บทความนี้อยากชวนผู้อ่าน ทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของปัญหาอัตราการเกิดของเด็กไทยไปพร้อมๆ กับพิจารณาข้อกฎหมายอุ้มบุญที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีบุตรและเพิ่มอัตราการเกิดที่สูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ขณะที่ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติขบวนการอุ้มบุญโดยผิดกฎหมายกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและยังคงปรากฏให้เห็นในสื่อสังคมออนไลน์
จากครรภ์สร้างชาติ: ทุกคนมีหน้าที่สร้างชาติ ‘การสมรสเป็นการสร้างชาติ’ สมรสเมื่อวัยหนุ่มสาวทำให้ชาติเจริญ การสมรสที่มีหลักฐานสร้างความมั่นคงแก่ชาติและคู่สมรสที่มีสุขภาพดีทำให้ชาติแข็งแรง1
ในช่วงปี 2485 สมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นโยบาย ‘สมรสสร้างชาติ’ ถือเป็นนโยบายหลักในการเร่งเพิ่มจำนวนประชากรไทยให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อความมั่นคงถาวรของประเทศชาติ ครรภ์ของผู้หญิงในยุคนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเพื่อคู่ครองของตนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่แทนเพื่อนร่วมชาติที่ไม่อาจตั้งครรภ์หรือมีลูกได้ การตั้งครรภ์หลายครั้งและการมีลูกมากจึงเป็นการทำเพื่อส่วนรวมเพื่อชาติ แต่ด้วยประเทศอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายดังกล่าวจึงไม่ได้รับการตอบรับมากนัก โดยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นพร้อมกับยุคแห่งการพัฒนาภายใต้แนวคิดเรื่องการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม การเพิ่มขึ้นของประชากรได้กลายเป็นดัชนีชี้วัดความยากจนของประเทศ โดยไทยมีเด็กแรกเกิด 6-8 แสนคนต่อปี ในขณะที่อัตราการตายต่ำลงซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของวิทยาการของแพทย์สมัยใหม่2
ต่อมาเมื่อประชากรโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ช่วงปี 2513-2539 จึงมีนโยบายลดอัตราการเพิ่มประชากรภายใต้แนวคิด ‘ลูกมากจะยากจน’ และด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่องการวางแผนครอบครัวจึงได้ปรากฎขึ้นในสังคมไทย มีการกำหนดแนวทางและเทคโนโลยีในการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงคุมกำเนิด การทำหมันทั้งหญิงและชายรวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจเป็นตัวเงินเพื่อเพิ่มยอดการทำหมัน ซึ่งการเร่งรัดการคุมกำเนิดนี้ทำให้ในช่วงปี 2515-2519 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยลดลงอย่างรวดเร็วและยังคงมีการคุมกำเนิดเรื่อยมา โดยนับแต่ปี 2537 ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ต่ำที่สุดในโลก และถูกยกให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการคุมกำเนิด การลดลงของประชากรดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเจริญพันธุ์ทดแทนในสังคมไทยทำให้ตั้งแต่ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจึงกลับมาเร่งหาวิธีการในการเพิ่มการเจริญพันธุ์และส่งเสริมการมีบุตร ทั้งมาตรการทางภาษีและสวัสดิการในการเลี้ยงดูผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่นโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
จากแนวนโยบายเรื่องประชากรในอดีตกล่าวได้ว่าทำให้อุดมการณ์ครอบครัวขนาดเล็กและวัฒนธรรมเรื่องการมีลูกของครัวเรือนไทยที่ไม่นิยมการมีลูกมากได้ฝังรากลึกลงในสังคมไทย3 จนกลายเป็นคติของการสร้างครอบครัวที่ส่งผลมาจนถึงยุคปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นผ่านอัตราการเกิดของเด็กไทยในปี 2567 ว่ามีจำนวนไม่ถึง 5 แสนคนต่อปีเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี4 อันเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อและการส่งต่ออุดมการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
กฎหมายอุ้มบุญสู่ ‘ครรภ์สร้างเศรฐกิจ’ ช่องทางสร้างงานมากกว่าเพิ่มจำนวนประชากร
ในยุคปัจจุบันการมีลูกยากหรือการไม่สามารถมีลูกได้ ถือว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปสำหรับครอบครัวคนไทย เมื่อเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทำให้การตั้งครรภ์สำเร็จเพิ่มมากขึ้น และยังมีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนให้บริการมากถึง 108 แห่งที่ทำให้คู่สามีภริยาที่ต้องการมีลูกสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ5 หรือหากไม่สามารถตั้งครรค์ได้ด้วยตนเองยังสามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้โดยถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
การตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) หรือเรียกว่า ‘การอุ้มบุญ’ เป็นการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยใช้กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นธรรมชาติรวมทั้งการผสมเทียมโดยไม่มีการร่วมประเวณี สำหรับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้นมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
เงื่อนไขสำคัญของการเป็น ‘แม่อุ้มบุญ’
ประการแรก สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยภริยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้และต้องการจะมีบุตรด้วยการอุ้มบุญต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หากสามีหรือภริยาไม่ได้มีสัญชาติไทยต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปีบริบูรณ์6
ประการที่ 2 หญิงที่รับอุ้มบุญต้องไม่ใช้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่ 3 หญิงที่รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่มีญาติสืบสายโลหิตดังกล่าวให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ เช่น หญิงต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งคลอดธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้งหรือผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง มีสุขภาพแข็งแรงและการตั้งครรภ์ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและทารกที่จะเกิดมา7
ประการสุดท้าย หญิงที่รับอุ้มบุญนั้นต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น หากหญิงดังกล่าวมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้หากหญิงอื่นรับจ้างอุ้มบุญเพื่อการค้ายังถือเป็นความผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงยังมีข้อห้ามคนกลางหรือนายหน้าจัดการหรือชี้ช่องให้มีการอุ้มบุญโดยได้รับค่าตอบแทน และห้ามโฆษณาเกี่ยวกับหญิงที่รับอุ้มบุญซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ8
ฉะนั้น ‘การอุ้มบุญถูกกฎหมาย’ จึงไม่เพียงแต่เป็นทางออกสำหรับคู่สามีภริยาที่อยู่ในภาวการณ์มีบุตรยาก แต่ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางในการเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ในสังคมไทย ที่ไม่ได้ผูกติดกับค่านิยมในอดีตว่า หญิงที่ตั้งครรภ์จะต้องเป็นสามีภริยากันเท่านั้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ยังคงมีอัตราที่สูงกว่าการมีบุตรตามธรรมชาตินั้นเอง แม้ว่ารัฐจะพยายามส่งเสริมการมีลูกและเปลี่ยนแปลงค่านิยมอยู่เป็นโสดโดยการประกาศนโยบายวิวาห์สร้างชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางหน้าที่การงานและสวัสดิการของรัฐที่ยังไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้หญิงที่เป็นแรงงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน กฎหมายอุ้มบุญจึงยังไม่ใช่ทางเลือกแรกสำหรับครอบครัวทั่วไปที่มีปัญหาการมีลูกยากที่ยังต้องหาเช้ากินค่ำ แต่การอุ้มบุญอาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้หญิงเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวแทน จากข้อมูลเพจรับสมัครสาวอุ้มบุญจะเห็นได้ว่ามีค่าจ้างสูงถึงครั้งละ 4.5 แสน-5 แสนบาท9 ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่าค่าปรับตามกฎหมายเสียอีก
บทส่งท้ายของแม่อุ้มบุญ เมื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจอยู่เหนือข้อห้ามทางกฎหมายและหลักศีลธรรม
ค่าจ้างที่สูงและการได้รับการดูแลที่ดีจากการอุ้มบุญสำหรับหญิงอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลือกเส้นทางอาชีพเป็นแม่อุ้มบุญ แม้ว่าจะผิดกฎหมายก็ตามเพราะค่าตอบแทนที่สูงหากเทียบกับระยะเวลาในการตั้งครรภ์ 9 เดือน อีกทั้งการดำเนินคดีกับการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายยังทำได้ยากเพราะการสมประโยชน์กันของทุกฝ่าย ทั้งผู้ว่าจ้าง นายหน้าและหญิงผู้ทำหน้าที่อุ้มบุญ
ดังนั้นในการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐไทยจะต้องตระหนักและพิจารณาอย่างรอบด้านถึงหลักศีลธรรม มูลค่าทางเศรษฐกิจและกฎเกณฑ์ทางสังคม เพื่อไม่ให้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญกลายเป็นวัตถุทางการค้ามากกว่าเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์
1 กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, การมีลูก มีผัว (เมีย) ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นการมุ้งที่รัฐสอดส่อง, เผยแพร่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565, https://www.silpa-mag.com/history/article_97297
2 ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ครรภ์ของชาติ : การสร้างวินัยการเจริญพันธุ์ กับประวัติศาสตร์เพศวิถีของผู้หญิงในไทย, วารสารจุดยืน ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 2563 ,น.106-115
3 อ้างแล้ว, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
4 สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ, ปี 2567 คนไทยมีลูกไม่ถึง 5 แสนคน หวั่นวิกฤตเด็กเกิดน้อย กระทบแรงงานในอนาคต, เผยแพร่ 15 มกราคม 2568, https://www.hfocus.org/content/2025/01/32820
5 The Coverage, เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ในไทย ทำให้อัตรา ‘ตั้งครรภ์สำเร็จ’ เฉลี่ย 46% สบส.ทบทวน กม. แก้ลักลอบ ‘อุ้มบุญ’, เผยแพร่ 11 พฤษภาคม 2566, https://www.thecoverage.info/news/content/4907
6 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาตสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
7 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาตสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558
8 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
9 ไทยพีบีเอส, แก๊งอุ้มบุญ Come Back เปิดเพจรับสมัครสาวอุ้มบุญ, เผยแพร่ 16 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.thaipbs.or.th/news/content/324651
Tags: การตั้งครรภ์, อัตราการเกิดต่ำ, การอุ้มบุญ