วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกรัฐดองเอาไว้เกือบ 20 ปี และกระบวนการยุติธรรมที่ควรดำเนินการโดยรัฐคาราคาซัง การทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องต่ออัยการสูงสุดของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนเป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนไม่ประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลว่า จะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างขนย้าย”
ขณะเดียวกัน ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ตอนที่ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทว่าศาลกลับมองว่า กรณีนี้ไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต และไม่สรุปในสำนวนการไต่สวนว่า ความตายของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดจากกระทำของใคร
หากพิจารณาในสายตาของนักกฎหมายและนักเรียนกฎหมาย ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เมื่อใช้ฐานความรู้ทางกฎหมายอาญาบททั่วไป มาวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ตากใบ ตามที่ปรากฏตามหน้าสื่อและรายงานข้อเท็จจริง ย่อมไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดที่จะระบุว่า ความตายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของใคร ทั้งนี้โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผ่านเรื่องโครงสร้างความรับผิดฐานทางอาญา เช่น หลักการกระทำ องค์ประกอบความผิดภายนอก องค์ประกอบความผิดภายใน หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ฯลฯ
อย่างไรก็ดีจากปรากฏการณ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับกรณีโศกนาฏกรรมตากใบ ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึง คุณลักษณะเฉพาะบางประการของระบบกฎหมาย และกลไกการทำงานของสถาบันกฎหมายของรัฐไทย ที่มักมีความลักลั่นหรือย้อนแย้งกันไปมาระหว่างองค์ความรู้ในตำรา (Law in Book) กับปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจริง (Law in Action)
การตอบข้อสอบกฎหมายอาญาเกี่ยวกับคดีตากใบ
เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาการทำหน้าที่ในบทบาทของศาล หรือสถาบันกฎหมายที่ควรต้องมุ่งคุ้มครองชีวิตและร่างกายของประชาชน พร้อมกับเคร่งครัดในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจรัฐ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนเป็นสำคัญ ผู้เขียนจึงอยากจินตนาการดูว่า ถ้าเหตุโศกนาฏกรรมตากใบอยู่ในข้อสอบกฎหมายอาญา 1 ภาคบทบัญญัติทั่วไป จะสามารถวินิจฉัย วางหลักกฎหมาย และฟันธงคำตอบอย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิชานิติศาสตร์ได้อย่างไร
ความรู้ที่จะนำมาตอบโจทย์ปัญหานี้ หาใช่ความรู้ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงอย่างผู้ดำรงสถานะเป็นผู้พิพากษาไม่ แต่เป็นความรู้ระดับพื้นฐานที่นักเรียนกฎหมายจะได้ร่ำเรียนกันตอนปี 1 ในคณะนิติศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้การตอบคำถามในบางประเด็น อาจไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางกฎหมาย แต่หากพิเคราะห์อย่างเป็นตรรกะและใช้สามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไปก็สามารถตอบปัญหาได้เช่นกัน
ก่อนตอบข้อสอบ อาจต้องเริ่มต้นด้วยการอ่านคำถาม ดังนี้
“วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลา 8 นาฬิกา มีประชาชนกว่า 1,000 คนไปชุมชนเรียกร้องที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้ทางราชการปล่อยตัว นายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจจึงมาร่วมชุมนุมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งของพวกเขาให้เหตุผลว่า เมื่อมกราคมของปีเดียวกัน ปืนถูกปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ไป 300-400 กระบอก กลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับทหาร แต่กรณีชุดรักษาความปลอดภัยถูกปล้นปืน กลับเข้าจับกุมและไม่ให้ประกันตัว[1]
“เวลาผ่านไป สถานการณ์การชุมนุมยิ่งตึงเครียด ประชาชนเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนมากถึง 2,000 คน โดยสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบการเจรจาระหว่างตัวแทนของเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมที่ล้มเหลว เกิดการปะทะและเริ่มมีการใช้กำลังรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งต้องการบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ (จากการรายงานของฝ่ายภาคประชาสังคม หลังจากรับฟังคำให้การจากปากชาวบ้าน พบว่า เหตุการณ์ปะทะเริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำจากรถดับเพลิงก่อน) พลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในเวลานั้น จึงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งการให้สลายการชุมนุม ด้วยการฉีดน้ำและโยนระเบิดแก๊สน้ำตา จน 2 ฝ่ายปะทะกัน โดยรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ระบุว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนในที่เกิดเหตุทันที 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน (5 คนถูกกระสุนปืนที่บริเวณศีรษะ)[2] ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถูกฝ่ายรัฐจับกุมควบคุมตัวทั้งสิ้น 1,370 คน
“ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดเป็นผู้ชาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้สั่งถอดเสื้อ และมัดมือไพล่หลังทุกคน และผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนหนึ่ง ยังถูกนำเชือกยาวมาร้อยพันธนาการเข้าด้วยกันเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 คน และบางคนถูกตีด้วยพานท้ายปืน เวลาต่อมาจากข้อเท็จจริงในกระบวนการไต่สวนการตายเจ้าหน้าที่ทหาร ได้อ้างถึงความจำเป็นต้องย้ายผู้ถูกควบคุมตัวโดยเร็ว เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประกอบกับการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นลงในเวลาใกล้ค่ำ สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เจ้าหน้าที่ทหารจึงตัดสินใจนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกขนส่งทหาร และใช้วิธีการให้ผู้ชุมนุมนอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกในสภาพเบียดเสียด ด้วยเหตุดังกล่าว จึงส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตไป 78 ราย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยผู้รอดชีวิตจากการถูกควบคุมตัวและลำเลียงด้วยรูปแบบข้างต้นจำนวนหนึ่งพิการ เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยเพราะถูกกดทับเป็นเวลานาน หรือเป็นโรคไตเพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน
“ต่อมาการที่ศาลที่ทำการไต่สวนการตายมองว่า เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ที่ตายทั้ง 78 ราย และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ ได้มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 ราย หรือผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างอื่นกับผู้ร่วมชุมนุม จึงมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานสอบสวนต่ออัยการสูงสุดด้วยเหตุผลว่า เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารเหล่านั้นไม่ประสงค์ หรือย่อมเล็งเห็นผลว่า จะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างขนย้าย[3]
“ท่านเห็นด้วยกับคำสั่งการไต่สวนการตายของศาล และความเห็นของพนักงานสอบสวนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร?”
แนวคำตอบ
การวินิจฉัยปัญหาข้างต้นมี 2 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วยประเด็นหนึ่ง ความตายของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 รายเป็นไปโดยเจตนาของเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ และสอง ความตายดังกล่าวอยู่บนหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นหนึ่ง ความตายของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ราย เป็นไปโดยเจตนาของเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมาย มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
และประมวลกฎหมาย มาตรา 63 ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้
การวิเคราะห์เริ่มต้นจากการกำหนดประเด็นที่ว่า ความตายที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยเจตนาของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ กล่าวคือ เมื่อมีการกระทำของบุคคลโดยรู้สำนึกการกระทำ หรือมีการงดเว้นการกระทำกรณีที่ตนมีหน้าที่เพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเอามาเกี่ยวข้องกับการกระทำหรืองดเว้นการกระทำนั้น ย่อมถือเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบภายนอกที่กฎหมายบัญญัติไว้ไปความผิดแล้ว ตามมาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้ใด-ฆ่า-ผู้อื่น กล่าวคือ มีผู้กระทำ การกระทำ และวัตถุแห่งการกระทำครบถ้วน หากแต่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้กระทำ ได้กระทำลงโดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้เกิดความตายนั้นขึ้นหรือไม่ และกระทำโดยรู้เท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่
การกระทำโดยประสงค์ต่อผล หมายถึง การกระทำที่ผู้กระทำมุ่งหวังให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้น ส่วนเจตนาโดยเล็งเห็นผล หมายถึง กรณีที่แม้ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือมุ่งหวังให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์การกระทำแล้ว บุคคลในภาวะเช่นนั้นเล็งเห็นได้ว่า ผลลัพธ์นั้นๆ จะต้องเกิดขึ้นอย่าง ‘แน่นอน’
จากข้อเท็จจริง แม้เจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องอ้างว่า จำเป็นต้องลำเลียงผู้ชุมนุมยัดใส่ในรถบรรทุกทหารลักษณะเบียดเสียดและซ้อนทับกัน จนเป็นเหตุให้ต้องมีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ ไม่ได้เป็นความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ทหารที่จะมุ่งหวังให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้น ทว่าหากพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ว่า ในภาวะเช่นนั้นหรือการกระทำลักษณะดังกล่าวต่อผู้ชุมนุมด้วยบังคับให้นอนทับกับหลายร้อยคนต่อ 1 คันรถบรรทุก ประกอบกับการจำต้องขนย้ายผู้ชุมนุมในระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมงจากสถานีตำรวจตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธฯ ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่า ความตายจะต้องเกิดขึ้นในระดับแน่นอน จะอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีเจตนาให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเสียชีวิตไม่ได้
สรุปประเด็นแรกวินิจฉัยได้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผล การทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องต่อพนักงานอัยการสูงสุดของพนักงานสอบสวนที่ว่า “เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารเหล่านั้นไม่ประสงค์ หรือย่อมเล็งเห็นผลว่า จะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างขนย้าย” จึงไม่อาจรับฟังได้ และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 ที่ว่า ความตายที่เกิดขึ้นอยู่บนหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลหรือไม่อย่างไร การวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว อาจวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีเงื่อนไขหรือความเท่าเทียมกันแห่งเหตุ และทฤษฎีความเหมาะสม
หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลตามทฤษฎีเงื่อนไขหรือ พิจารณาอย่างง่ายว่า ถ้าไม่มีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น ผลนั้นก็จะไม่เกิด เช่น ถ้าไม่มีการนำผู้ชุมนุมยัดใส่รถบรรทุกทหารลักษณะซ้อนทับเบียด จนเกิดอาการขาดอากาศหายใจ ความตายของผู้ชุมนุมคงจะไม่เกิด ถ้าเงื่อนไขเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมถือว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลร้ายที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน นอกจากตามทฤษฎีเงื่อนไขหรือการเป็นผลโดยตรงแล้ว การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล จะไม่มีการนำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นเงื่อนไขของกันและกันหรือไม่ แต่ควรต้องหยิบวินิจฉัยเฉพาะเหตุที่สมเหตุสมผลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาถึงเหตุแทรกแซงที่เกิดขึ้นในข้อเท็จจริง จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องรับผิดชอบในความตายที่เกิดขึ้น นอกจากกรณีการทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บแล้ว ทั้งนี้การพิจารณาเหตุแทรกแซงประมวลกฎหมาย มาตรา 63 กำหนดว่า ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้
โดยผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ดังกล่าว จะต้องพิเคราะห์ตามหลักว่า วิญญูชนทั่วไปหรือบุคคลผู้รู้ผิดชอบตามปกติจะพึงคาดหมายได้ว่า เหตุแทรกแซงดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารนำกลุ่มผู้ชุมนุมลำเลียงขึ้นรถบรรทุกในลักษณะนอนทับกันเป็นชั้นๆ วิญญูชนทั่วไปย่อมคาดหมายได้ว่า เหตุความตายต้องเกิดขึ้นตามมา
ด้วยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น การที่ศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่กลับยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต จึงฟังไม่ขึ้นตามหลักการวิเคราะห์โครงสร้างความรับผิดทางอาญาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
การฟันธงคำตอบ
การฟันธงคำตอบในคำถามดังกล่าว หาได้มีความสลับซับซ้อนใดๆ จากข้อเท็จจริงย่อมเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐย่อมเป็นเรื่องของเจตนาที่บุคคล ที่กระทำในภาวะเช่นนั้นย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ความตายจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการจะปฏิเสธว่า ความตายที่เกิดขึ้น ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ถือเป็นข้ออ้างที่ไร้น้ำหนัก และผิดหลักวิชากฎหมายอาญาไปสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดีเว้นเสียแต่ว่า ระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมายไม่ได้อยู่บนหลักวิชานิติศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรก หากแต่ตกเป็นเพียงเครื่องมือของเหล่าผู้มีอำนาจรัฐและเครือข่ายนำมาใช้ เพื่อบิดเบือนการกระทำความรุนแรงและอาชญากรรมที่ตนได้ก่อขึ้นต่อประชาชน โดยไม่ได้มุ่งตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐ พร้อมทั้งยังเพิกเฉยต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนไปเสีย
เชิงอรรถ
[1] อาทิตย์ ทองอินทร์, “19 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี”, 24 ตุลาคม 2566, ไทยรัฐ, https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102294 (สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2567)
[2] รายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 (ส่วนที่ 1 ภาครายงาน), หน้า 19
[3] ศูนย์ข่าวภาคใต้, “คดีตากใบใกล้ชี้ขาด กับ 2 เรื่องประหลาดของตำรวจและอัยการ,” 21 กรกฎาคม 2567, สำนักข่าวอิศรา, https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/130304-takbainara-3.html (สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2567) และ แสงสุดท้าย “ตากใบ” โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ 23 สิงหาคม 2567 , ไทยพีบีเอส, https://www.thaipbs.or.th/news/content/343418 (สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2567)
Tags: กฎหมาย, ประมวลกฎหมายอาญา, ตากใบ, Rule of Law, กฎหมายอาญา