เวลาเราพูดถึงความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ดี ความผิดฐานกระทำอนาจารก็ดี ภาพสะท้อนถ้อยคำหรือฐานความผิดเหล่านี้ย่อมชัดเจนว่า การกระทำใดเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา หรือการกระทำใดเป็นการกระทำอนาจาร อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงการกระทำที่ฝ่ายหนึ่งแอบถอดอุปกรณ์การคุมกำเนิด (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ถุงยางอนามัย”) ในขณะการมีเพศสัมพันธ์ (โดยยินยอม) กับคู่นอน โดยที่คู่นอนอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้เห็นหรือไม่ยินยอม ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้แต่แรกแล้วว่า ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ การกระทำดังกล่าวจะมีความผิดหรือไม่ และมีความผิดฐานใด?

การกระทำเช่นว่านี้ เราเรียกว่า ‘การสเตลธิง’ (Stealthing) ซึ่งเป็นประเด็นได้ที่มีการถกเถียงในบริบททางกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งในจัดการกับปัญหาดังกล่าว บางประเทศตรากฎหมายใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด ได้แก่ ‘ความผิดฐานแอบถอดถุงยางอนามัยโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่รู้เห็น’ แต่บางประเทศก็ไม่ได้ตรากฎหมายใหม่ แต่ให้ศาลปรับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่แทน

บทความนี้ ต้องการที่จะเสนอปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น เพื่อหนึ่ง สร้างความตระหนักรู้ให้แก่นักกฎหมายและผู้อ่านว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดได้ และสอง ผู้เขียนต้องการที่จะเปิดประเด็นปัญหาเพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อศึกษาได้

 1. บทนำ

การสเตลธิงก่อนที่จะถูกเข้าใจอย่างความหมายของทุกวันนี้ เดิมที มันเป็นพฤติกรรมที่เป็น ‘การให้ของขวัญ’ (Gift-giving) อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นใน ‘ชุมชนเกย์’[1] ที่ฝ่ายหนึ่งซึ่งมีเชื้อ HIV พยายามจะส่งต่อเชื้อ HIV ให้แก่คู่นอนของตนซึ่งไม่มีเชื้อ HIV โดยปราศจากความรับรู้หรือความยินยอมของฝ่ายนั้น ซึ่งกระทำผ่านกลวิธีต่างๆ เช่น แกล้งทำทีว่าจะสวมใส่ถุงยางอนามัยหลังจากตกลงแล้วว่าจะสวมถุงยางอนามัย เป็นต้น[2]

การปรากฏตัวขึ้นของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิความเป็นชาย ครั้นกระแสสิทธิสตรีนิยมเข้าสู่ช่วงคลื่นลูกที่สอง (ค.ศ. 1970) ที่ทำให้ผู้หญิงปรากฏตัวมากขึ้นในบริบทของสังคมที่ผู้ชายเชื่อว่า มันได้ทำลายโอกาสต่างๆ ที่เดิมเคยผูกขาดไว้กับผู้ชาย อันส่งผลให้ผู้ชายหลายคนสูญเสียโอกาสทางด้านการศึกษาและการงานนั้น ได้ทำให้ประเด็นการสเตลธิงขยายเข้ามาสู่การรับรู้ใน ‘ชุมชนรักต่างเพศ’ โดยกลวิธีหนึ่งของผู้ชายในการลุกขึ้นปฏิเสธและต่อสู้กับกระแสสตรีนิยม รวมถึงต่อต้านอุดมการณ์ที่มองผู้หญิงเป็นจุดศูนย์กลาง ได้แก่ การนำข้อเสนอสิทธิความเป็นชาย และปัญหาต่างๆ ของผู้ชายเข้าไปสู่ในพื้นที่แห่งโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะโจมตีกระแสสตรีนิยมที่สำหรับพวกเขาเป็นเรื่องที่ ‘เหยียบย่ำวัฒนธรรมสมัยใหม่’ และยืนยัน ‘หลักการที่ผู้ชายควรอยู่เหนือผู้หญิง’ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ กระดานสนทนาในโลกออนไลน์ที่เรียกว่า ‘มโนสเฟียร์’[3] (Manosphere)[4]

ในกระดานสนทนาหนึ่งภายใต้หัวข้อ ‘I Remove the Condom Without Them Knowing During ‘Stealth’ Sex’ ใน The Experience Project ซึ่งเป็นมโนสเฟียร์หนึ่งที่ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว ได้มีสมาชิกหลายคนซึ่งเคยกระทำการสเตลธิงได้เข้ามาเขียนและเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการเสตลธิง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ชายกระทำการสเตลธิงกับคู่นอนของพวกเขา เช่น ประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับการสเตลธิง กลวิธีในทำการสเตลธิงโดยคู่นอนไม่สามารถจับได้ เหตุผลที่พวกเขารวมถึง ‘ผู้ชายทุกคน’ ต้องทำการสเตลธิง ความชอบธรรมของผู้ชายในการสเตลธิง เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นชุดของถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยเหตุผลที่รับฟังไม่ได้และเห็นแก่ตัว เช่น “เพราะรู้สึกดีกว่าใส่ถุงยางอนามัย” “เพราะมันเป็นสิทธิของผู้ชายที่จะสามารถหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดของผู้หญิง” “เพราะพวกเขาเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้” “ผู้หญิงสมควรที่จะต้องตั้งครรภ์” เป็นต้น 

ถึงขั้นที่มีสมาชิกหนึ่งพยายามทำให้การสเตลธิงเป็นการกระทำที่ชอบธรรมและมีเหตุผล ด้วยการอ้างอย่างหยาบคายว่า “มันเป็นสัญชาตญาณของผู้ชายและเป็นสิทธิโดยกำเนิดของผู้ชาย”[5] หรืออ้างว่า “เพราะมันเปรียบเสมือนเป็นศิลปะที่ทำให้พวกเขาได้เพิ่มเติมความพึงพอใจทางเพศ ได้รู้สึกตื่นเต้นจากการได้รอดพ้นการกระทำที่เสี่ยงที่จะถูกจับ และเพื่อให้สิ่งที่ผู้หญิงควรจะได้”[6] โดยจากชุดถ้อยคำข้างต้นนี้จึงทำให้ Alexandra Brodsky เชื่อว่า พฤติกรรมการสเตลธิงเกิดมาจากความเกลียดชังต่อผู้หญิง และยังเป็นการเชิดชูและส่งเสริมอุดมการณ์ที่ผู้ชายควรเป็นใหญ่ (Male Supremacy)[7]

2. การสเตลธิงและคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ

บทความวิชาการที่สำคัญที่บุกเบิกประเด็นสเตลธิงและเปิดประตูสู่พื้นที่สีเทาที่ใหม่และท้าทายในปริมณฑลของกฎหมาย ได้แก่ บทความเรื่อง ‘Rape-Adjacent’: Imaging Legal Responses to Nonconsensual Condom Removal (2017) ของ Alexandra Brodsky โดยบทความดังกล่าวได้มีการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของการสเตลธิง โดยนอกจากข้อค้นพบเกี่ยวกับความกังวลใจ ความหวาดระแวง และความกลัวของผู้เสียหายในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ/หรือการตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ รวมตลอดถึงความรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิในร่างกาย ถูกทรยศหลอกลวงเพราะมีการละเมิดเงื่อนไขการมีเพศสัมพันธ์ และถูกทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว สิ่งที่ค้นพบคือ ความไม่รู้ของผู้เสียหายหลายคนถึง ‘ชื่อ’ ของการกระทำนั้น 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในเวลานั้น ยังไม่เคยมีคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาและพิพากษาของศาลในสหรัฐอเมริกา[8] ซึ่งความไม่รู้นี้เองได้ทำผู้เสียหายหลายคนไม่คิดที่จะแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพวกเขาคิดว่า การสเตลธิงไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย[9] ซึ่งหลังจากที่บทความของ Brodsky ได้เผยแพร่ไป ผู้เสียหายหลายคนได้ตระหนักว่า ตัวเองเป็นเหยื่อที่รอดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และได้เริ่มเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของตัวเองที่ต้องตกเป็นเหยื่อ[10]

ในการจัดการกับการสเตลธิง รัฐมีสองทางเลือก ได้แก่ ตรากฎหมายใหม่ หรือมิฉะนั้น ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลในการตีความกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวแต่เฉพาะในกรณีหลัง โดยหยิบยกคำพิพากษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศบางส่วน  ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เพื่อให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการตรากฎหมายใหม่เช่นกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ได้แก่ การที่บุคคลสองคนตกลงร่วมกันถึงเงื่อนไขว่า อีกฝ่ายหนึ่งต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายนั้นกลับฝ่าฝืนหรือทำลายเงื่อนไขนั้นด้วยการถอดถุงยางอนามัยออก โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ยินยอม

สำหรับประเทศเยอรมัน เดิม จำเลยถูกฟ้องด้วยข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แต่จำเลยต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดทางเพศ (sexual assault) และถูกลงโทษจำคุก 8 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ พร้อมกับถูกปรับ 3,000 ยูโร และต้องชดใช้เงิน 96 ยูโรให้แก่ผู้เสียหายสำหรับค่าตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[11] [12]

ประเทศนิวซีแลนด์ ศาลแห่งประเทศนิวซีแลนต์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) เป็นระยะเวลา 3 ปี กับ 9 เดือน[13]

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คดีหนึ่ง เดิม ศาลได้พิพากษาจำเลยให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) ตามประมวลกฎหมายอาญาสวิส มาตรา 190 โดยถูกลงโทษจำคุก 12 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษา แม้จะพิพากษายืนในโทษเดิม แต่ศาลได้พิพากษาแก้ฐานความผิดเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศต่อบุคคลที่ไม่สามารถตัดสินใจได้หรือไม่สามารถขัดขืนได้ (sexual acts with persons incapable of judgement or resistance) ตามมาตรา 191 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฏว่ามีอีกสองคนที่เกิดขึ้น แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า การสเตลธิงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา และก็ไม่ใช่กรณีขัดขืนไม่ได้ เพราะความผิดฐานนี้ไม่ใช่บังคับกับกรณีที่การขัดขืนไม่ได้เกิดจากความตกใจ และผู้เสียหายยังสามารถขัดขืนได้อยู่ แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดีทั้งสองอาจเป็นความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ/คุกคามทางเพศ (sexual harassment) จึงมีพิพากษาให้ศาลล่างดำเนินการพิจารณาและพิพากษาต่อไป ซึ่งหากมีความผิดฐานนี้ จำเลยก็จะต้องเพียงโทษปรับเท่านั้น (มาตรา 198)[14] [15] [16]

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ศาลได้ตัดสินให้ลงโทษจำคุก 12 ปี ด้วยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape)[17]

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่า คดีที่เกิดขึ้น จำเลยจะถูกฟ้องด้วยข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา แม้การลงโทษจะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคดีที่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น เราได้เห็นหลักฐานชิ้นดีที่สะท้อนว่า การสเตลธิง นอกจากเป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวกับเพศแล้ว การกระทำดังกล่าวยังสามารถกลายเป็นการข่มขืนกระทำชำเราได้

การทำความเข้าใจคำพิพากษานี้อยู่ตรงที่การตีความความยินยอมของศาลในคดีดังกล่าว โดยในต่างประเทศ อย่างเช่น คดีที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร มีแนวคิดที่เรียกว่า ‘ความยินยอมแบบมีเงื่อนไข’ (Conditional Consent) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้เพื่อวินิจฉัยตอบปัญหาว่า ความยินยอมที่ให้ไว้เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งยังคงมีอยู่หรือไม่ หากมีการกระทำอันเป็นฝ่าฝืนเงื่อนไขอันเป็นที่มาแห่งความยินยอมนั้น ดังที่ถูกใช้ในคดี Assange v. Swedish Prosecution Authority (2011)[18] 

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์มีเงื่อนไขว่า ฝ่ายหนึ่งต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายนั้นทำลายเงื่อนไขด้วยการแอบถอดถุงยางอนามัยออก จึงต้องว่า ความยินยอมนั้นถูก ‘ยกเลิก’ ไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่า หากฝ่ายนั้นไม่ยอมใส่ถุงอนามัยแต่แรก อีกฝ่ายหนึ่งก็คงไม่ให้ความยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง[19] [20]

 3. ปัญหาและความท้าทายในระบบกฎหมายไทย

สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ จากการศึกษาในเบื้องต้น ผู้เขียนพบกับปัญหาดังนี้ หนึ่ง ด้านการกำหนดฐานความผิด และสอง ด้านกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน

ในประเด็นแรก ในการกำหนดฐานความผิดนั้น ประเด็นอยู่ที่การตีความการกระทำนี้ โดยศาลมีสองทางเลือก ได้แก่ หนึ่ง  ตีความ ‘ความยินยอม’ ในระบบกฎหมายไทยว่ามีความหมายเพียงใด[21] หรือสอง การสเตลธิงเป็นการข่มขืนกระทำชำเราโดยการหลอกลวงหรือไม่

ในประเด็นที่สอง เราจะพบว่า หากเราดำเนินตามแนวทางเดียวกับการพิสูจน์ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา พยานหลักฐานที่จะทำให้ศาลเชื่อน่าจะเชื่อว่า มีการข่มขืนกระทำชำเราจริงต้องประกอบไปด้วย 

หนึ่ง มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่หรือบอกกับบุคคลใกล้ชิดให้เร็วที่สุด 

สอง ต้องมีร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากการขัดขืน 

สาม การข่มขืนกระทำชำเราต้องเกิดจากคนแปลกหน้า[22] 

แต่การพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับการสเตลธิงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการพิสูจน์ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราข้างต้นนี้อีก แม้ชุดของพยานหลักฐานจะไม่พ้นไปจากเรื่องของน้ำอสุจิ การตั้งครรภ์ ใบรับรองจากแพทย์ว่าได้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือประวัติการทำแท้ง แต่ก็ปรากฏตามข่าวข้างต้นที่จำเลยมักจะยกข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างได้ว่า ถุงยางอนามัยขาดหรือหลุดออกโดยไม่ได้ตั้งใจ 

สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่น เช่น บทสนทนาระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อหรือบุคคลที่เหยื่อไปเล่าให้ฟัง ก็คงเหลือแต่เพียง ‘คำเบิกความของเหยื่อที่อ้างตัวเองเป็นพยาน’ ความยากในการพิสูจน์นี้เองจึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่บางประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนียจะออกกฎหมายใหม่กำหนดให้เป็นความผิดในทางแพ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่า มาตรฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีแพ่งแตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในการพิสูจน์ในคดีอาญา[23]

เราต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับกฎหมายอย่างมาก และเหยื่อหรือผู้เสียหายสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองจาก ‘การกระทำที่เป็นพิษ’ นี้  ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากปราศจากความยินยอมอันบริสุทธิ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้ว มนุษย์คนหนึ่งก็ไม่ควรละเมิดร่างกายมนุษย์อีกคนหนึ่ง และในขณะเดียวกัน บุคคลคนนั้นก็ไม่ควรบดขยี้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ฝ่ายหนึ่งได้ให้ไว้ในรูปแบบของเงื่อนไขแห่งการมีเพศสัมพันธ์ เพียงเพราะฝ่ายนั้นเข้าใจไปเองหรือหลงคิดไปเองว่า ‘ตนมีสิทธิกระทำได้’ ซึ่งความจริง เขาไม่ได้มีสิทธิเช่นนั้น

สุดท้ายนี้ แม้ผู้เขียนจะยังไม่มีข้อสรุปในสองคำถามข้างต้น เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องมีการทำการค้นคว้าวิจัยและผลิตสร้างความรู้ต่อไปในภายภาคหน้า แต่ผู้เขียนก็หวังว่า บทความนี้จะช่วยให้นักวิจัยในทางกฎหมาย รวมถึงผู้อ่าน ได้เปิดมิติหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่ทำให้ต้องตระหนักว่า การสเตลธิงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากังวลในทางกฎหมายและสังคม

เชิงอรรถ

[1] Vonny Leclerc, “Vonny Moyes: Let’s Not Kid Ourselves That ‘Stealthing’ Is a Trend. It Is Rape,” accessed July 30, 2023, https://www.thenational.scot/politics/15256580.vonny-moyes-lets-not-kid-ourselves-that-stealthing-is-a-trend-it-is-rape/.

[2] Hugh Klein, “Generationing, Stealthing, and Gift Giving: The Intentional Transmission of HIV by HIV-Positive Men to Their HIV-Negative Sex Partners,” Health Psychology Research 2, no. 3 (2014): 56-57.

[3] Melissa Marie Blanco, “Sex Trend or Sexual Assault?: The Dangers of “Stealthing” and the Concept of Conditional Consent,” Penn State Law Review 123, no. 1 (2018): 221-222.

[4] ดู Kevin Borgeson and James Bacigalupo, “When Cyberhate Turns to Violence: White Nationalism to the Manosphere,” in Cyberhate: The Far Right in the Digital Age, eds. James Bacigalupo, Kevin Borgeson, and Robin Maria Valeri (London, United Kingdom: The Rowman & Littlefield Publishing Group, Inc., 2022), 124 และดู Alexandra Krendel, “From Sexism to Misogyny: Can Online Echo Chambers Stay Quarantined?,” in Misogyny as Hate Crime, eds. Irene Zempi and Jo Smith (London and New York: Routledge, 2022), 101.

‘มโนสเฟียร์’ หรือ ‘Manosphere’ ในภาษาอังกฤษ เป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้เพื่อเรียกพื้นที่ในโลกออนไลน์อันเป็นชุมชนของกลุ่มผู้ชายที่ให้ความสนใจกับเรื่องของผู้ชาย โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งเนื้อหานั้นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการแต่งงาน การหย่าร้าง การหาผู้หญิงเพื่อมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงความไม่พอใจต่อผู้หญิงที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ชายที่เกลียดผู้หญิง (misogynistic perspective) ซึ่งพื้นที่เช่นว่านี้เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกระแสสตรีนิยมที่กลุ่มผู้สนับสนันสิทธิความเป็นชายเชื่อว่า ผู้ชายกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากจากอิทธิพลของกระแสสตรีนิยมที่แพร่ขยายในสังคม ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ชายบางคนรู้สึกโกรธและอับอาย เพราะตนรู้สึกว่าสิทธิบางอย่างของตัวเองถูกทำลาย พวกเขาจึงพยายามหาหนทางในการทวงสิทธิเช่นว่านี้กลับมา มโนสเฟียร์จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากที่ที่พวกเขาคิดว่าสามารถส่งเสริมความเป็นชาย เพื่อทำให้ผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิงได้

[5] Alexandra Brodsky, ““Rape-Adjacent”: Imaging Legal Responses to Nonconsensual Condom Removal,” Columbia Journal of Gender and Law 32, no. 2 (2017): 188-189.

[6] __________, “The Side of “Stealthing” That No One’s Talking About,” Rooster, accessed July 31, 2023, https://therooster.com/articles/side-stealthing-no-ones-talking-about/.

[7] Brodsky, ““Rape-Adjacent”,” 189.

[8] Ibid., 184-187.

[9] __________, “Stealthing, or a Partner Taking off the Condom During Sex Without Consent, Is a New Sex ‘Trend,” Vagabomb, accessed August 01, 2023, https://vagabomb.com/health-and-wellness/your-partner-may-be-raping-you-stealthing-is-the-dangerous-new-sex-trend-you-need-to-know-about/.

[10] Blanco, “Sex Trend or Sexual Assault?,” 224-225.

[11] The Momentum Team, “แอบถอดก่อนสอดใส่ ศาลสั่งจำคุก-ปรับหนุ่มเยอรมันฐานแอบถอดถุงยางออกระหว่างร่วมเพศ,” The Momentum, สืบค้นเมื่อวันที่ 01 สิงหาคม 2566, https://themomentum.co/german-jailed-for-condom-stealthing/.

[12] Jenipher Camino Gonzalez, “German Cop Jailed for Condom ‘Stealthing’,” DW, accessed August 01, 2023, https://www.dw.com/en/german-policeman-jailed-for-condom-stealthing/a-46797174.

[13] Brianna Chesser, “New Zealand’s First Successful ‘Stealthing’ Prosecution Leads the Way for Law Changes in Australia and Elsewhere,” The Conversation, accessed August 01, 2023, https://theconversation.com/new-zealands-first-successful-stealthing-prosecution-leads-the-way-for-law-changes-in-australia-and-elsewhere-159323.

[14] Leila Ettachfini, “Man Accused of ‘Stealthing’ Will Not Be Convicted of Rape,” Vice, accessed August 01, 2023, https://www.vice.com/en/article/7xz89q/man-accused-of-stealthing-will-not-be-convicted-of-rape.

[15] Enrico Germano, “New Conviction in Europe Stealthing: In Switzerland, the Removal of a Condom During Sexual Intercourse Without the Knowledge of the Partner Does Not Currently Fall Under the Offence of Sexual Acts With Persons,” Prospero Legal, accessed August 01, 2023, https://prosperolegal.ch/new-conviction-in-europe-stealthing-in-switzerland-the-removal-of-a-condom-during-sexual-intercourse-without-the-knowledge-of-the-partner-does-not-currently-fall-under-the-offence-of-sexual-acts-wit/.

[16] Jenny Gesley, “Switzerland: Federal Supreme Court Holds ‘Stealthing’ Not Punishable as Sexual Act with Persons Incapable of Judgement or Resistance,” Library of Congress, accessed August 01, 2023, https://www.loc.gov/item/global-legal-monitor/2022-07-13/switzerland-federal-supreme-court-holds-stealthing-not-punishable-as-sexual-act-with-persons-incapable-of-judgement-or-resistance/.

[17] Adam Forrest, “Man Who Removed Condom During Intercourse With Sex Worker Jailed for Rape,” Independent, accessed August 01, 2023, https://www.independent.co.uk/news/uk/crime/rape-condom-sex-worker-unprotected-lee-hogben-guilty-bournemouth-a8884726.html.

[18] ดู __________, “Assange V Swedish Prosecution Authority [2011] EWHC 2849,” Cornell Law School, accessed August 02, 2023, https://www.law.cornell.edu/women-and-justice/resource/assange_v_swedish_prosecution_authority_2011_ewhc_2849 และดู __________, “Assange V Swedish – Case Summary,” Ipsa Loquiter, accessed August 02, 2023, https://ipsaloquitur.com/criminal-law/cases/assange-v-sweden/.

[19] Blanco, “Sex Trend or Sexual Assault?,” 239-240.

[20] Mikaela Shapiro, “Yes, “Stealthing” Is Sexual Assault And We Need to Address It,” Touro Law Review 37, no.3 (2021): 1655-1656.

[21] ปัจจุบัน ผู้เขียนยังไม่พบคำพิพากษาเกี่ยวกับการตีความความยินยอมในระบบกฎหมายไทยว่า ใช้แนวคิดแบบความยินยอมแบบมีเงื่อนไขในกรณีการข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่

[22] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, เพศวิถีในคำพิพากษา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (เชียงใหม่: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558), 65-95.

[23] Larry Buhl, “What to Know About California’s Law Banning Non-Consensual Condom Removal,” The Body, accessed August 02, 2023, https://www.thebody.com/article/california-condom-removal-law-stealthing-what-to-know.

Tags: , , , ,