บ่อยครั้งที่วรรณกรรมถูกนำมาเป็นกระจกสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองของรัฐหลายแห่ง ซึ่งนิยายการเมืองส่วนใหญ่ก็มักจะถูกเล่าในรูปแบบของวรรณกรรมดิสโทเปีย (Dystopian Fiction) อันหมายถึง วรรณกรรมที่เสนอภาพจินตนาการของรัฐ หรือสังคมที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและความอยุติธรรม ภายใต้ผู้ปกครองอำนาจนิยม และบางครั้งก็จะประกอบด้วยพื้นหลังของบรรยากาศโลกยุคหลังการล่มสลาย (Post-Apocalyptic) ธรรมชาติในความเป็นการเมืองของวรรณกรรมประเภทนี้ จะเชิญชวนให้เหล่าผู้อ่านร่วมกันถกเถียง วิเคราะห์ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจใช้บังคับอำนาจและดำเนินกลไกกฎหมาย เพื่อปกป้องรักษาระเบียบทางสังคมและประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำอย่างไรบ้าง
ฉากหลังของวรรณกรรมดิสโทเปีย ที่มีอำนาจรัฐและปฏิบัติการทางกฎหมายต่างๆ สำหรับควบคุมพฤติกรรมหรือความคิดของประชาชนในโลกวรรณกรรมแต่ละเรื่อง อาจสะท้อนเค้าลางแห่งหายนะและความป่วยไข้ของบางรัฐหรือบางสังคมได้ ดังนั้นบทความชิ้นนี้จะเป็นการนำเสนอคุณลักษณะสำคัญของระบบกฎหมายในโลกดิสโทเปีย ซึ่งอย่างน้อยอาจช่วยในการเปรียบเทียบระบบกฎหมายของรัฐไทย และชวนให้พินิจว่า ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน รัฐและสังคมไทยใกล้เคียงกับความเป็นดิสโทเปียหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
หนึ่ง เผด็จการอำนาจนิยม
การปกครองบ้านเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม ถือเป็นลักษณะร่วมกันโดยทั่วไปของวรรณกรรมดิสโทเปีย
‘เผด็จการอำนาจนิยม’ เป็นระบอบเผด็จการที่แม้จะอิงอยู่กับหลักแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทว่าภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม จะรวมเอาอำนาจทั้งการตรากฎหมาย อำนาจการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจตุลาการไว้ที่บุคคลคนเดียว หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น
จุดร่วมอีกจุดหนึ่งคือ ภายใต้ระบอบเผด็จการมักจะมีการกล่าวถึงการรักษาหรือจัดระเบียบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้น่าอยู่ การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม พร้อมทั้งเน้นย้ำการพิทักษ์สิ่งที่ดีกว่า และพัฒนาบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่น่าพึ่งปรารถนายิ่งกว่า การต่อต้านหรือการปลดแอกตัวเองเป็นอิสระจากระเบียบเหล่านั้น ถือเป็นการบ่อนทำลายและต้องถูกกำจัด
ดังนั้น ระเบียบทางสังคมที่ผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายสถาปนาและปรารถนาให้คงอยู่ไว้ ถือเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ของปัจเจกบุคคล
สอง มนุษย์ทุกคนต้องมีความคิดเป็นอย่างเดียวกัน
วรรณกรรมเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่สร้างโลกดิสโทเปีย ดำเนินเรื่องโดยตัวละครเอกอย่าง ‘วินส์ตัน’ (Winston) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของพรรคอิงซอค (Ingsoc) ที่พยายามก่ออิสระในตัวเอง และก่อกบฏทางความคิด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของตำรวจความคิดได้ ออร์เวลล์ชี้ให้เห็นถึงกลไกการบังคับใช้อำนาจที่แยบยล ด้วยการสร้างระบบการสอดส่องที่ก้าวหน้าผ่านเทคโนโลยี ‘Telescreen’ เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้อยู่ใต้ปกครองจะเชื่อง และประพฤติตัวตามระเบียบที่ผู้ปกครองกำหนด ฉะนั้นการมีเพียงความคิดที่เป็นอิสระ แตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจปรารภ เท่ากับเป็นการฝ่าฝืนและถือว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด ซึ่งต้องถูกจับกุมและลงโทษโดยตำรวจความคิดที่แฝงตัวอยู่ทุกที่
ภายหลังถูกจับ วินส์ตันถูกทรมานด้วยสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดอย่าง ‘หนู’ และต้องยอมหักหลังคนรักเพื่อปกป้องตัวเอง ถือเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์จากข้างในจิตใจ ทำลายความคิดอิสระที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เขาต้องยอมรับความจริงหนึ่งเดียวที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้น ผ่านกระบวนการคิดสองชั้นที่ทำลายความหมายของภาษาอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาระเบียบแบบเดิมเอาไว้ หากผู้มีอำนาจบอกว่า “สองบวกสองเท่ากับห้า” ก็ต้องเป็นเช่นนั้น หากผู้ปกครองต้องการให้ผู้คนเคารพรัก ‘พี่เบิ้ม’ (Big Brother) ใครก็ไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นได้
ระบบกฎหมายในโลก 1984 จะมีความสามารถในการควบคุมระบบของภาษา เพื่อทำลายเสรีภาพทางความคิด และกรุยทางให้เชื่องต่อระบอบอย่างเต็มรูปแบบ เป็นโมเดลต้นแบบของรัฐที่ต้องการควบคุมประชาชนทั่วทุกหนแห่ง โดยไม่มีใครลุกขึ้นต่อต้านได้ เพราะกฎหมายจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างรวดเร็วเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดและ ‘ฟื้นฟู’ พวกเขาให้กลายเป็นพลเมืองที่ ‘ปฏิบัติตามกฎหมาย’ อีกครั้ง
สาม การใช้กฎหมายแบบเบ็ดเสร็จบนข้ออ้างเชิงศีลธรรม
วรรณกรรมเรื่อง The Handmaid’s tale ของ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของออฟเฟรด (Offred) แฮนด์เมด (Handmaid) ที่ทำหน้าที่หลักคือ ‘ให้กำเนิดทารก’ ในฐานะทาสแห่งการสืบพันธุ์ (Enslaved Surrogate) และมีดินแดนดิสโทเปียชื่อว่า ‘สาธารณรัฐกีเลียด’ (Gilead) เป็นฉากหลัง กีเลียดถูกปกครองด้วยกลุ่มอนุรักษนิยมคลั่งศาสนา ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มหน้าที่หรือชนชั้นต่างๆ และระบอบการกดขี่ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือการกดขี่โดยลัทธิชายเป็นใหญ่ที่กำหนดสถานะผู้หญิงให้ต่ำกว่าผู้ชายในทุกๆ เรื่อง
เห็นได้ชัดว่า ในโลกดิสโทเปีย กฎหมายไม่ต่างจากระบบกฎเกณฑ์หรือสถาบันแห่งการกดขี่ โดยมีหลักการเชิงศีลธรรมแบบสุดโต่งรองรับให้กฎเกณฑ์ดังกล่าวดำรงอยู่ได้และคอยให้ความชอบธรรมแก่การกระทำความรุนแรงต่อคนบางกลุ่มที่ถูกจัดวางให้มีสถานะต่ำสุดในสังคม ซึ่งในโลก The Handmaid’s Tale จะหมายถึง ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกจำกัดสิทธิทุกด้าน อีกทั้งผู้หญิงก็ยังถูกจัดประเภทเป็นลำดับชั้น โดยอิงตามลักษณะความสัมพันธ์ที่หญิงมีต่อชาย ได้แก่ เหล่าภรรยาของกลุ่มผู้นำ, แฮนด์เมดหรือคนรับใช้ และอันวูเมน (Unwomen) อันหมายถึง หญิงที่ไม่สามารถสืบเผ่าพันธุ์ได้ (Infertile) และหญิงรักร่วมเพศ (Homosexual Women)
การตีความกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจในโลกดิสโทเปีย แม้จะสร้างความเลวร้ายต่อประชาชนมากเพียงใด เช่น การแบ่งชนชั้น การปราบปรามอย่างรุนแรง การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้คน แต่ความน่ากลัวคือ คนในสังคมนั้นๆ ส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วย และยินยอมปฏิบัติตาม เพราะหากมันยึดโยงกับหลักศีลธรรม และมายาคติว่าด้วยความดี การทำเพื่อชาติ เพื่อส่วนร่วม ย่อมเป็นประโยชน์สูงสุด กล่าวให้ถึงที่สุด กฎหมายที่ปรากฏออกมาลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจนิติบัญญัติหรือตุลาการใดๆ เนื่องจากเท่ากับเป็นกฎระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่กลุ่มชนชั้นนำเชื่อว่า จะคอยรักษาความสงบสุขของสังคมต่อไปได้
สี่ ศีลธรรมอยู่เหนือกฎหมาย
สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า จะเห็นว่าโลกดิสโทเปียกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมอยู่เหนือกฎหมายของรัฐอย่างสิ้นเชิง วรรณกรรมเรื่อง Scythe ของ นีล ชูสเตอร์แมน (Neal Shusterman) ซึ่งเล่าเรื่องราวโดยมีฉากหลังเป็นช่วงเวลาที่โลกสามารถเอาชนะ ‘ความตาย’ ได้ มนุษย์ทุกเหล่ามีภูมิคุ้มกันจากโรคภัยทุกประเภท แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันประชากรล้นโลกและการขาดแคลนทรัพยากร การลดจำนวนประชากรจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สถาบันที่ชื่อว่า ‘Scythe’ ถูกกำหนดให้เข้ามารับหน้าที่เลือกจบชีวิตผู้คน มีหน้าที่ควบคุมประชากร เป็นผู้นำพาความตาย ภายใต้เงื่อนไขและกฎหมายของตนเองและไม่มีใครตอบได้
จุดสำคัญของวรรณกรรมเรื่องนี้คือ การที่โลกถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ‘Thunderhead’ ทำให้การบริหารบ้านเมืองและการจัดสรรบริการสาธารณะจึงปราศจากความผิดพลาดของมนุษย์ การทำตามอำเภอใจ และการทุจริต แต่ปัญญาประดิษฐ์จะไม่มีความรู้สึกนึกคิดทางศีลธรรม การตัดสินคดีหรือการมีปฏิบัติการทางกฎหมาย เพื่อกำหนดว่าใครอยู่ใครตาย ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางศีลธรรมหลากมิติ จึงต้องเป็นหน้าที่ของ Scythe ในฐานะมนุษย์ที่เข้ามาทำหน้าที่แทน
Scythe ดำเนินเรื่องผ่านสองตัวละครหลัก ได้แก่ สิตรา (Citra) และ โรแวน (Rowan) ผู้ฝึกงานที่ถูกส่งให้ไปอยู่กับ Scythe ที่มีชื่อเสียง ซึ่งทั้งสองต่างก็มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกว่าใครควรอยู่ ใครควรตายแตกต่างกัน ทั้งนี้ ระหว่างคนทั้งสองจะมีผู้ถูกรับเลือกให้เป็น Scythe เพียงคนเดียวเท่านั้น วรรณกรรมเรื่องนี้จึงสอดแทรกประเด็นปัญหาเชิงศีลธรรมอย่างมาก
กลุ่มคนที่เป็น Scythe จะได้รับอภิสิทธิ์ในการไม่ถูกกำจัด และสามารถเป็นอมตะได้ตามใจต้องการ แต่พวกเขาจะกำหนดขอบเขตการใช้ดุลยพินิจและใช้อำนาจเฉพาะการป้องกันอาชญากรรม ปราบปรามความวุ่นวายในสังคมที่กลุ่มเป็นฝ่ายบริหารจัดการเท่านั้น ส่งผลให้กฎหมายและการบังคับใช้เกี่ยวโยงกับหลักศีลธรรมทุกด้าน กฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีความหมาย หรือคุณค่าใดๆ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความเป็นและความตายของมนุษย์ล้วนขึ้นอยู่กับหลักศีลธรรมส่วนตัวของผู้มีอำนาจ โดยปราศจากกลไกการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ ปัญหาที่ตามมาคือ ศีลธรรมส่วนตัวเหล่านั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป ส่งผลถึงลักษณะการกระทำที่เลวร้ายต่างกัน บ้างดูแลผู้ที่ต้องถูกกำจัดเป็นอย่างดี บ้างก็เลือกทรมานผู้ถูกกำจัดเพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตน
การใช้อำนาจและระบบกฎหมายของ Scythe จึงเป็นเรื่องกำหนดความเป็นความตายของบุคคล ไม่ใช่คุ้มครองสิทธิ์ ทุกคนต่างล้วนเป็นวัตถุแห่งอำนาจของผู้มีอำนาจ และสิทธิในชีวิตร่างกาย จะขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจต้องการให้อยู่หรือไม่
ห้า การต่อต้านในระดับปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
ในโลกของดิสโทเปีย ปัจเจกบุคคลจะต้องฝืนธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของตัวเอง การมีชีวิตและมีความคิดแบบอิสระเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงอย่างมาก เพราะถือเป็นการก่อให้เกิดความสั่นคลอนของระเบียบหรือโครงสร้างอำนาจรัฐทั้งหมด การอยู่รอดในสังคมดิสโทเปีย ผู้อยู่ใต้ปกครองหรือแม้กระทั่งผู้ปกครองเอง จะต้องสละทิ้งความเป็นมนุษย์เสียทั้งหมด และยินยอมอยู่ภายใต้กฎหมาย เชื่องต่อระบอบเพื่อความอยู่รอด
ตัวอย่างของการต่อต้านที่ไร้ประโยชน์ ปรากฏใน 1984 จากการที่วินส์ตันพยายามก่อกบฏทางความคิด แต่ด้วยแสนยานุภาพของระบบกลไกการสอดส่อง ความคิดอิสระที่แตกต่างจากคนหมู่มาก และไม่เป็นไปตามที่ผู้ปกครองต้องการ ก็ไม่สามารถรอดพ้นสายตาของ ‘พี่เบิ้ม’ ไปได้ และท้ายที่สุด เขาก็ไม่ต่างจากคนป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมารักพี่เบิ้ม มีความคิดเหมือนกับคนอื่นๆ ด้วยการทรมานสารพัดวิธีเพื่อทำลายตัวตนของเขาจากเบื้องลึกในจิตใจ
เช่นเดียวกับ เรื่องราวที่ปรากฏใน ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) ของ เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) ที่เล่าถึงชีวิตของนูเนซ ที่บังเอิญไปพบดินแดนที่มีแต่คนตาบอดโดยบังเอิญ ในฐานะที่เขาเป็นคนตาดี ได้ก่อเกิดความหลงระเริงว่าตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ และคิดก่อรัฐประหารในดินแดนนั้นด้วยตัวเขาเอง บนความเชื่อที่ว่า ‘ในดินแดนของคนตาบอด ชายตาเดียวคือพระราชา’ (The Country of the Blind, The one-eyed man is King.) แต่สุดท้าย สิ่งที่เขาทำล้วนไร้ประโยชน์ การที่เขาประกาศว่าตัวเอง ‘มองเห็น’ ทำให้ถูกผู้คนและผู้มีอำนาจในดินแดนคนตาบอดกล่าวหาว่า ‘บ้า’ ก่อนที่เขาจะต้องถูกควักลูกตาออกเพื่อรักษาอาการบ้าตามที่ถูกล่าวหา นูเนซ จำใจต้องยอมรับว่าตนเองเป็นบ้า ตามที่คนตาบอดกล่าวหา และสูญสิ้นความเป็นตัวเองด้วยการแสดงออกมาว่า ตนมีความคิด ความเชื่อตามอย่างที่เหล่าคนตาบอดเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า ‘เหนือหัวมนุษย์ขึ้นไปราวสิบช่วงตัว มีหลังคาครอบโลกอยู่ เป็นที่เรียบลื่น แสนราบเรียบและสวยงามที่สุด’
วรรณกรรมตอกย้ำว่า หากบุคคลใดเป็นคน ‘ตาดี’ หรือ ‘ตาสว่าง’ ในดินแดนที่มีแต่คนตาบอด ซึ่งทุกคนล้วนเชื่อในสิ่งที่คนตาดีไม่มีวันมองเห็นและเข้าใจ การพยายามเบิกเนตรและอธิบายถึงสรรพสิ่งหรือความจริงที่ปรากฏอยู่ในนัยน์ตาของผู้มองเห็นแก่พวกเขา ย่อมกลายเป็นการกระทำที่ไร้ความหมาย
หก ประสิทธิภาพของกฎหมายขึ้นอยู่กับการลงโทษ
การบังคับใช้กฎหมาย จะมุ่งเน้นการลงโทษ การปราบปรามและความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้แน่ใจว่าระเบียบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่สั่นคลอน ไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี ขณะเดียวกัน การมุ่งลงโทษก็มีจุดประสงค์ในการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ประกอบกับกลไกการกำกับควบคุมพฤติกรรม และความคิดของผู้อยู่ใต้การปกครอง จนกลายเป็นชีวิตที่อยู่ใต้การบงการจากภายนอก ซึ่งต้องระมัดระวังความคิดและการกระทำของตนเอง เพื่อความปลอดภัย
ระบบกฎหมายที่คอยสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวที่ปกคลุมทั่วสังคม ผ่านการกำหนดโทษทัณฑ์ที่รุนแรงไว้เบื้องหลังการบังคับใช้ อีกนัยหนึ่ง ถือเป็นสร้างกลไกการกำกับตนเอง (self-discipline) ของปัจเจกบุคคล ให้ประพฤติตนอยู่ในร่องในรอยตามกฎเกณฑ์ที่ผู้ปกครองกำหนด
เจ็ด ไร้ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย
ในวรรณกรรมดิสโทเปีย มักฉายให้เห็นเส้นที่คอยแบ่งชนชั้นของผู้คนในสังคมนั้นๆ ให้เห็นอย่างเด่นชัด เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างรูปธรรม ว่าใครมีสิทธิหน้าที่ มีตำแหน่งแห่งที่อยู่อย่างไรในระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และขณะเดียวกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้นแบบไร้ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ชนชั้นที่ต่างกันก็จะถูกภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ในลักษณะที่ต่างกัน รูปแบบของความยุติธรรมจะขึ้นอยู่ผู้ที่อยู่เบื้องหน้ากฎหมายมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในสังคม
ระบบกฎหมายที่มีรากฐานเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ความวิปริตหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นตามมาโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การลอยนวลพ้นผิดที่กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจรัฐ ใช้ในการปกป้อง หรือความชอบธรรมกับการกระทำความผิดของตนเอง เพื่อให้รอดพ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาระเบียบบางอย่างที่ผู้มีอำนาจสถาปนาเอาไว้แต่ หรือกรณีการใช้กฎหมายให้อำนาจในการกระทำความรุนแรงตามอำเภอใจต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง และชนกลุ่มน้อยที่ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งให้มีสถานะด้อยกว่าคนอื่นๆ ในสังคม และความรุนแรงสามารถกลายเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งที่คอยสนับสนุนอำนาจสำคัญๆ ส่วนอื่นให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง
ส่งท้าย
ลักษณะของระบบกฎหมายในวรรณกรรมโลกดิสโทเปียที่อภิปรายข้างต้น เป็นเพียงการสรุปประเด็นแนวความคิด (Conceptualize) พอสังเขปที่เกิดจากการอ่านประกอบงานศึกษาที่ใช้ระเบียบวิธีวิทยาแบบกฎหมายกับวรรณกรรม (Law and Literature) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีวรรณกรรมดิสโทเปียอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งการอ่านที่เหลืออาจทำให้ใครอีกหลายคนที่อ่านวรรณกรรมประเภทนี้ สามารถมองแตกต่างหรือเพิ่มเติมไปจากเนื้อหาที่อภิปรายได้
ถึงตรงนี้ ย่อมไม่สามารถสรุปได้ว่า สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมดิสโทเปีย เพราะในบริบทหลายเรื่องยังเป็นไปได้ยากที่สังคมไทยจะกลายเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะปัจจัยภายนอกที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่ตัวคนเดียวกัน แต่ยังต้องอยู่กับประชาคมโลก ต้องติดต่อทำมาค้าขายกับต่างประเทศ การรักษาภาพลักษณ์บางอย่างก็เป็นเรื่องสำคัญ หรือแม้กระทั่งปัจจัยภายในที่คนในประเทศจำนวนไม่น้อยที่ตื่นรู้ ไม่ยอมก้มหัวต่ออำนาจอยุติธรรม และพยายามขับเคลื่อนเรียกร้องสังคมที่ดีกว่าอยู่เสมอ
อย่างไรก็ดี การพิจารณาระบบกฎหมายในโลกดิสโทเปีย ทำให้เห็นเค้าลางบางอย่างที่อาจนำพาสังคมไทยไปสู่โลกดิสโทเปีย หากไม่ได้รับปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏออกมาภายใต้ผ้าคลุมของกฎหมาย
เอกสารอ้างอิง
Raas Nabeel. The Jurisprudence of Dystopian Fiction. LUMS Law Journal 2021 8. No.1: 27 – 42.
Margaret Atwood. The Handmaid’s Tale. New York: Houghton Mifflin Harcourt. 1986.
Neal Shusterman. Scythe. Arc of a Scythe. London: Walker Books. 2018.
เอช. จี. เวลส์. ดินแดนคนตาบอด = The Country of the Blind. แปลโดย มโนราห์ (นามปากกา).พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมมติ. 2561.
จอร์จ ออร์เวลล์. หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทองและอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมมติ. 2557.
Tags: ดิสโทเปีย, วรรณกรรม, Rule of Law, Dystopia