ก่อนหน้าที่ผู้เขียนและเพื่อนนักศึกษาจะลงพื้นที่ความเข้าใจเรื่องคนไร้บ้าน มีประเด็นหนึ่งที่พวกเรามีความคิดเห็นในลักษณะที่คล้ายๆ กันคือ “คนไร้บ้านเลือกที่จะมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบอะไร”1 ซึ่งเมื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนไร้บ้านจริงๆ ก็มีคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งให้คำตอบโดยตีความได้ว่า มีความหมายเช่นเดียวกับประโยคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการสังเกตการณ์และพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนกลับย้อนคิดขึ้นมาว่า คนไร้บ้านหาใช่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งใดเลย เพราะโดยแท้แล้วคนไร้บ้านรับผิดชอบต่อตัวเองผ่านการที่จะมีชีวิตต่อไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกที่จะอยู่ในเมือง ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขาก็ยังคงต้องการสังคม การเป็นคนไร้บ้านในแง่มุมนี้จึงเป็นการหาตำแหน่งแห่งที่ให้กับตัวเอง ในการรับผิดชอบที่จะมีชีวิต แม้ว่าข้อมูลจากคำบอกเล่าของแต่ล่ะคนจะต่างกันไป เช่น ความต้องการพื้นที่ส่วนรวมในการเข้าถึงทรัพยากร อย่างห้องน้ำหรือที่อาบน้ำที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ หรือการเล็งเห็นว่าการอยู่ในเมือง ในพื้นที่ที่แสงสว่างเพียงพอและใกล้สายตาของคน จะทำให้พวกเขาปลอดภัยในการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ หรือการปักหลักในเมืองเพื่อที่จะหางาน
ทั้งนี้ ในบริบทที่มนุษย์คนหนึ่งอยู่ท่ามกลางการเลือกที่จะมีชีวิตไม่ว่าจะรูปแบบใด รัฐมีหน้าที่จะต้องทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองและอยู่อย่างปลอดภัยซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุดได้บัญญัติสิทธิของคนไร้บ้านไว้ในฐานะที่เป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยภาพใหญ่ของเรื่องนี้คือ หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ที่ทุกคนย่อมได้รับและถูกคุ้มครองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน2
รวมถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น มาตรา 71 ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่รัฐพึ่งมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคม3 และในกฎหมายลำดับรองลงมา คือพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ที่คุ้มครองคนไร้บ้านในฐานะคนไร้ที่พึ่ง4
บทความในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนทบทวนประเด็นที่ต่างออกไปจากการศึกษากฎหมายที่เป็นอยู่ ผ่านการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจสังคมที่เป็นอยู่จริงของผู้เขียนและกลุ่มเพื่อนนักเรียนกฎหมาย ที่สนใจในเรื่องสิทธิของคนไร้บ้านด้วยสังเกตการณ์ และเมื่อมีโอกาสพวกเราจะเข้าไปพูดคุยกับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงมกราคม 25675 ก็มีข้อสังเกตว่า แก่นแกนของการคุ้มครองคนไร้บ้านจากการมีชีวิตที่ปลอดภัยเพื่อไปสู่การยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง สามารถที่จะหาเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองให้ได้นั้น เป็นประเด็นที่ยากยิ่งสำหรับคนไร้บ้าน เพราะพวกเขาอยู่ในวงจรของงานที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีคนไร้บ้านที่ไม่อาจจะหลุดพ้นจากสภาวะไร้บ้านได้ แม้พยายามที่จะหาเลี้ยงชีพจากการประกอบอาชีพด้วยตัวเองอยู่หลายครั้ง ดังเช่นคำบอกเล่าของชายไร้บ้านท่านหนึ่งที่บอกกับผู้เขียนและนักศึกษาคนอื่นๆ ว่า
“ถ้าลุงได้เงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทจากนโยบายของรัฐบาล ลุงจะตั้งตัวใหม่”6
สำหรับแผนในการตั้งตัวของชายไร้บ้านท่านนี้ เขาเล่าต่อในใจความที่ว่า หลังจากที่เขาได้เงินดิจิทัลจากนโยบายของรัฐบาลแล้ว เขาจะนำมารวมกับเงินที่ตัวเองเก็บสะสมจากการขายของเก่าที่มาจากการเก็บขยะขายทุกวัน เพื่อที่จะซื้อรถเข็นและทำลูกชิ้นทอดขาย โดยเป้าหมายต่อมา คือการเช่าห้องพักเป็นของตัวเอง และเป้าหมายสูงสุด คือต้องการที่จะเก็บเงินให้เพียงพอที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองให้ได้
อย่างไรก็ดี ชายคนดังกล่าวยอมรับว่า มีความพยายามเช่นนี้มาแล้วในครั้งก่อนๆ คือเก็บสะสมเงินเพื่อประกอบอาชีพด้วยฝีมือและความสามารถของตัวเอง แต่ในท้ายที่สุด เขาก็ไม่อาจที่จะเช่าห้องด้วยล้ำแข้งของตัวเองและต้องกลับมาพึ่งพาอาศัยในพื้นที่สาธารณะของเมืองอีกครั้ง
ข้อสังเกตคือ อาชีพของคนไร้บ้านล้วนเป็นอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ในความหมายที่ว่า7 เป็นการประกอบอาชีพที่ไม่ได้รายงานต่อรัฐ และในอีกด้านหนึ่งคือทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถที่จะเข้าถึงการดูแลได้ ทั้งที่มาจากการประกอบธุรกิจด้วยตัวเองที่มีทั้งที่เป็นลักษณะที่มิใช่การจ้างแรงงาน ซึ่งหลุดพ้นจากการคุ้มครองโดยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม และจากการสังเกตการณ์อาชีพของคนไร้บ้านพบว่า พวกเขาอยู่ในวงจรของธุรกิจส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการหาบเร่แผงลอย การขายอาหารสัตว์เพื่อบริการนักท่องเที่ยว การเก็บของเก่าขาย หรือการรับจ้างทำงานรายวันที่ส่งมอบผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และล้วนไม่สามารถที่จะทำให้พวกเขาสะสมทุนหรือยกระดับชีวิตของตัวเองขึ้นมาได้ แม้หลายคนเคยหลุดจากภาวะไร้บ้าน แต่ก็ต้องกลับมาเป็นคนไร้บ้านอีกครั้ง เพราะไม่สามารถหางานที่มั่นคงได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อคนไร้บ้านหลุดจากสังคมที่มีบ้านและการทำงานที่สร้างรายได้มากเท่าใด หนทางที่จะขจัดความไร้บ้านและดำรงชีวิตด้วยลำแข้งตัวเองยิ่งยากมากเท่านั้น8
สิ่งนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตของสังคมที่เหลื่อมล้ำจากงานที่ไม่มั่นคง แม้ในระดับหนึ่งกฎหมายจะตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการดำรงชีวิตให้รอดปลอดภัย แต่การขยับขยายจากความปลอดภัยสู่ชีวิตที่มีคุณภาพและมั่นคงยังคงเป็นความยากลำบากสำหรับคนไร้บ้าน สิ่งนี้เป็นหน้าที่ต่อไปของรัฐที่ต้องแทรกแซงและเข้ามามีบทบาทให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม เพื่อยกระดับสู่การสร้างความมั่นคงทางอาชีพเพื่อมิให้คนไร้บ้านถูกมองราวกับว่าเป็นเสมือนดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองของสังคม
[1] บทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เขียนกับนักศึกษาก่อนการลงพื้นที่จริง
[2] มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
[3] มาตรา 71 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
[4] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557
“คนไร้ที่พึ่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และให้รวมถึงบุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลําบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” หมายความว่า การจัดสวัสดิการสังคม การเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ การส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างโอกาสในสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสนับสนุนให้คนไร้ที่พึ่งมีงานทำและมีที่พักอาศัย และการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไร้ที่พึ่ง
[5] โดยมีพี่ยูร (นายวิเชียร ทาหล้า ผู้จัดการบ้านเตื่อมฝัน ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่) เป็นผู้สนับสนุนทางความรู้และแนะนำสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ก่อนการลงพื้นที่ และได้รับความรู้จากการฟังบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หนึ่งในนักวิจัย โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน (พ.ศ. 2560)
[6] ข้อความจากการพูดคุยกับคนไร้บ้านท่านหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566
[7] นิยามเศรษฐกิจนอกระบบ โปรดดู International Labor Organization, “Informal economy,” International Labour Organization accessed March 31, 2024, https://www.ilo.org/global/programmes-and-projects/prospects/themes/informal-economy/lang–en/index.htm
[8] ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยจากการลงพื้นของผู้เขียนและเพื่อนนักศึกษา
Tags: สิทธิของคนไร้บ้าน, คนไร้บ้าน, Rule of Law