ปรากฏการณ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในสังคม หากพิจารณาผ่านแง่มุมกฎหมายกับสังคม (Law and Society) จะพบว่ามักเกิดความขัดแย้งระหว่างกฎหมายที่อยู่ในรูปแบบของตัวบท (Law in book) กับกฎหมายในทางปฏิบัติ (Law in action) ดังนั้น นอกเหนือจากบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ต้องเรียนตามปกติวิสัยของนักกฎหมาย ประเด็นปัญหาทางกฎหมายในทางปฏิบัติ ย่อมถือเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมควรให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นกฎหมายตามความเป็นจริง มีผลกับชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง และกฎหมายในทางปฏิบัตินี้เอง บ่อยครั้งก็เป็นบ่อเกิดแห่งความอยุติธรรม มากกว่าความยุติธรรม

บทความนี้จะอภิปรายถึงความขัดแย้งกันของกฎหมายในตัวบทกับในทางปฏิบัติ และความขัดแย้งที่พบเห็นมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางปฏิบัติของไทยที่เป็นไปคนละทิศทางกับกฎหมายในบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จนตกอยู่ในสภาวะวิปริตที่กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งสามารถอภิปรายเป็นประเด็นสำคัญๆ ได้ดังต่อไปนี้

สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดจนกว่าพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์

ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 2 ที่กำหนดว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” เป็นการรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด (Presumption of Innocence) ให้เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทย ประกอบกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นกฎหมายกำหนดกระบวนการขั้นตอนการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (due process) ทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ฯ มักถูกโยนทิ้งและเพิกเฉยจากรัฐ หลงเหลือแต่วัฒนธรรมทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่สะท้อนเป็น ‘หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์’ ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาถูกปฏิเสธให้มีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การ (Right to Silence) สิทธิในการมีทนายหรือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ฯลฯ

หรือไม่เพียงแต่คดีความมั่นคงเท่านั้น ปัญหาในคดีอาญาทั่วไปที่อาจอยู่ในกระแสของสังคม สิ่งที่ทำให้วัฒนธรรม ‘หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์’ ลงรากฝังลึก คือการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่ให้ผู้ต้องหามา ‘ทำซ้ำ’ การกระทำที่ตนสารภาพในชั้นสอบสวนต่อหน้าผู้สื่อข่าวและสาธารณชน ซึ่งโดยหลักการ การทำแผนประกอบคำรับสารภาพมีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้ศึกษากลวิธีหรือขั้นตอนในการกระทําความผิดของคนร้าย อันจะทำให้การสืบสวนเป็นไปอย่างสะดวกขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ต้องหามาแสดงการกระทำผิดซ้ำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการปรักปรำตนเอง ทั้งนี้การนําไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ เป็นพยานหลักฐานที่ยังไม่เพียงพอจะนํามาใช้ลงโทษจำเลยได้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813-2814/2523 ที่วางไว้ว่า ลำพังคำรับสารภาพ ชั้นสอบสวน และบันทึกชี้สถานที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ ไม่เพียงพอที่จะใช้ลงโทษจำเลยได้

นอกจากนี้ การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่มีการให้สื่อหลายสำนักเข้าไปทำข่าว ก็อาจขัดต่อ คําสั่ง สตช. ที่ 855/2548 ข้อ 2.4 ซึ่งห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทําข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานําพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหาหรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย และยังต้องให้ข้อมูลในลักษณะที่เป็นกลางอีกด้วย ซึ่งกรณีนี้เอง ก็ยังถือเป็นความลักลั่นของกฎหมายในตัวบทที่ไปในคนละทิศทางกับกฎหมายในทางปฏิบัติ

หลักกักขังเป็นหลักปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น

ประเด็นที่สอง สืบเนื่องจากประเด็นแรก กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ที่ยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ย่อมนำไปสู่ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมอีกประการหนึ่ง คือ ‘กักขังเป็นหลัก ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น’ แทนที่จะเป็น ‘ปล่อยเป็นหลัก กักขังเป็นข้อยกเว้น’ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เป็นหลักประกันที่จำเป็นในการให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มที่

เมื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับคดีความมั่นคงที่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองประสบเจอมาตลอด ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาความขัดกันระหว่างกฎหมายในทางปฏิบัติกับกฎหมายในตัวบท ตลอดจนปัญหาการเพิกเฉยต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหน้าที่ของรัฐ กล่าวคือ กรณีบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้ว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว…” การที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อ 5 เหตุเท่านั้น ตาม มาตรา 108/1 ได้แก่

1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

แต่ในทางปฏิบัติ คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องคดี ม.112 ศาลมักจะใช้ดุลพินิจอย่างไร้ขอบเขต ไม่มีมาตรฐาน และให้เหตุผลไปในแนวทางเดียวกันเกือบทั้งหมดว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์มีความร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี และ/หรือกลัวก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ นอกจากนี้ ยังพิจารณาประกอบกับการที่โจทก์ (พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน) คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสร้างความสงสัยว่าคำสั่งที่พิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเหล่านี้อาจขัดต่อหลักสากล Presumption of Innocence หรือการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามพฤติการณ์ที่ปรากฏไม่มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยการเมืองดังกล่าวน่าจะหลบหนีแต่อย่างใด แต่เป็นการสันนิษฐานคาดคะเนของศาลเองว่า เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาในพฤติการณ์และอัตราโทษที่สูงจึงอาจจะหลบหนี (สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด)

ยกตัวอย่างเช่นกรณี วรรณวลี เอมจิตต์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีปราศรัยในการชุมนุม 6 ธันวาคม 2563 บริเวณวงเวียนใหญ่ โดยศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับโจทก์คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราวและจำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างสอบสวนข้อหาความผิดเดียวกับคดีนี้อีก หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง” หรือกรณี พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีการปราศรัยในการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยศาลมีคำสั่งว่า “พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” 

ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

ประเด็นที่สาม จะเป็นการขยับออกมาพิจารณาถึงมโนทัศน์พื้นฐานทางกฎหมายที่บ่มเพาะให้เกิดปัญหากฎหมายในทางปฏิบัติตามตัวอย่างข้างต้น กล่าวคือ หลักการสำคัญในระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยการปกครองโดยกฎหมาย หรือ ‘The rule of law’ ต้องทำให้แน่ใจว่า ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย (All human beings are equal before the law) แต่ในทางประวัติศาสตร์จะเห็นว่า การปกครองทางกฎหมายแบบไทยๆ จะเป็นความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ซึ่งเป็นสังคมที่มีระบบความสัมพันธ์แบบชนชั้น ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นอยู่ในชนชั้นใดของสังคมไทย

เหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ เช่น ปฏิบัติการภายใต้นโยบายสงครามยาเสพติด กรณีตากใบ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุการณ์ปรากฏพยานหลักฐานอย่างเป็นประจักษ์ว่า เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน แต่ความเป็นจริง กฎหมายกลับไม่สามารถมอบความรับผิดให้แก่บุคคลเหล่านั้นได้แม้แต่กรณีเดียว อีกทั้งกฎหมายเองยังมีส่วนปกป้อง ช่วยเหลือ รับรองการกระทำเพื่อให้ผู้ก่อความรุนแรงรอดพ้นจากความรับผิดไปได้ เช่น การตรากฎหมายนิรโทษกรรรม การมีคำวินิจฉัยของศาลที่รับรองผลของกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองของเจ้าหน้าที่รัฐบาล (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 1 – 3/2535)

นิติรัฐแบบไทยๆ

สืบเนื่องจากประเด็นก่อนหน้า ประเด็นสุดท้ายที่จะอภิปรายถึง คือกรณีที่อภิสิทธิ์ปลอดความผิดองค์ประกอบสำคัญในระบบกฎหมายไทย ธงชัย วินิจจะกูล ได้แสดงทัศนะว่า ระบบกฎหมายไทยเป็นระบบกฎหมายที่มอบอภิสิทธิ์อย่างล้นเกินแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ในนามของกฎหมาย ทั้งๆ ที่ตามหลักกฎหมายปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายจะถือเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตัวอย่างเช่น ในคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยหลักการไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถทำร้ายหรือลงโทษผู้กระทำความผิด เว้นแต่ 2 กรณี คือกรณีเจ้าพนักงานกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 และกรณีเจ้าพนักงานได้กระทำไปเพื่อความป้องกันทั้งหลายที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83

แต่ในทางปฏิบัติ หลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ต้องรับผิด อาทิ คดี ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวงในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรมพร้อมกับตั้งข้อหามีความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด ซึ่งหลังจากการไต่สวนหลังการเสียชีวิตเสร็จสิ้นเมือเดือนมิถุนายน 2560 ภายใต้หลักฐานสำคัญภาพของกล้องวงจรปิดหายไป ซึ่งกองทัพระบุว่าถูกบันทึกเทปทับไปแล้ว คดีนี้จึงถูกตั้งคำถามจากสังคมเป็นอย่างมาก บ้างก็กล่าวว่ามีการ ‘ยัดยา’ หรือเพราะเป็นบุคคลชาติพันธุ์จึงถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม ในที่เกิดเหตุมีหลักฐานที่เป็นกล้องวงจรปิดถึง 9 ตัว แต่ภาพดังกล่าวไม่เคยเปิดเผยมายังสาธารณชน ปัจจุบันยังคงไม่มีผู้ใดรับผิดชอบกับกรณีเหตุการณ์การตายดังกล่าว และศาลมองว่าพลทหารยิงผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ จึงไม่ถือว่าละเมิดต่อโจทก์ และศาลพิพากษายกฟ้อง

ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง และเป็นประจักษ์ในสังคมไทย อนาคต นักกฎหมายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ล้วนมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาศึกษา ให้ระบบกฎหมายไทย มีความเป็นธรรมและยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในแง่ของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริง

 

เอกสารอ้างอิง

https://ilaw.or.th/node/3303

https://prachatai.com/journal/2022/01/96974

https://themomentum.co/ruleoflaw-presumption-of-innocence/

ธงชัย วินิจจะกูล. นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม: ประวิศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย.

(กรุงเทพฯ: เวย์แม็กกาซีน, 2563).

ธงชัย วินิจจะกูล. บททดลองเสนอ : อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity)

และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทย ๆ. ฟ้าเดียวกัน. 14(2).

Tags: , , ,