สัปดาห์นี้ ผู้เขียนพามาทบทวนประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญที่โดดเด่นและมุมมองของนักวิชาการต่างประเทศต่อการจำกัดสิทธิเลือกตั้งของ ‘พระภิกษุ’ พอสังเขป

 

รัฐธรรมนูญกับพระภิกษุ 

ในสังคมไทย การเมืองตามความเข้าใจทั่วไป คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถาบันการเมืองการปกครอง พวกเขาเชื่อว่า การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองย่อมมีความสกปรกโดยพื้นฐาน พระพุทธศาสนาควรเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการเมือง เมื่อพระภิกษุได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ย่อมทำให้พระภิกษุนั้นแปดเปื้อน1 ข้อความนี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกที่ ‘บริสุทธิ์’ ของพระสงฆ์กับโลกที่ ‘สกปรก’ ของการเมืองที่พระภิกษุไม่ควรเข้าไปยุ่ง2

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ นับตั้งแต่พุทธศักราช 2475 ที่ได้เปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบการปกครองแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเราย้อนดู จะพบกับปรากฏการณ์ที่โดดเด่น ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 (ฉบับที่ 1) พระภิกษุไม่ได้ถูกกีดกันมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 14)

2. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 (ฉบับที่ 2) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งต้องเป็นไปตาม ‘กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ (มาตรา 17) ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า อนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นกฎหมายที่มั่นคงและแก้ไขให้น้อยที่สุด แต่เงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งผันแปรไปตามสภาพสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ควรบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ3 โดยกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายแรกที่ตัดสิทธิการเลือกตั้งพระภิกษุ (มาตรา 4(5)) เพราะเหตุแห่งสถานะของบุคคล น่าสังเกตว่า ก่อนที่ตัวกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับ ในที่ประชุมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเด็นเรื่องนี้กลับไม่ได้ถูกอธิบายในรายละเอียดแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนไม่ได้ห้ามไว้4

3. แนวทางการตัดสิทธิเลือกตั้งของพระภิกษุผ่านกลไกพระราชบัญญัติที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ดำเนินต่อไปจนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 (ฉบับที่ 5) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดบทตัดสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็น ‘ลักษณะต้องห้าม’ (มาตรา 90(3)) โดยมีผู้ให้ความเห็นว่า คำว่า ‘ลักษณะต้องห้าม’ หมายถึง พระภิกษุ โดยคุณสมบัติ มีสิทธิเลือกตั้งได้ แต่ก็ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้ เพราะมีลักษณะต้องห้าม การกำหนดถ้อยคำในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า “คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการจำกัดสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง5

4. แนวทางการตัดสิทธิเลือกตั้งผ่านกลไกรัฐธรรมนูญในรูปแบบของ ‘ลักษณะต้องห้าม’ ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

ข้อถกเถียง

ในสังคมเสรีประชาธิปไตย สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองสากลขั้นพื้นฐานที่มอบให้แก่พลเมืองของรัฐที่ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยทั่วไป รัฐไม่อาจเลือกปฏิบัติด้วยการไม่ให้สิทธิดังกล่าวได้ แต่ในบางกรณีก็เป็นที่ยอมรับโดยสากลว่า อาจถูกจำกัดได้ เช่น การไม่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ไม่มีสัญชาติในรัฐนั้น แก่ผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ หรือแก่ผู้ซึ่งมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เป็นต้น แต่การไม่ให้สิทธิเลือกตั้งเพราะสถานะของเขาเป็นพระภิกษุกลับไม่ถูกยอมรับโดยสากลมากนัก ถึงขนาดว่า อาจถูกมองว่าผิดคลองธรรมแล้ว6 เราจะเห็นว่า ไม่ใช่ทุกประเทศจะจำกัดสิทธิดังกล่าว แม้ประเทศที่กำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างประเทศกัมพูชาก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเช่นว่านี้ จนอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดการจำกัดสิทธิดังกล่าวแทบจะ ‘สูญพันธุ์’ แล้ว7 คงมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังคงจำกัดอยู่ ดังนั้นพลเมืองที่เป็นศาสนบุคคลสมควรที่จะสามารถสนับสนุนองค์กรหรือการเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองได้ ตราบเท่าที่ไม่เป็นการกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยหรือกฎหมาย8

อย่างไรก็ดี มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นในสังคมไทย เส้นแบ่งทางสังคมระหว่างพื้นที่ของพระภิกษุกับพื้นที่ของฆราวาสกลับถูกผลิต และตอกย้ำด้วยระบบกฎหมายที่พยายามจะกีดกันไม่ให้พระภิกษุเข้ามายุ่งในเรื่องทางโลกของฆราวาสที่เต็มไปด้วยความโลภและผิดศีลธรรม พร้อมกับกักขังพวกเขาไว้ในพื้นที่ทางศาสนา9 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่สอดคล้องกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ตนได้เข้าร่วมเป็นภาคีที่กำหนดห้ามมิให้รัฐเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งศาสนาหรือสถานะของบุคคล10

โทมัส ลาร์สสัน (Tomas Larsson) รองศาสตราจารย์ในภาควิชาการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศ และนักวิชาการวิทยาลัยเซนต์จอห์นแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ยืนยันว่า การจำกัดสิทธิเลือกตั้งของพระภิกษุในไทยไม่ใช่เป็นการต่อต้านอำนาจหรืออิทธิพลพุทธศาสนา แต่เป็นความพยายามของรัฐในการทำให้พุทธศาสนามีความ ‘บริสุทธิ์’ ต่อไป11 ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรของคณะสงฆ์ก็สนับสนุนการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้น12

เราจะเห็นว่า การปฏิเสธสิทธิเลือกตั้งของพระภิกษุมักจะถูกทำให้ชอบธรรมด้วยการอ้างผลร้ายที่จะเกิดแก่พุทธศาสนา เช่น ฆราวาสจะสูญเสียความเคารพต่อพุทธศาสนาและพระภิกษุ13 เพื่อปกป้องพระสงฆ์14 เป็นต้น ลาร์สสันได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่รัฐปฏิเสธสิทธิเช่นว่านี้ ในบริบททางการเมืองแล้ว ราคาที่ต้องจ่ายมีเพียงแต่การเสียคะแนนจากเสียงที่จะได้จากพระภิกษุ ซึ่งมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะพระภิกษุส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแนวคิดดั้งเดิมที่พระภิกษุไม่ควรเข้ามายุ่งกับการเมือง แต่สิ่งที่รัฐจะได้รับกลับมาคือ การธำรงไว้ซึ่งข้อตกลงระหว่างรัฐกับองค์กรของคณะสงฆ์ที่จะต้องปกป้อง และทำให้พุทธศาสนาไม่เสื่อมเสียความชื่อเสียง15

แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเลือกตั้งในประเทศพม่า แต่ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือ พระภิกษุอาวุโสประจำมหาเถรสมาคมยืนยันว่า การอนุญาตให้พระภิกษุมีสิทธิเลือกตั้งได้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของพระวินัยปิฎกใน 227 ข้อ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า การใช้สิทธิเลือกตั้งของพระภิกษุฝ่าฝืนพระวินัยข้อใด16 ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยกข้อโต้แย้งว่า แม้ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐควรเข้ามาจำกัดสิทธิดังกล่าว สิ่งที่โดดเด่นของข้อโต้แย้งนี้ อะไรทำให้สถานะของสิทธิเลือกตั้งมีความพิเศษถึงขนาดที่รัฐต้องเข้ามาจำกัดในรูปแบบของกฎหมายกันแน่17

 

ข้อคิดส่งท้าย

ระบบกฎหมายไทยที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งของพระภิกษุที่สืบทอดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ได้กลายเป็นบ่อเกิดแห่งการเสียสิทธิที่ประกอบสร้างเป็นขนบธรรมเนียมทางการเมือง และไม่เคยถูกแก้ไขเลย แต่กลับถูกท้าทายโดยพระภิกษุหลายๆ รูปที่ต้องการที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้จากข่าวต่างๆ18 เราจะเห็นว่า เมื่อการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ไม่ใช่เป็นการโจมตีทางศาสนาแล้ว ก็คงไม่ผิดที่จะตีความว่าเป็นเรื่องของศาสนาโดยแท้ ซึ่งรัฐไทยต้องการจัดวางพระพุทธศาสนาให้อยู่นอกเหนือการเมือง แต่การจำกัดสิทธิเช่นว่า สะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐไทยเลือกปฏิบัติต่อพระภิกษุที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างการให้สิทธิทางการเมืองแก่พระภิกษุ ที่เป็นเรื่องกฎหมายโดยแท้กับข้ออ้างเชิงศีลธรรมที่เป็นเรื่องของศีลธรรมโดยแท้ ได้สร้างความท้าทายต่อรัฐไทยในอนาคตว่า จะเดินต่อไปอย่างไร และตั้งคำถามว่า ควรให้สิทธิเลือกตั้งแก่พระภิกษุหรือควรยึดถือขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมที่ดำเนินมาตลอดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2

จะเห็นว่า พระภิกษุมีฐานะเป็นพระสงฆ์ที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบพระธรรมวินัยสงฆ์และกฎหมายของคณะสงฆ์ และยังเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ อีกด้วย การที่พระภิกษุใช้เสรีภาพของตนที่มีอยู่อย่างบริบูรณ์ในการถือและปฏิบัติตามศาสนา แต่ระบบกฎหมายไทยกลับกลายเป็นบ่อเกิดที่ทำให้สิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานถูกทำลายไป เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศชาติ แต่เสียงของพลเมืองของรัฐกลุ่มหนึ่งกลับหายไป คือเสียงของพระภิกษุ ผู้ซึ่งใช้เสรีภาพของตนในการนับถือศาสนา และเข้าพิธีบวชเพื่อปฏิบัติตามศาสนานั้น ดังนั้น สำหรับผู้เขียน ในที่นี้จึงเห็นว่า พระภิกษุควรมีสิทธิเลือกตั้ง 

 

เชิงอรรถ

1 Thomas Borchert, “On Being a Monk and a Citizen in Thailand and China,” in Buddhism and the Political Process, ed. Hiroko Kawanami (London, United Kingdom: Palgrave Macmillan), 16.

2 Tomas Larsson, “Monkish Politics in Southeast Asia: Religious Disenfranchisement in Comparative and Theoretical Perspective,” Modern Asia Studies 49, no. 1 (2015): 44-45.

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รายงานวิจัย เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, กันยายน 2564), 37-38.

วชิรา นาวาศรีพร, “ปัญหาการจำกัดการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 125-126.

เรื่องเดียวกัน, 129.

Tomas Larsson, “Buddha or the Ballot: The Buddhist Exception to Universal Suffrage in Contemporary Asia,” in Buddhism and the Political Process, ed. Hiroko Kawanami (London, United Kingdom: Palgrave Macmillan), 81.

7 Larsson, “Monkish Politics in Southeast Asia,” 42.

8 Alfred Stepan, “Religion, Democracy, and the “Twin Tolerations”,” in Rethinking Religion and World Affairs, ed. Timothy Samuel Shah, Alfred Stepan, and Monica Duffy Toft (New York: Oxford University Press, Inc., 2012), 57.

9 Tomas Larsson, “Keeping Monks in Their Place,” Asian Journal of Law and Society 3, no.1 (2016): 17.

10 David Streckfuss and Mark Templeton, “Human Rights and Political Reform in Thailand,” in Reforming Thai Politics, ed. Duncan McCargo (Denmark: NIAS Press, 2002), 82-83.

11 Larsson, “Monkish Politics in Southeast Asia,” 51-52.

12 Larsson, “Buddha or the Ballot,” 92.

13 Ibid., 84-85.

14 Ibid., 87.

15 Larsson, “Monkish Politics in Southeast Asia,” 72.

16 Ibid., 56-57.

17 Larsson, “Buddha or the Ballot,” 83-84.

18 Tita Sanglee, “Thailand’s Monkish Politics in the Spotlight,” The Diplomat, accessed April 06, 2023, https://thediplomat.com/2022/11/thailands-monkish-politics-in-the-spotlight/.

Tags: , ,