๆ หรือว่าถ้าพ่อดูประชุมสภาฯ พ่อต้องแบบ ต้องมานั่งด่ากับเรา มันเป็นเวลาที่เราอยากแชร์กับคนที่ไม่มีใครมาแทนได้เลย แค่นั้นเอง ซึ่งถ้ามันทำให้พ่อไม่ได้ไปเกิดจริงๆ ก็ต้องขอโทษด้วย เราไม่รู้ว่าไปเกิดแล้วจะเป็นอะไร เกิดแล้วดีกว่าเหรอ ถ้าเกิดแล้วเขาลืมเรา เราก็ไม่อยากให้เขาเกิดอะ เรารู้สึกแย่ ถ้ามันเห็นแก่ตัว เราขอโทษ