วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ก่อนก่อนหน้านี้ประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง รวมระยะทั้งสิ้นกว่า 109 วัน

การจากไปของเนติพรสร้างกระแส ข้อถกเถียง และความเห็นในสังคมขึ้นในหลายประเด็น หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่ใหม่ในสังคมไทย คือเรื่องการประท้วงโดยวิธีอดอาหาร ที่สังคมส่วนใหญ่ต่างถกเถียงว่า ควรเห็นด้วยหรือไม่กับการประท้วงโดยการอดอาหารจนเสียชีวิต เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเองกลับมาถามตนเองแล้วก็ต้องยอมรับว่า ไม่รู้ว่าต้องตอบว่าอย่างไรเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำตอบที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของผู้เขียนเอง ก็ไม่สู้จะสำคัญที่จะต้องรู้เท่าไรนัก

เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือท่าทีของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยต่อ สิทธิในการประท้วงโดยการอดอาหาร ที่มีการเคลื่อนไหวในแง่มุมต่างๆ ปรากฏขึ้นอย่างน่าสนใจ

ทำไมจึงมีการพูดถึงเรื่องสิทธิในการประท้วงโดยการอดอาหาร

ในเรื่องความสำคัญของการรับรู้และปกป้องสิทธิของผู้ถูกคุมขังโดยการอดอาหารประท้วงนั้นยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียว เพราะเมื่อมองการอดอาหารประท้วงผ่านสำนักคิดต่างๆ ก็จะได้คำตอบต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป 

แต่หากจะต้องหยิบยกอุดมการณ์ทางการเมืองสักหนึ่งอุดมการณ์มามองเรื่อง ‘การอดอาหารประท้วง’ จุดยืนแบบเสรีนิยมต่อการอดอาหารประท้วงก็เป็นที่น่าสนใจ การอดอาหารหรือการปฏิเสธการรับอาหารเป็นเวลานาน บนพื้นฐานของอุดมการณ์ที่ว่า ‘บุคคลย่อมมีอำนาจเหนือร่างกายของตนเอง’ อันเป็นแนวคิดว่าด้วยเรื่องดังนั้นแล้ว การประท้วงด้วยการอดอาหารจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดแบบเสรีนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังการยอมรับวิธีการประท้วงเช่นนั้นคือ ไม่ว่าผู้ถูกคุมขังจึงชอบที่จะอดอาหารได้ (ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม) โดยปราศจากการแทรกแซง เว้นแต่บุคคลเหล่านั้นจะอยู่ในสถภาวะไร้ความสามารถทางจิต เช่นนี้แล้วในสังคมเสรีนิยมการปกป้องสิทธิในการประท้วงโดยการอดอาหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องปกป้อง

หากจะขยายให้เห็นชัดขึ้นว่า ทำไมการประท้วงโดยการอดอาหารจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และต้องได้รับการปกป้อง เนื่องจากการอดอาหารประท้วงถือเป็นหนึ่งวิธิการแสดงความเห็นอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับการปกป้อง ทั้งนี้อาจจะไม่จำเป็นมากนักที่จะต้องยืนยันสิทธิในการอดอาหารประท้วงนอกเรือนจำ แต่สิทธิในการอดอาหารประท้วงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในเรือนจำ เพราะผู้ถูกกักขังที่ตัดสินใจประท้วงโดยการอดอาหารมักถูกแทรกแซงการประท้วง ไม่ว่าจะด้วยการย้ายไปคุมขังเดี่ยว หรือการบังคับให้อาหาร การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นการเข้าแทรกแซงการอดอาหารนั้นนับเป็นการ ‘ปฏิเสธการประท้วง’ 

เรื่องนี้ในปี 1991 สมาคมการแพทย์โลก (WMA 2006) ให้ความเห็นต่อการให้อาหารผู้ประท้วงด้วยการอดอาหารว่า เป็น “รูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เทียบเท่ากับการทรมาน” แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐที่ยอมรับการปราบปรามโดยเข้าแทรกแซงการประท้วงโดยการอดอาหารก็ยังพบเห็นได้อยู่ทั่วไป เช่น ในสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล¹ และการแทรกแซงการประท้วงยังได้รับการยอมรับในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปราบปรามการอดอาหารประท้วงนั้นเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ภายในรัฐที่เป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ตาม 

จะเห็นได้ว่า การที่ราชทัณฑ์จะปราบปรามหรือเข้าแทรกแซงการอดอาหารประท้วงอย่างไรนั้น มีความแตกต่างกันไปตามนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของราชทัณฑ์ในแต่ละพื้นที่โดย Filc และคณะ เสนอว่า แนวปฏิบัติในเรื่องการปราบปรามการอดอาหารประท้วงของราชทัณฑ์นั้นขึ้นอยู่กับ² 

(i) การประท้วงนั้นขัดขวางการปฏิบัติงานตามปกติภายในเรือนจำหรือไม่ 

(ii) การอดอาหารประท้วงนั้นมีพลานุภาพหรือมีแรงจูงใจมากพอที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อื่นๆ หรือไม่ เช่น การนัดหยุดงาน การก่อการจลาจล

(iii) การประท้วงนั้นอาจเป็นภัยคุกคามเจ้าหน้าที่รัฐและความปลอดภัยสาธารณะ

ดังนั้นอาจมองถึงเหตุผลในการปราบปรามการอดอาหารประท้วงได้อย่างง่ายว่า การอดอาหารประท้วงที่นำไปสู่ความรุนแรง เป็นสาระสำคัญที่ให้ความชอบธรรมแก่ราชทัณฑ์ ในการปราบปรามและปฏิเสธสิทธิในการอดอาหารประท้วง

สิทธิทางกฎหมายในการ อดอาหารประท้วง 

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ‘สิทธิในการอดอาหารประท้วง’ อาจฟังดูประหลาด เพราะอาจเกิดคำถามขึ้นมาได้ว่า ‘สิทธิ’ ประเภทไหนกันที่อนุญาตให้คนทำร้าย กดขี่ ร่างกายของตนเองได้เช่นนั้น 

ในคำอธิบายของลัทธิเสรีนิยมอธิบายว่า ‘สิทธิในการอดอาหารประท้วง’ เป็นสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้ชดเชยความ เสียหาย กล่าวคือเป็นวิธีการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยที่ประชาชนผู้ร้องเรียนไม่ต้องกลัวการตอบโต้หรือการลงโทษจากรัฐ 

โดยสิทธินี้สามารถสืบย้อนไปถึงหลัก Magna Carta ใน ค.ศ. 1215, และถูกรับรองไว้แล้วในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก), เยอรมนี (มาตรา 19), อิตาลี (มาตรา 24), และถูกรับรองไว้ในมาตรา 47 แห่งกฎบัตรที่ระบุถึงสิทธิพื้นฐานของสหภาพยุโรป (CFR) ที่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วมีเนื้อหาเป็นการคุ้มครอง ‘สิทธิในการได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิผล’ และ ‘สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมเมื่อถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐได้รับรองไว้ในกฎหมาย’ มากไปกว่านั้น กฎหมายยังยืนยันถึงสิทธิ ‘ในการยื่นคำร้อง’ ของพลเมืองอีกด้วย

มองสากลเป็นบทเรียน

อย่างที่เคยได้กล่าวมาแล้ว สิทธิในการอดอาหารประท้วงนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงออกอันถือเป็นเครื่องมือสำคัญของสิทธิในการยื่นคำร้องต่อรัฐ ไม่ว่าสภาวะและกฎเกณฑ์ในเรือนจำจะจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมไว้ แต่เรือนจำไม่สามารถจำกัดสิทธิของผู้ต้องขัง ในการแสวงหาหรือต่อสู้เพื่อให้ตนได้มาซึ่งการชดเชยและการเยียวยาจากการที่ตนถูกละเมิดได้

ในส่วนของการดูแลรักษา ผู้ประท้วงด้วยการอดอาหารนั้น เจ้าหน้าที่ประจำเรือนจำต้องมีการเคารพสิทธิในการร้องขอการเยียวยาของผู้ประท้วง โดยต้องจัดให้มีการอำนวยการร้องทุกข์ที่เพียงพอ และต้องยอมรับสิทธิของผู้คุมขังในการอดอาหารประท้วง ที่ถืออาวุธชิ้นสุดท้ายในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างให้มีองค์กรหรือหน่วยงานในการดูแล เพื่อเยียวยาความเสียหายที่ผู้ประท้วงได้รับถูกละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง คือให้มีองค์กรที่เข้ามารับผิดชอบและตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง อันเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการดูแลและสื่อสารกับผู้ประท้วงด้วยการอดอาหารโดยตรง และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เหล่านี้³

1. มีหน้าที่ไม่แทรกแซงผู้ประท้วงอย่างบีบบังคับและโดยการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามการลงโทษหรือการให้อาหารแบบบังคับ

2. เพื่อเป็นการบันทึกข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง

3. จัดให้มีการดูแลด้าน การเฝ้าระวังทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ประท้วง รวมถึงการ จัดหาเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ การลงทะเบียนคำสั่งทางการแพทย์ และการช่วยเหลือในการให้อาหารซ้ำในตอนท้ายเมื่อผู้ประท้วงเลิกการอดอาหารประท้วง 

4. แจ้งและแจ้งข้อมูลแก่ครอบครัวหรือผู้ติดต่ออื่นผู้อดอาหารประท้วง

5. จัดให้ผู้อดอาหารประท้วงสามารถติดต่อนักข่าวได้

6. เพื่อให้ผู้อดอาหารประท้วงสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายได้

7. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสอบสวนถึง ข้อเรียกร้องของผู้อดอาหารประท้วง โดยคณะกรรมการที่เป็นองค์กรอิสระ (ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด)

สาระสำคัญคือ ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง 

อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเองยังยืนยันว่า หากเราต้องพิจารณาสิทธิในการอดอาหารประท้วงตามตัวบทกฎหมายแล้ว นี่ไม่ใช่การตั้งคำถามว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วง แต่เมื่อมองถึงความหมายและสาระสำคัญที่แท้จริงแล้ว คุณค่าของการอดอาหารประท้วง นอกเหนือจากการแสดงความเห็นอันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแล้ว สิทธิในการอดอาหารประท้วงมีคุณค่าที่แท้จริงในฐานะความต้องการ (อย่างน้อยโดยปริยาย) เพื่อการปลดปล่อยตนเอง หรือเพื่อให้ได้รับเสรีภาพที่มากขึ้นผ่านความพยายามของตนเอง 

ดังนั้นไม่ว่าสุดท้ายแล้ว การอดอาหารประท้วงจะประสบความล้มเหลว แต่นั่นคือการยืนยันและใช้เสรีภาพหรือสิทธิของตนเอง และสุดท้ายแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่าการอดอาหารประท้วง โดยเฉพาะในเรือนจำ เป็นหนึ่งในวิธีที่บุคคลที่ไร้อำนาจสามารถเปลี่ยนความอ่อนแอของตนเองให้กลายเป็นอำนาจได้

หากมองว่าผู้ถูกคุมขังจะเป็นต้องได้รับการเคารพสิทธิมนุษยชนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นในบางกรณี ผู้ถูกคุมขังจะต้องได้รับการปล่อยตัว การรักษา หรือการเข้าช่วยเหลือ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ดูเหมือนว่าการให้ความสำคัญกับสิทธิในการอดอาหารประท้วงคงจะไร้ความหมายและไร้ประสิทธิผล ผู้เขียนเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แต่ปฏิเสธสิ่งที่ตามมา เพราะผู้คุมขังที่ประท้วงด้วยการอดอาหาร ไม่ได้เพียงเรียกร้องการปฏิบัติด้วยความเคารพและให้เกียรติต่อการตัดสินใจเรียกร้องด้วยการอดอาหารของเขาเท่านั้น แต่ผู้ประท้วงยังแสดงออกถึงการยืนยันว่า พวกเขามีสิทธิที่จะประท้วงด้วยการอดอาหารอันเป็นหนึ่งในวิถีในการแสวงหา ‘การชดใช้’ เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ของเขาถูกละเมิด

ดังนั้นเมื่อเราลองมองข้ามความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไปแล้ว ผู้เขียนมองว่าการอดอาหารประท้วงเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘การกระทำของทางการเมือง’ อย่างหนึ่ง และเมื่อการอดอาหารประท้วงเป็นการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมต้องได้รับและคุ้มครองสิทธิของผู้ประท้วง โดยกฎหมายและต้องเป็นไปเหมาะสม และไม่ละเลยการให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง 

แต่อย่างไรก็ตาม อีกแง่หนึ่ง ผู้ประท้วงไม่ควรประเมินหรือคาดหวังการปกป้องสิทธิในการอดอาหารประท้วงสูงเกินไป เนื่องด้วยประโยชน์โดยตรงของตัวผู้อดอาหารประท้วงเอง และประกอบกับการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะยาว และสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องทราบคือ ในบริบทของประเทศไทย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและกลไกการร้องทุกข์ที่เป็นธรรมนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ขัดขวางการอดอาหารประท้วง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงมักขยายออกไปนอกเรือนจำ โดยมุ่งเป้าไปที่การกดขี่ทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม และการคิดใช้วิธีอดอาหารประท้วงในทางที่ผิดจะไม่ส่งผลเพียงแค่ความล้มเหลวทางอุดมการณ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และอาจทำร้ายโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมได้

ทั้งนี้ผู้อดอาหารประท้วงทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะต้องการอะไรก็ตาม วิธิการแสดงออกและโดยเฉพาะ ‘ข้อเรียกร้อง’ ของผู้อดอาหารประท้วงจะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น

เชิงอรรถ

¹ Shahshahani, Azadeh, and Priya A. Patel. 2018. “From Pelican Bay to Palestine: The Legal Normalization of Force-Feeding Hunger- Strikers.” Michigan Journal of Race & Law 24 (1): 1–14.

² Filc, Dani, Hadas Ziv, Mithal Nassar, and Nadav Davidovitch. 2014. “Palestinian Prisoners’ Hunger-Strikes in Israeli Prisons: Beyond the Dual-Loyalty Dilemma in Medical Practice and Patient Care.” Public Health Ethics 7 (3): 229–38. 

³ Deitch, Michele. 2020. “But Who Oversees the Overseers? The Status of Prison and Jail Oversight in the United States.” American Journal of Criminal Law 47: 207–74. 

Tags: , , , ,