“ผู้ปกครองเตือนภัย ลูกชายวัย 11 ปี แอบสั่ง ‘บุหรี่ไฟฟ้าโดเรมอน’ สูบจนป่วยปอดบวม”
“เด็กหญิง สูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ ป.4-ม.2 สุดท้ายปอดพัง ป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรงฯ”
“เด็ก ม.1 ซื้อ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ จากตลาดนัด แอบมาสูบในโรงเรียน”
ข้อความข้างต้นเป็นหัวข้อข่าวประเด็นปัญหา และผลกระทบร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กเยาวชนของไทย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนถึงสถานการณ์บางอย่างที่ไม่สู้ดีนัก ในเรื่องการปกป้องกลุ่มประชากรอนาคตของชาติให้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ด้านหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลาย ต่างก็พร้อมออกโรงกันมาเผยแพร่ข้อมูลถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าและประกาศสงครามกับมัน แถลงการณ์มุ่งปราบปรามอย่างขะมักเขม้น โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ไวที่สุด
คำถามคือ การปกป้องเด็กเยาวชนด้วยการเร่งปราบปรามในลักษณะที่ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้าต้องหมดไป’1 ของรัฐบาลจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
ทั้งนี้บทความนี้พยายามนำเสนอทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า รัฐควรหันไปใช้มาตรการควบคุมให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในสายตาของรัฐ แทนที่จะปล่อยให้เป็นสิ่งที่อยู่ในความดำมืด เพราะสถานะที่ผิดกฎหมายของมัน จนทำให้การจัดการเป็นไปได้ยากลำบาก
ภาพเงาของอดีต
สถานการณ์ปัจจุบันและท่าทีการทำงานของรัฐบาล ต่อประเด็นการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กเยาวชน ทำให้นึกถึงท่าทีในอดีตของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ดำเนินนโยบายสงครามยาเสพติดเมื่อต้นปี 2546 จนเป็นสาเหตุให้ถูกตั้งคำถามด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นระบบ สังหารบุคคลเกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติด โดยอ้างว่าเป็นการวิสามัญฆาตรกรรมนับพันคน2 และปัญหานักโทษล้นคุก3 ขณะที่ผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็คือ ตัวเลขผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่ไม่ลดลง ยาเสพติดยังคงมีอยู่ และมีราคาสูงจนสร้างแรงจูงใจให้ใครหลายคนหันมาเข้าวงการ เพราะแม้จะเสี่ยงคุก แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็มีอยู่มากมหาศาลเช่นกัน
ข้อเท็จจริงข้างต้นส่งผลต่อวงการศึกษานิติศาสตร์ ด้านการจัดการอาชญากรรมเกี่ยวกับขบวนการยาเสพติด ที่เห็นว่า ควรมีการผลิตสร้างนวัตกรรมทางกฎหมายใหม่ๆ เพื่อให้การจัดการปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของนโยบายที่เน้นการกำราบปราบปรามไปสู่การกำกับควบคุมแทน
เลิก ‘ปราบปราม’
งานศึกษาเรื่อง From Repression to Regulation: Proposals for Drug Policy Reform4 เป็นงานที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายปราบปรามหรือการทำสงครามกับยาเสพติดนั้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบกฎหมายและสังคมในหลายมิติ กล่าวคือ ที่ผ่านมาการจัดการอาชญากรรมยาเสพติด มักถูกครอบงำโดยแนวคิดว่าด้วยการห้ามปราม (Prohibitionism) ทว่าผลลัพธ์ที่ตามมากลับนำพาสังคมอุดมไปด้วยความรุนแรง การใช้อำนาจอย่างล้นเกินและไร้ระบบตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการยุติธรรมที่ล่มสลาย การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกินความจำเป็น ปัญหาการมีผู้ถูกคุมขังล้นคุก ฯลฯ
ผลกระทบเชิงลบที่งานศึกษาข้างต้นอ้างถึง เป็นข้อเท็จจริงที่ถอดบทเรียนมาจากการดำเนินนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดในประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งพบว่า ผลกระทบอย่างแรกคือ การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงและการขยายอิทธิพลของกลุ่มอาชญากรรม อันมาจากสาเหตุที่นโยบายดังกล่าวทำให้ตลาดยาเสพติดขยายตัวมากขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล เพราะราคาที่พุ่งสูงจนอาจจูงใจให้ใครหลายคนเข้าสู่วงการ และส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างหนักระหว่างกลุ่มอาชญากรรม หรือการฆ่าตัดตอนเพื่อป้องกันการขยายผลในขบวนการค้ายา
กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดและการกวาดล้างแก๊งค้ายา ไม่ได้ส่งผลให้การค้ายาเสพติดลดลง แต่กลับทำให้กลุ่มอาชญากรรมปรับตัวและขยายอิทธิพลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่นในเม็กซิโก การทำสงครามกับแก๊งค้ายาในช่วงปี 2006-2012 ภายใต้รัฐบาลของ เฟลิเป กัลเดรอน (Felipe Calderón) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7 หมื่นราย และมีผู้สูญหายกว่า 2.6 หมื่นราย นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มค้ายาเสพติด ยังส่งผลให้เกิดการแทรกซึมเข้าสู่หน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตและลดประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย
ผลกระทบเชิงลบประการที่ 2 คือปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ระบบยุติธรรมและภาระของเรือนจำ เนื่องจากกฎหมายจะกำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา ส่งผลให้มีอัตราการคุมขังสูงขึ้นอย่างมาก ที่ตลกร้ายคือ บทลงโทษคดียาเสพติดในบางประเทศรุนแรงกว่าคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่น การฆาตกรรมหรือการข่มขืน
การปราบปรามยาเสพติดสร้างปัญหาความแออัดของเรือนจำ ยิ่งไปกว่านั้นระบบยุติธรรมที่มีภาระงานล้นเกินยังทำให้การดำเนินคดีล่าช้า และในหลายกรณีผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เป็นเพียงผู้ค้าและผู้ใช้รายย่อย ต้องถูกจองจำเป็นเวลานานโดยไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
สุดท้ายการเน้นปราบปรามทางกฎหมาย ยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประชากร อันเกิดจากการบริโภคหรือใช้ยาเสพติดที่ผิดสุขอนามัย ไร้มาตรฐานความปลอดภัย การใช้วัสดุที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และปัญหาการติดเชื้อโรคจากการใช้อุปกรณ์ร่วมกันของผู้ใช้ ดังนั้นแทนที่จะปราบปราม การควบคุมยาเสพติดอย่างมีระบบให้ถูกสุขลักษณะและเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด จึงเป็นทางออกสำคัญที่ยกระดับสุขภาวะโดยรวมของประชากรให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลเป็นพิเศษ
แม้ในบริบทของการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า จะแตกต่างกับการจัดการกับยาเสพติด เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความรุนแรงทางกายภาพ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และอาจไม่ถึงกับมีการขัดผลประโยชน์กันจนเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น แต่ในแง่ของลักษณะผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินนโยบายปราบปราม อาจพึงคาดหมายได้ว่าไม่มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานจนส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เพราะขาดการกำกับควบคุมอย่างเป็นระบบ คดีความที่อาจเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นสภาวะคดีอาญาเฟ้อ (Over-criminalization) ส่งผลกระทบต่อการบริหารระบบยุติธรรมจนรัฐต้องสูญเสียทรัพยากรสำหรับการดำเนินคดีมากเกินความจำเป็น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวตลาดมืดของบุหรี่ไฟฟ้า
หันมา ‘ควบคุม’
การดำเนินนโยบายควบคุมและกำกับดูแลยาเสพติดรวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นแนวทางที่รัฐเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการกำกับดูแลตลาด หรือพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้า โดยแทนที่จะห้ามปรามหรือปล่อยให้เป็นตลาดเสรี รัฐจะเป็นฝ่ายกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนในการผลิต การจำหน่าย และการใช้ยาเสพติด เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน และเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดจากการใช้สารเสพติดอย่างไม่ถูกต้อง
นโยบายดังกล่าวอาศัยหลักการที่ว่า การห้ามปรามอย่างสิ้นเชิงไม่สามารถขจัดปัญหายาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง แต่กลับส่งเสริมให้มีตลาดมืดและองค์กรอาชญากรรมเติบโตขึ้น รัฐจึงควรต้องเข้ามาควบคุมผ่านมาตรการทางกฎหมาย5
กล่าวเฉพาะในบริบทปัญหาบุหรี่ฟ้า รัฐบาลอาจกำหนดกฎระเบียบเพื่อบริหารจัดการกับการผลิต การจำหน่าย การโฆษณา และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น คุ้มครองเยาวชน และลดความเสี่ยงจากการใช้สารนิโคติน นโยบายดังกล่าวแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับกรอบกฎหมายและมุมมองทางสาธารณสุขของแต่ละรัฐ มาตรการควบคุมที่สำคัญประกอบด้วยการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร กำหนดให้ผู้ซื้อต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้บางประเทศยังมีมาตรการบังคับให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า มีบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันเด็กเปิดได้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการบริโภคนิโคตินโดยไม่ได้ตั้งใจ6
อีกประเด็นสำคัญคือ การโฆษณาและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า หลายประเทศจำกัดการโฆษณาที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มประชากรเด็กเยาวชน และกำหนดให้มีคำเตือนด้านสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์ เช่นสหภาพยุโรปที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้ามีฉลากเตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนียมีมาตรการเข้มงวดถึงขั้นห้ามใช้รสชาติที่ดึงดูดใจเยาวชน เช่น รสหวานหรือรสผลไม้7
มาตรการด้านสาธารณสุขยังรวมถึงการกำหนดค่าความเข้มข้นของนิโคตินในของเหลวบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเสพติดเกินขนาดเช่นกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ที่จำกัดความเข้มข้นของนิโคตินไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และการห้ามใช้สารเติมแต่งบางชนิด เช่น คาเฟอีนหรือสารแต่งกลิ่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งหลายประเทศกำลังพิจารณาหรือบังคับใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดผลกระทบจากควันบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้ที่ไม่สูบ
โดยสรุปนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเน้นไปที่การลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพของผู้ใช้และผลกระทบต่อสังคม แม้ว่าประเทศต่างๆ มีมาตรการควบคุมที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายหลักคือการหาสมดุลระหว่างการป้องกันอันตราย การลดการใช้ในกลุ่มเยาวชน และการให้ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่แบบดั้งเดิม
แม้ว่านโยบายควบคุมและกำกับดูแลจะมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะในด้านการลดอิทธิพลของตลาดมืดและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีข้อท้าทายหลายประการที่ต้องพิจารณา รัฐบาลที่นำแนวทางนี้มาใช้ต้องมีระบบกำกับดูแลที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของยาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งยังต้องมีมาตรการรองรับด้านสุขภาพและการศึกษาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเสพติดมากเกินไป ดังนั้นนโยบายควบคุมและกำกับดูแลจึงเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบเชิงลบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ในระยะยาว
สรุป
‘การกำกับควบคุม’ อาจเป็นโมเดลการดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการยาเสพติดผิดกฎหมายและบุหรี่ไฟฟ้า ที่ถูกคิดค้นขึ้นด้วยความคาดหวังว่า จะคอยอุดรอยรั่วและบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายมุ่งเน้นการปราบปรามได้
แต่อย่างไรก็ดี นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการปกป้องสุขภาพประชาชน ควบคุมตลาด และลดอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุข กฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และแนวทางปฏิบัติของนานาประเทศ
การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์เชิงลึก การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และการติดตามผลกระทบของมาตรการที่นำมาใช้ เพื่อให้สามารถปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างต่อเนื่อง
เชิงอรรถ:
1ข่าวนายกรัฐมนตรี, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/94482
2ฮิวแมนไรทวอทช์, หลุมศพเท่าไรก็ไม่พอ สงครามยาเสพติด เอชไอวี/เอดส์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, https://www.hrw.org/reports/thailand0704thwebwcover.pdf
3ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์, “เสี้ยวเสียงจากเรือนจำ ถึงสงครามยาเสพติดที่ไม่มีใครชนะ,” 24 มีนาคม 2565, the101.world, https://www.the101.world/life-in-the-war-on-drugs/ [สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2568]
4Campero, J. C., et al, From Repression to Regulation: Proposals for Drug Policy Reform, (Bogota: Friedrich-Ebert-Stiftung Regional Security Cooperation Program, 2013)
5Ezat Wan Puteh S, Ismail N, Ismah Izzati Ismail N., Regulatory and Policy-Making of E-Cigarettes Usage [Internet]. Sustainable Development. IntechOpen; 2024. Available from: http://dx.doi.org/10.5772/intechopen.107502
6Ibid.
7Ibid.
Tags: บุหรี่ไฟฟ้า, Rule of Law, Electric Cigarette, e-Cigarette