ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมาเป็นเวลาราว 10 ปี เราได้เห็นการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 (ที่มีความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”) ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เอาไว้ ให้อยู่ในสถานะ ‘เคารพสักการะ’ และ ‘ล่วงละเมิดมิได้’
การใช้มาตรา 112 อย่างผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อได้มีผู้กล่าวหาว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรานี้เกิดขึ้น ซึ่งจะให้เข้าใจง่ายก็คือความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน
ผู้เขียนมีโอกาสร่วมสังเกตการณ์และติดตามคดี 112 กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง จึงทำให้ผู้เขียนได้ทราบในสิ่งที่ไม่เคยจะรู้มาก่อนคือ เมื่อใครก็ตามที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ณ เวลาที่ได้รับหมายจากพนักงานสอบสวน ให้เข้าให้ปากคำ เวลานั้นคือ ชะตาชีวิต โดยอยากจะให้คิดถึง ชีวิต ที่หมายถึงความเป็นความตายของผู้ถูกกล่าวหาจริง ๆ เพราะมันผิดปกติ
กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปแบบแปลกๆ
กระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ผิดปกติ เริ่มตั้งแต่การส่งเจ้าหน้าที่ติดตาม สังเกตการณ์ รวบรวมพยานหลักฐานในลักษณะที่เป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือบางครั้งถึงขั้นคุกคามผู้ต้องหา การมีการค้นประวัติพฤติกรรมของผู้ต้องหาบนโลกโซเชียลฯ ไม่ว่าจะผ่านมานานหลายปีแล้ว การควบคุมตัวที่ผิดปกติ ในประเด็นนี้ผู้เขียนก็ไม่ได้ประสบกับตัว แต่ก็ได้ทราบมาบ้างว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง บางครั้งก็พบว่า รถที่เจ้าพนักงานใช้นำส่งตัวผู้ต้องหาได้หายไปจากเส้นทาง การรับสำนวนของอัยการ การสั่งฟ้องของอัยการ ไปจนถึงการสืบพยานในชั้นศาลที่ศาลสร้างข้อจำกัดเยอะแยะมากมาย เช่น ห้ามมิให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการสืบพยาน ห้ามมิให้ผู้ติดตามทนายความจำเลยบันทึกข้อความระหว่างการพิจารณา ซึ่งหากเข้าศึกษาการบันทึกการสังเกตการณ์คดีที่ศูนย์ทนายฯ จัดทำไว้ ก็คงจะเห็นความผิดปกติมากกว่าที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทความนี้เสียอีก
การกำหนดฐานความผิด แบบแปลกๆ
เมื่อผู้เขียนพยายามหาหลักการหรือคำอธิบายมาอธิบาย ลักษณะของการกำหนดแก่ผู้กระทำความผิด (โดยเฉพาะผู้ที่ศาลพิพากษาให้มีความผิดในคดี 112 หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชาฯ) ผู้เขียนเลยลองยกหลักการว่าด้วยเรื่อง อาชญาวิทยา (Criminology) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ที่มีสมมติฐานในการศึกษาว่า หากเราสามารถเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เราก็จะสามารถตัดวงจร หรือแม้กระทั่งควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนได้ โดยได้นำมาใช้ ในการพิจารณาการกระทำความผิด คือใช้ปัจจัยต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากสาเหตุในการกระทำความผิด ตลอดจนให้ความสำคัญไปที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม เพื่ออธิบายถึงสาเหตุ วงการกระทำความผิด และป้องกันอาชญากรรมได้ในที่สุด
ทั้งนี้จึงมีการแบ่งอาชญากรรมออกเป็นประเภท และการแบ่งก็ยังมีการแบ่งที่หลากหลาย เช่น แบ่งตามเจตนาในการกระทำความผิด แบ่งตามความชั่วร้ายทางศีลธรรม แบ่งตามความเป็นภัยอันตรายต่อสังคม หรือความหนักเบาของการกระทำความผิด (George G. Coughlin, 1967)
แต่มีการแบ่งเกณฑ์ประเภท หนึ่ง ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ และสามารถนำมาใช้เป็นกรอบในการมองการกระทำความผิดมาตรา 112 ได้ คือการแบ่งประเภทอาชญากรรมโดยใช้เกณฑ์เรื่องความรุนแรงในการกระทำความผิด โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ความผิดเล็กน้อยหรือความผิดลหุโทษ (Misdemeanor) อันเป็นกระทำความผิดที่เป็นการละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคลหรือสังคมเป็นวงกว้าง
ความผิดอาญาร้ายแรง (Serious Crime ) หรือความผิดอาญาสามัญ (Common Crimes) คือความผิดที่กระทำไปโดยหวังประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ลักษณ์ของการกระทำมีความรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายเป็นรายบุคคล (Individual Harm) ตัวอย่างเช่นความผิดฐานทำร้ายร่างกายความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ความผิดร้ายแรงมากหรือความผิดอุกฉกรรจ์ (Most Serious Crime) เป็นความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำลง โดยมีเจตนาฆ่าและส่ง เป็นการเสียชีวิตหรือกระทั่งความผิด ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่สังคมจำนวนมาก เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นลดความผิดฐานวางระเบิด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในการลงโทษอาชญากรรม โดยใช้เกณฑ์เรื่องความรุนแรงของการกระทำความผิด เป็นตัวกำหนดจะต้องคำนึงถึงลักษณะความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำ แต่ทั้งนี้ในหลักอาชญาวิทยา นอกจากพิจารณาเรื่อง ความรุนแรงในการกระทำความผิดแล้วยังมีการพิจารณา ตัวอาชญากรหรือผู้กระทำความผิดอีกด้วย โดยการแบ่งด้วยการใช้ลักษณะพฤติกรรมในการกระทำความผิด ดังนี้
1. ผู้กระทำความผิดไม่ใช่โดยสันดาน หรือผู้กระทำความผิดครั้งคราว (Occasional Criminal) คือพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด ที่ได้กระทำความผิดเพราะประมาทเลินเล่อ คือเพราะความจำเป็น เช่น การป้องกันตัวป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน หรือแม้กระทั่งเป็นการ กระทำความผิด เนื่องจากถูกกดดันหรือบีบบังคับทางจิตใจอย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมหรืออดกลั้นได้ และอาจหมายความถึงการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ หรือความโกรธจนไม่อาจระงับยับยั้งสติได้
2. ผู้กระทำความผิดโดยสันดาน หรือกระทำความผิดโดยนิสัย (Habitual Criminal) หรือผู้กระทำความผิดโดยอาชีพ (Professional Criminal) หมายถึงบุคคลที่ไม่สามารถปฏิบัติตนให้เข้ากับบรรทัดฐานของสังคมได้ และมักจะประกอบอาชญากรรมเมื่อมีโอกาส หรือเป็นการประกอบอาชญากรรมเพื่อหาเลี้ยงชีพ
เมื่อพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 แล้ว มีสาระสำคัญที่พูดถึงการ ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งอาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ โดยมีบุคคลที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองคือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การตัดสินลงโทษคดี 112 ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการตัดสินลงโทษจำคุกคดีในส่วนที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ จะให้เห็นบ้างเป็นส่วนน้อยที่จะลงโทษจำเลยในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นการลงมือการทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด
การที่การกำหนดโทษทางกฎหมายต้องพิจารณาตามหลักอาชญาวิทยานั้น เพื่อให้การลงโทษได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดผู้กระทำความผิด กล่าวคือความรุนแรงของพฤติการณ์และพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด เพราะโทษทางอาญามีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของคนคนหนึ่ง
เมื่อความผิดฐานดูหมิ่นอันเป็นการหมิ่นประมาทบุคคล ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คือความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ หรือมากที่สุดก็กระทบกระเทือนจิตใจของคนในสังคม ไม่ใช่ความเสียหายต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ใด บทลงโทษควรจะเป็นการปรับเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย หรือการกำหนดมาตรการเพื่อการปรับปรุงพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด การกำหนดโทษในข้อหาหมิ่นประมาท ไม่ว่าจะหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปหรือหมิ่นประมาท ตามมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ ในแง่ของการเยียวยา ผู้เสียหาย โดยเฉพาะบุคคล ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองตามมาตรา 112 และในขณะเดียวกันการจำคุกไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะแก้ไข ปรับปรุงพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด อาจกล่าวได้ว่า ความผิดประเภทดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทนั้น เป็นอาชญากรรมเชิงนามธรรมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงกายภาพ เนื้อตัวร่างกาย หรือแม้กระทั่งบางครั้งไม่อาจคำนวณเป็นราคาได้
โทษจำคุกไม่ได้ทำให้ ผู้หมิ่นประมาท ‘หยุด’ พฤติกรรมการหมิ่นประมาทโดยตนเอง เป็นเพียงการไม่ให้ผู้นั้น พูด หรือหมิ่นประมาท ในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้กระทำ คิดว่าตนจะต้องเปลี่ยนแปลง หรือเลิกล้มความคิด ที่จะหมิ่นประมาทนั้น
ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์การกำหนดโทษจำคุกกับมาตรา 112 คือความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มองว่าในสถานการณ์ที่ผ่านมา ที่นักโทษทางการเมืองถูกจำคุกนั้นเป็นการลงโทษ ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากสังเกตบางพฤติกรรม ก็ไม่ได้เข้าองค์ประกอบเรื่องการหมิ่นประมาทแม้แต่น้อย
การให้เหตุผลแบบแปลกๆ
เมื่อมาดูโทษตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วจะสังเกตว่า ประมวลกฎหมายอาญา มีการกำหนดโทษแห่งการกระทำความผิดอยู่ 5 ประการ คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์ แต่จะสังเกตว่า โทษที่เป็นโทษหลักที่ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำความผิดมีอยู่ 3 ประการ คือโทษประหารชีวิตจำคุกและปรับเท่านั้น สวนโดยสภาพแล้ว โทษกักขังและโทษริบทรัพย์ เป็นเพียงโทษประกอบเท่านั้น ศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการกักขังหรือ ริบทรัพย์สินได้ ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดในหมวดใดหรือมาตราใดของประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม ก็มีแนวโน้มหรือความเป็นไปได้สูงที่จะโดน ศาลพิจารณาลงโทษ ในโทษประหารชีวิต จำคุก หรือปรับ
มากไปกว่านั้นการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษา ระหว่างการพิจารณาคดี โดยเฉพาะ ในการให้เหตุผลแก่พฤติการณ์ของการกระทำของจำเลย ในการตัดสินว่าพฤติกรรมนั้นเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 เป็นการให้เหตุผลที่มีลักษณะพิกล เริ่มตั้งแต่การให้เหตุผลที่ไม่มีความชัดเจน เป็นการให้เหตุผลที่มีลักษณะที่เป็นการตีความกว้างมากเกินไป กระทั่งเป็นการตีความที่ออกนอกเหนือจากตัวบทกฎหมาย ในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย ตัวอย่างเช่นกรณีคดีดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งไม่น่าจะเป็นบุคคลที่ตามตัวบทกฎหมาย มาตรา 112 มุ่งคุ้มครอง
สุดท้ายแล้ว เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ต้นที่ผู้เขียนได้พยายามกล่าวเพื่อ ฉายให้เห็นภาพกระบวนการตั้งแต่แรก โดยเฉพาะในคดี 112 จะเห็นความแปลก ที่ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย หรือกระบวนการที่แม้แต่ในคดีที่ขึ้นสู่ศาลทั่วไปก็ไม่ได้ใช้กันอย่างปกติ ความแปลก ผิดปกตินี้สร้างความอยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในคดี เปิดช่องให้ใครก็ตามสามารถใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการปิดปาก และเป็นการปิดปากที่เกินสัดส่วน ด้วยการนำคนเข้าไปในห้องขังจำกัดเสรีภาพทั้งความคิดและเนื้อตัวร่างกาย เพียงเพราะไม่ต้องการให้ผู้นั้นแสดงความเห็น
ในที่สุดแล้วผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาการกำหนดโทษ ล้วนแล้วอาจจะมีพื้นฐานมาจากการที่ ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง ไม่สามารถยอมรับหลักการพื้นฐาน ที่ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ถึงแม้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจะถูกยอมรับ ในกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยกฎหมายลำดับรองลงมา เปิดช่องให้ชนชั้นนำชนชั้นปกครองใช้กฎหมายเหล่านั้นในการจำกัดการแสดงออก เช่นนี้แล้วถึงแม้รัฐธรรมนูญจะกล่าวว่าประชาชนมีเสรีภาพ ในการแสดงความเห็น แต่เราก็ไม่ได้ใช้เสรีภาพนั้นอย่างเพียงพอ
อ้างอิง
มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
https://prachatai.com/journal/2013/11/49912
วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยาปีที่ 9ฉบับที่ 2กรกฎาคม–ธันวาคม2564
https://themomentum.co/article-112-power-corrupt/
https://themomentum.co/report-unexpected-112/
George G. Coughlin, 1967
Tags: มาตรา 112, 112, หมิ่นประมาท, Rule of Law, ม.112, กฎหมายอาญา