1 ตุลาคม 2566 นางอโนชา ชีวิตโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา[1] นับเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 49 และถือเป็นประธานศาลฎีกาหญิงคนที่ 3 ถัดจาก เมทินี ชโลธร และ ปิยกุล บุญเพิ่ม

บทความ Rule Of Law สัปดาห์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนถึงประวัติศาสตร์การดำรงตำแหน่งตุลาการของผู้หญิง รวมทั้งชวนรู้จัก ‘นักเรียนกฎหมายหญิงคนแรก’ และ ‘ผู้พิพากษาหญิงคนแรก’ เนื่องในโอกาสที่ผู้หญิงได้เข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายตุลาการครั้งนี้

ผู้หญิงในโรงเรียนกฎหมาย

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกสืบต่อกันมา มีเฉพาะแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะเรียนวิชากฎหมายได้ แม้จะมีการเรียนการสอนวิชากฎหมายสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116)[2] ธรรมเนียมนี้ก็ยังถูกสงวนรักษาไว้ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2471 โรงเรียนกฎหมายได้รับ นางสาวแร่ม พรหโมบล เข้ามาเป็นนักเรียน ‘หญิง’ คนแรก[3]

บทความ ‘สิทธิสตรีไทย จากวันวาน…ถึงวันนี้’[4] ได้บันทึกถึงเหตุการณ์วันที่นางสาวแร่ม ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนกฎหมายไว้ว่า

“วันนั้น ดิฉันใส่เสื้อคอปิดมิดชิด นุ่งผ้าซิ่นยาว ยืนอยู่หน้าห้องด้วยความหวั่นเกรง แต่ก็สูดหายใจเข้าแรง เตรียมตัวให้กล้า ประตูสมัยก่อนเปิดกว้าง แต่มีม่านเป็นไม้เปิดปิดกั้นบังตา การเข้าออกก็เพียงแต่ผลัก เมื่อท่านเสนาบดีเอ่ยปากส่งเสียงให้เข้ามาได้ ดิฉันไม่ได้ผลักม่านไม้นั้นแล้วเดินเข้าไป แต่ดิฉันก้มลอดใต้ม่านแล้วก็คลานคุกเข่าเข้าไปนั่งพับเพียบกับพื้นที่อยู่หน้าโต๊ะท่าน พร้อมกับกราบลงกับพื้น เมื่อท่านถามความประสงค์ที่มาพบ ก็กราบเรียนว่า อยากจะขอเข้าเรียนกฎหมาย และได้เอ่ยชื่อบิดาและการเรียนจบชั้นมัธยมให้ท่านทราบ รอสักพักใหญ่ แต่รู้สึกเหมือนนานมาก ท่านก็พยักหน้าพร้อมกับบอกว่า อนุญาตให้เข้าเรียนได้ จำได้ว่าดีใจจนแทบร้องได้ ก้มลงกราบขอบพระคุณท่าน แล้วก็คลานลอดใต้ประตูม่านไม้นั้นออกมาเหมือนตอนเข้าไป”

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นางสาวแร่มซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนวิชากฎหมาย เป็นเพราะว่ากิริยามารยาทที่งดงาม สร้างความเอ็นดูแก่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้น[5] ขณะที่งานศึกษาบางชิ้นก็มองว่า นางสาวแร่มเข้าเรียนได้ด้วยบรรดาศักดิ์ของบิดา[6]

นางสาวแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรก

        

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2473 นางสาวแร่ม พรหโมบล สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรก[7] และในเวลาต่อมาก็มีเนติบัณฑิตหญิงอีก 2 คน ได้แก่ นางสาวศิริ จูตี๋รัตน์ (ศิริ ปทุมรศ)[8] และนางสาวสุนทร ประเสริฐพงษ์[9] ซึ่งนับเป็นนักเรียนกฎหมายหญิงเพียง 3 คนในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่บรรยากาศของความเท่าเทียม ความเสมอภาคเข้มข้นขึ้น โรงเรียนกฎหมายถูกโอนเข้ามาอยู่ในการจัดการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และมีการเปิดรับผู้เรียนทั้งหญิง-ชายอย่างเสมอภาค กระนั้นก็ตาม จำนวนของนักเรียนผู้หญิงก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า

ความเป็นคู่ตรงข้ามและข้อจำกัดของการเป็นผู้พิพากษาหญิง

แม้ว่าโรงเรียนกฎหมายจะเปิดรับ ‘นักเรียนหญิง’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเป็น ‘ผู้พิพากษาหญิง’ นั้นก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด ผู้หญิงที่จบจากโรงเรียนกฎหมายไม่สามารถจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้ นางสาวแร่มจึงต้องไปสมัครเป็นทนายความ แม้จะอยากสอบเป็นผู้พิพากษาก็ตาม[10]

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงคุณสมบัติผู้มีสิทธิสอบเป็นผู้พิพากษา ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีสิทธิสอบจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น[11] ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติเรื่องเพศสำหรับตำแหน่งผู้พิพากษานี้ สะท้อนถึงการมองความแตกต่างในคุณลักษณะชายหญิง ดังที่ความรู้เรื่องเพศในยุคหนึ่ง (ที่อาจยังมีอิทธิพลจนทุกวันนี้) อธิบายว่า ชายและหญิงมีความแตกต่างกัน โดยชายนั้นเป็นเพศที่สัมพันธ์กับเหตุผล การเป็นผู้นำ ขณะที่หญิงเป็นเพศที่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก การเป็นผู้ตามหรือผู้ดูแล[12]

ด้วยเหตุนี้ ระเบียบต่างๆ จึงไม่ได้คิดถึงการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของผู้หญิง เพราะระบบกฎหมายนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล และงานตุลาการเป็นงานที่ต้องใช้ความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยวในการตัดสินคดี อีกทั้งยังต้องย้ายไปหัวเมืองต่างๆ ซึ่งก็อาจไม่เหมาะกับผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่สัมพันธ์กับการใช้อารมณ์ความรู้สึก และเป็นผู้ดูแลบุตรเป็นหลัก

ผู้พิพากษาหญิง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและครอบครัว (?)

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อมีการตราพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2497 ที่คลายข้อกำหนดคุณสมบัติเรื่องเพศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2502 กระทรวงยุติธรรมได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497 ที่กำหนดให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้พิพากษาได้เฉพาะในศาลคดีเด็กและเยาวชน

ที่มา: กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497, https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php.

และกว่าที่จะมีผู้พิพากษาหญิงจริงๆ ก็หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้ต่อมาอีก 6 ปี ในปี พ.ศ. 2508 นางชลอจิต จิตตรุทธะ สอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา[13] และถือเป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรกของประเทศ

าพของชะลอจิตต์ จิตรุทธะ ในคู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์ ฉบับที่ 60 ปีที่ 5 เดือนกรกรฎาคม พศ 2509 ใน ภาพิมล อิงควระ, ปริญญานิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงในอาชีพผู้พิพากษาสตรีในสังคมไทย พ.ศ. 2497-2563

คำถามที่น่าสนใจคือว่า ทั้งที่งานตุลาการนั้น เป็นตำแหน่งที่โดยลักษณะ ปริมาณ และคุณภาพของงานไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่เพราะเหตุใดผู้หญิงถึงสามารถไปเป็นผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชนได้?

เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของศาลคดีเด็กและเยาวชน จะพบว่า ศาลนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้มีวิธีพิจารณาคดีสำหรับเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเฉพาะ โดยที่จะไม่มุ่งเน้นการลงโทษแบบผู้ใหญ่ที่ทำความผิดอาญา[14] ดังนั้นแล้ว หรือเพราะว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการเข้าใจธรรมชาติของเด็ก? เหมาะสมกับกับวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ไม่ได้เคร่งครัด? ผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้เป็นผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชนได้

หากเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ฯ จึงไม่ได้ตราขึ้นบนฐานคิดแห่งการยอมรับความสามารถในการใช้เหตุผลของผู้หญิง แต่กลับตั้งอยู่บนฐานคิดแบบเดิม ซึ่งเชื่อว่าผู้หญิงนั้นสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก และมีสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่จะเข้าใจเด็กได้มากกว่า

กว่าชายหญิงจะเท่าเทียมกันบนบัลลังก์ตุลาการ

ในเวลาต่อมา กฎกระทรวงฉบับที่ 4 นี้ได้ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2518[15] เป็นผลให้ผู้หญิงสามารถที่จะเป็นผู้พิพากษาในศาลอื่นๆ ได้ การยกเลิกกฎกระทรวงฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการบัญญัติเรื่องความเสมอภาคทางเพศไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติว่าชาย-หญิงเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศไม่ได้

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของของภาพิมล อิงควระ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่กว่าที่ผู้พิพากษาหญิงจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในงานตุลาการ โดยเฉพาะตำแหน่งในศาลฎีกานั้นเกิดขึ้นหลังจากช่วงปี 2535 เป็นต้นมา[16] และในปัจจุบันก็มีผู้หญิงแค่ 3 คนเท่านั้นที่สามารถไปไปถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานศาลฎีกาได้

หลากหลายตัวชี้วัดของความเท่าเทียมทางเพศ

สำหรับผู้ที่มองความเท่าเทียมผ่านการได้รับโอกาสที่เท่ากันนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกาหญิงคนใหม่นี้อาจถือเป็นเครื่องสะท้อนความเท่าเทียมทางเพศที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดที่อนุญาตให้หญิงหรือชายสอบเป็นผู้พิพากษาได้ การมีจำนวนผู้พิพากษาหญิงเท่ากับผู้พิพากษาชาย หรือแม้แต่การมีประธานศาลฎีกาหญิงคนที่ 3 นี้ จะช่วยให้สถานการณ์ของผู้หญิงในระบบกฎหมายดีได้จริงขึ้นหรือไม่นั้น ยังเป็นข้อกังวลสำหรับกลุ่มสตรีนิยมแนวครอบงำ (Dominance Feminist) ที่มองว่าวิธีคิดทางกฎหมายโดยพื้นฐานแล้ว ขัดต่อผลประโยชน์โดยรวมของผู้หญิง และเอื้อให้กับผู้ชายมากกว่า[17] และหากมาตรฐานทางกฎหมายยังคงถูกครอบงำด้วยวิธีคิดและบรรทัดฐานแบบผู้ชาย การมีผู้พิพากษาหญิงเพิ่มขึ้น ก็เป็นเพียงแค่มีนักกฎหมายหญิงที่คิดแบบผู้ชายเพิ่มขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ นักกฎหมายที่ศึกษาด้านเพศภาวะศึกษา (เช่น Gay-Lesbian Legal study, Transgender Jurisprudence) มีข้อกังวลว่า สถาบันตุลาการ (รวมถึงองคาพยพอื่นๆ ในระบบกฎหมาย) นั้นยังคงติดกับระบบเพศแบบทวิลักษณ์ (Gender Binary) ซึ่งทำให้คนเพศอื่นๆ อัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศแบบอื่นๆ ไม่ได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงภายใต้ระบบกฎหมาย

ดังนั้นแล้ว การมีประธานศาลฎีกาหญิงคนที่ 3 ไม่ควรเป็นช่วงเวลาที่ผู้สมาทานความเท่าเทียมทางเพศเฉลิมฉลองต่อความสำเร็จเพียงเท่านั้น หากแต่ควรเป็นช่วงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามถึงมาตรฐานในกฎหมายว่า ในตอนนี้ประสบการณ์ของคนทุกคนนั้นไม่ถูกกีดกันและได้รับการยอมรับจริงๆ แล้วหรือไม่  

 

อ้างอิง

[1] “ประกาศแต่งตั้งประธานศาลฎีกา”, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 140 ตอนพิเศษ 195 ง , 17 สิงหาคม 2566, https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D195S0000000000300.pdf?fbclid=IwAR1WQvZq6O2M_pcem7PyOHe1QtwFmuzq1MM4yUBAHe-5cb01q8bwGCBoUQE.

[2] สารนัยประสาสน์ (ธัญญา), หลวง (2499). พัฒนาการการศึกษากฎหมายในประเทศไทย. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 3.

[3] ก่อนหน้านี้ เคยมี “นางสาวผ่องศรี” บุตรขุน/หลวง/พระยาไกรศรี ได้แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเรียนโรงเรียนกฎหมาย ในสมัยที่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นเสนาบดี แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าเรียน ใน อาริยา สินธุ, “สิทธิสตรีไทย จากวันวาน…ถึงวันนี้”, สกุลไทย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 2525 พิมพ์ใน “คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรก”, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทรทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร, วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551, 29.

[4] เรื่องเดียวกัน, 29.

[5] อาริยา สินธุผู้เขียนบทความ ”สิทธิสตรีไทย จากวันวาน…ถึงวันนี้” ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า “เหตุที่นำมาบันทึกไว้นี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าอันกิริยามารยาทที่อ่อนน้อมถ่อมตนแบบไทยๆ ของนางสาวแร่มนั่งเอง อาจเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ท่านเสนาบิดีเกิดความเมตตาเอ็นดู จนถึงกับอนุญาตให้เข้าเรียนได้ นับเป็นคุณความดีของเจ้าพระยาพิชัยญาติ ที่สตรีไทยพึงจดจำไว้ว่าท่านได้เปิดโอกาสให้หญิงไทยได้เข้าเรียนวิชากฎหมาย” ใน เรื่องเดียวกัน, 29

[6] เช่น ในปริญญานิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงในอาขีพผู้พิพากษาสตรีในสังคมไทย พ.ศ. 2497-2563” โดยภาพิมล อิงควระ, 25-26.

[7] นางสาวแร่ม พรหโมบล (นางแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ) สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ.2473 ชั้นที่ 2 ลำดับที่ 19 ใน สารกิจปรีชา (หลวง), “รายชื่อเนติบัณฑิตตั้งแต่พ.ศ. 2440- พ.ศ.2476 (ต่อ)”, บทบัณฑิตย์, 20 (4) (ตุลาคม 2505), 915.

[8] นางสาวศิริ จูตี๋รัตน์ (นางศิริ ปทุมรส) สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ.2474 ชั้นที่ 2 ลำดับที่ 36 ใน เรื่องเดียวกัน, 919.

[9] นางสาวสุนทร ประเสริฐพงษ์ สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2475 ชั้นที่ 2 ลำดับที่ 59 ใน เรื่องเดียวกัน, 923.

[10] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทรทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร, วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551, 31.

[11] ระเบียบข้าราชการตุลาการบางฉบับ (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2482 มาตรา 23 (2) และ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2485 มาตรา 24(2)) กำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่มีคุณสมบัติจะสอบผู้พิพากษาได้จะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น ขณะที่บางฉบับ (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2471 มาตรา 5 และพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2479 มาตรา 23 ) ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติทางเพศไว้ แต่ก็ยังคงเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่ตุลาการจะเป็นเพศชายเท่านั้น

[12] วารุณี ภูริสินสิทธิ์, สตรีนิยม: ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545), 6-21.

[13] “ผลการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา” ลำดับที่ 14 นางชลอจิต จิตตรุทธะ ใน เยี่ยมกริช กฤษณจินดา, ประมวลข่าว, ดุลพาห 12 (5) (พฤษภาคม 2508), 94-95.

[14] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายศาลเด็ก (กรุงเทพฯ: สำนักงานประชานิติ, 2495), 4-6.

[15] กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497

[16] ภาพิมล อิงควระ, “ความเปลี่ยนแปลงในอาชีพผู้พิพากษาสตรีในสังคมไทย พ.ศ. 2497 – 2563”, (ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2564).

[17] Martha Chamallas, Introduction to feminist legal theory (New York: Aspen Law and business, 1999) 53-62.

Tags: , , ,