ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนต่างเชื่อกันว่า สังคมไทยมีพัฒนาการทางการเมืองการปกครองอย่างต่อเนื่อง และกำลังสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ลงปักฐานในหลายทศวรรษ บรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพเปิดกว้างยิ่งขึ้นกว่าอดีต
แต่ไม่ว่าสังคมจะมีพัฒนาการหรือเสรีภาพมากขนาดไหนก็ตาม ก็ยังต้องมีการตีกรอบผ่านกฎหมายที่กำกับควบคุมให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติยังคงเป็นสิ่งที่ต้องมีและหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามสำนวนอมตะที่ว่า ‘ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย’ (Ubi societas, ibi jus)
ลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎหมายที่ดำรงอยู่ในระบบ ก็อาจเปรียบเสมือนเงาสะท้อนถึงรูปร่างหน้าตาของระบบสังคมนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร หากสังคมใดมีกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก และเลือกปฏิบัติด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ก็อาจชี้ให้เห็นว่า สังคมนั้นอาจมีรูปร่างหน้าตาเป็นสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไร้ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย
ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงพยายามตั้งคำถามว่า รัฐและสังคมไทยจะมีรูปลักษณ์ของสังคม ผ่านการออกกฎหมายเพิ่มเติมไปจากที่เห็นอยู่อย่างไรอีกได้บ้าง โดยมุ่งความสนใจไปที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ตราออกมาเมื่อปี 2551 เพื่อชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของระบอบการเมือง ที่ผู้ปกครองมองประชาชนเป็นเหมือนเด็กหรือระบอบพ่อปกครองลูก ที่ถูกทำให้ทันสมัยขึ้นผ่านกลไกสถาบันของการเมืองร่วมสมัย
การควบคุมการดื่มโดยกฎหมายกับวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงไป
บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างก่อนการมีกฎหมายกับหลังตรากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือในอดีตการดื่มแอลกอฮอล์นั้นมักมีขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมของกฎหมายที่หละหลวม บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ดื่มในสถานศึกษาช่วงที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือหลายคนอาจเคยดื่มในสถานบริการแห่งใดแห่งหนึ่งได้ตั้งแต่หัวค่ำยันฟ้าสาง ทว่าต่อมา หลังจากที่มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้บริบทที่เคยเป็นอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงไป การดื่มในสถานศึกษาและการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ถูกทำให้กลายเป็นความผิดทางกฎหมายและต้องรับโทษทางอาญา
เช่นเดียวกับการโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอดีตและปัจจุบัน การโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ดื่ม หรือการสร้างแรงจูงใจ หรือการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับการดื่มแอลกอฮอล์ถูกบทบัญญัติกฎหมายมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นที่ต้องห้าม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงถูกนำเสนอในลักษณะอย่างอื่น และเมื่อควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมรณรงค์งดดื่มแอลกอฮอล์ จากสื่อและหน่วยงานต่างๆ ภาพลักษณ์ของแอลกอฮอล์ก็ยิ่งติดอยู่ภาพลักษณ์เชิงลบมากยิ่งขึ้น
เนื้อสาระสำคัญของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์ของผู้คน ย่อมเกี่ยวข้องกับการที่กฎหมายฉบับนี้ กำหนดวิธีการ เงื่อนไขการผลิตการบรรจุภัณฑ์ตามมาตรา 26 การกำหนดสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น วัด สถานที่ราชการ หอพัก ฯลฯ) การกำหนดวันและเวลาที่จะห้ามมิให้มีการขาย (ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ขายได้ 2 ช่วง ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และอีกช่วงคือตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. และห้ามขายในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา) การกำหนดบุคคลใดที่ต้องห้ามไม่ให้ผู้ขายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ (บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้) การกำหนดห้ามมิให้ใช้วิธีการขายบางลักษณะ เช่น การเร่ขาย การใช้เครื่องขายอัตโนมัติ และการขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
บทบัญญัติกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป และตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคทางอ้อมอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสถานบริการ พระราชบัญญัติควบคุมโรค และพระราชบัญญัติจราจรทางบก
ที่มาของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และการให้เหตุผลในการตรากฎหมาย
ย้อนกลับไปที่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความน่าสนใจเกิดขึ้นจากการที่ได้พิจารณาถึงการให้เหตุผลในการตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดำรงอำนาจช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกฎหมายได้รับการนำเสนอเมื่อต้นปี 2550 โดย ตวง อันทะไชย หนึ่งในสมาชิก สนช.ขณะนั้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ตวงกล่าวว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยมาตลอด เป็นกลไกสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมไทย
อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ ยังมีตำแหน่งแห่งที่ในการเป็นการกระทำเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับคุณค่าทางศีลธรรม และ “การที่มีสมาชิกบางคนร้องมาว่า ขอให้ถอนกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อผู้ประกอบการ” ตวงก็ได้กล่าวกลับไปว่า
“ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและของประเทศไทย หากมีสิ่งใดที่ผมจะสนองคุณต่อแผ่นดินแห่งนี้ ผมพร้อมจะกระทำได้ทุกเมื่อ วันนี้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ไม่อาจที่จะรอคอยให้ใครต่อไปอีกแล้ว ”
ทั้งนี้ หลักการและเหตุผลในการตรากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากถ้อยคำนำเสนอของตวง แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
ประการแรก กรณีที่ตามประวัติศาสตร์ของสังคมไทยพบว่า ยังไม่มีกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพมากพอ แม้ที่ผ่านมาจะมีกฎหมายเกี่ยวกับสุรา แต่เป็นแค่เรื่องการจัดเก็บภาษี ควบคุมการผลิตและการจำหน่าย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองรักษาสุขภาพของประชาชนและแก้ไขปัญหาสังคม
ทว่าก็ไม่มีกฎหมายใดที่พูดถึงผลที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสุรา พร้อมทั้งไม่ได้กล่าวถึงการกำกับ บำบัด ฟื้นฟู คุ้มครองสังคมและสุขภาพ ซึ่งในเวลานั้นได้มีการอ้างข้อมูลขององค์การอนามัยโลก บอกว่า ถ้าเทียบเคียงระหว่างปี 2504 กับ ปี 2547 พบว่า คนไทยดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 33 เท่า จัดเป็นประเทศที่ดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นลำดับที่ 40 ของโลก อันเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์เชิงลบที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการต้องมีกฎหมาย เพื่อเข้ามาควบคุมการบริโภคสุราของประชาชน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย
การดื่มแอลกอฮอล์ถูกจัดให้เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งปัญหาด้านสุขภาพของประชากร อุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ความแตกแยกของสถาบันครอบครัว ตวงอ้างว่า มีตัวเลขการวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่า มาจากการดื่มสุราก่อนทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มที่ติดเชื้อ HIV เป็นโรคเอดส์ร้อยละ 70 มาจากการดื่มสุรา การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพียงการรณรงค์หรือจัดโครงการต่างๆ ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์ แต่ก็ดูไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
“เพราะคนไทยมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับรากเหง้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ” ตวงกล่าว
ประการที่ 2 การนำเสนอร่างมีการอ้างถึงระบบกลไกตลาดและการโฆษณา ให้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดาในสังคม เสนอภาพลักษณ์เชิงบวก เน้นความสนุกสนาน โก้เก๋ เท่ หรู มีระดับ บวกด้วยภาพลักษณ์เชิงศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซึมไปในเด็กและเยาวชนของประเทศ ส่งผลต่อทัศนคติและความคิดว่า ถ้าดื่มสุราก็คือการดูแลศิลปะ วัฒนธรรมไทย เป็นแฟชั่นที่จะต้องกระทำตาม จึงต้องมีกฎหมายและบทบัญญัติที่เข้ามาควบคุมการโฆษณา และการนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง
ประการที่ 3 รัฐไทยขาดกฎหมายแม่บทที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ รัฐบาลในอดีตไม่ได้หยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเป็นปัญหาสาธารณะให้ประชาชนตระหนักถึง ตวงกล่าวว่า แต่ก่อนตนเคยยกเรื่องนี้มาพูดหลายครั้งแต่ก็ถูกทักท้วงตลอด
ด้วยเหตุผลและสภาพปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ เพื่อการแก้ไขปัญหาและกอบกู้ฟื้นฟูสังคมแห่งเศรษฐกิจพอเพียง สังคมแห่งการพึ่งพาตนเองอย่างเป็นขั้นตอน มีกระบวนการที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ผ่านการกำกับควบคุมการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การโฆษณา การดื่มสุรา ตลอดจนการกำหนดโทษเอาไว้
นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ทุกฝ่ายหันมาช่วยกันแก้ปัญหาสังคมลดการดื่มสุรา แก้ปัญหาสังคมอันสลับซับซ้อนอย่างเป็นพลังทวีคูณ ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายเหนือกว่าปัญหานั้นมาแก้ไข และสุดท้าย กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมในการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน ปกป้องสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขไปสู่สังคมที่บอกว่า เป็นสังคมวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ระบอบคนดีและผู้ปกครองที่ต้องสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดี
วาระการนำเสนอกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่กล่าวมา สะท้อนถึงบรรยากาศบ้านเมืองช่วงเวลาปี 2550 ที่ผู้มีอำนาจตรากฎหมายได้หยิบยกประเด็นเรื่องศีลธรรม เข้ามาผูกโยงอย่างแนบชิดกับระบบกฎหมาย รวมถึงปฏิบัติการทางการเมืองอื่นๆ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ของเครือข่ายผู้ปกครองประเทศในตอนนั้น ที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนและความเป็นประชาธิปไตย พื้นที่ทางศีลธรรมจึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ผู้มีอำนาจ จำเป็นต้องเข้าไปแย่งยึดช่วงชิงมาเป็นของตนเอง สถาปนาเป็นรัฐบาล ‘คนดีย์’ เพื่อทดแทนภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐเผด็จการทหาร และเป็นคณะรัฐประหารที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ด้วยการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน
การพยายามสร้างความชอบธรรมการเมืองของรัฐบาลและรัฐสภา ที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยได้ผสมผสานปนเปมากับกลิ่นอายของระบอบพ่อปกครองลูก ที่สร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างรัฐกับประชาชน ด้วยการจัดตำแหน่งแห่งที่ให้ประชาชนเปรียบเสมือนเด็กไร้เดียงสาที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี และการให้รัฐดำรงตนเป็น ‘พ่อที่ดีย์’ หรือผู้ปกครอง/ ผู้มีอำนาจที่หวังดีต่อประชาชนและสังคมไทยภายใต้อำนาจแบบเกือบเบ็ดเสร็จ ผ่านกลไกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกลไกตรวจสอบอำนาจอื่นๆ ที่เป็นอัมพาตไปชั่วขณะ
การปกครองลักษณะดังกล่าวเทียบเคียงได้ใกล้ที่สุดกับ ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ ที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้คำนิยามแก่ระบอบการเมืองภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีลักษณะเบ็ดเสร็จ รวมศูนย์และใช้อำนาจทางการทหารนำการเมือง พร้อมกับปกครองด้วยการสร้างความกลัว
แต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 แตกต่างออกไป เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษแบบเปิดเผยเหมือนกับจอมพลสฤษดิ์ แต่อาศัยกลไกสถาบันการเมืองร่วมสมัย หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นระบบพ่อปกครองลูกที่ถูกทำให้มีความทันสมัย (Modernization of Paternalism) กล่าวคือ แม้อำนาจรัฐจะดำเนินไปภายใต้โครงสร้างแบบรัฐราชการ มีองค์กร มีหน่วยงาน และมีกลไกต่างๆ ให้การบริหารราชการแผ่นดินทำงานอย่างเป็นระบบ มีการสร้างแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการตามองค์ความรู้แบบตะวันตก แต่มโนทัศน์พื้นฐานที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโครงสร้างอำนาจรัฐยังคงมีลักษณะเป็น ‘พ่อปกครองลูก’ ที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมา แต่เปลี่ยนแปลงและปรับปรุง ให้มีความทันสมัยควบคู่กับความเป็นไทย (Localized Modernity) และไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจสถาบันพระกษัตริย์เพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างงานศึกษาที่กล่าวถึง Modernization of Paternalism ที่น่าสนใจ คืองานของ คริสติน เอริก (Christine Ehrick) ที่ได้สะท้อนถึงปัญหาของการสร้างระบบรัฐสวัสดิการแก่สตรี ที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือระบอบผู้พิทักษ์ ที่ถูกทำให้ทันสมัยและแฝงฝังเข้าไปในระบบราชการ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นแต่เพียงเปลือกนอก หรือกลไกเชิงสถาบันต่างๆ ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่เนื้อแท้แล้ว ชีวิตของสตรีในสังคมยังถูกกดให้ต่ำอยู่เหมือนเดิม เป็นเพศที่อ่อนแอซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ บนมโนทัศน์พื้นฐานที่มองว่า ‘รัฐคือพ่อ’ และมีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบ ‘ผู้ปกครองคอยปกป้อง-ผู้อยู่ใต้การปกครองต้องเชื่อฟัง’ คอยทำงานอยู่เบื้องหลัง
ส่วนในสังคมไทย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง ‘พ่อที่ดีย์’ กับ ‘ลูกที่ไร้เดียงสา’ จึงปรากฏออกมาผ่านกระบวนการตรากฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ด้วยวิธีคิดที่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องเลวร้าย ทำลายชีวิตประชาชน และเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมในหลายมิติ
จึงเป็นหน้าที่ของพ่อ ผู้มีอำนาจที่ต้องขัดเกลาอบรมสั่งสอนและควบคุมพฤติกรรมเหล่าลูกๆ ให้เป็นไปตามครรลองศีลธรรม อันเห็นได้จากถ้อยคำอภิปรายการนำเสนอร่างกฎหมายที่ว่า “เพราะคนไทยมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับรากเหง้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ หรือกรณีลูกค้าแม่เพื่อเอาเงินไปซื้อสุรา”
คำอภิปรายนี้สะท้อนมโนทัศน์พื้นฐาน ที่ผู้มีอำนาจรัฐมักมองประชาชนคนไทย เป็นคนที่คิดไม่เป็นและมักหลงผิดอยู่ตลอดเวลา เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าไปขัดเกลาพฤติกรรมและความคิด ซึ่งสภาวะดังกล่าวนี้อาจเปรียบเสมือนเงาสะท้อนของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่ประชาชนตกอยู่ในสถานะต้อยต่ำกว่าผู้ที่เข้าไปมีอำนาจ ในกลไกสถาบันการเมืองและกฎหมาย ต้องถูกควบคุมและถูกจำกัดเสรีภาพโดยไม่มีโอกาสได้โต้เถียง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องเป็นพลเมืองที่คอยเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้มีอำนาจเท่านั้น
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริง ปัญหาต่างๆ ทั้งอาชญากรรม ความรุนแรง อุบัติเหตุ โรคภัยทั้งหลาย ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ และปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคม ที่รัฐอาจล้มเหลวในการบริหารจัดการอย่างสิ้นเชิง เช่น ปัญหาอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ด้านหนึ่งมาจากการที่คนขาดสติสัมปชัญญะแล้วฝืนขับรถทั้งๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขาดโครงสร้างพื้นฐาน ขาดระบบขนส่งมวลชนที่ดี ที่จะเป็นทางเลือกให้ผู้ดื่มแอลกอฮอล์เดินทางกลับบ้านได้ไม่ต้องขับรถด้วยตนเอง ก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ หลักการที่มุ่งสั่งสอนให้ประชาชนเป็นคนดี ยังอยู่เหนือกับสิ่งที่เป็นอรรถประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และหากประชาชนคนไทยยังดื่มแอลกอฮอล์จนเป็นปกติ ก็เท่ากับว่าสังคมไทยนั้นเสื่อมทรามถอยหลังลงคลอง จุดยืนดังกล่าวสังเกตได้จากการอภิปรายปิดท้ายการนำเสนอร่างกฎหมายของตวง ก่อนที่สภานิติบัญญัติจะลงมติรับหลักการของกฎหมาย ใจความว่า “แม้ว่าจะมีนักเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายว่า สุราหรือแอลกอฮอล์นี่คือรายได้สำคัญของประเทศ มีอัตราการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2548 พบว่าภาษีที่รัฐเก็บได้ 7.4 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขแห่งการเจริญเติบโตที่เป็นตัวเลขสำคัญ” แต่อีกด้านหนึ่งยังมี ปัญหาต้นทุนแฝง การสูญเสียการเสียไปซึ่งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สูญเสียสุขภาพของประชาชน ตลอดจนค่าใช้จ่ายของรัฐที่จะต้องใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนของตัวเอง ปีละแสนล้านกว่าบาท ซึ่งไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อย และไม่มีทางเลือกอื่นใดในการกอบกู้ ฟื้นฟูสังคมไทยให้กลับคืนมาได้ นอกจากการออกเป็นพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ ให้เป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองคนไทยและประเทศไทย “และหวังว่าน่าจะช่วยกอบกู้ ฟื้นฟู ทำนุบำรุงประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราต่อไป”
กฎหมายเป็นไปตามหลักเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน ?
แม้ว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยในการกำกับควบคุมกิจกรรม และพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชนจำนวนมาก ให้อยู่ภายใต้ขอบเขตและไม่เป็นการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม แต่กฎหมายดังกล่าวนั้นยังถือว่ามีความบกพร่องในแง่ความชอบธรรมด้านกระบวนการ ที่โดยหลักแล้ว การจะตรากฎหมายที่มีผลเป็นการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรต้องเป็นไปตามหลักเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน หรืออย่างน้อยก็ผ่านการพิจารณาจากผู้แทนราษฎรในระบบรัฐสภา
กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ทุกวันนี้ประชาชนจำเป็นต้องตกอยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าว โดยที่ฝ่ายประชาชนไม่ได้มีพื้นที่หรือช่องทางเข้าไปต่อรองในกระบวนการตรากฎหมายเท่าที่ควร การจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎเกณฑ์ ก็ต้องกระทำผ่านหน่วยงานอื่นๆ หรือการต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำได้ยาก เพราะจะต้องดำรงตำแหน่ง หรือมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป หรือกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รัฐไทยจำเป็นต้องถอยออกมาพิจารณามาตรการต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการรักษาดุลยภาพ ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เวลาล่วงเลยผ่านไปเกือบ 20 ปี วิธีการคิดที่มองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อนทำลายสังคมก็เริ่มเลือนรางหายไป ภาพลักษณ์ของแอลกอฮอล์เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากรัฐบาลอาจเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการผ่อนปรนมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเปิดสถานบริการ ซึ่งมีการนำร่องให้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการใน 5 จังหวัดต่อพื้นที่ ประกอบด้วยสถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงสถานบริการที่ตั้งที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ให้เปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้
ท้ายที่สุดจากมาตรการผ่อนปรนดังกล่าว จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า รัฐไทยจะมีท่าทีหรือมีวิธีการคิดในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากนี้ต่อไปอย่างไรอีกบ้าง และร่องรอยของการเมืองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่เพียงใด
เอกสารอ้างอิง
Ehrick, Christine. “Beneficent Cinema: State Formation, Elite Reproduction, and Silent Film in Uruguay, 1910s-1920s.” The Americas 63, no. 2 (2006): 205–224.
_______________. “To Serve the Nation: Juvenile Mothers, Paternalism, and State Formation in Uruguay, 1910-1930.” Social Science History 29, no. 3 (2005): 489–518.
กองบรรณาธิการ TCIJ, แกะรอยสื่อเก่า: โฆษณาเหล้าเบียร์ค่อยๆ เลือนหายไปจาก TV ตั้งแต่เมื่อใด?, 2 มิถุนายน 2560, TCIJ https://www.tcijthai.com/news/2017/02/scoop/7043
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 8 วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ณ ตึกรัฐสภา
Tags: รัฐไทย, ประชาชน, กฎหมายพ่อ, กฎหมาย, แอลกอฮอล์, Rule of Law