จากซีรีส์เรื่อง How to Become a Tyrant ทางเน็ตฟลิกซ์ศึกษาเป็นเรื่องเป็นราวถึงลักษณะร่วมกันของเผด็จการทั่วโลก กลยุทธ์หนึ่งสำหรับคุณสมบัติของการเป็นเผด็จการที่หยิบยกมาเล่าให้ฟัง คือ ‘กลยุทธ์เชื่อในตัวเอง’ หรือการที่เผด็จการมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองแบบหลงผิดอย่างยิ่งยวด มักโน้มน้าวตัวเองว่าคือฮีโร เป็นคนเดียวที่กู้โลกได้ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งบางครั้งการยกย่องตัวเองดูเหมือนเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติด้วยซ้ำ

ครั้งหนึ่ง ตามตำนานของเกาหลีเหนือ ในช่วงเวลาที่ คิม จองอิล (Kim Jong-Il) ตกฟาก พบว่าเกิดดาวดวงใหม่สว่างสุกใสขึ้นบนท้องฟ้า ปรากฏสายรุ้งคู่ และฤดูหนาวกลายเป็นฤดูใบไม้ผลิ

ซัดดัม ฮุดเซน (Saddam Hussein) เผด็จการแห่งอิรักเคยกล่าวว่า ตัวเขาคือลูกรักของพระเจ้า เขาได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าให้ปกครองอิรักตลอดไป และการที่เขารอดตายจากการลอบสังหารหลายครั้ง เป็นหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ได้ว่าพระเจ้าโปรดปรานเขา

ฟรองซัวร์ ดูวาลิเยร์ (Francois Duvalier) จอมเผด็จการชาวเฮติสร้างตำนานเช่นกัน เขาอ้างว่าตัวเขาคือสิ่งอันเป็นอมตะ และพลังเวทย์ของเขาทำให้เกิดการลอบสังหาร ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกา

มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) เผด็จการจากประเทศลิเบีย เชื่อว่าตัวเขาคือแฟชั่นไอคอน อะไรก็ตามที่เขาสวมใส่จะกลายเป็นเทรนด์แฟชั่น เขาเพียงแค่สวมเสื้อเชิ้ตธรรมดา แต่ก็ยังดูดีจนทุกคนต้องใส่ตามเขา และแน่นอนว่าเขาทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า หน้าของเขาจะต้องปรากฏตามที่สาธารณะต่างๆ ในประเทศลิเบีย ซึ่งกัดดาฟีต้องการให้ทุกคนรู้จักและรักเขา

ซึ่งน่าแปลกใจที่เผด็จการทั่วแคว้นทุกมุมโลกต่างมีนิสัยหลงตัวเองแบบนี้เป็นลักษณะร่วมกัน เรื่องนี้มีคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุผลทางจิตวิทยาที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมเผด็จการจึงหลงตัวเอง โดยในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนหลงตัวเองทุกคนคือเผด็จการ แต่เผด็จการทุกคนนั้นหลงตัวเอง

ก่อนอื่น ต้องนิยามคำว่า ‘หลงตัวเอง’ (Narcissism) เสียก่อน การหลงตัวเองคือภาวะหนึ่งที่มนุษย์คนนั้นมีพฤติกรรมชอบโอ้อวด มั่นใจเกินร้อย อีโก้สูงเสียดฟ้า และขาดความเห็นอกเห็นใจ รวมถึงพฤติกรรมที่มีการใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเป็นที่รักของผู้อื่น โลกต้องหมุนรอบตัวเขา ไม่เอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น ขาดความสามารถในการรับมือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ สนใจเฉพาะคำสรรเสริญเยินยอเท่านั้น ส่วนพวกที่หลงตัวเองหนักๆ ยังพัฒนากลายเป็นโรคทางจิตเภทได้ เรียกว่า ‘โรคหลงตัวเอง’ (Narcissistic personality disorder: NPD) ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

ในทางกายภาพ ภาวะโรคหลงตัวเองนี้พบว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) และอะมิกดาลา (Amygdala) โดยสมองกลีบหน้าอยู่ในตำแหน่งของหน้าผาก ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความคิด และเป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้นเมื่อต้องทำการตัดสินใจในเรื่องที่มีศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนอะมิกดาลา อ้างอิงจากหนังสือเรื่องสั้น Almond เล่าถึงเด็กชายที่มีความผิดปกติในอะมิกดาลา ตรงสมองส่วนกลางตั้งแต่เกิด ความผิดปกตินี้ทำให้เขาไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกลัว ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า คนหลงตัวเองมีความผิดปกติในสมอง 2 ส่วนนี้1

ในปี 1939 คาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาชื่อดัง ผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างการกำหนด Myers-Briggs Type Indicator: MBTI หรือเรารู้จักในชื่อ ‘แบบทดสอบทางบุคลิกภาพ 16 ประเภท’ ซึ่งได้รับการพัฒนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเจอ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และมุสโสลินี (Benito Mussolini) ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และได้สังเกตปฏิกิริยาของทั้งสองคน จุงเล่าว่าเขาไม่เคยเห็นฮิตเลอร์หัวเราะเลย ฮิตเลอร์อยู่ในอารมณ์โกรธขึ้งหน้าบึ้งตลอดเวลา ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ และยอมครองตัวเป็นโสดเพื่ออุทิศตนสำหรับการสถาปนานาซีเยอรมัน2 อย่างแข็งขัน ขณะที่มุสโสลินีดูเป็นคนธรรมดา เข้าถึงง่าย อบอุ่น และเปี่ยมไปด้วยพลัง 

ปี 2007 คูลิดจ์และซีกัล (Coolidge and Segal) นักวิจัยที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ใช้วิธีการศึกษาแบบการประเมินสภาพทางจิต โดยอาศัยคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจิตเภท (Informant report) ได้มีการประเมินจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับอุปนิสัยของฮิตเลอร์จากผู้ใกล้ชิดในอดีต 5 คน เพื่อประเมินถึงภาวะบกพร่องทางบุคลิกภาพของฮิตเลอร์ อ้างอิงจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-IV) ทุกคนได้บอกเล่าถึงนิสัยของฮิตเลอร์อย่างตรงกัน และสามารถประเมินสภาวะทางจิตของฮิตเลอร์ได้ว่า อยู่ในเกณฑ์ของการเป็นโรคหวาดระแวง ต่อต้านสังคม หลงตัวเอง ซาดิสต์ โอ้อวดตัวเอง และมีความคิดที่เบี่ยงเบน 

ในปีเดียวกัน คูลิดจ์และซีกัลทำแบบเดียวกันกับ ซัดดัม ฮุสเซน ภายใต้การประเมินจากคำบอกเล่าของคนสนิทของซัดดัม ฮุสเซน ทั้ง 11 คน ทุกคนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ซัดดัมมีภาวะทางจิตคล้ายกับฮิตเลอร์ คือมีภาวะหวาดระแวง ต่อต้านสังคม หลงตัวเอง และซาดิสต์ งานวิจัยนี้ยังดำเนินต่อมาจนถึงปี 2009 โดยใช้วิธีศึกษาเดียวกันกับท่านผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอิล และพบว่า มีอาการเดียวกับทั้งฮิตเลอร์และซัดดัม ฮุสเซน

การเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยของคนหลงตัวเอง

โชคดีที่โรคหลงตัวเองนี้เกิดขึ้นกับคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และอาจกลายเป็นปัญหามลพิษเฉพาะต่อคนใกล้ชิดของผู้ที่มีอาการของโรคนี้ แม้เราจะอยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย แต่ลองจินตนาการถึงหายนะที่มาเยือน เมื่อคนหลงตัวเองกลายเป็นผู้กุมอำนาจในประเทศ ความอันตรายของคนหลงตัวเองทั่วไปกับคนหลงตัวเองที่เป็นผู้กุมอำนาจนั้น ประวัติศาสตร์มีให้ศึกษามากมาย ทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ซัดดัม ฮุสเซน, คิม จองอิล ฯลฯ พบว่าผู้นำเผด็จการที่มีนิสัยหลงตัวเองเหล่านี้สามารถก่อความเสียหายวงกว้างอย่างมหาศาลได้ 

ผู้นำเผด็จการที่หลงตัวเองคือต้นตอของความรุนแรงและความเจ็บปวดในหน้าประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวในค่ายกักกันยุคนาซีเยอรมัน หรือซัดดัม ฮุสเซน ที่ชั่วชีวิตเขาได้นำพาประเทศอิรักเข้าสู่สงครามถึงสองครั้ง มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ทุกข์ยากมหาศาล จนวาระสุดท้ายของชีวิต ซัดดัมถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และต้องโทษประหารด้วยการแขวนคอ 

การเผชิญหน้ากับจอมเผด็จการเหล่านี้ สิ่งเดียวที่ต่อกรได้คือ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งเราจะเห็นกฎหมายที่ส่งเสริมประชาธิปไตยเบ่งบานขึ้น หลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายซึ่งมีเผด็จการหลงตัวเองเหล่านี้เป็นต้นเหตุ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เป็นข้อกำหนดแนวทางนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฮิตเลอร์เป็นผู้จุดชนวนสงคราม ดังนั้นเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยคือศัตรูที่แท้จริงของเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการผู้คิดว่าโลกหมุนรอบตนเอง

มีงานศึกษาว่าคนหลงตัวเองมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าเผด็จการและกฎของทหารคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมเนื่องจากคนจำพวกนี้มีอุปนิสัยที่คิดว่า ตนเองเหนือกว่าผู้อื่น ความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายของความคิดเห็นทางการเมืองต่ำ ขณะที่คนที่มีอุปนิสัยตรงกันข้าม มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่า เพราะนักสนับสนุนประชาธิปไตยจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คนหลงตัวเองไม่มี คือการให้ความเคารพต่อมุมมองและความคิดเห็นของผู้อื่น 

มีเรื่องเล่าในพอดแคสต์ที่น่าสนใจของ เอียน ฮิวจ์ (Ian Hughes) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่กำลังทำลายประชาธิปไตย ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงาน เท็ดทอล์ก x ทรินิตี้คอลเลจดับลิน (TedTalk x TrinitycollegeDublin) หัวข้อเรื่อง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่เป็นอันตรายบ่อนทำลายประชาธิปไตยอย่างไร? (How dangerous Personality Disorders are destroying Democracy?) ความบกพร่องทางบุคลิกภาพที่เป็นอันตรายประเภทหนึ่งซึ่งกำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตยที่ฮิวจ์กล่าวถึงคือโรคหลงตัวเอง เนื่องจากบุคลิกหลักของผู้เป็นโรคหลงตัวเอง มีเนื้อแท้ที่เชื่อว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น ต้องการเป็นที่นิยมชมชอบ อีโก้สูง ขาดความเห็นอกเห็นใจและเห็นแก่ตัว ล้วนเป็นนิสัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความเห็นต่าง

ความอันตรายของเผด็จการหลงตัวเอง นอกจากไม่สนับสนุนประชาธิปไตยแล้ว ยังพ่วงมาด้วยนิสัยโหดร้าย เช่น อีดี อามิน (Idi Amin) ผู้นำเผด็จการที่เลวร้ายคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอูกันดาในช่วงปี 1970 เขาตัดหัวของศัตรูทางการเมืองแล้วแช่ไว้ในช่องฟรีซ และบอกเล่าด้วยไร้ความปรานีว่า เขาพยายามจะกินเนื้อคนพวกนั้นแต่กินไม่ลงเพราะว่ามันเค็มเกินไป หรือการก่อเหตุสังหารหมู่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล้วนเกิดจากผู้นำเผด็จการหลงตัวเองที่โหดเหี้ยม

ทำไมเผด็จการหลงตัวเองจึงอยู่ยืนยง

เผด็จการโดยตัวเองนั้นมิอาจอยู่ได้โดยลำพัง แต่หากมีปัจจัยอื่นประกอบสร้างผู้นำเผด็จการหลงตัวเองที่เป็นภัยต่อสังคมด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยสามอย่าง เรียกว่า ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมว่าด้วยผู้นำที่เป็นพิษ’ (The toxic leadership triangle) อันประกอบด้วย ตัวผู้นำเผด็จการ กองเชียร์บริวารผู้จงรักภักดี และสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ เมื่อครบองค์ประกอบแล้ว เผด็จการนิสัยเสียผู้หลงตัวเองจึงอยู่ยืนยงสถาพร 

เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ ตัวผู้นำเผด็จการที่เป็นโรคหลงตัวเองย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบริวารรอบข้างที่คอยอวยพรชื่นชมตนเองอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง ที่ต้องการให้ตนเองกลายเป็นที่รัก และเสพติดคำเยินยอรื่นหู ดังนั้นสิ่งที่พอเป็นไปได้ในการตัดวงจรอุบาทว์นี้ คงเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ อย่าลืมว่าสิ่งที่ต่อกรกับผู้นำเผด็จการหลงตัวเองได้ คือสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับเผด็จการ นั่นคือ ‘ประชาธิปไตย’ ดังนั้น การสร้างสังคมที่อุดมไปด้วยความรับรู้เรื่องประชาธิปไตย จึงเป็นทางออกหนึ่งในการยับยั้งการมีอยู่ของเผด็จการเหล่านี้ได้ เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในประเทศของตน เพื่อต่อกรกับเผด็จการผู้หลงตัวเอง และไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ทั้งควรสร้างความเข้าใจใหม่ว่า เผด็จการไม่ใช่ผู้กอบกู้หรือผู้นำพามาซึ่งสันติสุข ดังที่ เพลโต (Plato) เคยกล่าวถึงเรื่องเผด็จการไว้ในหนังสือ Republic ว่า การที่ผู้นำคนใหม่อ้างว่า เขาคือผู้กอบกู้ ในการปรากฎกายครั้งแรก นั่นคือการส่งสัญญาณให้เราเห็นว่า ท้ายสุดแล้วเขาจะกลายเป็นเผด็จการ

อ้างอิง

Big think, Dictators and mass murders: Understanding ‘malignant narcissism’

2 Jason G. Goldman, The Psychology of Dictatorship : Kim Jong-Ii ,Scientific American

3 Dailymail.uk, Narcissists don’t support democracy and believe Dictators and military rule are best for society

Tags: ,