สังคมมนุษยชาติกับการหลอกลวงมีพัฒนาการติดตามกันเหมือนเงาติดตามตัว โลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปข้างหน้าเพียงใด การหลอกลวงระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็เกิดขึ้นอย่างก้าวหน้าเช่นเดียวกัน จนถึงวันนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงว่า มนุษย์คนแรกที่โกหกหลอกลวงคนอื่นคือใคร เกิดขึ้นกับใคร เพราะอะไร อย่างไร แต่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการโกหกหลอกลวงยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจและควรค่า เพราะเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่แทบจะเกิดขึ้นทุกวันในชีวิตประจำวันของมนุษย์
ในแง่ปรัชญาเชิงจริยศาสตร์มักมีข้อถกเถียงท้าทายคติทางศีลธรรมกันว่า การโกหกที่หากกล่าวถึงมุมศีลธรรมนิยม (Moralism) ไม่ว่าจะทำไปด้วยเจตนาอะไร การโกหกย่อมเป็นการทำชั่วอย่างหนึ่ง ตรงกันข้าม ฝ่ายอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่ชักชวนให้ต้องพิจารณาก่อนว่า การโกหกต้องดูที่เจตนา แม้จะเป็นการโกหกกล่าวหลอกลวงต่อผู้อื่น แต่ถ้าเป็นการโกหกฆาตกรเพื่อช่วยเหลือเหยื่อให้รอดพ้นจากภัย การโกหกดังกล่าวย่อมไม่ใช่เรื่องผิด เพราะผลลัพธ์ไม่ได้ทำให้ใครต้องผจญอันตราย
ขณะเดียวกันการโกหกที่จะถือเป็นการกระทำชั่วร้ายหรือไม่นั้นจำต้องดูที่ผลลัพธ์ หากเป็นการหลอกลวงแล้วส่งผลให้บุคคลต้องเผชิญกับความเสียหายในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย การโกหกดังกล่าวย่อมไม่อาจยอมรับได้ เช่นเดียวกับการโกหกที่นำไปสู่ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ กลไกการบริหารงานของรัฐ ความมั่นคงแห่งชาติและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งส่งผลเสียหายต่อคนจำนวนมาก
ในมุมของกฎหมายเช่นเดียวกัน การโกหกหลอกลวงทั่วๆ ไป การปกปิดความจริง หรือการกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น ลูกศิษย์โกหกอาจารย์ว่าที่ขาดเรียนเพราะป่วย แต่จริงๆ แล้วคืนก่อนหน้าดื่มสังสรรค์อย่างหนักหน่วงมากก่อน กรณีนี้อาจผิดเฉพาะในกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือเป็นบาปอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิด
แต่อีกกรณีหนึ่งหากเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง กฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็จะเข้ามาจัดการลงโทษการหลอกลวงดังกล่าวทันที เช่นเดียวกับกรณีการแสดงความเท็จให้ผู้อื่นเสียหายในชื่อเสียง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
บทความชิ้นนี้จึงเป็นงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่พยายามตั้งคำถามต่อประเด็นการโกหกหลอกลวง โดยจำกัดเฉพาะกรณีการหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ผู้นั้นส่งมอบทรัพย์สิน หรือการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งจะได้ศึกษาภายใต้กรอบของอาชญาวิทยา
อาชญาวิทยาคืออะไร
อาชญาวิทยา ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘Criminology’ ซึ่งมาจากคำว่า Crime ที่แปลว่า อาชญากรรม กับ logy ที่แปลว่า วิทยาการ ซึ่งหากแปลตามรากศัพท์ จะหมายความว่า ‘วิทยาการที่เกี่ยวกับอาชญากรรม’ อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์แบบสหวิทยาแขนงหนึ่ง อันประกอบด้วยความรู้ทั้งทางสังคมวิทยา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ และนิติศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘อาชญากรรม’ โดยเน้นการศึกษาถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ผ่านการวิเคราะห์ พิจารณาพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา และตัวผู้กระทำความผิด รวมถึงลักษณะโครงสร้างทางสังคมที่บีบคั้นให้คนคนหนึ่งต้องตัดสินกระทำความผิดทางอาญาบนกรอบคิดทฤษฎีต่างๆ ที่นักอาชญาวิทยาได้วางรากฐานเอาไว้
วัตถุแห่งการศึกษาของอาชญาวิทยาอยู่ใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ‘กาย จิต และสภาวะแวดล้อม’ ของตัวผู้กระทำความผิดหรือตัวอาชญากร เพื่อเป็นการถอดรหัส ตีความ สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้บุคคลกระทำความผิด แสวงหามาตรการป้องกันเยียวยาปัญหาอาชญากรรมผนวกกับวิธีการฟื้นฟูให้บุคคลที่เคยกระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งส่วนหลังนี้จะอยู่ในขอบเขตของอีกสาขาวิชาหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทัณฑวิทยา’ (Penology)
หากกล่าวเฉพาะกรณีการฉ้อโกง ปัญหาย่อมมีอยู่ว่า ในโลกที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร ความสลับซับซ้อนของสังคมมนุษย์ก็ยิ่งส่งผลให้การกระทำความผิดล่อลวงฉ้อฉลมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากยิ่งขึ้นตามเช่นกัน และสิ่งที่ตามมาก็คือการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวที่มีความแยบยลยิ่งขึ้น การสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น มีผู้เสียหายจำนวนมากขึ้น และการติดตามเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษก็ยากลำบากยิ่งขึ้น
ดังนั้นในบทความนี้จะเป็นการพยายามวิเคราะห์ถึงการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดบุคคลจึงตัดสินใจหลอกลวงผู้อื่นให้ส่งมอบทรัพย์สินเงินทอง อะไรเป็นสาเหตุปัจจัยสำคัญที่เป็นสิ่งเร้าให้เกิดการกระทำดังกล่าว ลักษณะของการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงที่ต้นเหตุมากกว่าการชดเชยเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายได้อย่างไร
การฉ้อโกงในมุมมองอาชญาวิทยา
คำอธิบายในมุมมองของอาชญาวิทยา การฉ้อโกงนั้นหมายถึงการกระทำที่มีลักษณะหลอกลวงหรือปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ด้วยเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์ส่วนตน โดยการฉ้อโกงจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังนี้
1. การให้ข้อมูลเท็จในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ
2. ผู้กระทำทราบว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริง
3. มีเจตนาที่จะหลอกลวงผู้เสียหาย
4. ผู้เสียหายเชื่อถือและพึ่งพาข้อมูลที่ได้รับ
5. ผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง
คำนิยามดังกล่าวสอดคล้องกับหลักในประมวลกฎหมายมาตรา 341 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายกำหนดฐานความผิดฉ้อโกงให้กับผู้ที่เจตนาหลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันหากการกระทำข้างต้นได้กระทำต่อประชาชนหรือผู้คนจำนวนมาก ก็จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343
นอกจากนี้หากเป็นกรณีการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นในบริบทพื้นที่สังคมออนไลน์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) มาตรา 14(1) ที่พูดถึงการกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างสองมาตรานี้คือ กรณีฉ้อโกง จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดสำเร็จได้ต้องปรากฏการณ์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้กระทำการหลอกลวงเสียก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือต้องเกิดความเสียหายขึ้นก่อนเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีตามมาตรา 14(1) พ.ร.บ.คอมฯ การกระทำความผิดถือว่าสำเร็จทันที เมื่อปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการนำเข้านําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และมีลักษณะเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหาย กล่าวคือแม้ไม่มีความเสียหายใดๆ เลย ก็เป็นความผิดสำเร็จ
หัวใจสำคัญของบทความชิ้นนี้จะขอกล่าวถึงงานศึกษาของ สแตนลี เอ็น. คินยันจุย (Stanley N. Kinyanjui) ที่วิเคราะห์กระบวนการฉ้อโกงผ่านมุมมองของอาชญาวิทยา เพื่อชี้ถึงเรื่องสาเหตุของการกระทำฉ้อโกงว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยหลักๆ สามารถสรุปได้ตามทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมแห่งการฉ้อโกง’ (Fraud Triangle) ซึ่งอ้างอิงจาก โดนัลด์ เครสซีย์ (Donald Cressey) นักสังคมวิทยาและอาชญาวิทยา โดยเขาอธิบายว่า การฉ้อโกงประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักดังนี้
หนึ่ง แรงกดดันหรือแรงจูงใจ กล่าวคือ ผู้กระทำผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นมักมีแรงกดดันทางการเงินหรือปัจจัยอื่นๆ เช่น หนี้สินสูง ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพจำนวนมาก หรือความต้องการที่จะมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น การขยับสถานะทางสังคม และปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรงจูงใจที่ผลักดันให้บุคคลตัดสินใจกระทำการฉ้อโกงบุคคลอื่น
สอง โอกาส อันเป็นการกล่าวถึงการที่มีช่องทางหรือโอกาสในการกระทำฉ้อโกง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการควบคุมภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เช่น การที่บุคคลมีอำนาจเข้าถึงทรัพย์สินหรือข้อมูลที่สามารถทำให้เกิดการฉ้อโกงได้ ซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านการล่อลวงของขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่มักใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อหลงเชื่อ
สาม การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง หมายถึงผู้กระทำการฉ้อโกงจะพยายามหาเหตุผลเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่น การเชื่อว่าตนเองได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม หรือมีเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้สามารถหลอกลวงได้ หรือการหาเหตุผลว่าเป็นการชักชวนลงทุนร่วมกัน มาเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่การก่ออาชญากรรมที่สร้างความเสียหายแต่อย่างใด
นอกจากทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งการฉ้อโกงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่พอใจในงาน แรงกดดันจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ความอยากได้อยากมีส่วนตัว หรือความคิดที่จะหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบในระบบการเงินขององค์กร
ขณะเดียวกัน สตีฟ อัลเบรชต์ (Steve Albrecht), คีต ฮาว (Keith Howe) และมาร์แชลล์ รอมนีย์ (Marshall Romney) ในงานชื่อว่า Deterring fraud: the internal auditor’s perspective เคยพยายามศึกษาวิเคราะห์ถึงกระบวนการก่ออาชญากรรมหลอกลวงบุคคล เพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมา ประกอบด้วยสิ่งเร้ากว่า 9 ประการที่ทำให้บุคคลตัดสินใจก่ออาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นทั้งปัญหาระดับปัจเจกบุคคลและปัญหาระดับโครงสร้างที่ครอบงำระบบสังคมและเศรษฐกิจอยู่ ได้แก่
การใช้ชีวิตเกินกว่าระดับที่ควรจะเป็น: บุคคลที่ต้องการดำเนินชีวิตที่เกินกว่าความสามารถทางการเงินของตน มักจะหาเงินโดยการฉ้อโกงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น
ความต้องการส่วนบุคคลที่มากเกินไป: ความทะเยอทะยานส่วนตัวหรือความปรารถนาที่จะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ทำให้เกิดแรงผลักดันในการฉ้อโกง
หนี้สินส่วนตัวที่สูง: หนี้สินที่มากเกินไปอาจสร้างแรงกดดันให้บุคคลต้องหาวิธีการผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาชำระหนี้
การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเหยื่อ: การมีข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ อาจเป็นแรงจูงใจในการฉ้อโกง เนื่องจากมีช่องทางเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินได้ง่าย
มองว่าได้รับค่าตอบแทนไม่สมเหตุสมผลกับหน้าที่: ความรู้สึกว่าตนเองทำงานหนักแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการฉ้อโกงเพื่อทดแทนสิ่งที่ตนเองคิดว่าสมควรได้
ทัศนคติของนักค้าเก็งกำไร: บุคคลที่มีทัศนคติของการหากำไรทุกวิถีทาง มักจะใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้กำไร แม้จะต้องหลอกลวงคนอื่น
ความรู้สึกที่ต้องการเอาชนะระบบ: บางคนรู้สึกว่าตนเองฉลาดพอที่จะเอาชนะระบบต่างๆ ที่มีการควบคุมตรวจสอบ โดยเฉพาะในองค์กรที่มีระบบการเงินที่เข้มงวด
นิสัยการเล่นพนันอย่างมากเกินไป: การพนันมักเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงและการหลอกลวงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ และอาจเป็นแรงผลักดันที่ทำให้บุคคลหันมาฉ้อโกงเพื่อหารายได้
แรงกดดันจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง: แรงกดดันจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ที่คาดหวังให้บุคคลมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนฉ้อโกงเพื่อรักษาสถานะในสังคม
การแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงและการถูกหลอกลวง จึงไม่ใช่เพียงการไล่จับกุมดำเนินคดี ทลายเครือข่ายองค์กรที่มุ่งหมายหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการยุติธรรมและจัดการกับอาชญากรรม การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ยั่งยืนจำต้องอาศัยการถอดบทเรียนสืบสาวไปถึงต้นสายของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และป้องกันความเสียหายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจยากแก่การฟื้นฟูเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
มุมมองอาชญาวิทยาช่วยในการทำความเข้าใจได้ว่า การฉ้อโกงเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วยการพิจารณาจากฝั่งของผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรรม ตลอดจนสามารถชี้ให้เห็นถึงสภาวะแวดล้อมและสิ่งเร้าทั้งหลาย ที่อาจเป็นแรงกระตุ้นให้บุคคลตัดสินใจหลอกลวงผู้อื่น การแก้ไขปัญหาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปจัดการกับสิ่งเร้าเหล่านั้น ซึ่งมักดำรงอยู่เป็นสภาวะแวดล้อมหรือปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ กล่าวคือการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความบกพร่องทางศีลธรรม หรือความชั่วร้ายของผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่คอยกดทับ กดดัน สร้างโอกาสฉาบฉวย ให้บุคคลลงมือกระทำความผิด
ดังนั้นวิธีการจัดการกับการฉ้อโกงในปลายทางเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น การฉ้อโกงสามารถถูกดำเนินคดีได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง คือการลงโทษผู้กระทำผิดและการบังคับให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาต้นทางย่อมหมายถึงการมองไปถึงการแก้ไขปัญหาทางสังคม การขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสเพื่อขยับสถานภาพทางสังคม การสร้างโครงข่ายความปลอดภัยให้แก่ประชาชน แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนต้องปากกัดตีนถีบแสวงหาโอกาสที่ทำให้ตนต้องตกเป็นทั้งเหยื่อที่ถูกหลอกลวง หรือเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองในความผิดฐานฉ้อโกง
นอกจากนี้กลไกของรัฐที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบการจัดการ และการดำเนินกิจการขององค์กรธุรกิจบางประเภทก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการโฆษณาที่เกินจริง การล่อลวงประชาชนด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโดยไม่ชี้แจงถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ การระดมทุนบางประเภทที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
สรุป
ตัดมาที่ปรากฏการณ์สังคมที่รุนแรงกระทบกระเทือนต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างกรณีข่าวดิไอคอนกรุ๊ป (THE iCON GROUP) ก็จำเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอถอดบทเรียน รูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือการเตือนภัยสังคม มากกว่าเป็นเพียงการนำเสนอข้อเท็จจริงว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ที่อาจสร้างความบันเทิงแค่ชั่วขณะ โดยที่ไม่ได้ก่อเกิดความรับรู้ใดๆ แก่สังคม เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในอนาคต
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ยังมีการประกอบธุรกิจลักษณะดังกล่าวเต็มไปหมด ขณะเดียวกันสภาวะความเปราะบางหรือความเสี่ยงของประชากรในประเทศ ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวง ก็ยังคงอยู่ ที่สำคัญถ้าเป็นไปได้จำเป็นต้องอธิบายชี้ให้เห็นถึงแก่นของปัญหา ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัจจัยผลักให้คนจำนวนหนึ่งเลือกลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ทั้งที่อาจนำไปสู่การตกเป็นเหยื่อ และสูญเสียทรัพย์สิน ส่วนหนึ่งย่อมเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจที่บีบบังคับให้คนต้องอยู่รอดด้วยตัวเอง แสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยตนเอง รวมไปถึงการขยับสถานะทางสังคมของตนเองให้หลุดพ้นจากเส้นของความลำบาก
ถ้าจะให้เห็นภาพ ขบวนการชักชวนให้ลงทุน หรือการปรากฏขึ้นของธุรกิจที่ประกอบการลักษณะเดียวกับดิไอคอนกรุ๊ป คงเปรียบเหมือนขอนไม้ที่ลอยท่ามกลางสภาวะที่บางคนกำลังลอยเคว้งคว้างอยู่ในทะเลแห่งเศรษฐกิจ ที่ความตายมายืนอยู่ตรงหน้า การเกาะขอนไม้ดังกล่าว ก็อาจเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เขา เชื่อว่าจะทำให้เขาอยู่รอดได้ ในสภาวะตัวคนเดียวและไร้การช่วยเหลือ
เอกสารอ้างอิง
Cressey R. Donald, Other People’s Money: A Study in the Social Psychology of Embezzlement, Free Press, 1953.
Steve Albrecht, Keith R. Howe, Marshall B. Romney, Deterring fraud: the internal auditor’s perspective, Institute of Internal Auditors Research Foundation, 1984.
Stanley Kinyanjui, an analysis of fraud from a criminologist perspective, https://www.academia.edu/11520054/AN_ANALYSIS_OF_FRAUD_FROM_A_CRIMINOLOGIST_PERSPECTIVE
Tags: อาชญวิทยา, การหลอกลวง, อาชญากรรม, ฉ้อโกง, Rule of Law