เหล่านักฝันในสังคมห้ามเห็นต่าง
ก่อนที่ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ จะเริ่มขั้นตอนการถอนประกันและอดอาหาร-น้ำประท้วง มีผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมดในปี 2565 จำนวน 11 รายที่ถูกขังยาวนานข้ามปี ไม่ว่าจะเป็น คทาธร-คงเพชร ที่ถูกคุมขังและยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายน 25651 พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นขอประกันตัวมากที่สุดกว่า 18 ครั้ง และยังคงถูกคุมขังมานานมากกว่า 230 วัน2
ทั้งหมดเป็นเหตุให้ทั้งตะวัน แบม และสิทธิโชค เศรษฐเศวต ต้องอดข้าว อดน้ำ และรวมถึง เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ต้องประกาศอดนอน เพื่อทวงสิทธิการประกันตัวจากศาล กระทั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงมีคำสั่งที่มีผู้ขอประกันเกี่ยวกับคดีการชุมนุม และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ประกันตัวใบปอ เก็ท และพรพจน์ ส่วน ต๊ะ-คทาธร ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะเพิ่มเติม ส่วน ถิรนัย และชัยพร ศาลมีคำสั่งส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง และจนถึงวันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2566) การอดข้าว อดน้ำของตะวัน และแบม เดินทางมาถึงวันที่ 39 และยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมหยุดแต่อย่างใดจนกว่าจะมีการให้ประกันผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมด
ปรากฏการณ์การอดข้าว อดน้ำ อดนอน การไม่กินยาประจำตัว หรือการไม่เข้าร่วมกิจกรรม ส่วนหนึ่งเป็นการดันเพดานการประท้วงที่นักกิจกรรมเคยทำมาก่อนและไปไกลมากกว่าการอดน้ำ ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากทำ หรือไม่อยากกิน แต่เพราะสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อประท้วงความ(อ)ยุติธรรมจากศาล เพราะพวกเขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงเพราะเห็นต่างจากความคิดเห็นทางการเมือง และยังกล้าที่จะเอาชีวิตเข้าแลกเพราะการกระทำเหล่านี้เป็นอำนาจเดียวเหนือเนื้อตัวร่างกายที่พวกเขาสามารถทำเพื่อประท้วงต่อ ‘ศาล’ และไม่ได้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเองอย่างเดียว แต่พวกเขาร่วมกันเรียกร้องเพื่อทวงสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน3
การเรียกร้องสิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐานจากพวกเขา ยังช่วยปลุกกระแสให้สังคมต้องมาตั้งคำถามกับสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับผู้ต้องขังคดีอาญารายอื่นซึ่งสามารถเข้าถึงสิทธิการประกันตัวได้มากกว่า เช่น ศาลให้ประกันตัวภรรยา พลตำรวจโท ปัญญา ปิ่นสุข หรือศาลอนุญาตให้ประกันตัวอดีต 8 แกนนำ กปปส. ซึ่งสิทธิการประกันตัวนั้นเป็นที่ตระหนักกันดีในประเทศที่ใช้หลักกฎหมายว่าเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ตามหลักการ ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์’ (Presumption of Innocence) ซึ่งถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และ 3 ตามหลักการสากลกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)
ขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาต่อสู้ของพวกเขายังได้ปลุกให้เกิดการต่อสู้คู่ขนานที่ดำเนินการทวงสิทธิการประกันตัว เช่น การยืนหยุดขังในหลายจังหวัด (ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องนับแต่มีการคุมขังผู้ต้องขังการเมือง) การส่งจดหมายเปิดผนึกจากอาจารย์นิติศาสตร์ คืนสิทธิประกันตัว4 ‘เครือข่ายหมอ-พยาบาล’ ร่วมลงชื่อยื่น ‘ประธานศาลฎีกา-อาญา’ ขอคืนสิทธิประกันผู้ต้องหา ให้รักษากาย-ใจ5 ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นขอประกันแกนนำ พร้อม จดหมายเปิดผนึกร้องให้คืนสิทธิ์ประกันตัว6 องค์กรสิทธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกห่วงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา กรณีประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง7
อย่างไรก็ดี แม้มีกระแสการออกมาทวงคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เด็กหญิงวัย 14 ปี ได้รับหมายเรียกในข้อกล่าวหา มาตรา 112 สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงปรากฏการณ์การใช้กฎหมายมาตรา 112 และกฎหมายความมั่นคงอื่นเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง และมีแนวโน้มที่จะดำเนินคดีกับเยาวชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะปัจจุบันตัวเลขการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมชนและแสดงออกทางการเมืองไม่น้อยกว่า 183 คน คิดเป็นจำนวน 114 คดี แยกเป็นคดี 112 จำนวน 11 คน8
ตามสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่รวบรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่านับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในทางปฏิบัติและจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่กับผู้นุมนุม จากคำประกาศดังกล่าวเป็นเหมือนดังใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง9 โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2565 เฉลี่ยในแต่ละเดือนมีคดีใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 6 คดี ซึ่งทั้งปีมีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 72 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 59 คน ทำให้ยอดคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 นี้ ตั้งแต่ปลายปี 2563-2565 มีผู้ที่ถูกฟ้องคดีไม่น้อยกว่า 225 คน ใน 234 คดี10
นอกจากนี้ ในปี 2565 ทุก 2 วันจะมี ‘คดีใหม่จากการแสดงออกทางการเมือง’ 1 คดี ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2564 มีคดีการแสดงออกทางการเมืองมากกว่า 835 คดี และมีคดีความเพิ่มขึ้นทั้งหมดใน 1 ปีไม่น้อยกว่า 185 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 141 คน เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนจะมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเดือนละ 15 คดี ซึ่งมีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วเพียง 290 คดี แต่ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 875 คดี ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่าง ๆ และเป็นคดีในชั้นศาลจำนวน 443 คดี ที่อยู่ในการต่อสู้คดีความกันต่อไป11 ด้านคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2563 เพราะเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วันก่อนประกาศยกเลิกในวันที่ 30 กันยายน 2565 ช่วงเวลาดังกล่าวมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็น ‘คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ทำให้มียอดผู้ที่ถูกดำเนินคดีเท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 1,468 ราย ใน 663 คดี12
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนตัวเลขสถิติเกี่ยวกับการดำเนินคดี มาตรา 112 คดีการแสดงออกการเมือง คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นคดีที่มีจำนวนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชั้นศาล อย่างไรก็ตามจากรายงานสถิติคดีศาลยุติธรรมประจำปี 2564 ซึ่งเป็นสถิติที่รวบรวมรายงานประจำปีของศาลทั่วประเทศ โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศาลอาญาพบว่าข้อหาคดีอาญาทั้งหมดที่ขึ้นสู้การพิจารณาคดี ประจำปี 2564 พบว่ามี 668,005 คดี และพิพากษาเสร็จไปแล้ว จำนวน 644,438 คดี มีคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขึ้นมาเป็นคดีที่มีสัดส่วนในลำดับที่ 4 และมีคดีอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุข้อหาคดี จำนวน 182,986 คดี13 หากพิจารณาจากสัดส่วนแล้ว ‘คดีอื่นๆ’ นี้มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของคดีอาญาที่ขึ้นสู่การพิจารณา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานสถิติของศาลฉบับนี้นี้ กลับไม่ปรากฏคดีเกี่ยวกับความมั่นคง คดีการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คดีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่ประการใด ซึ่งสวนทางกับจำนวนสถิติคดีการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน
หากพิจารณาจากตัวเลขคดีที่เพิ่มขึ้น และการต่อสู้ของเหล่านักฝันที่ลงมือทำในประเทศต้องห้ามนี้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง การกระทำของรัฐต่อจึงเป็นการสร้างความหวาดกลัวเพื่อกำราบกดปราบไม่ให้พลเมือง ประชาชนจำนวนมากเกิดความรู้สึกต่อต้านเพราะพวกเขาต้องการที่จะใช้ชีวิตในฐานพลเมืองโลก (Cosmopolitans) โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมืองที่เปิดกว้างต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิด ‘รัฐนาฏกรรม’ (Theatre State) ของคลิฟฟอร์ด เกิตซ์ (Clifford Geertz) ที่ปรีดี หงส์ต้น ใช้วิเคราะห์ว่ารัฐไทยมักใช้วิธีการแบบรัฐจารีตด้วยการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวและยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐ14
โซ่ตรวนกลับเป็นระบบกฎหมาย
งานศึกษาของ นพพล อาชามาส พบว่าผู้ต้องหาคดี 112 ถูกทำให้ตกอยู่ในสภาวะ ‘ชีวิตอันเปลือยเปล่า’ (Bare Life) ที่ตกอยู่ในสภาวะยกเว้น (State of Exception) ที่ทำให้ถูกยกเว้นจากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายและถูกกีดกันจากสถานะความเป็นพลเมืองของรัฐ แต่ถูกดึงมาให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ (Inclusive Exclusion) ดังนั้นพวกเขาจึงอยู่ในสถานะ ‘นอกกฎหมาย’ ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกกฎหมายควบคุมเช่นกัน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาวะก้ำกึ่งระหว่างการที่ถูกทำให้เป็นคนนอกกฎหมายกับถูกใช้กฎหมายควบคุม15 ซึ่งตัวอย่างการเรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาคดีการเมือง คงเป็นคำอธิบายที่ดีที่ทำให้เห็นว่าพวกเขาถูกทำให้อยู่นอกกฎหมายที่เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ยากถึงยากที่สุด ซึ่งปัจจุบันได้ขยายสภาวะนอกกฎหมายนี้มายังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเช่นกัน
กฎหมายได้กลายเป็นพันธนาการสำคัญที่ล่ามพวกเขาเอาไว้ เพราะในคดีการเมือง รวมไปถึงคดี 112 นี้ล้วนเป็นคดีที่เปิดกว้างให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจ และในคดี 112 ยังเปิดให้มีการกล่าวหาอย่างกว้างขวาง ขณะที่ในกระบวนการยุติธรรมที่รวมถึงชั้น ตำรวจ อัยการ ศาล กลับมีวิธีปฏิบัติที่ดูราวจะมีแนวปฏิบัติเฉพาะออกไปกับคดีอาญาประเภทอื่น เช่น กรณีของ อาย กันต์ฤทัย ผู้ต้องหาคดี 112 ก่อนหน้าที่เธอจะได้รับหมายเรียก เธอต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวถึงห้องพัก และเรียกให้ไปสถานีตำรวจโดยไม่มีหมายเรียก ต่อมาจึงถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 6 นาย อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายสืบจาก สน.ลาดพร้าวนำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักและยึดคอมพิวเตอร์และมือถือไป ซึ่งต่อเมื่อเธอได้รับหมายเรียกแล้ว และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว มาตรา 112 แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการขอฝากขังต่อศาลอาญา16
ในชั้นอัยการ ซึ่งเป็นปราการกลั่นกรองคดีก่อนขึ้นสู่ชั้นศาล หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จากรายงานของศูนย์ทนายฯ พบว่า คดีในช่วงปี 2563-2564 พบว่ายังไม่มีคดีมาตรา 112 แม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง17 สเตตัสของอานนท์ นำภา คงอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจนเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปราการสุดท้ายของการผดุงความยุติธรรม คืออำนาจตุลาการ อันต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและต้องทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ อิสระจากการถูกแทรกแซงเพื่อให้มีคำวินิจฉัยต่อคดีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรม ทั้งต้องไม่ ‘หวั่นเกรง’ ต่อการถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ในมาตรา 188 แต่สำหรับผู้ต้องหาคดีการเมือง คดี 112 คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้นมีหลายครั้งที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยต่อการทำหน้าที่ของศาลในคดีเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการประกันตัว เงื่อนไขการประกันตัวที่จำกัดสิทธิอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกนอกบ้าน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน
ความเป็นกลางและการไม่เลือกปฏิบัติของศาลยิ่งถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางเมื่อศาลอาญาอนุญาตให้ปลดกำไลอีเอ็มของนักแสดงสาว ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเรียกร้องมาเนิ่นนานแต่กลับได้อานิสงส์ถอดกำไลภายหลังกรณีของนักแสดง การปฏิบัติที่ดูอิหลักอิเหลื่อในหลักการของศาลเช่นนี้ จึงทำให้ศาลต้องเผชิญต่อการถูกตั้งคำถามต่อหลักการและหน้าที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลหลุดลอยและพ้นไปจากการตรวจสอบ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ศาลนั้นมีที่มาจากประชาชน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดต่อไปซึ่งมิใช่สิ่งแปลก หากแต่เป็นระบบตรวจสอบที่สังคมประชาธิปไตยพึงมี
ด้วยโซ่ตรวนชิ้นใหญ่ทั้งระบบกฎหมายนี้ จึงทำให้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐคนใด ไม่อยากที่จะบังคับใช้คดีทางการเมืองเหล่านี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำได้โดยอิสระ เพราะระบบกฎหมายไทยที่กระทำต้องเหล่านักฝันนั้นมีปัญหาทั้งระบบ ทำให้ผู้มีจิตใจจะใฝ่ฝันถูกระบบกฎหมายล่ามตัว จนทำให้ต้องสู้เพื่อเอาชีวิตของตนเข้าแลก ซึ่งเป็นอำนาจเดียวที่พวกเขาใช้เพื่อทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อยในคดีอื่น
แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่านี่คือการประท้วงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการประกันตัวในชั้นศาล ที่พวกเขาต้องแลกมาด้วยชีวิตที่เริ่มไต่ระดับด้วยการอดข้าว ต่อมาเป็นอดข้าว อดน้ำ และไต่ระดับความอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อสมองและการใช้ชีวิตในอนาคตด้วยการอดนอน แล้วหากเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ผลคำพิพากษาที่เป็นธรรมเล่า? พวกเขาจะต้องแลกด้วยอิสรภาพเกือบทั้งชีวิตแบบคดีของอัญชัญ ผู้ต้องโทษด้วยคดีมาตรา 112 ที่ต้องรับโทษเกือบ 9 ปี หรือไม่? ปลายทางการต่อสู้ของเหล่านักฝันผู้ลงมือทำจึงเต็มไปด้วยโซ่ตรวน ที่พวกเขาตระหนักถึงราคาที่ต้องจ่ายเพื่ออยู่ในประเทศนี้ และลงมือสู้เพื่อให้ตนเองและคนอื่นๆ ในสังคมได้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียม
เชิงอรรถ
1 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เปิดสถิติยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธุ์ 2566. https://tlhr2014.com/archives/53254.
2 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เปิดสถิติยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธุ์ 2566. https://tlhr2014.com/archives/53254.
3 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “อดอาหาร-อดนอน-อารยะขัดขืน” การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมลุกลามในเรือนจำชาย, https://tlhr2014.com/archives/53286.
4 มติชน, 50 อาจารย์นิติฯ ร่อนจม.เรียกร้อง คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีการเมือง, https://www.matichon.co.th/politics/news_3793853
5 มติชน, ‘เครือข่ายหมอ-พยาบาล’ รวมชื่อยื่น ‘ปธ.ศาลฏีกา-อาญา’ ขอคืนสิทธิประกันตัว ผตห. ให้รักษากาย-ใจ, https://www.matichon.co.th/politics/news_3814623.
6 ไทยรัฐ, ส.ส.ก้าวไกล ยื่นขอประกันแกนนำ พร้อม จม. เปิดผนึกร้องให้คืนสิทธิ์ประกันตัว, https://www.thairath.co.th/news/politic/2227970.
7 ประชาไท, องค์สิทธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกห่วงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา กรณีประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง, https://prachatai.com/journal/2023/01/102412.
8 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ ที่มีเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 183 คน ถูกจับกุม-ดำเนินคดีทางการเมือง, https://tlhr2014.com/archives/35347.
9 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563 – 2566, https://tlhr2014.com/archives/23983.
10 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2565 ปีแห่งการต่อสู้คดีในศาล คดีการเมืองกว่า 875 คดี ยังไม่สิ้นสุด, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธุ์ 2566. https://tlhr2014.com/archives/51919.
11 เรื่องเดียวกัน.
12 เรื่องเดียวกัน.
13 หนังสือรายงานสถิติคดีศาลทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.2564 หน้า 317 https://oppb.coj.go.th/th/file/get/file/2022070838f44cbce6433adb1516e7e0357e0ed1153702.pdf.
14 อัจฉรา รักยุติธรรม, นาฎกรรมแห่งการสร้างความกลัวของรัฐไทยและปฏิบัติการแห่งความไม่น่ากลัวของอดีตผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, งานประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 13 “ความพลิกผันของศาสตร์มนุษย์และสังคมในยุคดิจิตัล” วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, หน้า 2-3.
15 อ้างแล้ว, อัจฉรา รักยุติธรรม, หน้า 4.
16 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ‘อาย กันต์ฤทัย’ ถูกแจ้งข้อหา ม. 112 เหตุโพสต์ 8 ข้อความ ตำรวจนำตัวขอฝากขังแม้ไปตามหมายเรียก ก่อนศาลให้ปล่อยตัว”, https://tlhr2014.com/archives/53679.
17 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2565 ปีแห่งการต่อสู้คดีในศาล คดีการเมืองกว่า 875 คดี ยังไม่สิ้นสุด, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธุ์ 2566. https://tlhr2014.com/archives/51919.
Tags: การเมืองไทย, มาตรา 112, กฎหมาย, Rule of Law