ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่มีเยาวชน ผู้ที่ผ่านโลกมาไม่นาน ตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่โหดร้าย ใช้ความรุนแรง ลงมือฆ่าผู้อื่น ในงานศึกษาประเด็นความรุนแรงหลายชิ้นได้พยายามถอดรหัส ตีความถึงปัจจัยอันซับซ้อนอยู่ข้างหลังภาพที่เด็กเยาวชนกระทำความรุนแรงหรือก่ออาชญากรรมกับมนุษย์ด้วยกัน บทความชิ้นนี้จะขอชวนทบทวนความคิดในงานศึกษาของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ต่อปรากฏการณ์เด็กเยาวชนที่กลายเป็นฆาตกร นักวิชาการผู้ศึกษาด้านความรุนแรงและสันติวิธีมาอย่างยาวนาน เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า ความรุนแรงและอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยเด็กเยาวชน อาจเป็นเงาสะท้อนของร่างทางสังคมไทยที่หลายคนมองข้าม

เหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างกรณี ‘ป้าบัวผัน’ ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมโดยกลุ่มเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ทุกคนยังเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี (ประกอบด้วยเยาวชนอายุ 13 ปี 2 คน, 14 ปี 2 คน และ 16 ปี อีก 1 คน) ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำของเยาวชนกลุ่มนี้โหดร้ายทารุณ ไร้ความเป็นมนุษย์ เกินกว่าจะจินตนาการได้ว่า มนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันขนาดนั้นได้อย่างไร จนทำให้เกิดการโต้เถียงในสังคมไทยอีกครั้งกับระบบกฎหมายคดีเด็กและเยาวชน กับการลงโทษสถานเบาเกินกว่าพฤติการณ์ร้ายแรงที่ก่อเหตุ  ในด้านหนึ่งก็มีกระแสออกมาว่า เป็นเพราะกฎหมายที่มีอยู่เบาเกินไป ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบทลงโทษเด็กเยาวชนที่กระทำผิดให้หนักขึ้น เพื่อจะสร้างบรรยากาศความกลัว ด้วยความคาดหวังว่าเด็กเยาวชนจะไม่กล้าทำผิด  

อย่างไรก็ดี คำถามคือ ฉากความรุนแรงและความโหดเหี้ยมที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า โดยมีเด็กเป็นตัวละครผู้กระทำหลัก แท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง? และการแก้ไขกฎหมายเด็กเยาวชนจะช่วยให้ปัญหาฆาตกรเด็กบรรเทาลงไปได้จริงหรือ?

เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปรากฏการณ์ความรุนแรงที่มีเด็กเยาวชนเป็นผู้กระทำ เราต้องทำความรู้จักกับทฤษฎีร่างทางสังคม (Social Body) ที่มองว่า สังคมไทยมีร่างกายก่อร่างสร้างรูปขึ้นจากเรื่องราว ตลอดจนปฏิบัติการสร้างความหมายถึงความเป็นไปต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการให้คุณค่า มโนทัศน์ ความเชื่อ วิถีชีวิต และสำนึกทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น คดีป้าบัวผันย่อมเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นเงาของร่างทางสังคมไทยออกมาให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง แต่กลับถูกมองข้าม

กรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายประกอบกับทฤษฎีร่างทางสังคม ชัยวัฒน์กล่าวถึงข่าวฆาตกรเด็กที่รายงานถึง ‘แมว’ เด็กชายอายุ 11 ปี ลงมือฆ่าอำพรางศพ ‘ต้น’ เด็กชายอายุ 4 ปี เพื่อแย่งเอาจักรยานของต้นมา ซึ่งร่างทางสังคม ปรากฏออกมาจากสภาพแวดล้อม หรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่แมวต้องเผชิญ เช่น ความยากจน ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว และการเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี จนทำให้ศักยภาพในการทำให้ได้มาซึ่งวัตถุบางอย่างของแมวถดถอยลง ทำอะไรอย่างไม่ได้ นอกจากต้องใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้มา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือการที่แมวถูกครอบงำโดยความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ การยอมรับการใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมวัตถุนิยม ย่อมมีส่วนให้ความรุนแรงถูกกระทำลงโดยง่าย เนื่องจากวัฒนธรรมเหล่านั้น ดำรงอยู่เป็นคุณค่าบางอย่างในใจเด็ก จนทำให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นการกระทำที่ถูกต้องจากการประเมินของเด็กเอง

จะเห็นว่า ความรุนแรงหนึ่งๆ สามารถมองเห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ในมิติของการศึกษาความรุนแรง มักจะมีการพยายามนำเสนอว่า เมื่อมีความรุนแรงปรากฏขึ้น จะต้องมีความรุนแรงรูปแบบอื่นทำงานควบคู่สอดรับ ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีความรุนแรงของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นำเสนอว่า นอกเหนือจากความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) หรือความรุนแรงที่สามารถมองเห็นได้ทั่วไป ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ที่เกิดเนื่องจากระบบสังคมและเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้ผู้ด้อยโอกาสถูกขูดรีดเอาเปรียบ ไร้ทางออก บั่นทอนศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายเรื่องต่างๆ ในชีวิต สร้างผลลัพธ์สองด้าน คือหนึ่ง การกดทับเชิงโครงสร้างให้ผู้ด้อยกว่า ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ง่าย กับสอง การบีบบังคับให้บุคคลไร้ทางออก กำหนดให้ความรุนแรงเป็นหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา

รวมทั้งยังมีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ในฐานะที่เป็นคุณค่า ความเชื่อ องค์ความรู้ วัฒนธรรม อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับให้ความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ถูกยอมรับและเป็นสิ่งปกติธรรมชาติในสังคม ดังนั้น จากแนวคิดนี้จึงเป็นเครื่องมือศึกษาร่างทางสังคมจากปรากฏการณ์ความรุนแรงให้ถูกค้นพบง่ายยิ่งขึ้น อย่างในคดีป้าบัวผันควรต้องมีการตั้งคำถามเพิ่มเติม ถึงลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลเป็นการทำลายสามัญสำนึกหรือสำนึกทางศีลธรรมของเด็กเยาวชน สังคมแบบไหนที่มีเด็กเยาวชนสามารถกระทำต่อผู้อื่นอย่างไร้ความเป็นมนุษย์เช่นนี้?

ขณะเดียวกัน จากการรายงานข่าวถึงประโยคของหนึ่งในเยาวชนผู้ก่อเหตุ พูดกับเพื่อนๆ ในกลุ่มว่า “ทำไปเลย มีปัญหาเดี๋ยวพ่อกูเคลียร์เอง” สะท้อนถึงวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยมาโดยตลอด คุณค่าและความเชื่อเช่นนี้ย่อมผลิดอกออกผลเป็นวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลต่อไปอีกเรื่อยๆ หากถามว่า เรามีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมนี้หรือไม่ ก็ลองพิจารณาดูว่า หากมีช่องทางให้ใช้ประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย ในวันที่เราทำผิดกฎจราจรและโดนใบสั่ง เราจะใช้หรือไม่

นอกจากนี้ จากมุมมองเกี่ยวกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เพื่อสะท้อนร่างทางสังคม ในทางกฎหมายอาจใช้วิธีการทางอาชญาวิทยามาร่วมด้วยได้เช่นกัน กล่าวคือ อาชญาวิทยาจะเน้นการศึกษาถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ผ่านการวิเคราะห์ พิจารณาพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา และตัวผู้กระทำความผิด รวมถึงลักษณะโครงสร้างทางสังคมที่บีบคั้นให้คนคนหนึ่งต้องตัดสินกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งวัตถุแห่งการศึกษาของอาชญาวิทยา จะอยู่ในสามเรื่องหลักได้แก่ ‘กาย จิต และสภาวะแวดล้อม’ ของตัวผู้กระทำความผิด หรือตัวอาชญากร

องค์ความรู้หนึ่งของอาชญาวิทยาเสนอว่า สภาพสังคมในฐานะปัจจัยภายนอกตัวบุคคล หรือเยาวชนที่ก่ออาชญากรรม มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจและความรับผิดชอบชั่วดีอยู่ไม่น้อย เช่น ทฤษฎีความไร้ระเบียบของสังคม (Social Disorganization Theories) ซึ่งหมายถึง กรณีที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่กฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของสังคม ส่งอิทธิพลลดถอยลงต่อการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม เมื่อกฎหมายไร้ความหมาย ตัวเลขอาชญากรรมย่อมสูงขึ้นเป็นเสมือนเงาตามตัว เช่นเดียวกับเรื่องความกดดันทางสังคม (Strain Theory) กล่าวถึงแรงกดดันที่บีบคั้น ส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจของบุคคล อาจเป็นความล้มเหลว ภาวะที่ต้องเผชิญกับความผิดหวัง ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว จนบุคคลนั้นต้องตัดสินใจกระทำความรุนแรง หรือกระทำความผิด คล้ายกับลักษณะต่อต้านสังคม หรือหาทางออกให้กับปัญหา โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและศีลธรรม

หากความไร้ระเบียบทางสังคม และความกดดันทางสังคม ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิด ‘วัฒนธรรมรอง’ (Subculture) ที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและศีลธรรม สร้างความแปลกแยก รวมถึงปลูกฝังค่านิยมความรุนแรงให้กับคนบางกลุ่ม จนเชื่อว่าอาชญากรรมหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าโดยตัวมันเอง การกระทำความรุนแรงย่อมเป็นไปโดยไม่มีอาการสำนึกผิดใดๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกรองรับโดยวัฒนธรรม

ถึงตรงนี้ จากสิ่งที่อภิปรายมาทั้งหมดเป็นคนละเรื่องกับการแก้ตัวให้กับอาชญากรหรือผู้กระทำความผิดอย่างอุกอาจ แต่เป็นการพยายามชวนให้ฉุกคิดต่อประเด็นที่เด็กเยาวชนเป็นฆาตกร ความรุนแรงจากเด็กที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เกิดจากการกระทำของเด็กที่สังคมมักมองว่า เด็กเหล่านั้นเป็นพวกบกพร่องในระบบสามัญสำนึกทางศีลธรรมในตัวเอง เป็นปีศาจในร่างคนแต่กำเนิด ทว่าขณะที่เด็กกำลังตัดสินใจกระทำความผิด รัฐและองคาพยพต่างๆ ในสังคมย่อมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

บทสรุปของเรื่องนี้จะเห็นว่า การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็น ‘ฆาตกร’ กล้าตัดสินใจลงมือกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่น ล้วนเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่างที่มีความสลับซับซ้อน ตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะที่เขาต้องเป็นทั้งฆาตกร และเหยื่อในคราวเดียวกัน การพยายามเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ลงโทษรุนแรงยิ่งขึ้น หรือการปรับลดเกณฑ์อายุที่จะให้เยาวชนต้องถูกพิจารณาคดี และลงโทษอย่างสาสมเหมือนผู้ใหญ่กระทำผิด จึงเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุและห่างไกลจากต้นตอของปัญหาเป็นอย่างมาก

เอกสารอ้างอิง

Johan Galtung, “Violence, Peace, and Peace Research,” Journal of Peace Research, Vol. 6, No. 3 (1969).

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อาวุธมีชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2549).

ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, (เชียงใหม่: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2521).

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และคณะ, เอกสารการสอนชุดวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา = Criminology and Penology, พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, 2542)

Tags: , ,