Pom Poko ภาพแทนของนักต่อสู้ชายขอบ
ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก (Pom Poko: The Raccoon War) เป็นเรื่องราวของเหล่าทานูกิ หรือจิ้งจอกแร็กคูนญี่ปุ่น ที่อาศัยอยู่เนินเขาทามะ และต้องเผชิญหน้ากับการปรับเปลี่ยนเมืองของสภาพสังคมญี่ปุ่นในช่วงปลายยุค ค.ศ. 1960 ท่านพ่อเมืองคนใหม่ได้วางแผนสร้างเมืองใหม่ใกล้ป่าทามะ เป็นโครงการพัฒนาเมืองใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นเมือง เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนประชากรที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบนี้จึงส่งผลต่อสรรพสัตว์โดยตรง เนื้อเรื่องชูทานูกิเป็นตัวเล่าเรื่องถึงการต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติ ดิ้นรนที่จะดำรงชีวิตอยู่ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และต้องการที่จะหยุดยั้งแผนการพัฒนาเมืองของมนุษย์
“นายต้องนับถือพวกมนุษย์ พวกเขาน่าทึ่งจริงๆ เราเคยคิดว่าพวกเขาเป็นสัตว์เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคิดผิด พวกเขามีอำนาจยิ่งกว่าพระเจ้าอีก”
ประโยคคำพูดที่สรุปนัยความต่างของมนุษย์กับทานูกิได้ในไม่กี่ประโยค ทำไมเราถึงไม่เท่ากัน? ทำไมจึงมีแต่มนุษย์ที่สามารถตัดสินใจว่าอะไรควรจะทำ สิ่งเหล่านี้คงเป็นคำถามที่มีแต่เหล่าผู้ถูกกระทำตั้งคำถามกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ การพัฒนาที่เกิดจากบุคคลไม่กี่คนและไม่สนใจว่าจะกระทบต่อสิ่งใดบ้าง โครงการพัฒนานั้นจึงบีบให้เกิดการเผชิญหน้ากับทานูกิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การพัฒนาที่ขาดส่วนร่วมจากคนทุกภาคส่วนนี้ จึงทำให้เกิดการต่อสู้ ทั้งจากเหล่าฝูงทานูกิ รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนและชุมชน ‘นักต่อสู้ชายขอบ’ ที่ต้องการดำรงชีวิตในพื้นที่ของตนเอง ตามวิถีชีวิตที่ตนต้องการ การดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ พวกเขาและผืนป่าดำรงอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เหมือนเหล่าทานูกิมากมายที่ออกมาขับเคลื่อนต่อสู้กับแผนการพัฒนาที่มาจากรัฐ ทำทุกวิถีทางเพื่อส่งเสียงให้ถึงผู้มีอำนาจเพื่อให้หยุดยั้งโครงการที่กล่าวอ้าง ‘การพัฒนา’ และคำว่า ‘ส่วนรวม’ ด้วยการทำลายทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้ตอบแทนกลับเป็นการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้ใช้ประโยชน์ ด้วยการแลกทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป
ความต่างของทานูกิกับนักต่อสู้ชายขอบ คือเหล่าฝูงแร็กคูนไม่ถือเป็นมนุษย์ พวกเขาเป็นเพียงสัตว์ที่มีสถานะต่ำต้อยในสายตาของมนุษย์ ดังนั้น เพื่อหยุดยั้งการขัดขืนจากเหล่าทานูกิ ก็เพียงแค่ ‘ฆ่าสัตว์ไม่กี่ตัว ปัญหาก็หมดไป’ ขณะที่ นักต่อสู้ชายขอบเป็นประชากรที่อยู่ในการรับรู้ของรัฐและมีสิทธิตามกฎหมายของรัฐทุกประการ (แม้ปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากที่ตกหล่นจากการไม่ได้รับสัญชาติ) แต่กลับเป็นประชากรที่ถูกมองข้าม บ้างถูกรังเกียจเพราะวาทกรรมต่างๆ ที่รัฐตราหน้าพวกเขาว่าเป็นคนทำลายป่าไม้ ไร้การศึกษา และล้าหลัง
ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยกลับเป็นที่ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรอันมีค่า ดังนั้น โครงการของรัฐที่บอกว่าเป็นการพัฒนา จึงก่อเกิดในพื้นที่ของพวกเขาอย่างนับไม่ถ้วน เช่น การประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่ชาวบ้าน โครงการผันน้ำยวม โครงการเสาไฟฟ้าแรงสูง เหมืองแร่อมก๋อย เหมืองแร่ฟลูออไรต์ บ้านแม่ลาน้อยและบ้านห้วยมะกอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกโครงการล้วนเป็นการตั้งแผนที่มาจากส่วนกลาง และตัดสินใจในระดับนโยบาย พร้อมกับผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย แต่กระบวนการขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่มีการออกแบบร่วมกัน ปรึกษาหารือ สอบถามความเห็น รวมไปถึงการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบทั้งทางบวกและลบอย่างเป็นธรรม ทำให้พวกเขาไม่มีปากมีเสียงในแผนการพัฒนาใดของรัฐ ปัญหาเหล่านี้ยังคงดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การต่อต้านในชีวิตประจำวันของทานูกิ
เมื่อเกิดการพัฒนาที่ไม่มีส่วนร่วมจากพื้นที่ ผสานกับสถานะของผู้ต่อต้านที่ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือที่พวกเขาจะใช้ในการหยุดยั้งจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำกัด ในเรื่องปอมโปะโกะ ก่อนที่สังคมทานูกิจะแตกแยก พวกเขามีรูปแบบการต่อต้านที่ผสมปนเปกัน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่เหล่าทานูกิทำ คือการหันกลับมามองทรัพยากรที่พวกตนมีอยู่ สำหรับปอมโปะโกะ พวกเขาต้องประชุมวางแผนเพื่อหยุดยั้งการก่อสร้าง ร่างแผนพัฒนา 5 ปี รื้อฟื้นวิชาแปลงร่าง การเชิญปรมาจารย์ที่เก่งกาจด้านกลายร่างจากต่างเมืองมาเป็นผู้สอนวิชาขั้นสูง เรียนรู้วัฒนธรรม ความคิดของมนุษย์ผ่านโทรทัศน์ ฝึกฝนวิชาการแปลงร่างเบื้องต้น เมื่อฝึกฝนจนได้ที่จึงเริ่มลงมือปฏิบัติการ ที่เริ่มจากการแปลงร่างหลอกหลอนมนุษย์ การรวมพลังแปลงกายที่นำคติความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อแสดงให้มนุษย์เกรงกลัวต่อธรรมชาติ การสร้างภาพมายาให้เห็นความเป็นอยู่ดั้งเดิมของสังคมญี่ปุ่นที่อยู่ร่วมกับป่า ความร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ การให้สัมภาษณ์กับสื่อมนุษย์
แต่ใช่ว่าทานูกิจะเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอไป เพราะยังมีอีกกลุ่มที่ต้องการกำจัดมนุษย์ออกไป จึงใช้วิธีการเข้าต่อสู้ใช้กำลังทางกายภาพ เพื่อเข้าหยุดยั้งการพัฒนาของเมือง ผ่านการแปลงกายขัดขวางการก่อสร้างจนทำให้มนุษย์เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต รวมไปถึงการลักขโมยสิ่งของ และการใช้กำลังเข้าโจมตีมนุษย์โดยตรง ความหลากหลายของวิธีการและความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของฝูงทานูกินี้ ล้วนแต่มีเป้าหมายปฏิบัติการเดียวกัน คือการหยุดยั้งการพัฒนาที่รุกราน (อย่างไรก็ดี ระหว่างเส้นทางการต่อสู้ สังคมทานูกิก็มีความแตกแยกเช่นกัน พวกเขาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยมีกลุ่มที่ยังคงต่อสู้ กลุ่มที่ละทิ้งการต่อสู้เพื่อไปยังโลกหน้า หรือกลุ่มที่แปลงร่างและแฝงรวมอยู่กับสังคมมนุษย์ รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่สามารถแปลงร่างได้และใช้ชีวิตแบบทานูกิต่อไป)
การต่อสู้เช่นนี้ เจม ซี. สก็อตต์ (Jame C. Scott) ได้อธิบายในหนังสือ Weapon of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistant ว่าเป็นการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของคนอ่อนแอ การต่อต้านที่เกิดขึ้นในรูปแบบไม่ปะทะโดยตรงกับผู้มีอำนาจรัฐ แต่พวกเขาแสดงออกถึงการต่อต้านในทุกวิถีทางที่พวกเขาทำได้ ผ่านการนินทา ลักขโมย การต่อสู้ขัดขืนตามวิถีและความสามารถของพวกเขาเหล่านี้สะท้อนถึงการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ หรือวาทกรรมที่รัฐพยายามครอบงำพวกเขา[1]
การต่อสู้ขัดขืนต่ออำนาจของรัฐในชีวิตประจำวัน ยังปรากฏในเฉพาะหมู่นักต่อสู้ชายขอบที่พวกเขาไม่ยอมจำนน ทั้งนี้ จงระลึกเสมอว่าในสังคมมีกลุ่มคนหลายกลุ่มก้อนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สำหรับนักต่อสู้ชายขอบ พวกเขาเริ่มต้นจากสิ่งที่พวกเขามี ใช้วิธีการพูดคุยส่งต่อเรื่องราวภายในหมู่บ้าน ประชุมและสร้างข้อตกลงร่วมกัน ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น พิธีกรรมทางจิตวิญญาณ การขึ้นป้ายคัดค้าน การปิดหมู่บ้านไม่ให้คนภายนอกเข้าหากไม่ได้รับอนุญาต การทำพิธีสาปแช่ง การบวชป่า ไปจนถึงการเดินขบวนคัดค้านเพื่อยื่นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐ ตามช่องทางต่างๆ ทุกหนแห่ง การให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ต่อสาธารณะ จนขยายไปถึงการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจต้องฟังเสียงของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมตามที่กฎหมายกำหนด สิ่งเหล่านี้คือความต้องการส่งเสียงของพวกเขาให้ดังมากที่สุด เพื่อที่ผู้มีอำนาจจะได้รับฟังความเห็นของพวกเขา และจุดยืนที่ต้องการมีส่วนร่วมและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแผนการพัฒนาใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่
การต่อต้านที่มีจุดเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีแบบแผน ไม่มีความสอดคล้อง เริ่มจากสิ่งที่ตนมี เมื่อถูกส่งต่อและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถส่งเสียงที่มีพลังมากพอเพื่อที่จะหยุดยั้งโครงการ ดังนั้น พวกเขาจึงทำทุกหนทางเพื่อส่งเสียงของพวกเขาให้ดังมากพอที่คนในสังคมต้องกลับมาสนใจ และพิจารณาตั้งคำถามต่อโครงการถึงความสมเหตุสมผลของโครงการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติมากพอหรือไม่
ขณะเดียวกัน กลไกช่องทางตามกฎหมายของไทยในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนยังคงเป็นข้อกังขา ว่ามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงหรือไม่ ทำให้การต่อสู้นี้ยังคงดำเนินไปท่ามกลางความพยายามของรัฐที่มุ่งมั่นจะทำให้เกิดโครงการ การหยุดยั้งโครงการเหล่านี้ในโลกความเป็นจริงมิใช่เรื่องง่าย และไม่ยากเกินไปที่จะหยุดยั้ง หากได้รับความช่วยเหลือ ความสนใจของคนในสังคมที่จะมาร่วมเป็นอีกแรงสำคัญที่จะร่วมกันตั้งคำถามและตรวจกับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้
การพัฒนาที่มองเห็นคนเท่ากัน
“คุณคงได้ข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่าจิ้งจอกและทานูกิใกล้สูญพันธุ์เพราะเมืองขยายใช่ไหม
ผมหวังว่าพวกมนุษย์จะเลิกพูดแบบนั้นสักที
ใช่ จิ้งจอกกับทานูกิบางตัวแปลงร่างได้
แต่โชคร้ายที่ส่วนใหญ่หายตัวไม่ได้ แล้วสัตว์ชนิดอื่นล่ะ”
พอนคิจิ
ในแอนิเมชัน เหล่าทานูกิพ่ายแพ้ แตกกระจัดกระจาย บางส่วนที่สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ก็ผันตัวและแฝงกายร่วมอยู่ในสังคม บางส่วนถอยและหันหลังให้กับการต่อสู้ บางส่วนสูญเสีย และบางส่วนที่ไม่สามารถแปลงกายได้ก็ใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติของทานูกิ แต่ภาพสุดท้ายในช่วงฉากจบ คือการร้องรำทำเพลงของเหล่าทานูกิ ที่วิ่งออกมาจากเมืองคลายการแปลงร่างจากมนุษย์ มุ่งเข้าหาฝูงทานูกิในป่า ร้องรำทำเพลง กอดคอเต้นรำอย่างมีความสุขใต้แสงจันทร์ ภายในป่าไม้และแสงไฟจากเมือง แม้ตอนจบ พวกทานูกิคือกลุ่มที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับการพัฒนาของมนุษย์ แต่ถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนตอนจบของเรื่องนี้ได้ ปัญหาของเหล่าฝูงทานูกิและสรรพสัตว์อื่นจะเป็นเช่นไร
หวังว่ามนุษย์จะเลิกพูดแบบนั้นเสียที หากตอนจบ ถูกเปลี่ยนเป็นการพัฒนาที่เห็นหัวพวกทานูกิ แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต และอนาคตของคนรุ่นถัดไป ใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องที่สามารถจินตนาการได้เอง ความหวังในการเปลี่ยนแปลงและอยู่ร่วมกัน ระหว่างมนุษย์กับเหล่าทานูกิและสรรพสัตว์ ระหว่างการพัฒนาเมืองกับวิถีชีวิตที่พวกเขาเป็นผู้กำหนด จะสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้หรือไม่?
และหากจินตนาการของเราไม่หยุดอยู่เพียงในแอนิเมชัน แต่ฝันต่อถึงสังคมที่ ‘คนเท่ากัน’ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้เสมอภาคเท่าเทียม ขณะที่ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จากเดิมที่เป็นระบบการจัดการแบบรวมศูนย์ถูกเปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจมายังประชาชนให้สามารถจัดการทรัพยากรในชุมชนของตนได้ ภายใต้ระบบการกระจายอำนาจ (Decentralization) ควบคู่ไปกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนแต่ละพื้นที่ เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยในผืนป่าได้มีการพัฒนาที่ริเริ่มจากพวกเขากันเอง โดยไม่ตกอยู่กับการพัฒนาที่ออกแบบโดยรัฐ
การจินตนาการนโยบายการจัดการพื้นที่ป่าแบบที่ฝัน แต่ก็อยากทำให้เป็นจริง ถึงเป็นความพยายามหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยที่อยู่ในเส้นทางการเรียกร้องสิทธิการจัดการทรัพยากรมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่ก็ถูกทำให้หายไป ณ ขณะนี้ เหล่าทานูกิมากหน้าหลายตาในประเทศไทย ได้เริ่มมีการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญที่หลายคนต่างวาดฝันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนเท่ากัน ทำให้ความฝันสู่สังคมคนเท่ากันขยับขึ้นไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่จะไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง และสามารถสร้างพื้นที่ให้กับคนที่อยู่อาศัยร่วมกับป่ามีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมการออกแบบการพัฒนา ไม่ว่าผลสุดท้ายของจุดเริ่มต้นของความฝันคนเท่ากันจะเป็นเช่นไร แต่การได้ลงมือทำอย่างสุดความสามารถแม้เพียงเล็กน้อยของเส้นทางการต่อสู้นี้ กลับเป็นแรงผลักดันให้เราหวังถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เอกสารอ้างอิง
Pom Poko: The Raccoon War ทานูกิป่วนโลก
กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. ประวัติศาสตร์และการเมืองของ “พวกขี้แพ้”: การครอบงำ อำนาจ และการต่อต้านในทัศนะของเจมส์ ซี สก็อตต์. วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 (2561)
กวินธร เสถียร. วาทกรรมสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นของสตูดิโอจิบลิเรื่อง “ปอมโปโกะ ทานูกิ ป่วนโลก”. วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวน ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2559.
ไทยโพสต์. ชาวบ้านติดป้ายค้าน “ผันน้ำยวม” คว่ำบาตรหน่วยงาน หวั่นถูกแอบอ้างเดินหน้าโครงการยักษ์ https://www.thaipost.net/district-news/91479/
อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์. รู้ไหม? พื้นที่ป่าไม้ของไทย เหลือเท่าไหร่แล้ว. Salika Knowledge sharing space. https://www.salika.co/2021/03/16/thailand-forest-situation/
Tags: Pom Poko, รัฐ, กฎหมาย, Rule of Law, เหมืองแร่