Nevermind และเด็กทารกว่ายน้ำ ตำนานของวงดนตรีกรันจ์
Nevermind คือสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สองของวงดนตรีกรันจ์ดิบห่ามนาม Nirvana ที่ปล่อยมาในปี 1991 ภายใต้สังกัด DGC Records ประกอบไปด้วยผลงานเพลงอมตะอย่าง Smell Likes Teen Spirit, Lithium และ Come As You Are เพิ่งจะมีอายุครบ 30 ขวบปีไปเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
อัลบั้มนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ดนตรีร็อก ด้วยแนวทางคอร์ดอันแปลกใหม่และทันสมัย ท่อนฮุกที่เข้าถึงง่ายมากกว่าอัลบั้มก่อน ริฟฟ์กีตาร์และกลองทรงพลัง ฝีไม้ลายมือที่ถูกถ่ายทอดในผลงานเพลงในอัลบั้มชุดนี้ กลายมาเป็นหลักการพื้นฐานของดนตรีกรันจ์ ประหนึ่งตำราให้แก่ศิลปินรุ่นหลัง และเป็นภาพจำแห่งยุคสมัยของแฟนเพลง
อัลบั้ม Nevermind ทำยอดขายไปได้ถึง 30 ล้านชุดทั่วโลก และได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดสหรัฐในปีต่อมาหลังปล่อยอัลบั้มครั้งแรก (ขณะเดียวกันก็มียอดขายที่ 3 แสนชุดต่อสัปดาห์) ส่งผลให้วง Nirvana ได้ทะยานขึ้นมาเป็นศิลปินแนวหน้าในวัฒนธรรมดนตรี เป็นสัญลักษณ์แห่งอัลเทอร์เนทีฟร็อกของศตวรรษที่ 20s-21s เป็นแรงบันดาลใจและรากฐานทางวัฒนธรรมของวัยรุ่นทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ทารกล่อนจ้อน ของลับของเบบี๋ในฐานะงานศิลปะ
นอกจากสไตล์ดนตรี ความโดดเด่นของปกอัลบั้มนี้คือภาพทารกเปลือยกายล่อนจ้อน กำลังแหวกว่ายไขว่คว้าธนบัตรฉบับหนึ่งดอลลาร์ฯ ที่ถูกเกี่ยวด้วยคมเบ็ดตกปลา ซึ่งสามารถตีความได้ทั้งในแง่ของความสมจริง และแง่ของการต่อต้านพันธนาการของสังคม โดยเฉพาะการมีเนื้อหาที่ปรากฏให้เห็นถึงความโป๊เปลือย ความเป็นทุนนิยมจากการใช้ธนบัตรมาเป็นเหยื่อล่อ ซึ่งกลายมาเป็นภาพจำและสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ วัฒนธรรมทางสังคมและพัฒนาการของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อาจทำให้ประวัติศาสตร์นี้อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อ ‘สเปนเซอร์ เอลเดน’ ในวัย 30 ไม่อยากถูกจดจำอีกต่อไป
“วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมา แล้วก็พบว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ระดับยักษ์นี้ มันเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจนะ เหมือนกับว่า คุณมีชื่อเสียงจากมัน ทั้งๆ ที่คุณก็ไม่ได้ทำอะไรเลย”
ปัจจุบัน ทารกล่อนจ้อนคนนั้นได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อายุ 30 ปีที่ชื่อว่า สเปนเซอร์ เอลเดน และกำลังมีข้อพิพาทกับวง Nirvana เกี่ยวกับภาพปกอัลบั้ม เอลเดนตัดสินใจใช้สิทธิทางกฎหมายต่อบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากภาพที่ตัวเองเปลือยกายล่อนจ้อนในขณะเป็นทารกนั้น ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเขา ซึ่งมันเป็นความเสียหายต่อเนื่องที่มีผลถาวร (Permanent harm)
“นับตั้งแต่ภาพนั้นถูกถ่ายขึ้น ผมก็พบกับสภาวะแปลกๆ ผมไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวยังไงในที่สาธารณะ มีวันหนึ่งผมกำลังจะออกไปเล่นเบสบอล แล้วอยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่า ทุกคนในสนามน่าจะเคยเห็นน้องชายของผมกันหมดแล้ว แล้วผมก็รู้สึกเหมือนสิทธิมนุษยชนของผมมันหายไปบางข้อ”
ที่ผ่านมา มีภาพจำว่าเอลเดนได้ถ่ายภาพในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบอัลบั้ม Nevermind บ้างตามโอกาส และดูเหมือนเขาจะมีความสุขที่มันเป็นเช่นนั้นในหลายปีที่ผ่านมา แต่ในเดือนสิงหาคม 2021 ทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อเอลเดนได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำอัลบั้ม ด้วยข้อหาการใช้ประโยชน์จากภาพอนาจารเด็ก และการเผยแพร่สื่อลามก (Child Exploitation และ Pornography) โดยให้เหตุผลว่า ภาพอวัยวะเพศของเขาที่ปรากฎในอัลบั้มนั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่เขามาทั้งชีวิต (Life Long Damage) และเขาหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องนี้ เนื่องจากเขาไม่ต้องการจะให้ทุกคนมาเห็นของลับของเขาอีกต่อไป
“ผมมักจะรู้สึกไม่ดีเสมอ เวลาได้ยินว่าเรื่องนี้มันมีเงินมาเกี่ยวเป็นจำนวนขนาดไหน”
เอลเดนได้ทำการฟ้องเรียกร้องเงินจำนวน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำอัลบั้ม Nevermind ซึ่งรวมไปถึงอดีตสมาชิก เดฟ โกรล และ คริสต์ โนโวเซลิก, ช่างภาพที่ทำการถ่ายภาพ, กระทั่งภรรยาหม้ายของเคิร์ต โคเบนอย่าง คอร์ตนีย์ เลิฟ พร้อมทั้งข้อเรียกร้องให้ลบภาพของเขาจากอัลบั้มในทุกรูปแบบในอนาคต
ภาพทารกเปลือยกายนั้นเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ในร่างกายของเอลเดน ดังนั้นภาพของลับและชื่อของเขาจึงได้ถูกผูกติดไปกับความสำเร็จมหาศาลของผลงานชิ้นนี้ด้วย และมันไม่ใช่เพียงแต่เผยแพร่ไปยังแฟนเพลงบางกลุ่มเท่านั้น แต่มันเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วยยอดขายประวัติศาสตร์ ทั้งมีการนำไปผลิตซ้ำภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น เสื้อยืดโปรโมตอัลบั้ม โปสเตอร์ของอัลบั้ม กระทั่งถูกผลิตซ้ำจากแฟนเพลง หรือถูกนำไปดัดแปลงผ่านความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ แต่สำหรับเอลเดนแล้ว มันอาจเป็นขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเขาซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสำเร็จของอัลบั้ม Nevermind คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะลบภาพทารกคนนั้นออกจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และจะยังคงเป็นภาพจำของแฟนเพลงเมื่อได้ยินบทเพลงหรือเมื่อพูดถึงชื่อของ Nirvana แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนรูปแบบของการฟังเพลงแบบเดิมๆ มาอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิง การสะสมผลงานของศิลปินในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอาจจะมีการแก้ไขปกอัลบั้ม Nevermind ในโลกดิจิทัล
‘สิทธิที่จะถูกลืม’ เมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถหลงลืมได้
ก่อนหน้านี้ราวยี่สิบปี มักจะมีความเชื่อว่าเรานำเสนอสิ่งใดไปในอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจะไม่มีวันลืมและมันจะคงอยู่อย่างนั้นตลอดไป จนกระทั่งในปี 1998 ในคดี La Vanguardia ที่ประเทศสเปน ศาลยุติธรรมได้ปฏิเสธความเชื่อนั้น และยืนยันว่าอินเทอร์เน็ตสามารถลืมได้ โดยสร้างหลักการขึ้นมาคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะถูกลืม และก้าวไปในอนาคตด้วยวิถีทางของตนเอง แนวคิดนี้เป็นบ่อเกิดของ ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ (Right to be Forgotten)
ในทางกฎหมาย ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ หมายถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล ในการร้องขอต่อปัจเจกบุคคลหรือองค์กรที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไว้ในครอบครอง ให้ทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลของตนออกเสีย เนื่องจากไม่ยินยอมจะให้มีการใช้ข้อมูลนั้นอีกต่อไป นอกจากนี้ สิทธิที่จะถูกลืมยังเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation) ในข้อ 17 เรียกว่า ‘สิทธิที่จะขอให้ลบ’ และ ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ (Right to be Forgotten, Right to Erasure)
สิทธิที่จะถูกลืมนั้นเป็นหนึ่งในสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งหมายความว่าคนทุกคนมีสิทธิในการใช้ชีวิตแบบที่ตนต้องการโดยไม่ถูกละเมิดด้วยพันธะของอดีตที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเนื้อหาที่เคยปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นคือประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นสังคม การชั่งน้ำหนักระหว่างปัจเจกบุคคลและประวัติศาสตร์วัฒนธรรม จึงมาพบกันตรงกลางคือ หากเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูลของตน ผู้มีอำนาจในการควบคุมก็ย่อมจะต้องจำกัดการเข้าถึงนั้น ไม่ใช่การลบออกไปทั้งหมด เพราะมิฉะนั้น ในที่สุดสังคมก็อาจจะไม่มีประวัติศาสตร์ใดๆ หลงเหลืออยู่เลย
เมื่อภาพทารกบนปกอัลบั้มสามารถสืบย้อนได้ว่าเป็นภาพของสเปนเซอร์ เอลเดน และเขาไม่ต้องการให้ข้อมูลของเขาเผยแพร่แก่สาธารณะอีกต่อไป ก็ย่อมเป็นสิทธิของเอลเดนในฐานะเจ้าของข้อมูลที่จะถูกลืมว่าเป็นทารกล่อนจ้อนว่ายน้ำบนปกอัลบั้ม Nevermind และได้ใช้ชีวิตในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งในสังคม
แต่ทั้งนี้ ภาพทารกที่ปรากฏในอัลบั้มมาตลอดนั้นไม่สามารถลบออกไปทั้งหมด เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมร็อก และเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม การแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นการค้นหาจุดกึ่งกลางระหว่างสเปนเซอร์ในฐานะเจ้าของข้อมูล กับภาพจำของอัลบั้มที่เป็นประสบการณ์ร่วมของสังคม ดังนั้น ภาพทารกว่ายน้ำจะยังมีอยู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่จะมีการจำกัดการเข้าถึงภาพทารก ซึ่งทำได้โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงภาพปก Nevermind ที่จะทำการผลิตในอนาคต
What’s next?
แม้ว่าในอัลบั้มพิเศษ Nevermind 30th Anniversary Edition ที่จะวางขายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะยังคงเป็นรูปทารกล่อนจ้อนว่ายน้ำอย่างที่เคยเป็นมา แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าทารกล่อนจ้อนจะอยู่เคียงคู่กับ Nevermind ตลอดไป เนื่องจากข้อเรียกร้องของสเปนเซอร์ เอลเดน คือการลบภาพของเขาจากอัลบั้มในทุกรูปแบบในอนาคต ด้วยพัฒนาการของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและพลวัตทางสังคม
ขณะที่ เดฟ โกรล ฟรอนต์แมนของวง Foo Fighters และอดีตมือกลองคู่บุญแห่ง Nirvana ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า
“ผมมีความคิดที่จะเปลี่ยนภาพปกนั่นอยู่นะ มาคอยดูกันว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ผมมั่นใจว่ามันจะต้องออกมากับอะไรดีๆ แน่”
น่าติดตามกันต่อไปว่ากรณีพิพาทนี้จะจบลงอย่างไร
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-58327844
https://www.foxnews.com/entertainment/dave-grohl-reacts-lawsuit-nirvana-nevermind-album-cover
https://news.artnet.com/art-world/iconic-nirvana-nevermind-baby-cover-recreated-671495
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-58327844
https://www.cbc.ca/news/entertainment/nevermind-baby-nirvana-album-cover-sues-band-1.6153080
https://blogs.illinois.edu/view/25/115958
https://www.chula.ac.th/cuinside/2509/
Tags: Rule of Law, Nirvana, สิทธิที่จะถูกลืม