งานชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญไทยในยุคสมัย พ.ศ. 2564 ที่มีลักษณะหน้าตาของผู้พิพากษาไม่เข้ากับบริบทของสังคมไทยที่มีความหลากหลายทางเพศ และหลายชนชั้นปรากฏตัวในสังคม ทั้งไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และอาจไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ ซึ่งย้อนแย้งกับการพิจารณาคดีที่ต้องเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีทางการเมืองและรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก แต่กลับมีอาวุธในการกดปราบผู้คนไม่ให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของผู้พิพากษาได้
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้พิพากษาแบบ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ที่มีภาพลักษณ์เป็นผู้พิพากษาเสรีนิยม สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและความเสมอภาคของบุคคล เธอสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญและบุกเบิกสิทธิสตรีในประเทศ กล้าที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งเขียนคำพิพากษาอย่างซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ที่ตนยึดถือ และซื่อตรงต่อหลักวิชานิติศาสตร์ จะสามารถเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยได้ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการเป็นผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทย
ผู้เขียนได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง On the Basis of Sex และสารคดีเรื่อง RBG ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก อดีตผู้พิพากษาหญิงศาลฎีกาสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภาพลักษณ์และบทบาทการเป็นผู้พิพากษานอกขนบในบรรดาผู้พิพากษาของศาลสูงสุด ตัวตนของผู้พิพากษาคนนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องหันกลับมาย้อนมองบทบาทผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มีความแตกต่างกัน และคงจะดีไม่น้อย หากเรามีผู้พิพากษาหญิงแบบ RBG ในศาลรัฐธรรมนูญไทย
ใครคือ RBG?
RBG หรือ Ruth Bader Ginsburg เธอเป็นผู้หญิงเชื้อสายยิว เติบโตที่บรูคลิน นิวยอร์ก ในปี 1933 ช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันให้ความสำคัญกับบทบาทความเป็นผู้นำของชาย มีการแบ่งแยกหน้าที่ของชายและหญิงผ่านตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีกระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำเกือบทุกอณู แต่ด้วยการลุกขึ้นมาของทนายสิทธิพลเมือง เธอร์กู๊ด มาร์แชล (Thurgood Marshall) ที่ยืนยันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมด้านเชื้อชาติ ทั้งยังยืนยันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ได้จุดประกายให้กับเธอเลือกที่จะเรียนกฎหมาย
เดิมทีผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) แต่ในปี 1957 รูธเป็นผู้หญิงเพียง 1 ใน 9 คนจากผู้ชาย 500 กว่าคนของคณะนิติศาสตร์แห่งนี้ เธอต้องเผชิญกับอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติระหว่างเรียนอย่างมาก เช่น การถูกตั้งคำถามจากคณบดีว่าเหตุใดพวกเธอถึงเป็นผู้หญิงที่กล้าเข้ามาแย่งที่เรียนของผู้ชาย หรือการถูกเมินจากการเรียกตอบคำถามในชั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 1959 เธอสามารถจบการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ชีวิตการเป็นนักกฎหมายของกินสเบิร์กไม่ได้เรียบง่าย เธอต้องเผชิญกับอคติทางเพศที่มีต่อตัวนักกฎหมาย สำนักงานกฎหมายทั้งนิวยอร์กปฏิเสธที่จะรับคนที่มีผลการเรียนที่เยี่ยมยอด เพราะเธอเป็นผู้หญิง จึงไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน สิ่งนี้ทำให้เธอรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเพศสภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
กระทั่งกินสเบิร์กได้เป็นอาจารย์กฎหมายที่มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers Law School) สอนวิชาเกี่ยวกับเพศและกฎหมาย ในช่วงปี 1963 นี้เอง ที่ทำให้เธอเริ่มศึกษากฎหมายและคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ ขณะเดียวกันกับที่สังคมอเมริกันเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีแบบเดียวกันกับการเคลื่อนไหวสิทธิของคนผิวดำ
ด้วยอุดมคติที่อยากทำให้กฎหมายดีขึ้น เธอจึงเริ่มทำคดีเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศที่เกิดขึ้นกับทั้งหญิงและชาย โดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ‘สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ คือสิ่งที่เธอใช้เป็นดาบทะลวง แต่ละคดีที่เธอรับทำล้วนขึ้นไปถึงศาลฎีกา (The Supreme Court) ที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในฐานะทนาย กินสเบิร์กต้องการทำให้ศาลเห็นว่าการเลือกปฏิบัติมีอยู่จริงและเป็นสิ่งที่แย่ นอกจากนี้ เธอยังต้องการทำให้คำพิพากษาเป็นคำสั่งกลายๆ ต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้กำจัดข้อกฎหมายที่เลือกปฏิบัติจากเพศ
กินสเบิร์กท้าทายอุดมการณ์ ‘ความเป็นชาย’ ของผู้พิพากษา ด้วยการแสดงให้เห็นผลกระทบเกิดขึ้นจากการที่ทั้งหญิงและชายถูกกีดกันจากสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ เหมือนในคดีแรกของเธอ นั่นคือ Frontiero v. Richardson 1973 เกี่ยวกับทหารอากาศหญิงรายหนึ่งที่ไม่ได้รับสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน เพียงเพราะกฎหมายระบุว่าจะต้องเป็นทหารชายเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ เธอได้แสดงต่อศาลฎีกาว่ากรณีนี้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศ เพราะเหตุจากกฎหมาย เธอจูงใจให้ผู้พิพากษาคิดว่า ในอนาคต ลูกสาวหรือหลานสาวของคุณจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อไป หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งที่หยิบมาอ้างคือมุมมองของ ซารา กริมกี (Sarah Grimké) นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ที่กล่าวไว้เมื่อปี 1837 ว่า
“ฉันไม่ขอให้เพศฉันมีสิทธิพิเศษ ฉันแค่ขอให้พี่น้องเราเลิกเหยียบหัวพวกเราเสียที”
การต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศของกินสเบิร์ก ที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจำนวน 6 คดี เธอสู้อย่างเต็มที่และสุดความสามารถ และชนะไป 5 คดี ผลจากการทำงานเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศและความเสมอภาคของบุคคลนี้เอง ทำให้ในปี 1980 กินสเบิร์กถูกเสนอชื่อและกลายเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อมาในปี 1993 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) เสนอชื่อของ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา และเธอได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1993
‘รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก’ ในสายตานักกฎหมายไทย
แม้กินสเบิร์กจะสามารถเป็นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดี บิล คลินตัน แต่ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เธอต้องผ่านการตรวจสอบประวัติกับผลงานต่อคณะกรรมาธิการตุลาการของวุฒิสภาที่เข้มงวด และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
ในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการฯ กินสเบิร์กกล่าวว่าเธอสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง ด้วยเหตุผลว่า
“เรื่องนี้จำเป็นต่อการช่วยให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ให้เธอมีทางเลือก ให้เธอเป็นผู้ตัดสินใจ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตผู้หญิง ศักดิ์ศรีผู้หญิง และเมื่อรัฐบาลควบคุมการตัดสินใจแทนเธอ เท่ากับถูกมองว่าเธอไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่สามารถรับผิดชอบต่อทางเลือกของตัวเอง”
กินสเบิร์กได้รับเสียงยืนยันจากวุฒิสภาด้วยเสียง 96-3 แน่นอนว่าไม่ใช่จากประโยคนี้ที่เธอกล่าวต่อวุฒิสภา แต่ด้วยประสบการณ์และการทำงานอย่างหนักแน่นของเธอ ทำให้เธอได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา พร้อมทั้งสาบานที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญและบุกเบิกสิทธิสตรี ซึ่งสะท้อนอุดมการณ์ของเธอดังประโยคข้างต้นอย่างชัดแจ้ง จึงทำให้กินสเบิร์กเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาเสรีนิยมในศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา มีหลายครั้งที่เธอต้องเป็นผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยท่ามกลางผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยมในศาลฎีกาแห่งนี้ แต่เธอไม่อ้อมค้อมที่จะเขียนคำคัดค้านที่สะท้อนอุดมการณ์ที่หนักแน่นดังที่ปรากฏในคำคัดค้านคดี Ledbetter v. Goodyear 2006 ว่า
“ศาลไม่มีความเข้าใจหรือไม่ใส่ใจต่อปัญหาแอบแฝง ที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติด้านค่าจ้าง สภาคองเกรสตั้งใจที่จะควบคุมการจ้างงานในโลกความเป็นจริง แต่วันนี้ศาลเพิกเฉยต่อโลกที่ว่านั้น ในเบื้องต้น พวกท่านอาจไม่ทราบว่าผู้ชายได้ค่าจ้างมากกว่า ต่อเมื่อเวลาผ่านไป คงมีเหตุที่ชัดเจนให้ท่านได้สงสัยว่ามีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น…”
คำคัดค้านนี้ส่งผลให้ในเวลาต่อมา สภาคองเกรสผ่านกฎหมายชื่อว่า Lilly Ledbetter Fair Pay 2009 เพื่อปรับแก้เงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการเขียนคำคัดค้านอันร้อนแรงเช่นนี้ ได้ปลุกกระแสความนิยมของเธอในหมู่คนในรุ่นใหม่ของอเมริกา จนได้รับฉายาว่า ‘Notorious RBG’ หรือ ‘ตัวแสบ RBG’ ภาพลักษณ์และอุดมการณ์ผู้พิพากษาเสรีนิยม และการไม่อ้อมค้อมต่อหลักการความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศ ปรากฏชัดเจนในตัวผู้พิพากษาหญิงคนนี้ ซึ่งจะไม่ปรากฏให้เห็นในภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญไทย ที่จะวางตัวและระมัดระวัดการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือแสดงออกว่าโน้มเอียงต่ออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง เขียนง่ายๆ ว่า ‘ต้องเป็นกลาง’
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังกับประโยคที่ว่า ‘ความเป็นกลางที่จำกัดการตรวจสอบ’ นั้นน่าหวาดหวั่นเสียยิ่งกว่าการเปิดเผยอุดมคติทางการเมืองของผู้พิพากษา และสร้างระบบการตรวจสอบจากสาธารณะ เพราะนั่นจะทำให้ผู้พิพากษาระมัดระวังต่อบทบาทการทำหน้าที่ในการตัดสินชะตาชีวิต หรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะต้องตั้งอยู่บนหลักกฎหมาย
หากหันกลับมามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2560 เป็นที่แน่ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมุ่งสู่สภาวะอำนาจนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกับระบบการเมืองไทย จนเดินหน้ามาถึงยุคสมัยของ ‘ตุลาการธิปไตย’ ที่องค์กรตุลาการกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการชี้ขาดปัญหาเรื่องต่างๆ จนทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกับสถาบันตุลาการมากขึ้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยในทศวรรษนี้กลับมีกฎหมายหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือปิดกั้นการตั้งคำถามต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้พิพากษา เช่น รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก จึงแทบจะไม่มีที่ยืนในศาลรัฐธรรมนูญไทย และจะไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างแน่นอน เพราะเธอไม่มีภาพลักษณ์ ‘ความเป็นกลางที่ไม่แสดงออกอุดมการณ์ทางการเมือง’ แถมยัง ‘เถรตรงต่ออุดมการณ์ทางการเมือง’ ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่ ‘ไม่พึงประสงค์’ ของตุลาการรัฐธรรมนูญ
แต่ในสายตาของผู้เขียน รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก เป็นความน่าอิจฉาและเป็นภาพฝันของผู้พิพากษาที่ผู้เขียนอยากเห็นในศาลรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้งที่ยึดโยงกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งความตรงไปตรงมาต่ออุดมการณ์ของตนเอง ทั้งตระหนักต่อความสำคัญของกฎหมายและสถาบันตุลาการ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในอำนาจการถ่วงดุลของหลักการแบ่งแยกอำนาจ รวมถึงการที่เธอเปิดรับต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ โดยไม่มีการฟ้องหมิ่นประมาทใครกลับ
หรือผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญไทยหลงยุคสมัย?
“ผู้พิพากษากลางดูเหมือนผมทุกคนเลย แต่สหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้หน้าตาแบบนี้” ประธานาธิดี จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)
แน่นอนว่าคำพูดเช่นนี้คงไม่ปรากฏในประเทศไทย เพราะไม่มีผู้ใดเคยกล่าวไว้ แต่มันสะท้อนนัยสำคัญที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญไทย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จำนวนทั้งสิ้น 9 คน เป็น ‘ผู้ชาย’ ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนสำรวจถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดของไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จะพบว่ามีเพียง ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิง’ เพียงท่านเดียว คือ ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 28 มีนาคม 2546 – 19 กันยายน 2549 และภายหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้หญิงอีกเลย
สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้พัดมาถึงประเทศไทย แต่บทบาทของผู้พิพากษากลับไม่สามารถตอบสนองได้ ภาพลักษณ์ที่ยึดมั่นต่ออำนาจนิยม ไม่มีความเป็นอิสระ และไม่ยึดโยงกับประชาชน หน้าตาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยย่อมไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของสภาวะการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเพียงชายและหญิง กลุ่มคนชายขอบต่างๆ ที่ถูกหลงลืมจากรัฐ ยังไม่รวมถึงความตื่นตัวต่อการเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลกระจายอยู่ไปในทุกอณูของสังคม การตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ และความต้องการประชาธิปไตยที่เดือดด่านปรากฏอยู่ในเห็นทุกแห่ง
รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก เป็นต้นแบบของผู้พิพากษานอกคอก หัวคิดแบบนักเสรีนิยมและยืนหยัดต่ออุดมการณ์ หากวันใดที่เธอปรากฏตัวขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญไทย คงเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมขนาดมหึมาที่จะสั่นคลอนบรรดาชนชั้นตุลาการเป็นแน่ ก็ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ จะพัดพาคนแบบ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ให้มาถึงศาลรัฐธรรมนูญไทยเสียที
หมายเหตุ: รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก เสียชีวิตในวัย 87 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2020
อ้างอิง
ภาพยนตร์ On the Basis of Sex
สารคดี RBG
ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ – The 101 World Politics
ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนที่สังคมไทยต้องการ? – The 101 World Politics
ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์ – The 101 World Politics
Tags: สหรัฐอเมริกา, ตุลาการ, รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก, Rule of Law, ศาลยุติธรรม, ผู้พิพากษาหญิง