ความโด่งดังของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Spirited Away หรือ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ที่เป็นแอนิเมชันจากประเทศญี่ปุ่นแนวแฟนตาซี เขียนและกำกับโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) และผลิตโดยสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) เป็นแอนิเมชันที่ได้รับรางวัลและเสียงชื่นชมอย่างมากจากทั่วโลก บทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการที่จะวิเคราะห์ตัวเนื้อหาของตัวละครหลัก เช่น ชิฮิโระ ฮาคุ ตัวแม่มดยูบาบะ ลิน ผีไร้หน้า และตัวละครอื่นๆ ในโลกวิญญาณมหัศจรรย์ แต่พยายามที่จะส่องขยายถึงประเด็นทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ถูกใช้ในภาพยนตร์อนิเมชั่นในเรื่องนี้ที่ปรากฏสถานที่ดำเนินหลักของเรื่อง คือ ‘โรงอาบน้ำ’

โรงอาบน้ำของเทพเจ้า กับถ่านหินที่เวทมนตร์ไม่ได้สร้าง

หากไม่นับรวมต้นหญ้า ก้อนหิน แม่น้ำ ลำธาร สิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบที่สวยงามของการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว ผู้เขียนกลับพบว่า Spirited Away ได้สอดแทรกการเล่าถึงมิติของโลกวิญญาณที่ต่างออกไปจากภาพจินตนาการของคนทั่วไป เราจะพบว่าในโลกของวิญญาณนี้ ไม่ได้เริ่มเล่าในโลกหลังความตาย หรือความเป็นอยู่ของเทพเจ้า แต่เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับที่การทำธุรกิจในโลกวิญญาณ ที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปรากฏให้เห็นในเรื่องตั้งแต่เริ่มต้น 

ปล่องควันดำของโรงอาบน้ำ ที่ปล่อยควันดำอยู่ข้างๆ อาคารโรงอาบน้ำ แสดงให้เห็นว่าในอาคารกำลังเกิดอะไรบ้างอย่างขึ้น เป็นฉากที่ทำให้ชิฮิโระรู้สึกตัวว่ามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในสถานที่นั้น และเมื่อตัวชิฮิโระต้องติดอยู่ในโลกของวิญญาณ เธอได้ทำตามคำแนะนำของฮารุ ที่แนะนำให้เธอไปของานจากคามาจิ ที่ทำงานอยู่ในห้องไอน้ำ เพราะทุกคนในโลกวิญญาณนี้ต้องทำงาน มิฉะนั้น ยูบาบะจะเสกให้เป็นสัตว์ ดังนั้น ชิฮิโระจึงเดินทางไปหาคามาจิ ระหว่างการเดินทางไปห้องไอน้ำนั้น เราจะพบความเป็นอุตสาหกรรมปรากฏในแอนิเมชันเรื่องนี้ 

เส้นทางไปสู่ห้องไอน้ำอยู่บริเวณด้านหลังและอยู่ด้านใต้โรงอาบน้ำ เธอเดินผ่านท่อความดันที่มีไอน้ำถูกปล่อยออกมามากมายเรียงกัน เมื่อเข้าไปในห้องทำงานของคามาจิ จะพบว่าภายในมีเพียงคามาจิและทาสจิ๋วตัวเล็กๆ ดำๆ มีแขนขาเป็นเส้นดำเล็กๆ ที่กำลังแบกถ่านหินให้เข้าไปในเตาอบ ไฟสีส้มระอุออกมาจากเตาอบ ทำให้เรารู้สึกได้ว่าภายในนั้นร้อนเพียงใด เจ้าทาสจิ๋วจึงต้องมีจังหวะในการโยนถ่านหินเข้าไป และมีตัวคามาจิคอยเป็นคนควบคุมเครื่องจักรกลนั้น ซึ่งคามาจิแนะนำตัวเองว่าเป็นตาแก่ที่เป็นทาสใต้โรงอาบน้ำ สิ่งที่เขากำลังทำคือการควบคุมเครื่องจักรเพื่อการสร้าง ‘น้ำร้อน’ ที่เป็นวัตถุดิบหลักของโรงอาบน้ำ ซึ่งแหล่งผลิตน้ำร้อนนี้เอง ที่ใช้เชื้อเพลิงของถ่านหินในการทำน้ำให้ร้อน และทำให้โรงอาบน้ำมีชีวิตชีวา ทั้งยังสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ยูบาบะ เช่นเดียวกัน การใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินนี้ก็ยังปลดปล่อยควันดำออกมาเหนือโรงอาบน้ำเช่นกัน

หากเราลองหันมาสำรวจคามาจิและทาสตัวจิ๋วที่ทำงานอย่างหนักเพื่อขนถ่านหินและควบคุมเครื่องจักรนั้น เป็นงานที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ดีมากนัก เจ้าทาสตัวจิ๋วต้องคอยยกถ่านหินที่หนัก และต้องเป็นพวกมันเท่านั้นที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเพียงก้อนดินดังเดิม คามาจิเองก็ต้องทำงานควบคุมการผลิตน้ำร้อนด้วยตัวเอง คอยผสมน้ำอุ่นตามคำสั่งที่ได้รับ พร้อมๆ ไปกับการควบคุมให้เข้าทาสจิ๋วทำงานขนถ่านหินอย่างต่อเนื่อง นับว่าการทำงานในห้องอบไอน้ำนี้เป็นงานที่หนักและสกปรก เหมือนดังที่คามาจิปฏิเสธชิฮิโระว่า “แถวนี้มีแต่ควันโขมงและตัวพวกตัวกะเปี๊ยกช่วยกันขนดินเต็มไปหมด และมีตัวสำรองให้เลือกใช้อีกเยอะแยะ”

ถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปรากฏตัวขึ้นภายในแอนิเมชันเรื่องนี้ ซึ่งถูกใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสร้างน้ำร้อน ที่โดยปกติ การทำน้ำร้อนนั้นต้องผ่านการถูกต้มด้วย ‘ฟืน’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเริ่มแรกในการสร้างความร้อน ตั้งแต่การสร้างความอบอุ่นภายในบ้าน การทำอาหาร หรือต้มน้ำแต่ในเรื่องนี้กลับนำ ‘ถ่านหิน’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีการในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้ามาใช้กับโรงอาบน้ำของเทพเจ้า เมื่อพิจารณาจำนวนของเทพเจ้าที่เข้ามาใช้บริการโรงอาบน้ำ ก็จะพบว่า ‘โรงอาบน้ำ’ เป็นเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ที่จำเป็นจะต้องใช้ท่อไอร้อนและท่อส่งน้ำร้อนมากมาย เพื่อที่จะสร้างความสะดวกสบายให้กับเทพเจ้าที่เข้ามาใช้บริการแช่น้ำร้อน 

แม้ภายในเนื้อเรื่องจะไม่ได้เน้นไปที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมของโลกวิญญาณ แต่เมื่อนำเวลาที่แอนิเมชันเปิดตัวในปี 2001 กลับเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกมนุษย์ในความเป็นจริงกระโดดเพิ่มสูงขึ้น น้ำมันและถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีความต้องการนำไปใช้เป็นสองอันดับแรก นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก จนความนิยมในการใช้ถ่านหินแพร่ขยายไปทั่วโลก

มิติโลกมนุษย์กับการเผาผลาญถ่านหิน 

ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติหรือฟอสซิล ที่เกิดจากการสะสมตัวซากพืชซากสัตว์ตามธรรมชาติ และทับทมกันจนเป็นชั้นตะกอนมาหลายพันปี มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศตะวันตกในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการขุดพบถ่านหินและถูกนำมาใช้กับเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม และถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการถลุงเหล็กและทำความร้อนในเครื่องจักรไอน้ำ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ โรงงานผลิตน้ำตาล แป้ง และต่อมาจึงมีการนำมาใช้ในเครื่องจักรไอน้ำเคลื่อนหัวรถจักรและเรือเดินสมุทร 

การค้นพบและการนำถ่านหินมาใช้นี้ ได้เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงของมนุษย์ไปตลอดกาล แทนที่การใช้เชื้อเพลิงจากไม้ ทั้งยังนำไปสู่การเปลี่ยนแรงงาน เดิม ที่มีการใช้แรงงานจากมนุษย์และสัตว์ กลายเป็นการใช้แรงงานจากเครื่องจักร ซึ่งไม่จำเป็นต้องหยุดพัก และไม่ต้องขึ้นกับสภาพภูมิอากาศอีกต่อไป

การค้นพบการใช้ถ่านหินได้แพร่หลายออกไปยังกว้างขวาง ด้วยการขนส่งถ่านหินทางรถไฟและเรือ จึงทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 19 การใช้ถ่านหินสามารถขนส่งกันข้ามประเทศหรือทวีปได้ เช่น การขนส่งถ่านหินในเครือสหราชอาณาจักรไปสู่ประเทศอาณานิคมในทวีปเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบการขนส่งทั้งมวลจึงใช้เชื้อเพลิงถ่านหินตามอุตสาหกรรมทำความร้อนเครื่องจักรไอน้ำและการถลุงเหล็ก 

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการใช้ถ่านหินมากกว่ายุโรปตะวันตก และอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีการใช้ถ่านหินมากที่สุดของโลก ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงที่สอง มีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้น เช่น เตารีด ไฟฟ้า วิทยุ ของใช้ในครัวเรือน

การผลิตเหล็ก รถไฟ เรือขนส่งสินค้า การก่อสร้างสะพาน อุปกรณ์เครื่องกล ล้วนพึ่งพาถ่านหิน และในปี 1929-1941 ในประเทศอเมริกา บ้านเรือนของประชาชนที่มีวิทยุ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 1900 อเมริกามีการใช้ถ่านหิน 1 ตัน ต่อ 1 ชั่วโมง แต่ในปี 2003 มีการใช้ถ่านหิน 3.5 ตัน ต่อ 1 ชั่วโมง ดังนั้น ในศตวรรษที่ 20 ถ่านหินถูกใช้เพื่อผลิตกลไกต่างๆ ด้วยการขุดถ่านหินขึ้นมาจากพื้นดิน และการขุดจากผิวหน้าดิน การเติบโตของภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน จึงนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก จนทำให้อเมริกามีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากที่สุดในโลก

ข้ามฝั่งมายังทวีปเอเชีย ประเทศที่มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทั้งอันดับ 1 และ 2 อยู่ในทวีปนี้ ซึ่งก็คือจีนและอินเดีย โดยศตวรรษที่ 20 ประเทศจีนเริ่มมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 1945-1977 มากกว่า 4 ใน 5 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศจีน ล้วนมาจากเชื้อเพลิงถ่านหิน แถบชนบทในจีนต่างมีการสร้างทางรถไฟ ถนน และโครงการถ่านหิน ทำให้ในปี 1997 จีนได้มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอย่างแพร่หลาย และส่งออกไปยังต่างประเทศ การตื่นตัวของอุตสาหกรรมในจีนได้ทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

แนวโน้มการบริโภคถ่านในทวีปเอเชียแปซิฟิกยังคงเพิ่มขึ้น เพราะประมาณ 80% ของถ่านหินโลกอยู่ที่ทวีปเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งในปี 2014 มากกว่า 50% และการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งในทวีปนี้ยังมีแผนขยายการใช้พลังงานประมาณ 76% ของเชื้อเพลิงถ่านหิน และมีแผนการที่จะใช้ถ่านหินเพิ่มอีก 94% ในอนาคต นอกจากนี้ ถ่านหินถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในสายการผลิตอุตสาหกรรม และพลังงานความร้อนในที่อยู่อาศัย และผลิตภัณฑ์จากเหล็ก 

ด้านประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีแผนการขยาย หรือมีศักยภาพในการเพิ่มกำลังการผลิต เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม ที่จะใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่กัมพูชา และลาว แม้จะมีศักยภาพต่ำ แต่ก็มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทำให้ภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินประมาณ 5% ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้การบริโภคการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินของโลก ยังอยู่ที่ฝั่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ข้อมูลจาก UNESCAP, Coal Phase out and Energy Transition Pathway for Asia and the Pacific

 

การเติบโตของการบริโภคถ่านหินขึ้นสู่จุดสูงสุดใน ปี 2013 และคาบเกี่ยวในปี 2017 และ 2018 เพราะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ประมาณ 80% ของถ่านหินโลกอยู่ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีการใช้ถ่านหินสูงสุดในปี 2014 มากกว่า 50% ของถ่านหินถูกใช้ในประเทศจีน ซึ่งใช้ถ่านหินประมาณ 2 ใน 3 ของถ่านหินโลกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า มีการใช้สูงสุดในปี 2013 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2019

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2007 ประเทศในกลุ่มสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนาหรือ OECD กลับมามีความต้องการลดการใช้ถ่านหินลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่สวนทางกับแนวโน้มการใช้ถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ช่วยกันทำให้ถ่านหินถึงตอนอวสานในโลกมนุษย์

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จัดเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุของการทำให้เกิด ‘สภาวะโลกร้อน’ (Global warming) และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อถ่านหินถูกเผาไหม้ จะปล่อยก๊าซต่างๆ ที่เป็นมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matters) และก๊าซต่างๆ มากมาย เช่น ซัลเฟอร์ออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝนกรด ปรากฏการณ์สภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Gas Effect) หมอกควัน (Smog) และหมอกควันซัลฟิวรัส (Sulfurous Smog) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดการเผาไหม้ของถ่านหิน เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และส่งผลทำให้เกิดปรากฏการณ์สภาวะเรือนกระจก

เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่สภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลไม่ปกติและไม่อาจย้อนกลับไปสู่ฤดูกาลแบบเดิมได้ เกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘อากาศแบบสุดขั้ว’ (extreme weather) หนาวก็หนาวสุดขั้ว ร้อนก็ร้อนที่สุด และประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อนมากที่สุด ทั้งด้านเกษตรกรรมยังเสี่ยงต่อผลกระทบที่มาจากภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือ พายุ จนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และนำไปสู่การสูญเสียที่ทำกินและผลผลิตทางเกษตรกรรม

ดังนั้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศา เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ 1.5 องศาเซลเซียส (หากเป็นไปได้) ภายในสิ้นศตวรรษนี้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในหลายประเทศทั่วโลกจึงได้ออกมาประกาศยุติการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ประเทศในฝั่งตะวันตกแถบยุโรปได้วางเป้าที่จะลดการใช้ถ่านหินให้มากที่สุด โดยสหราชอาณาจักรวางแผนที่จะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วที่สุดภายในปี 2022 ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้นำสหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง และให้คำมั่นสัญญาที่จะมุ่งเน้นการใช้พลังงานที่สะอาด รวมไปถึงท่าทีจากประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่วางเป้าหมายว่าจีนจะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 0 (Carbon Neutral) ภายในปี 2060 

ขณะที่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยีที่เป็นพลังงานทางเลือกเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงคำมั่นสัญญาที่มาจากผู้นำประเทศจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่ากระแสของประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาด ด้วยการหันไปศึกษาและลงทุนในพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานน้ำ กังหันลม หรือโซลาร์เซลล์ ที่มีความสะอาดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการใช้พลังงานจากถ่านหิน 

ในวันที่โลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากการใช้พลังงานถ่านหินมานานถึง 3 ทศวรรษ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นต้นเหตุความขัดแย้งจากการช่วงชิงทรัพยากรในพื้นที่ระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมถ่านหิน หรือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ หรือที่กำลังจะเกิดเหมืองถ่านหินขึ้นที่อำเภออมก๋อย ปอดบริสุทธิ์ของเชียงใหม่ ควรถึงเวลาที่โลกมนุษย์ของเราจะยุติการใช้ถ่านหินเพื่อรักษาโลกใบนี้ให้อยู่รอดไปได้นานๆ และร่วมกันส่งต่อสภาพอากาศที่ดีให้แก่ลูกหลานในรุ่นต่อไป

 

อ้างอิง

ภาพยนตร์ Spirited Away

มิติวิญญาณมหัศจรรย์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

Simon Pirani, “Burning up” A Global history of Fossil Fuel consumption.  

Killing coal, Time to make coal history, Time to make coal history | The Economist

ESCAP, Coal Phase out and Energy Transition Pathway for Asia and the Pacific, 2021

 

 

 

Tags: , , , , ,