“ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินหรือคุ้นหูอยู่บ่อยครั้ง เมื่อรัฐใช้อ้างเป็นเหตุผลในการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาหรือข้อมูลข่าวสารบางประเภท รวมถึงถูกใช้เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนในหลายกรณี เช่น การสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร การแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นว่ารัฐมีความพยายามอ้างเอาศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนดกรอบของการกระทำบางประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง
อย่างไรก็ดี รัฐไม่ได้ใช้เพียงเหตุผลดังกล่าวเท่านั้น แต่ได้นำกฎหมายมาสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของตนเองด้วย จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การกำหนดขอบเขตของคำว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ นั้น รัฐมีอำนาจในการตีความหรือเป็นผู้ที่กำหนดขอบเขตได้มากน้อยเพียงใด และสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐด้วยหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ความเท่าเทียมระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรเป็นไปอย่างไร
เมื่อรัฐให้เหตุผลว่าเป็นการ ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’
จากมุมมองของรัฐในเรื่องการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่มีต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่าการกระทำหรือกรณีที่เกิดขึ้นนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ในกรณีการปิดกั้นเว็บไซต์ Pornhub ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ชี้แจงว่า มีประชาชนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง แสดงความกังวลต่อเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าว และมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชนได้ จากการร้องเรียนทำให้ทางกระทรวงฯ มีคำสั่งให้ตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนั้น และพบว่าเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือมีลักษณะลามกอนาจาร และมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอยู่หลายยูอาร์แอล (URL) จึงทำการเก็บรวบรวมหลักฐาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมาย 1
หรือในกรณีการจับกุม ‘น้องไข่เน่า’ ผู้ทำคอนเทนต์ 18+ บนแพลตฟอร์ม OnlyFans โดยอ้างว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าไม่สามารถปล่อยผ่านกับกรณีนี้ได้ และเพื่อเป็นการจรรโลงความถูกต้องในศีลธรรมอันดีของประเทศไทย และถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู2
การใช้เหตุผลของรัฐไม่ได้อ้างเพียงเรื่องประเด็นเกี่ยวกับเพศ ศาสนา หรือพฤติกรรมที่รัฐมองว่าไม่เหมาะสม ยังพบว่ารัฐอ้างเหตุผลดังกล่าวนี้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองด้วย เช่น กรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนของไทยว่ามีความล่าช้า และมีแนวทางการจัดหาวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียว รวมถึงมีการแสดงความเห็นในประเด็นที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซเนกา จำกัด ในการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 เพื่อขายให้กับประเทศไทย โดยเนื้อหาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้นายธนาธรถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมีรายละเอียดในการแจ้งข้อกล่าวหาว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของนายธนาธร เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน3
จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ทำให้เห็นว่ารัฐมีมุมมองในการตีความเรื่องของศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ไม่ได้มีทิศทางหรือแบบแผนที่ชัดเจน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น นอกจากการอ้างเหตุผลดังกล่าวแล้ว รัฐยังมีการใช้อำนาจตามกฎหมายเข้ามาสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตนเองอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการตั้งข้อกล่าวหาเอาผิดกับประชาชน
รัฐกับข้อถกเถียงประเด็นศีลธรรมอันดีของประชาชน
มุมมองที่สะท้อนว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชนไม่เพียงปรากฏให้เห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ยังปรากฏให้เห็นในการพิจารณาร่างกฎหมายด้วย จากรายงานการประชุมของกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … 4 (ต่อไปจะเรียกว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’) ซึ่งถูกเสนอให้แก้ไขถ้อยคำในกฎหมาย และมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตีความในเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเป็นการอภิปรายถกเถียงของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีประเด็นว่า รัฐมีอำนาจในการปิดกั้นการเผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ทำให้มีข้อถกเถียงว่า แล้วการกระทำใดที่เข้าข่ายของการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมีความเห็นจากหลายฝ่ายที่กังวลต่อการร่างกฎหมายในลักษณะดังกล่าว เพราะมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน หากเกิดการตีความที่กว้างหรือคับแคบเกินไป อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนได้ ทางคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจึงได้ยกตัวอย่างการกระทำที่เห็นว่าเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น กรณีพระภิกษุประพฤติตนไม่เหมาะสม การแต่งงานกับเด็กหญิงที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 55 ภาพของบุคคลเพศที่สามโป๊เปลือย การที่ผู้หญิงออกมาเต้นในลักษณะยั่วยวนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทำให้มีผู้คนที่ติดตามเห็นเนื้อหาลักษณะยั่วยวนดังกล่าว6 การสอนวิธีการฆ่าตัวตาย หรือการสอนวิธีการปล้น7 การสร้างสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาทำให้คิดได้หลายมุมมอง การกล่าวพาดพิงถึงบุคคลทางการเมืองโดยใช้ชื่อสมมติ8
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจากภาคเอกชน แสดงถึงความกังวลต่อถ้อยคำว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เป็นถ้อยคำที่กว้างเกินไป และอาจทำให้เกิดการตีความส่วนบุคคลได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาต่อการบังคับใช้กฎหมายตามมาในภายหลัง แม้ว่าการพิจารณาว่ากรณีใดจะขัดหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนจะต้องมีมติจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ก่อน ก็ยังคงมีความกังวลในเรื่องของการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวด้วย9
และคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายส่วนหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า ลักษณะการกระทำบางประการที่ประชาชนได้กระทำไปนั้น ไม่ได้ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่อาจเป็นเพียงการไม่ถูกใจหรือไม่ชอบใจตามทัศนคติของคณะกรรมาธิการบางคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การกำหนดขอบเขตหรือการตีความกฎหมายควรจะสร้างความเท่าเทียมระหว่างรัฐและเสรีภาพประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐกำลังจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนเองมากจนเกินไป และสิ่งที่รัฐควรคำนึงถึงอย่างมาก ควรเป็นเส้นแบ่งตรงกลางระหว่างการใช้อำนาจของรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ยังมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า รัฐกำลังเข้ามาเป็นผู้กำหนดระดับของศีลธรรมทางสังคมมากเกินไป ซึ่งหากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้ว การกระทำที่ประชาชนกระทำไปในบางกรณีไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะกระทำได้ รวมถึงรัฐไม่มีอำนาจมากเพียงพอที่จะไปจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้นแล้ว หากรัฐต้องการกำหนดขอบเขตเพื่อเป็นการวางแนวทางปฏิบัติ ควรเป็นการกำหนดกรอบของการกระทำว่าลักษณะใดเข้าข่ายขัดหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนมากกว่า และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป10
อย่างไรก็ตาม จากข้อถกเถียงทำให้มีมติของการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยประเด็นของการตีความเรื่องศีลธรรมอันดีของประชาชนว่า การจะกำหนดนิยามหรือขอบเขตที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความพยายามเอาตัวอย่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายยกมาในข้างต้น ถือเป็นกรอบที่ใช้พิจารณาการกระทำต่างๆของประชาชน และให้ใช้ปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น พิจารณาว่าการกระทำเหล่านั้นนอกจากจะผิดศีลธรรม แล้วมีกฎหมายที่กำหนดความรับผิดด้วยหรือไม่ หรือพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลที่เคยกำหนดขอบเขตหรือเคยให้เหตุผลเอาไว้11
จากมติของการพิจารณาร่างกฎหมาย ทำให้เห็นมุมมองที่รัฐใช้ ซึ่งมีความคับแคบอย่างมาก เพราะตัวอย่างที่ยกขึ้นเสนอในการประชุมนั้นมากจากทัศนคติส่วนบุคคล หรือเฉพาะกรรมาธิการท่านนั้นเพียงคนเดียว โดยไม่ได้ผ่านการถกเถียงหรืออภิปรายต่อตัวอย่างดังกล่าวว่ากรรมาธิการคนอื่นหรือบุคคลภายนอกเห็นด้วยหรือไม่ และการนำเอาตัวอย่างส่วนบุคคลดังกล่าวมาสร้างเป็นกรอบหรือบรรทัดฐานของการพิจารณาทำให้เป็นการสร้างอำนาจที่มากเกินขอบเขตจนไปกระทบต่อสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน
ขัดต่อศีลธรรมอันดี ‘ของประชาชน’ หรือ ‘ของรัฐ’ จุดตรงกลางระหว่างอำนาจรัฐและสิทธิของประชาชนควรเป็นอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ ศีลธรรมที่รัฐใช้อ้างนั้นมีความทับซ้อนหรือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากน้อยเพียงไร เช่น การกระทำที่รัฐอ้างว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมแต่มุมมองของประชาชนอาจมองได้ว่าการกระทำนั้นเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตน หรือกรณีการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นอื่นทั่วไป แต่รัฐมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำของรัฐสะท้อนให้เห็นว่ารัฐพยายามสร้างบทบาทของการเป็นผู้ควบคุม โดยเข้าไปเซนเซอร์ จำกัดมุมมองต่างๆ เพียงเพราะรัฐรู้สึกว่าการกระทำหรือความเห็นเหล่านั้นสร้างความขุ่นเคืองใจ หรือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับรัฐเท่านั้น ทำให้รัฐเอาทัศคติหรือเอาเหตุผลส่วนตัวเอามาเป็นตัวกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมของทุกคนในสังคม วิธีการดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยทำให้สังคมมีศีลธรรมที่ดีขึ้น และไม่ได้ทำให้รัฐสร้างความเป็นกลางให้กับตนเองมากเพิ่มขึ้น
หากพิจารณาจากเอกสารคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การกำหนดโทษอาญาในกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการกล่าวถึงคำนิยามของคำว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ไว้ว่า “กฎเกณฑ์ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ตามประเพณี หรือศาสนา และถือว่าเป็นเครื่องวินิจฉัยความประพฤติว่าถูกต้องหรือไม่ ปกติการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมทำให้นิติกรรมเสียไป แต่การกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นความผิดอาญาก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอันอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่สงบสุข ความวุ่นวายในสังคมได้ ศีลธรรมอันดีของประชาชนอาจมีวิวัฒนาการได้ตามยุคสมัยและตามพื้นที่ การกระทำที่กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงย่อมกำหนดเป็นความผิดอาญาได้ตามยุคสมัย”12 ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำใดขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่นั้น ย่อมต้องตระหนักถึงยุคสมัย สภาพสังคม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย
นอกจากนี้ ในบางประเด็นกฎหมายและศีลธรรมควรพิจารณาแยกออกจากกัน แม้ว่าแต่เดิมทั้งสองสิ่งจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดกฎเกณฑ์หรือความประพฤติของคนในสังคม แต่เมื่อในสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานที่ถูกกำหนดด้วยกฎหมาย และมีความตระหนักถึงประเด็นเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพมากขึ้น จึงต้องนำเอาสิ่งที่เป็นแบบแผนหรือมาตรฐานที่สังคมยอมรับร่วมกันเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสิน กล่าวคือ หากรัฐต้องพิจารณาหรือตัดสินการกระทำใดของประชาชนว่าเป็นความผิดหรือไม่ ควรอ้างอิงถึงหลักการทางกฎหมายก่อนการอ้างหลักการทางศีลธรรม อีกทั้งขอบเขตของคำว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ที่ถูกบัญญัติในบทกฎหมายนั้น ควรจะมีการกำหนดขอบเขตไว้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐไปละเมิดสิทธิของประชาชนด้วย
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่รัฐควรกระทำคือ การสร้างพื้นที่ถกเถียงหรืออภิปรายเปิดรับความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับประเด็นด้านศีลธรรมอันดีของประชาชนว่าควรเป็นไปในทิศทางใด และหาจุดตรงกลางระหว่างการใช้อำนาจของรัฐและสิทธิของประชาชนให้เท่าเทียม ภายใต้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่เปิดกว้าง เพราะท้ายที่สุดแล้วสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ควรเป็นสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญมากกว่าการใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผ่านวาทกรรมที่ว่าการกระทำนั้น ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน’
อ้างอิง
1 The Standard, พุทธิพงษ์ชี้ ปิดกั้นเว็บอนาจารตามคำสั่งศาล ทำเพื่ออนาคตของชาติ ไม่ได้รังแกใคร, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://thestandard.co/puttipong-punnakanta-blocked-pornhub/
2 ไทยรัฐออนไลน์, น้องไข่เน่า สำนึกผิด รู้สึกเสียใจ ตำรวจไซเบอร์ย้ำจับเพื่อจรรโลงสังคมไทย, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/crime/2199025
3 BBC NEWS, ม.112: เปิดข้อกล่าวหาและคำให้การของธนาธร กรณีเฟซบุ๊กไลฟ์ “วัคซีนพระราชทาน”, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.bbc.com/thai/thailand-57312017
4 เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … ร่างมาตรา 20(4) “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่ลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี อาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้”
5 รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 19. วันศุกร์ ที่ 5 สิงหาคม 2559. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 307 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2. หน้า 9
6 อ้างแล้ว, หน้า 15
7 อ้างแล้ว, หน้า 29
8 รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 15. วันพฤหัสบดี ที่ 14 กรกฎาคม 2559. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 301 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2. หน้า 36
9 ข้อเสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559. เลขที่ DTN.LG 019/2559. เอกสารประกอบรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …
10 รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 19, หน้า 21
11 รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ครั้งที่ 81, วันศุกร์ ที่ 16 ธันวาคม 2559, หน้า 67-70
12 คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การกำหนดโทษอาญาในกฎหมาย, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=849187&ext=pdf
Tags: ศีลธรรม, อำนาจรัฐ, วาทกรรม, Rule of Law