ความยุติธรรมแค่ในนาม

รัฐบาลโลกตั้งอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แมรีจัวส์ (Mariejois) ทิศทางการบริหารอยู่ภายใต้ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคือ ท่านอิม และ 5 ผู้เฒ่าที่คอยกำหนดทิศทาง เขตแดนของรัฐบาลโลก มีอาณาเขตที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ฉะนั้นรัฐบาลโลกจึงเป็นสถาบันการเมืองขนาดใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุดก็ว่าได้ 

การมีอยู่ของรัฐบาลโลกก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของโลก ความมั่นคง ความสงบสุขและปกป้องเผ่ามังกรฟ้าที่ได้เชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก โดยมีกองทัพเรือทำหน้าที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยของสมาชิกประเทศที่เข้าร่วมกับรัฐบาลโลกจำนวน 170 ประเทศ มีฐานทัพเรือ ณ มารีนฟอร์ด ศูนย์บัญชาการใหม่กองทัพเรือ ทำหน้าที่ในการจับกุม กวาดล้างเหล่าโจรสลัดและบรรดาอาชญากร 

นอกจากนี้รัฐบาลโลกยังมีหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น เอนิเอสล็อบบี้เกาะแห่งการพิพากษา และเรือนจำใต้สมุทรอิมเพลดาวน์ สถานที่ที่ใช้คุมขังโจรสลัดและอาชญากรตัวร้ายของโลก (ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงที่เกี่ยวข้องกับกลไกความยุติธรรม)

การดำรงอยู่ของรัฐบาลโลกในวันพีซ มักจะมีโฆษณาชวนเชื่อที่ปรากฏอยู่บนผ้าคลุมหลังของทหารเรือนาวาเอกขึ้นไปปรากฎคำว่า ‘ความยุติธรรม’ เด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลัง ฉะนั้น การกระทำจากหน่วยงานของรัฐบาลโลกจึงเสมือนการกระทำที่อยู่ภายใต้ความยุติธรรม หรือทำไปเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และองค์กรทั้ง 3 ที่กล่าวมาก็ล้วนต่างเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การเป็นกองกำลังเพื่อจับกุม หรือทำการรบเหล่าโจรสลัด เรื่อยมาจนถึงการมีผู้พิพากษาบัสคาบิล หน่วยคุ้มกฎ รวมถึงคุกใต้มหาสมุทร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการยุติธรรมในโลกของความเป็นจริงทั้งสิ้น

ด้านกลุ่มคนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนี้จึงพุ่งตรงไปที่ ‘กลุ่มโจรสลัด’ ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของหน่วยงานรัฐบาล โดยโจรสลัดมีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มคนที่ออกทะเลเพื่อแสวงหาเป้าหมายของตน สร้างอัตลักษณ์ในแต่ละบุคคล ตามหาไขว้คว้าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการโดยไม่สนวิธีการ ดังนั้น ภาพมายาคติของโจรสลัดในสายตาของรัฐบาลโลกจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่นอกคอกและเป็นอาชญากรที่รัฐบาลจะต้องจัดการเพื่อรักษาสมดุลความมั่นคง และความสงบสุขแห่งท้องทะเล

แต่กระนั้น กลับมีโจรสลัดบางกลุ่มที่ได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐบาลโลก ซึ่งเรียกขานกันว่า ‘7 เทพโจรสลัด’ ประกอบด้วยโจรสลัดที่มีฝีมือเก่งกาจหรือเป็นโจรสลัดที่มีชื่อเสียงให้มาทำงานภายใต้รัฐบาลโลก อันเป็นระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลโลกกับกลุ่มโจรสลัด และเหล่า 4 จักรพรรดิโจรสลัด 

กลุ่มโจรสลัดเหล่านี้มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนที่ต้องทำงานให้กับรัฐบาล แม้จะไม่ค่อยจะได้รับความร่วมมือนัก แต่พวกเขาก็ได้รับสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตั้งค่าหัว ไม่ถูกจับดำเนินคดี หรือสามารถปล้นระดมระหว่างโจรสลัดด้วยกันเอง หรือเข้าถึงอภิสิทธิ์บางอย่างที่โจรสลัดธรรมดาไม่อาจมี ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลในกลุ่ม 7 เทพโจรสลัด จะมีการกระทำที่ผิดกฎหมายสักเพียงใด รัฐบาลโลกและกองทัพเรือก็จะแสร้งมองไม่เห็นไปเสีย ฉะนั้น 7 เทพโจรสลัดจึงได้รับท่าทีที่ไม่ดีและถูกตั้งฉายาจากเหล่าโจรสลัดว่า ‘สุนัขรับใช้รัฐบาล’

หากพิเคราะห์ถึงการกระทำของ 7 เทพโจรสลัด เราจะพบว่า ข้อตกลงเหล่านี้ล้วนยกให้พวกเขากลายเป็น ‘โจรสลัดอภิสิทธิ์’ ที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีเหนือเสียยิ่งกว่าโจรสลัดด้วยกันเอง ข้อแลกเปลี่ยนแบบปิดตาข้างหนึ่งให้กับการกระทำของ 7 เทพโจรสลัด จึงทำให้เกิดความเลวร้ายที่ถูกตั้งคำถามต่อ ‘ความยุติธรรม’ ของรัฐบาลโลก เช่น การกระทำของครอกโคไดล์ที่แย่งชิงประเทศอลาบาสต้า การกระทำของโดฟลามิงโกต่อการรัฐประหารและปกครองประเทศเดรสโรซ่า รวมไปถึงการกระทำของอดีต 7 เทพโจรสลัด มาร์แชล ดี ทีช หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดหนวดดำ ที่บุกเข้าไปและทำลายคุกอิมเพลดาวน์ เพื่อเฟ้นหาอาชญากรลูกเรือที่มีความเก่งกาจมากที่สุด ซึ่งผลจากการกระทำครั้งนี้ก็ส่งผลให้มีอาชญากรร้ายแรงจำนวนมากที่หลุดรอดหนีออกมาได้ แต่การกระทำทั้งหมดทั้งปวงนี้ล้วนไม่ถูกนำเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ และรัฐบาลโลกแม้จะรับรู้การกระทำดังกล่าวก็มิได้มีการจับกุมแต่อย่างใด

กลับกันมาตรฐานและกลไกความยุติธรรมจะดำเนินการทันที หากความมั่นคงของรัฐบาลโลกถูกท้าทาย เช่นกรณีของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง ที่นำโดย มังกี้ ดี ลูฟี่ ซึ่งเป็นกลุ่มโจรสลัดที่แตกต่างจากโจรสลัดกลุ่มอื่น มีภาพลักษณ์แบบเสรีนิยาม ใฝ่หาการผจญภัย มิตรภาพ เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความเสมอภาคไม่มีลำดับความอาวุโส และไม่ทนต่อความ(อ)ยุติธรรม แต่ในสายตาของรัฐบาลโลก ลูฟี่ถูกมองว่าเป็นตัวอันตรายสำหรับสมดุลอำนาจของโลกก็ว่าได้ เพราะจากวีรกรรมของลูฟี่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการล้ม 3 ใน 7 เทพโจรสลัด การชกหน้าเผ่ามังกรฟ้า บุกเข้าไปในเอนิเอสล้อบบี้เพื่อชิงตัวเพื่อนร่วมทีม นิโค โรบิน และแฟรงกี้ กลับคืน บุกเข้าคุกใต้มหาสมุทรอิมเพลดาวน์ และเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามมารีนฟอร์ดเพื่อชิงตัวพี่ชายร่วมสาบาน 

ข้อสำคัญที่สุด ลูฟี่เป็นลูกชายของหัวหน้าคณะปฏิวัติดราก้อน วีรกรรมและสถานะทางสังคมเหล่านี้ล้วนต่างถูกมองว่าเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูกับรัฐบาลโลกอย่างชัดเจน จึงทำให้กองทัพเรือ รวมถึงพลเรือเอก ติดตามไล่ล่าอย่างรุนแรงจนเกือบตาย ซึ่งเราสามารถพบเจอได้ตลอดเนื้อเรื่อง

ดังนั้น หากจะให้นิยามว่าอะไรคือ ‘ความยุติธรรม’ ในโลกของวันพีซ เราจึงสามารถดูได้จากความ(อ)ยุติธรรมในการเลือกปฏิบัติที่เห็นอย่างชัดเจน ตั้งแต่การให้อภิสิทธิ์แก่โจรสลัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (หมายเหตุ: ปัจจุบันได้มีการยกเลิกระบบ 7 เทพโจรสลัดแล้ว) การปฏิบัติที่แตกต่างจากมาตรฐานของกลไกยุติธรรมของรัฐบาลต่อโจรสลัดทั่วไป รวมไปถึงการปกป้องดูแลเฉพาะเผ่ามังกรฟ้า และกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพียง 170 ประเทศเท่านั้น ซึ่งยังมีประเทศที่ยากจนอีกหลายประเทศไม่สามารถจ่ายค่าบรรณาการหรือเงินสวรรค์เพื่อเป็นสมาชิกของรัฐบาลโลก จนทำให้ประเทศเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การคุกคามของโจรสลัด 

สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความยุติธรรมของรัฐบาลโลกวันพีซ เป็นความยุติธรรมที่ต้องเป็นไปตามผู้มีอำนาจสูงสุดที่วางเอาไว้ และไม่ได้มอบให้แก่บุคคลทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การกระทำของบุคคลใดที่พยายามจะฝ่าฝืน แหกคอกจนกระทบต่อสมดุลเหล่านี้ หรือไม่เข้าร่วม จึงสมควรที่จะได้รับการลงโทษ หรือการเพิกเฉยในนามของความยุติธรรมนั้นเอง

แล้วความยุติธรรมของประเทศเราล่ะ?

หลุดจากโลกความฝันของผู้เขียนในมังงะ กลับมาสู่ความเป็นจริงอันเศร้าสร้อยในสังคมเริ่มมีการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และหวนกลับเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้ผ้าคลุมประชาธิปไตยนี้ มีกลไกที่ค้ำจุนความยุติธรรมและความมั่นคงให้ดำรงต่อเนื่องเสมอมา เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำหน้าที่เป็นกำลังหลักเพื่อปกป้องความยุติธรรมที่แม้จะไม่มีผ้าคลุมแต่ก็อยู่ในจิตสำนึกของคนทุกคน

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ต่างถูกเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบนี้เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ฉะนั้น รัฐบาลจึงเป็นสถาบันทางการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในประเทศให้กำหนดทิศทางในการบริหารประเทศ และเพื่อที่ไม่ให้รัฐสามารถใช้อำนาจได้ไปเสียทุกอย่าง จึงจะต้องมีการจำกัดอำนาจของรัฐไว้ ตามหลักการนิติรัฐ (Rule of Law) ซึ่งเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะมีสิทธิและเสรีภาพ จะต้องได้รับการปกครองคุ้มครองจากรัฐ อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใดๆ และรัฐจะไม่สามารถใช้อำนาจที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

แต่สำหรับสังคมไทย ณ ปัจจุบัน เราจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากและภาคภูมิหรือไม่ว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทยเป็นไปตามหลักนิติรัฐและเสมอภาคเท่าเทียม เพราะมีหลายปรากฎการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดความรู้สึกเคลือบแคลงต่อความยุติธรรมในหลายกรณี ที่เกิดขึ้นกับระบบยุติธรรมไทย 

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อกรณีแจ้งความดำเนินคดีกับเยาวชน และบุคคลตามมาตรา 112  การดำเนินคดีที่อ้างการขัดขืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่ไม่สามารถให้สิทธิการประกันตัว หรือมีเงื่อนไขการประกันตัวที่ยาก การวางเงื่อนไขการปล่อยตัว ซึ่งล้วนขัดกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กรณีการเลือกดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมบางกลุ่ม กรณีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญต่อการสมรสเพศเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสิทธิการได้รับประกันตัวของแกนนำ กปปส. ที่มีคำพิพากษาให้จำคุกก็ตาม และกรณีอื่นๆ ที่ปรากฏให้เห็นเต็มไปหมด และไม่นับรวมกับคดีความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผืนป่า การดำเนินคดีกับคนอยากจน ที่จะยิ่งทวีให้เห็นถึงบิดเบี้ยวของหลักกฎหมายในประเทศนี้  หากเพียงส่ายสายตามองและพินิจและตั้งคำถามต่อปรากฎการณ์เหล่านี้

แต่เหตุไฉนนักกฎหมายจึงสามารถทนเพิกเฉยต่อความยุติธรรมเช่นนี้ได้?

ปรากฎการณ์การบังคับใช้กฎหมายของไทยในปัจจุบันนี้ถูกเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างมาก เพราะเราให้ความไม่ยุติธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ต่างออกไปอย่างชัดเจน ในการกดปราบ การใช้กำลังจากรัฐที่รุนแรง กับกลุ่มคนที่นอกคอกในสังคมไทย หรือการบังคับใช้กฎหมายที่เพิกเฉย เป็นอุปสรรคให้กับคนเปราะบาง คนยากจน ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับโจรสลัดในท้องทะเลวันพีซ แบบ ‘ลูฟี่’ ที่ไม่ได้เป็นอาชญากรเที่ยวไล่ปล้น ชิงทรัพย์ ข่มขืนผู้คน เพียงแต่การกระทำของพวกเขาล้วนเป็นปฏิปักษ์ในสายตาของรัฐ

แต่เราเหล่าบรรดานักกฎหมายถูกหล่อหลอมมาให้เชื่อว่า กฎหมายคือกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ตามสำนักความคิดปฏิฐานนิยม (Legal Positivism) กฎหมายจึงถูกแยกออกจากศีลธรรมดังนั้น เมื่อกฎหมายถูกประกาศใช้สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้น นักกฎหมายทั้งมวลแม้จะมองเห็นความ(อ)ยุติธรรมจากกฎหมาย ก็จะตอบว่า “อย่างไรเสียมันก็เป็นกฎหมาย” ที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการตั้งคำถาม ทวงติงถึงความถูกต้องหรือศีลธรรมของกฎหมายนั้นๆ จึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นจากนักกฎหมายเสียเท่าใดนัก (หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านได้โปรดอย่าเข้าใจผิดว่านักกฎหมายเช่นเราจะตัดสิน หรือเชื่อฟังกฎหมายเพราะอิทธิพลจากสำนักความคิดนี้เสียทั้งหมด บางทีอาจจะแค่เป็นเพียงการให้เหตุผลทางกฎหมายที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้กฎหมายก็เท่านั้น) แต่การรับรู้ต่อความหมายอันแท้จริงของแนวคิดนี้อยู่เพียงผิวเผินและเข้าใจผิดอยู่มากเท่านั้น เพราะลึกลงไปสำนักนี้ไม่ได้เรียกร้องให้กฎหมายเพิกเฉยต่อศีลธรรม เพียงแต่พยายามบอกว่าคุณค่าของกฎหมายและศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ สิ่งนี้จึงทำให้เห็นภาวะที่เปลือยเปล่าของกฎหมายว่าเป็นเช่นไร และถูกสร้างขึ้นภายใต้ผู้มีอำนาจเช่นใด และเมื่อคุณค่าของกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อศีลธรรมหรือสามัญสำนึกความยุติธรรมแล้ว มันจึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย หรือผู้คนที่จะต้องท้วงติง ตำหนิประณามเพื่อให้เกิดการแก้ไข

ผลเสียต่อการเพิกเฉยของนักกฎหมายที่ไม่ยอมลุกขึ้นเพื่อตำหนิเมื่อเห็นกฎหมาย หรือการบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกความยุติธรรม สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลต่อวิกฤตศรัทธาต่อระบบกฎหมายไทยที่ยากจะกู้คืน ความบิดเบี้ยวต่อความยุติธรรมที่ปรากฎตัวขึ้นในสังคมไทยอันเป็นผลร้ายให้กับคนบางกลุ่ม แต่เป็นผลดีกับคนบางกลุ่มให้ได้รับอภิสิทธิ์ รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ได้รับการประกันสิทธิตามกฎหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนดอย่างครบถ้วนเฉกเช่นเดียวกับ 7 เทพโจรสลัดหรือมากยิ่งกว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นมุมหนึ่งที่ควรค่าต่อการตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นเช่นไรกันแน่ เป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่ประชาชน หรืออภิสิทธิ์ชนอื่นใด? เพื่อที่จะสามารถสร้างความยอมรับและมองเห็นหน้าตาของความยุติธรรมในประเทศไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง

มังงงะวันพีช One Piece

บรรณกร จันทรทิณ และวัลลภ รัฐฉัตรานนท์. ความคิดทางการเมืองในหนังสือการ์ตูนเรื่อง “วันพีซ” ของเออิโระ โอดะ. วารสารรัฐศาสตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2563)

วรเจตน์ ภาคีรัตน์. (2561). ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา.สำนักพิมพ์อ่าน.

กองบรรณาธิการ. (2021). จินตนาการใหม่ สู่ฝันระบบยุติธรรมไทยที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง.  

Tags: , , , , , ,