ว่าด้วยพื้นที่ทางการเมือง: นักการเมืองและโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และเป็นองค์ประกอบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันซึ่งส่งผลสะเทือนต่อทุกองคาพยพ รวมไปถึงในระบอบการเมืองที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ออนไลน์ พื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่การเมืองเข้าด้วยกัน เป็นช่องทางให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองได้โดยไม่คำนึงถึงสถานที่และเวลา ทำให้นักการเมืองใช้วิธีการสื่อสารสาธารณะในพื้นที่โซเชียลมีเดียมากขึ้นและมีความน่าสนใจในพลวัต การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ปรากฏพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต 

แต่ในยุคที่ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือทางการเมืองแผ่ขยายเป็นที่นิยมคือ ในปี 2008 โดยบารัค โอบามา (Barack Obama) ที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมการหาเสียงเลือกตั้งแบบใหม่โดยใช้โซเชียลมีเดีย ในช่วงนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา โอบามาได้พลิกโฉมการหาเสียงเลือกตั้งแนวใหม่ในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายทางโซเชียลมีเดีย และยังเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวทางสังคม มีการระดมพลังหมู่คนรากหญ้า ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างฐานเสียง และประชาสัมพันธ์ผู้สมัครโดยไม่ต้องผ่านองค์กรหาเสียงที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือพรรคการเมือง1 ทำให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ และเกิดเป็นไอเดียสำหรับการเลือกตั้งและการออกแบบกลยุทธ์ทางการเมืองในประเทศต่างๆ 

Social Media สำคัญต่อนักการเมืองอย่างไร? 

ในปัจจุบันนักการเมืองหันมาใช้วิธีการสื่อสารสาธารณะในพื้นที่โซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนของตนเองหรือแจ้งข่าวสารไปยังพื้นที่สาธารณะบนแพลตฟอร์มต่างๆ การใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมืองเป็นไปเพื่อสร้างช่องทางในการสนทนาสื่อสารโดยตรงระหว่างนักการเมือง ผู้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งกับกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงบุคคลทั่วไปก็สามารถติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านทางแพลตฟอร์มได้ด้วย ทำให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือประเด็นทางการเมืองและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง โดยเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังคงครองอันดับแพลตฟอร์มที่นักการเมืองใช้งานมากที่สุด นอกจากเป็นช่องทางในการติดต่อกับกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองเป็นหลักแล้ว โซเชียลมีเดียยังมีความสำคัญในการเป็นเครื่องมือในการหาเสียงที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถสื่อสารสาธารณะในวงกว้างในห้วงเวลาที่พลเมืองสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ทุกหย่อมหญ้า

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมืองที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ เช่น โปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียที่น่าเชื่อถือมักมาจากฝั่งพรรคฝ่ายค้าน พรรคมวยรอง หรือพวกซ้ายสุด ขวาสุดของสเปกตรัมทางการเมือง กิจกรรมทางโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหมู่สมาชิกที่เป็นกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมมักมองว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อตนเองเท่าใดนัก ผู้สมัครเลือกตั้งที่มีฐานะทางการเงินดีชอบใช้บริการเฟซบุ๊กเพื่อโพสต์วิดิโอที่มีการตระเตรียมเนื้อหาที่สมบูรณ์แบบ เป็นต้น

รวมถึงมีงานศึกษาเกี่ยวกับแบบแผนการใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมือง โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้2 ในงานศึกษาได้อธิบายว่า โซเชียลมีเดียเมื่อมาอยู่กับนักการเมืองเปรียบเหมือน ‘ดาบสองคม’ แม้การใช้โซเชียลคือช่องทางที่สร้างประโยชน์มหาศาลต่อตัวนักการเมือง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อนักการเมืองหากมองในเชิงกลยุทธ์ ที่ความผิดพลาดนิดเดียวอาจพ่ายแพ้พลิกแพลงได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียคืออาวุธหนึ่งสำหรับการเผด็จศึกทางการเมือง ซึ่งมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นชัดแล้วเช่น โอบามาในฐานะที่ผู้สมัครประธานาธิบดีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ชนะการเลือกตั้ง จากผลลัพธ์การเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้พลิกผลโพลการเลือกตั้งทุกโพลเอาชนะคู่แข่งตัวเก็งจากการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลข่าวสารและโซเชียลมีเดีย 

ทำไมการเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียถึงเป็นที่นิยม?

“โซเชียลมีเดียมีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ มันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คุณอยู่กับที่ ที่ที่เรียกว่า “กระแส” ซึ่งเป็นสภาวะของจิตใจที่คุณหมกมุ่นอยู่กับมันจนสูญเสียเวลาทั้งหมดไป”

มีสามปัจจัยที่การเมืองในโซเชียลมีเดียสามารถขับเบียดการเมืองในสื่อดั้งเดิมได้

หนึ่ง การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชม ผู้ฟังย้ายจากสื่อหลักออฟไลน์ไปยังสื่อออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถรับข่าวสาร บริโภคข้อมูลจากหน้าฟีดโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ โดยการออนไลน์ทำให้แพลตฟอร์มสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่นักการเมืองก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองในพื้นที่แห่งใหม่ ทำให้ค่อยๆ เบนความสนใจของผู้คนจากสื่อดั้งเดิมได้ รวมถึงความพิเศษของการสนทนาโต้ตอบอย่างการ Live สดบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ยึดโยงผู้คนและพาผู้ใช้งานที่เข้าร่วมใน Live ไปยังสถานที่และเวลาเดียวกันพร้อมกันได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดที่สื่อหลักออฟไลน์ไม่สามารถทำได้ ทั้งรูปแบบการนำเสนอของสื่อหลักออฟไลน์ที่มีการจาระไนและเลือกเนื้อหาที่มีการคัดกรองมาแล้วก่อนนำเสนอ ขาดเสน่ห์ของการสนทนาโต้ตอบ รวมถึงความตรงไปตรงมาของเนื้อหาบางเรื่องที่สื่อดั้งเดิมไม่กล่าวถึง แต่โซเชียลมีเดียอาจเป็นช่องทางในการสื่อสารนั้น 

สอง การเกิดปรากฏการณ์โลกคู่ขนานทวิตเตอร์ (Twitterverse) ที่ได้เปลี่ยนแปลงภาพจำวิธีการสำหรับการสื่อสารทางการเมือง ทวิตเตอร์สามารถแทรกซึมการเมืองให้กลายเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน โลกทวิตเตอร์อาจสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างจากโลกทางกายภาพ เราอาจจะเห็นข้อเท็จจริงคนละชุดจากโลกทวิตเตอร์และโลกทางกายภาพ และอาจสร้างภาระสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องแยกแยะระหว่าง ‘ข้อมูลจริง’ ‘ข้อมูลที่บิดเบือน’ ‘ข้อมูลที่ผิด’ ‘ข้อเท็จจริงทางเลือก’ และ ‘ข่าวปลอม’ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโลกอีกมิติที่สร้างสีสันทางการเมือง มอบความบันเทิงและสร้างความสนใจการเมืองสำหรับกลุ่มคนอายุน้อยผู้ใช้งานทวิตเตอร์ การสร้างวัฒนธรรมคำศัพท์ทางการเมืองที่น่าจดจำและยึดโยงผู้คนภายใต้แฮชแท็ก เช่น ช่วงเลือกตั้งในประเทศไทยได้เกิดการบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง ‘นายกทวิตเตอร์’ ‘นางแบก’ เป็นต้น

สาม การหายไปของสำนักข่าวท้องถิ่นและการเพิ่มขึ้นของ ‘พื้นที่ข่าวออนไลน์’ ทำให้เนื้อหาในโซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลัก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับวิธีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของผู้คน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นหันไปหาแหล่งข้อมูลดิจิทัลมากกว่าสื่อข่าวสารออฟไลน์ทางโทรทัศน์หรือวิทยุ

ด้านมืดของโซเชียลมีเดียบนพื้นที่การเมือง: ถอดบทเรียนโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าพ่อทวิตเตอร์

นักการเมืองโกหกได้ และเมื่อมันเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่ผิดและทฤษฎีสมคบคิดสามารถแพร่กระจายได้ราวกับไฟป่า”3

โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง จากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง4 แต่กระนั้นก็มีด้านมืด หากย้อนไปในปี 2016 ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงหนึ่งที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้เกิดปรากฏการณ์บริหารราชการผ่านทวิตเตอร์ (rule by tweet) แม้ทรัมป์จะสิ้นสุดวาระประธานาธิบดีไปแล้ว แต่พฤติกรรมเรื่องราวของทรัมป์ยังคงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาสำหรับประเด็นของนักการเมืองและการใช้โซเชียลมีเดีย   

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่เสพติดทวิตเตอร์ โดยเฉลี่ยแล้วทรัมป์ต้องทวีตในทวิตเตอร์ไม่น้อยกว่า 7 ทวิตใน 1 วัน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทรัมป์เคยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโจมตีคู่แข่งทางการเมืองในโปรเจกต์ Cambridge Analytica5 และ Project Alamo6 ในการสร้างโรงงานข่าวปลอมและดิสเครดิตคู่ต่อสู้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และออกแบบกลยุทธ์การหาเสียงเลือกตั้งผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งทรัมป์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพล และส่งผลต่อประวัติศาสตร์การเมืองเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์สามารถพลิกผลโพลเลือกตั้งทุกโพลที่บอกตอนต้นว่า ฮิลลารี คลินตัน (Hilary Clinton) คือผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยทรัมป์นั้นใช้โซเชียลมีเดียเป็นสนามรบและมีทวิตเตอร์เป็นอาวุธคู่กายเพื่อโพสต์เนื้อหาที่ใช้กำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทำให้การเมืองและความแค้นส่วนตัวกลืนเป็นเนื้อเดียว วิธีการที่ทรัมป์ใช้จัดการกับคู่แข่งทางการเมือง เช่น มีผลสำรวจกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองของคลินตันคือกลุ่มผู้หญิงอายุน้อย ทรัมป์ดิสเครดิตโดยการขยี้ข่าวที่สามีของนางฮิลลารีเคยใช้อำนาจแสวงหาความสัมพันธ์ทางเพศกับนักศึกษาฝึกงานหญิงเมื่อครั้งยังเป็นประธานาธิบดี ทำให้คลินตันสูญเสียกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก

เนื้อหาของทรัมป์ในทวิตเตอร์ประกอบไปด้วยเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง ถ้อยคำหยาบคาย โดยมีผู้เก็บสถิติความถี่การใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหรือหยาบคายที่ใช้บ่อยอย่างเช่น ‘loser’ (ขี้แพ้), ‘dumb’ หรือ ‘dummy’ (คนโง่), ‘stupid’ (คนโง่) รวมไปถึงการทวีตโดยใช้คำว่า ‘Racist’ (การเหยียดเชื้อชาติ) มีการอ้างถึงบุคคลที่เกลียดตนเองและเป็นผู้แพ้ ‘haters and losers’ และยังมักจะตั้งชื่อเล่นบุคคลสำคัญหลายคน เช่น ทรัมป์เรียกฮิลลารีว่า Crooked Hillary (นังขี้โกงฮิลลารี), Lyin’ Hillary (ฮิลลารีขี้โกหก), Heartless Hillary (ฮิลลารี คนไม่มีหัวใจ) หรือ เรียกผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือว่า Rocket man/little rocket man (ชายจรวดเล็ก) หรือ เรียก Bashar al-Assad ประธาธิบดีแห่งซีเรียว่า Animal assad (ไอ่สั-ว์อาสซาด) เรียก Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดาว่า Justin of Canada (จัสติน แห่งแคนาดา) 

หรือการสร้างเนื้อหาที่เป็นข่าวปลอมเพื่อสร้างความเสียหาย เช่น “Obama was President up to, and beyond, the 2016 Election. So why didn’t he do something about Russian meddling?”

(โอบามาเป็นประธาธิบดีจนถึงตอนนี้ปี 2016 ทำไมเขาไม่ทำอะไรเลยอย่างสอดแนมรัสเซียล่ะ?)

“just found out that former president Obama had wiretapped the phones in his offices at Trump Tower during the last months of the 2016 election” 

เพิ่งรู้ว่า ประธานาธิบดีคนเก่า บารัค โอบามาแอบติดเครื่องดักฟังในตึกทรัมป์ ทาวเวอร์ตั้งแต่เดือนสุดท้ายของการเลือกตั้งในปี 2016 

รวมไปถึงวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญคือ เรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทรัมป์ได้ทวีตถึงเรื่อง ‘Global warming’ เพื่อสื่อว่า ประเด็นโลกร้อนไม่ใช่เรื่องจริง หรือทวีตในทำนองว่า “It’s freezing and snowing in New York – we need global warming” (ที่นิวยอร์กหนาวมากและหิมะกำลังตก พวกเราต้องการโลกร้อน)

ซึ่งทรัมป์ได้สร้างการสื่อสารทางการเมืองรูปแบบใหม่ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่ส่งผลสะเทือนกับสังคมในวงกว้าง เนื่องจากความเป็นผู้นำในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั่วโลกจับตามองการกระทำ ความคิดของทรัมป์ผ่านการใช้งานทวิตเตอร์ และเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมือง ควรเป็นอย่างไร? 

การใช้โซเชียลมีเดียอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญคือ ต้องรับผิดชอบต่อการแสดงออกของตน ความรับผิดชอบนั้นตกอยู่กับผู้ที่ทำการแสดงออกที่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง 

ในทางการเมือง ความสำคัญอย่างหนึ่งของโซเชียลมีเดีย คือการเปิดพื้นที่การเมืองทำให้ประชาชนมีการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากสามารถเข้าถึงพื้นที่ในการแสดงออกของตนได้มากขึ้น แต่กระนั้นเสรีภาพในการแสดงออกควรมีข้อจำกัดหรือไม่อย่างไร ดังเช่น free speech ที่ควรพิจารณาควบคู่ด้วยว่า ใครเป็นผู้นำเสนอและนำเสนอแบบใด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบในวงกว้างอีกทั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย 

การใช้โซเชียลมีเดียของผู้ทรงอิทธิพลคนใดๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ไม่ว่าจะโดยส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดหรือพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบุคคลสำคัญของโลก การใช้งานโซเชียลควรจะต้องมีการระมัดระวังหรือมีมาตรฐานเท่าวิญญูชนทั่วไปหรือไม่ เนื่องจากอาจส่งผลสะเทือนในประชาคมโลกที่อาจก่อให้เกิดการปะทะทางการเมือง หรืออาจก่อความไม่สงบ ความรุนแรง ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นข้อท้าทายที่น่าติดตามในอนาคตว่าจะมีมาตรการควบคุมอย่างไรหรือไม่

 

เชิงอรรถ

Obama and the Power of Social Media and Technology, https://www.gsb.stanford.edu/faculty-research/case-studies/obama-power-social-media-technology

2 Politicians on Social Media: Perceptions of Risk and Reward, https://scholar.harvard.edu/sounman_hong/politicians-social-media-perceptions-risk-and-reward

How (and WHY) Politicians Use Social Media, https://www.kqed.org/education/534692/how-and-why-politicians-use-social-media

4 https://share.america.gov/how-technology-can-strengthen-democracy/

5 Leaked: Cambridge Analytica’s blueprint for Trump victory, https://www.theguardian.com/uk-news/2018/mar/23/leaked-cambridge-analyticas-blueprint-for-trump-victory

Project Alamo – How Trump won the 2016 election., https://semantiko.com/project-alamo/

Tags: , , ,