“ตัวดำ ๆ แบบนี้ ไม่น่าเป็นคนดีหรอก”
คำพูดเจ้าพนักงานตำรวจนายหนึ่ง กล่าวต่อบิดาของเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพว่ากระทำความผิด
คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ที่นำรูปลักษณ์ภายนอกหรือลักษณะทางกายภาพของปัจเจกบุคคล มาเป็นเงื่อนไขการตัดสินใจลงมือกระทำการต่างๆ ของฝ่ายรัฐ
กลายเป็นว่าบุคคลที่มีรูปลักษณ์ไม่ตรงกับรสนิยมส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ต้องเผชิญกับความเปราะบางและความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายได้ตลอดเวลา
บทความนี้ จะพยายามชี้ให้เห็นถึงประเด็นความเป็นไปได้ของการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งรูปร่างหน้าตาและลักษณะภายนอกในกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร
ความสวย ความหล่อ: ทุนทางสัญญะในกระบวนยุติธรรม
งานวิจัยจำนวนมากได้ทำการศึกษาถึงบทบาทของเสน่ห์และความน่าดึงดูด (attractiveness) ในตัวมนุษย์ผ่านแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งพบว่าบุคคลที่มีเสน่ห์และความน่าดึงดูดในสังคมนั้นๆ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและได้รับประโยชน์ต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิต ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีและระบบยุติธรรมทางอาญาไปจนถึงการศึกษา
กฎหมายในปัจจุบันได้ใช้ข้อค้นพบเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างความน่าดึงดูดใจกับมาตรการต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงลักษณะการจับกุม การมีคำพิพากษา ตัดสินลงโทษ การตัดสินให้คุมประพฤติ และการกักขัง
การศึกษาของสถาบัน National Longitudinal Study of Adolescent to Adult Health ในประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่าบุคคลผู้ที่มีความน่าดึงดูดหรือมีรูปลักษณ์ภายนอกตรงกับแบบฉบับของมาตรฐานความงาม (beauty standard) ของสังคม มีโอกาสที่จะถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดหรือถูกจับกุมน้อยกว่า และส่งผลอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นต่อบุคคลที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ที่มีรูปร่างหน้าตาตรงตามมาตรฐานความงาม
ซึ่งตรงจุดนี้ อาจมาจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าพนักงานตำรวจส่วนใหญ่จะเป็นบุคคล ‘เพศชาย’ ที่ให้ชื่นชมความงามของสตรีเป็นอยู่เป็นนิจ
งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งตอกย้ำถึงอคติด้านความงามและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีวิธีวิจัยโดยการนำรูปภาพของบุคคล (ชายและหญิง) ที่มีความน่าดึงดูดในระดับต่างๆ พร้อมกับคำอธิบายเกี่ยวกับอาชญากรรมที่พวกเขาอาจก่อ และให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัยดูจนครบ จากนั้นอาสาสมัครจะต้องคำตัดสิน (ซึ่งอาสาสมัครจะเป็นผู้ประเมินแต่เพียงผู้เดียว) ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของกลุ่มตัวอย่าง ควบคู่กับการประเมินคุณลักษณะอื่นๆ เช่น ความน่าเชื่อถือ ความก้าวร้าว ความโหดเหี้ยม ฯลฯ ของบุคคลเหล่านั้น
ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า อาสาสมัครมีแนวโน้มที่จะประเมินคุณลักษณะในแง่ดีและให้ความผ่อนปรนในการทำคำตัดสินกับผู้หญิงที่มีเสน่ห์และความน่าดึงดูดมากกว่า
ลักษณะทางกายภาพและรูปลักษณ์หน้าตา เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและมีดุลยพินิจว่าจะดำเนินคดีกับใครหรือจับกุมใครคนใด โครงสร้างของการใช้ดุลยพินิจจะขึ้นอยู่กับว่า เจ้าหน้าที่เชื่อบุคคลที่ตนกำลังซักถามหรือสอบปากคำหรือไม่
ในแง่ที่ไม่ได้มีวัตถุพยานหลักฐานหรือข้อมูลภูมิหลังใดๆ ของบุคคลคนนั้น และการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ รวมถึงการตัดสินใจกระทำการใดๆ ที่มีผลในทางกฎหมาย การรับรู้ที่นำมาประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็หนีไม่พ้นเรื่องรูปร่างลักษณะหน้าตาและความน่าดึงดูดของคนนั้น
ในทำนองเดียวกัน การพิจารณาคดีของต่างประเทศที่ใช้ระบบลูกขุน ก็มีความเป็นไปได้ที่สมาชิกคณะลูกขุนจะเชื่อคำให้การหรือคำแก้ต่างของจำเลยที่มีความน่าดึงดูดมากกว่า ส่งผลให้มีการยกฟ้องของจำเลยที่หน้าตาและรูปร่างดีตามมาตรฐานความงามของสังคม เช่นเดียวกับผู้มีบทบาทอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งอัยการและผู้พิพากษา อาจต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรูปลักษณ์ภายนอกของจำเลยไม่ต่างกัน เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่รูปร่างหน้าตาดีมักจะไม่ถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะได้รับโทษที่ผ่อนปรนมากกว่า
ความน่าดึงดูดและคุณลักษณะทางกายภาพที่ตรงตามมาตรฐานความงาม อาจจะไม่ถึงกับมีอิทธิพลจนทำให้ระบบกฎหมายนั้นเป็นกลไกที่ไร้เหตุผลไปโดยปริยาย แต่งานศึกษาจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ระดับหนึ่งที่อคติของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตรรกะและเหตุผลทางกฎหมาย อาจสร้างผลลัพธ์ทางกฎหมายได้เมื่อลักษณะความน่าดึงดูดของบุคคล ดำเนินควบคู่ไปกับความสามารถในการใช้โวหาร ทักษะการเข้าสังคม การแสดงความจริงใจ และปัจจัยอื่นๆ
อคติด้านความงาม: ความอยุติธรรมที่แฝงอยู่ทั้งในชีวิตและระบบกฎหมาย
ผลงานของดีโบราห์ โรด (Deborah Rhode) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวอเมริกัน ประจำโรงเรียนกฎหมายสแตนฟอร์ด (Stanford Law School) เป็นงานศึกษาชิ้นสำคัญที่พยายามสะท้อนปัญหาการเลือกปฏิบัติที่นอกเหนือจากประเด็นเรื่องเพศและเชื้อชาติ โดยการมุ่งศึกษาปัญหาอคติด้านความงาม (Beauty Bias) ที่แฝงอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์และระบบกฎหมาย จนก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมในหลายมิติ
สำหรับโรด ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงาม หรือผู้ชายที่มีรูปร่างเตี้ยไม่ตรงตามมาตรฐานความเป็นชายในสังคม มีความรุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างไม่ต่างจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ อายุ ชาติพันธุ์ ศาสนาและความทุพพลภาพของบุคคล
โรดพิสูจน์ประเด็นดังกล่าวผ่านงานวิจัยของตนเอง กว่าร้อยละ 11 ของคู่รักที่เข้าร่วมทำแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาจะตัดสินใจทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีแนวโน้มว่าอาจเป็นโรคอ้วน หรือกรณีที่นักศึกษาหลายคนยืนยันกับผู้สำรวจข้อมูลว่า พวกเขายอมมีคู่ครองเป็นพวกขี้ยา คนโกงกิน หรือพวกลักเล็กขโมยน้อย มากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วนท้วม
ส่วนในแง่มุมของระบบกฎหมาย โรดอภิปรายชี้ให้เห็นว่า ยิ่งคุณเป็นบุคคลที่ไม่มีความน่าดึงดูด หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานความงามของสังคมนั้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกตัดสินลงโทษจำคุกนานขึ้น หรือกรณีที่คุณถูกละเมิด ก็อาจจะได้รับค่าสินไหมทดแทนในจำนวนอันน้อยนิด
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางหนังหน้า คือการที่สังคมนั้นๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสื่อ ที่นำเสนอมาตรฐานความงามแบบขาดความยั้งคิดในเรื่องความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้คนมักจะได้รับการบอกทั้งว่าเราควรมีลักษณะรูปร่างหน้าตาอย่างไร (what you should look like) และจากนั้นจะส่งผลเสียอย่างไร จากการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความงามที่ถูกกำหนดไว้ เช่นเดียวกับการนำเสนอประเด็นทางศีลธรรม (ความดีและความชั่ว) โดยเชื่อมโยงไปกับลักษณะทางกายภาพ รูปร่างหน้าตาของบุคคล
สื่อลักษณะดังกล่าวยกตัวอย่างได้หลากหลาย เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งที่เปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงสองคน ที่มีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่รูปร่างหน้าตาตรงกับมาตรฐานความงามในสังคม จะได้รับการยอมรับหรือได้รับโอกาสที่ดีกว่าอีกคนหนึ่งที่ไม่พยายามมากพอ หรือ กรณีบทละคร บทภาพยนตร์ ที่นำเสนอความดี ความชั่ว ฝ่ายธรรมะฝ่ายอธรรม โดยให้เฉพาะฝ่ายธรรมะเป็นกลุ่มคนที่มีรูปร่างหน้าตาตามมาตรฐานความงามของสังคม
เนื้อหาด้านความงามกับประเด็นเรื่องความดีความชั่ว เมื่อถูกผลิตซ้ำผ่านกาลเวลาก็ย่อมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ระบบคุณค่า ความเชื่อ ระบบศีลธรรม ระบบความสัมพันธ์หรือวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ส่งผลให้การเลือกปฏิบัติหรือการตัดสินคนอื่นในแง่ลบ จากรูปลักษณ์ภายนอกกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องและยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นในการดำรงชีวิตทั่วไปของผู้คนหรือในกระบวนการพิจารณาคดีก็ตาม
หนทางการแก้ไขที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
การออกกฎหมายเพื่อมาขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรูปร่างหน้าตา ยังเป็นไปได้ยากในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะในทางปฏิบัติ เป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติลักษณะดังกล่าว การพิสูจน์ความเสียหายและการจะกล่าวหาบุคคลใดว่าได้กระทำการดังกล่าว ก็ต้องอาศัยพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สมเหตุสมผล ยิ่งกว่าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นเหมือนหัวเชื้อเพื่อนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นหน้าที่ของสังคมและผู้มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ในการสร้างความตระหนักในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยไม่เกี่ยวกับลักษณะภายนอกของบุคคล
การสื่อสารสาธารณะปัจจุบันอาจต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ในการนำรูปร่างหน้าหรือลักษณะภายนอกของบุคคลมาเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาทางศีลธรรมและความดีความชั่ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย ที่จะต้องเริ่มสำรวจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติลักษณะดังกล่าว เพื่อออกแบบวิธีการจัดการปัญหาในภายภาคหน้าต่อไป
Tags: Beauty Standard, Beauty Bias, อภิสิทธิ์จากความงาม, รูปร่างหน้าตา, ความงาม, การเลือกปฏิบัติทางเพศ, Rule of Law, ค่านิยมความงาม, มาตรฐานความงาม