ระหว่างทางการเข้าไปรับบริการเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ผู้ตั้งครรภ์ในหลายประเทศต้องเผชิญกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง (Anti-abortion Activist หรือ Pro-life) รวมตัวกันทำกิจกรรมบริเวณหน้าสถานบริการทำแท้ง มีการตั้งป้ายข้อความอย่าง ‘ฆาตกร’ หรือภาพที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา ผู้ตั้งครรภ์หลายคนถูกข่มขู่และคุกคาม รวมถึงติดตามระหว่างเดินเข้าไปในสถานบริการทำแท้ง

กลุ่มสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง หรือกลุ่ม Pro-Choice มองว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการตีตราและไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ตัดสินใจจะทำแท้ง ทั้งยังทำให้การเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น ในหลายประเทศจึงเกิดแนวคิดทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิดังกล่าว โดยกำหนดห้ามไม่ให้มีการชุมนุมต่อต้านการทำแท้งรอบสถานบริการทำแท้ง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ตั้งครรภ์เข้าถึงสิทธิในอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเองได้อย่างปลอดภัยและเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านการทำแท้งกลับมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการให้ความรู้และช่วยเหลือแก่ผู้ตั้งครรภ์ที่กำลังสับสน ทั้งยืนยันว่าการชุมนุมของพวกเขาเป็นการกระทำอย่างสันติ และสามารถทำได้ภายใต้เสรีภาพในการชุมนุมที่ถูกรับรอง 

บทความนี้เป็นการสำรวจแง่มุมทางกฎหมาย ในการชั่งน้ำหนักของระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว ในมิติที่เกี่ยวข้องการเข้าถึงสิทธิในอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นคุณค่าสำคัญที่ถูกรับรองภายใต้หลักการทางสิทธิมนุษยช

กฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้ง

ในปัจจุบันการต่อสู้เพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือสิทธิการทำแท้ง ไม่ได้หยุดที่การเรียกร้องให้การทำแท้งไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) แต่ยังรวมไปถึงการเรียกร้องให้รัฐสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองการเข้าถึงการทำแท้ง (Legal Protection of Access to Abortion)

กฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้ง เป็นแนวคิดทางกฎหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานบริการทำแท้ง โดยห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือการแสดงออกเกี่ยวกับการต่อต้านการทำแท้ง พื้นที่ปลอดภัยนี้ถูกเรียกในหลายชื่อ เช่น Buffer Zones, Bubble Zones หรือ Safe Access Zones

ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้งเป็นไปเพื่อความคุ้มครองใน 3 ลักษณะคือ

หนึ่ง คุ้มครองตัวสถานบริการทำแท้ง 

สอง คุ้มครองผู้ให้บริการ ทั้งหมอและเจ้าหน้าที่ 

สาม คุ้มครองผู้ใช้บริการ 

โดยกำหนดขอบเขตที่คุ้มครอง (เช่น 50 เมตรรอบสถานบริการ) รวมถึงระบุพฤติกรรมที่ห้ามทำให้ขอบเขตนั้น (เช่น ห้ามถือป้ายที่มีข้อความตีตรา, ห้ามสวดภาวนา) อย่างชัดเจน 

หลายประเทศนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเป็นกฎหมายของตนเอง เช่น ในออสเตรเลียมีกฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้งในหลายรัฐ เช่น Queensland, New South Wales, Australian Capital Territory, Victory, Tasmania, Northern Territory1 และ Western Australia2

รวมถึงในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักรก็รับแนวคิดนี้ไปเช่นกัน ในประเทศอังกฤษและเวลส์ เอง กฎหมายกันชนเช่นนี้เกิดขึ้นโดย ‘คำสั่งเพื่อปกป้องพื้นที่สาธารณะ’ (Public Spaces Protection Order หรือ PSPO) เป็นอำนาจท้องถิ่นภายใต้กฎหมาย Anti-Social Behavior, Crime and Policing Act 2014 ทั้งยังเกิดขึ้นโดยกฎหมาย Public order Act 2023 โดยมีการใช้บังคับมาตรการเหล่านี้ในรัฐ Ealing, Manchester, Birmingham, Bournemouth ฯลฯ ส่วนในประเทศไอร์แลนด์เหนือมีกฎหมาย Abortion Services (Safe Access Zones) Act (Northern Ireland) 20233  ขณะที่สกอตแลนด์กำลังอยู่ในขั้นตอนผ่านร่างกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน4

ส่วนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางก็ผ่านกฎหมาย the Freedom of Access to clinic Entrances Act 1994 เพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์ และมีหลายรัฐเพิ่มเติมกฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้ง (State Buffer Zone Laws) เข้าไปด้วย5

เสรีภาพในการชุมนุม

การชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) เสรีภาพในการรวมกลุ่ม (Freedom of Assembly) ที่ได้รับการยอมรับในสังคมประชาธิปไตย 

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย หลักการนี้ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศ ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ข้อ 20 (1)6, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 217 รวมถึงรัฐธรรมนูญในหลายประเทศก็รับรองเสรีภาพในการชุมนุมอีกด้วย

แต่เสรีภาพในการชุมนุมไม่ถือเป็นสิทธิเด็ดขาด (Non-Absolute Rights หรือ Relative Rights) ซึ่งหมายความว่าอาจถูกจำกัดได้ แตกต่างจากสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) เช่น สิทธิในการมีชีวิตที่ไม่สามารถถูกจำกัดได้ไม่ว่ากรณีใดๆ8 ในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รัฐจะต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ 3 ข้อภายใต้ข้อ 21 แห่ง ICCPR ได้แก่  

หนึ่ง มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ 

สอง มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ 1. ความมั่นคงของรัฐ 2. ความปลอดภัย 3. ความสงบเรียบร้อย 4. การสาธารณสุข หรือ 5. ศีลธรรมของประชาชน และ 6. การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

สาม เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย กล่าวคือเป็นมาตรการจำกัดสิทธิที่ร้ายแรงน้อยที่สุดที่สามารถจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้9

ภายใต้หลักการนี้ ข้อจำกัดในเชิง ‘พื้นที่’ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่หลายประเทศนิยมใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ประจำ ICCPR วางหลักเกี่ยวกับการตีความเรื่องข้อจำกัดในเชิงพื้นที่ไว้ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (General Comment No.37 on the Peaceful Assembly) มีสาระสำคัญว่า การชุมนุมโดยสงบสามารถจัดขึ้นในทุกสถานที่ที่สาธารณะชนเข้าถึงหรือควรเข้าถึงได้ การห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง รัฐต้องเคารพหลักการถูกมองเห็น และถูกได้ยินของผู้ชุมนุมตามวัตถุประสงค์ของการชุมนุมสาธารณะ10

การชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ กับ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ในมิติอนามัยเจริญพันธุ์” 

แม้กฎหมายกันชนรอบสถานบริการทำแท้ง จะเป็นการพิทักษ์สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของการเข้ารับบริการทางการแพทย์ (Right to Medical Privacy) แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายนี้ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านการทำแท้ง ในหลายครั้งจึงเกิดคำถามว่า กฎหมายกันชนฯ นี้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเหมาะสมหรือไม่ เมื่อคุณค่าแห่งสิทธิที่ได้รับการรับรองจากรัฐทั้งคู่เกิดความขัดแย้งกัน เป็นหน้าที่ของศาลในการชั่งน้ำหนักเพื่อหาสมดุลระหว่างสองคุณค่าดังกล่าว 

ในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดต้องตอบคำว่ากฎหมายกันชน ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกรับรองไว้ในบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1 (The First Amendment) หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาในทางเท้า (Sidewalk Counselors) ซึ่งเป็นผู้มีจุดยืนต่อต้านการทำแท้งที่จะเข้าไปพูดคุยเพื่อเสนอทางเลือกอื่นๆ แก่ผู้ตั้งครรภ์ 

ในคดี Schenck v. Pro-Choice Network of Western New York (1997)11 ศาลพิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่กำหนดห้ามชุมนุมทั้งในพื้นที่ Fixed Zone (15 ฟุตจากทางเข้าสถานบริการและทางเดินรถ) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อกำหนดในพื้นที่ Floating Zone (15 ฟุตห่างจากผู้ป่วยและยานพาหนะของผู้ป่วย) ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการจำกัดสิทธิเกินสมควร ขณะที่ในคดี Hill v. Colorado (2000)12 ศาลสูงมองว่ากฎหมายของรัฐโคโลราโดที่ “ห้ามไม่ให้มีการเข้าถึงตัวผู้ป่วย ในระยะ 8 ฟุต ไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ของการประท้วง การศึกษา หรือให้คำปรึกษา โดยที่บุคคลนั้นไม่ยินยอม” ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โปรดสังเกตว่า แม้จะเป็นการจำกัดสิทธิใน Floating Zone เหมือนกัน แต่ข้อจำกัดในคดีที่ 2 นั้นแคบกว่า ทั้งในแง่ของระยะทางและเงื่อนไขความยินยอม13

ศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรก็เผชิญสถานการณ์นี้เช่นกัน ในคดีหมายเลขที่ UKSC 2022/007714 มีประเด็นว่ากฎหมายกันชนของประเทศไอร์แลนด์เหนือขัดต่อเสรีภาพในการนึกคิด, เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการรวมกลุ่มที่ถูกรับรองโดยอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองยุโรป (European Convention on Human Rights) หรือไม่ 

คดีนี้ศาลมองว่า มาตรการจำกัดสิทธิฯ ในกฎหมายกันชนของไอร์แลนด์เหนือเป็นการจำกัดสิทธิโดยเหมาะสม ซึ่งศาลพิจารณาผ่านหลักการใหญ่ 3 ข้อ คือ 

หนึ่ง ศาลมองว่ามาตราการนี้มีกฎหมายให้อำนาจ มีการนิยามถึงขอบเขตของพื้นที่กันชนและบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองอย่างชัดเจน15  

สอง มองว่ามาตรการนี้เป็นไปเพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์เข้าถึงการบริการฯ ต่างๆ ด้วยความเคารพในความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีของผู้ตั้งครรภ์ (The Right To Access Health Care in Conditions of Privacy and Dignity) ทั้งยังคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (Right to Pursue Employment) จึงพิจารณาว่ามาตรการนี้เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ, การสาธารณสุข และสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น16 

และสาม ศาลมองว่ามาตรการนี้จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย โดยเห็นว่าการห้ามชุมนุมในบริเวณที่กำหนดเป็นมาตรการเดียวที่จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์และเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขเข้าถึงสถานบริการทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและเคารพความเป็นส่วนตัว17

เชิงอรรถ

1 Marie Stopes Australia, Safe access zones in Australia: Legislative consideration (Marie Stopes Australia, 2020), https://resources.msiaustralia.org.au/Safe-Access-Zones-in-Australia.pdf.

2 Public Health Amendment (Safe Access Zones) Act 2021

3 Abortion Services (Safe Access Zones) Act (Northern Ireland) 2023

4 ประชาไท, นายกสก็อตแลนด์ยินดีที่ไอร์แลนด์เหนือมีกฎหมายพื้นที่ปลอดภัยคุ้มครองคนใช้บริการทำแท้ง, December 20, 2022, https://prachatai.com/journal/2022/12/101818

5 National Abortion Federation, Freedom of Access to Clinic Entrances (FACE) Act, https://prochoice.org/wp-content/uploads/face_act.pdf, 4 . 

6 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 20 “ (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ” 

7 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

8 ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ และคณะ, รายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาเพื่อจัดทำคู่มือสำหรับส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการจัดการและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (ธันวาคม 2565), 8.  

9 UN Human Rights Committee, General Comment No.37 (2020) on the right of Peaceful assembly (article21) (17 September 2020), CCPR/C/GC/37, para. 40.

10 Ibid, para. 55-57.

11 Schenck v. Pro-Choice Network of Western N. Y., 519 U.S. 357 (1997).  

12 Hill v. Colorado, 530 U.S. 703 (2000)

13 Free Speech Center, Hill v. Colorado (2002), February 18, 2024, https://firstamendment.mtsu.edu/article/hill-v-colorado/

14 The Supreme Court, REFERENCE by the Attorney General for Northern Ireland – Abortion Services (Safe Access Zones) (Northern Ireland) Bill, Case ID: 2022/0077, https://www.supremecourt.uk/cases/uksc-2022-0077.html

15 Judgement, REFERENCE by the Attorney General for Northern Ireland – Abortion Services (Safe Access Zones) (Northern Ireland) Bill, https://www.supremecourt.uk/cases/docs/uksc-2022-0077-judgment.pdf, 41.  

16 Ibid, 41-42

17 Ibid, 42-54 

Tags: , ,