ในโลกศตวรรษที่ 21 การคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยบทบัญญัติของกฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งหลักการสำคัญก็คือ ใครคิดค้น ใครสร้างสรรค์ บุคคลนั้นย่อมเป็นเจ้าของในงานชิ้นนั้น เว้นแต่จะมีการตกลงผ่านสัญญาจ้างอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ให้ตกเป็นสิทธิของผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง
ทว่ามีประเด็นที่น่าสนใจว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า มุมมองการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลในเบื้องลึก อาจไม่ได้สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือเป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับโดยไม่อิดเอื้อน หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางอำนาจบางอย่าง ของประเทศมหาอำนาจที่แสดงผ่านการกำกับควบคุมให้ประเทศที่ด้อยกว่า ต้องตรากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้น เพื่อยอมรับข้อตกลงบางลักษณะที่ฝ่ายมหาอำนาจจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ในบทความนี้เป็นการพยายามสืบหาปฏิบัติการทางอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ผ่านแง่มุมการเกิดขึ้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ ผ่านกรอบคิดทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดหลังอาณานิคม (Postcolonialism) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากล และกลวิธีการครอบงำของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นภายใต้ผ้าคลุมของระบบกฎหมาย
อาณานิคมสู่หลังอาณานิคม: อำนาจแห่งการกดขี่ที่ซ่อนเร้น
ในแง่ของวิธีวิทยา (Methodology) การวิเคราะห์ต่อปรากฏการณ์ทางกฎหมายในสังคม จำเป็นต้องอาศัยกรอบคิดหรือทฤษฎี ไม่ว่าจะทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ เพื่อรังสรรค์บทวิพากษ์ แหวกให้เห็นถึงปัญหาที่ฝังอยู่ ณ เนื้อในของระบบ สถาบัน วิธีคิด หรือกระบวนทัศน์ทางกฎหมาย ตลอดจนชวนให้ตั้งคำถามถึงองค์ความรู้ และความหมายที่ถูกยอมรับโดยสามัญสำนึกของทั้งคนทั่วไปและนักกฎหมายว่า สิ่งถูกต้องเป็นความยุติธรรม และต้องเป็นเช่นนั้นเสมอ ทั้งที่อีกด้านหนึ่ง องค์ความรู้และการให้ความหมายบางลักษณะอาจเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางกฎหมาย เป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่กำลังกำกับควบคุมผู้คนจำนวนมาก ให้เชื่องและคล้อยตามต่อโครงสร้างระบบ ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมโดยฝ่ายผู้เสียเปรียบไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ การมองปรากฏการณ์การเกิดขึ้นและเป็นไปของกฎหมายลิขสิทธิ์ในบทความนี้ จะเป็นการมองผ่านแว่นของแนวคิดหลังอาณานิคมที่ต้องรื้อสร้างระบบความคิด กระบวนการให้ความหมาย คำอธิบายต่างๆ ที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกได้ประกอบสร้างขึ้น เพื่อเข้าครอบงำประเทศอื่นๆ ให้เดินตามความปรารถนาของตน ภายใต้การอุปโลกน์ความสัมพันธ์แบบชาติที่พัฒนาแล้ว กับชาติที่ด้อยหรือกำลังพัฒนา
การทำความรู้จักแนวคิดหลังอาณานิคม ควรต้องทบทวนถึงรูปร่างลักษณะของลัทธิอาณานิคม ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดดังกล่าวเสียก่อนว่า มีลักษณะอย่างไร ลัทธิอาณานิคมตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ชาติมหาอำนาจมีความชอบธรรมในการเข้าถือครองดินแดนของรัฐอื่นๆ โดยอ้างว่า ตนเป็นผู้เหนือกว่าทางอารยธรรม องค์ความรู้ วิทยาการ ซึ่งจะนำความเจริญและการพัฒนาไปสู่ดินแดนเหล่านั้น เป็นกรอบคิดที่ยึดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไร้ความเสมอภาค มองวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความรู้ความเข้าใจให้เป็นสิ่งที่ล้าหลัง ไร้อารยะ ป่าเถื่อน ประกอบกับการแสวงหาทรัพยากร วัตถุดิบ และการขยายตลาดของประเทศมหาอำนาจหรือเจ้าอำนาจนิคม
จากความคิดดังกล่าวก็ได้นำไปสู่แรงจูงใจ ในการไล่ล่าดินแดนอื่นให้มาตกอยู่ในอาณัติของตนเองอย่างแข็งขันในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกพยายามขยายอำนาจมายังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ เพื่อนำเอาทรัพยากรในดินแดนเหล่านี้ไปใช้ในมาตุภูมิและระบายสินค้า ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมายังประเทศอาณานิคม การมีอาณานิคมในช่วงเวลานั้นจึงหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง การมีอำนาจบารมี สร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง และเศรษฐกิจของเจ้าอาณานิคมอย่างยิ่งยวด
การรุกรานดินแดนต่างๆ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ แผ่ขยายและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในหลากหลายมิติ ประเทศที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมทางนิตินัย (แต่อาจเป็นอาณานิคมในทางพฤตินัยหรือตามข้อเท็จจริง) อย่างประเทศไทยก็ยังต้องพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตะวันตกมองว่า ‘มีอารยะ’ และ ‘ทันสมัย’ โดยเฉพาะอย่างการปฏิรูปและชำระสะสางกฎหมาย ให้เป็นที่ยอมรับในสายตานานาประเทศ
ปัจจุบันมีความเชื่อกันเสมอมาว่า ยุคล่าอาณานิคมได้สิ้นสุดลงไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อย่างไรก็ดี ได้มีกลุ่มนักคิดและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ลัทธิอาณานิคมไม่เคยจางหายไป เพียงแต่ได้กลายสภาพไปอยู่ในลักษณะอื่น ผ่านกระบวนการครอบงำทางคิดและการสร้างความหมาย เพื่อเอาเปรียบและช่วงชิงผลประโยชน์อย่างแยบคาย แตกต่างไปจากอดีตที่ใช้วิธีการรุกราน ยึดดินแดนและช่วงชิงผลประโยชน์ในทางกายภาพลักษณะโจ่งแจ้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านและลุกฮือขึ้นได้
แก่นของแนวคิดหลังอาณานิคมคือ การชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่มีอยู่เหนือตะวันออก นำพาให้เกิดกระแสความคิด การต่อต้าน และความขัดแย้งเพื่อการปลดแอกตนเองจากการครอบงำ การช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม และการถูกทำให้เป็นอื่น ด้วยการถอยกลับมายังจุดเริ่มต้นของการแสวงหาอัตลักษณ์ และคุณค่าภายในระบบความสัมพันธ์ท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง
แนวคิดหลังอาณานิคม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้วิเคราะห์วิพากษ์ไปยังประดิษฐกรรมทางอำนาจต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม หรือประเทศที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่ได้ปรับเปลี่ยนสถาบันการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและกฎหมายให้เป็นไปตามแนวประเทศมหาอำนาจตะวันตก เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาวะของการตกเป็น ‘เมืองขึ้น’ หรือการตกเป็นอาณานิคมที่ไม่ได้เลือนหายไป แต่กลับถูกซ่อนอย่างมิดชิด ณ เบื้องหลังโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจและกลไกทางสถาบันทั้งหลายของรัฐนั้นๆ
แนวคิดเบื้องหลัง ‘การคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์’
รากฐานความคิดของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เกิดจากแนวคิดว่าด้วยสิทธิธรรมชาติตามแบบฉบับของตะวันตกโดยแท้ กล่าวคือ แนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงลิขสิทธิ์ ถือเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเวลาหลายพันปี เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยโรมันซึ่งได้วางรากฐานของระบบกฎหมายในปัจจุบัน โดยหลักคิดสำคัญของโรมันที่ส่งผลต่อการยอมรับหลักการเรื่องลิขสิทธิ์ก็คือ หลักการว่าด้วยเรื่อง ‘ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง’ ทำให้ระบอบกฎหมายทรัพย์สินที่ขยายขอบเขตไปยังสิ่งนามธรรมอย่าง ‘ความคิดสร้างสรรค์’
โดยหลักการของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องลิขสิทธิ์นั้น จะยืนอยู่บนหลักการยอมรับว่า ผู้สร้างสรรค์งานเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบจะได้ประโยชน์จากความพยายามของตน ผู้ที่เก็บเกี่ยวช่วงชิงเอาผลประโยชน์ในงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นโดยไม่ใช้ความพยายาม หรือไม่ได้เกิดจากแรงงานของตน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่เอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม และเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งาน (แต่ข้อสังเกตคือ กฎหมายลิขสิทธิ์มักจะกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งาน มีลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ได้ หากมีการตกลงเป็นพิเศษ เช่น กรณีค่ายเพลงกับศิลปินผู้ประพันธ์เพลง จนทำให้เกิดกรณีที่ผู้ประพันธ์ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานตนเอง เนื่องจากนำเพลงตนเองไปใช้หารายได้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากค่ายเพลงซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสัญญา)
นอกจากนี้ เหตุผลที่ต้องมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ยังประกอบไปด้วยเรื่องเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่มองว่า การสร้างสรรค์งานหนึ่งๆ ย่อมหมายถึง ผู้สร้างสรรค์ได้ลงทุน ลงแรงงาน เพื่อสร้างสรรค์งานขึ้น จึงต้องมีการคุ้มครองให้ผู้สร้างสรรค์มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะแสวงหาผลประโยชน์คาดหวังผลกำไรในงานสร้างสรรค์ของตนเองได้ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมวัฒนธรรมและยกระดับองค์ความรู้ของสังคม สร้างแรงจูงใจให้บุคคลสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาและความก้าวหน้าต่อไป
อย่างไรก็ดี แรกเริ่มเดิมที การละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีการคำนึงถึงการละเมิดในระดับระหว่างประเทศหรือระดับสากล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งระบบตลาดและเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัญหาระดับระหว่างประเทศยิ่งขึ้น จนทำให้ประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต้องแสวงหากลไกหรือวิธีการบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉกฉวยเอางานสร้างสรรค์ในประเทศของตนไปแสวงหาในลักษณะละเมิดในพื้นที่อื่นๆ เช่น ข้อตกลง TRIPs ปี 1995 ภายใต้กลไกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ก็ถูกทำเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศสมาชิก จะต้องดำเนินการ มีความครอบคลุมทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบ เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความลับทางการค้า รวมทั้งประเด็นการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และมาตรการ ณ จุดผ่านแดน
การมองกฎหมายลิขสิทธิ์ผ่านแว่นของแนวคิด ‘หลังอาณานิคม’
งานศึกษาชิ้นสำคัญที่ใช้กรอบคิดหลังอาณานิคมมาวิเคราะห์วิพากษ์ความคิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานของ อัลพานา รอย (Alpana Roy) อาจารย์กฎหมายที่ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาผ่านมุมมองแบบหลังอาณานิคม งานชิ้นดังกล่าวเสนอว่า ลิขสิทธิ์ (เช่นเดียวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ) ไม่ใช่สิทธิธรรมชาติ แต่เป็นการสะท้อนถึงชุดคุณค่า อุดมการณ์ ความปรารถนาทางการเมือง และเศรษฐกิจ เช่น ความจำเป็นในการทำให้ความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกของความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสินค้า ลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นผลผลิตของยุคการรู้แจ้งของยุโรป ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ของประเพณีทางกฎหมายเสรีนิยม (Liberalism) และอุดมการณ์จำพวก ทรัพย์สินส่วนตัว การเป็นผู้ประพันธ์ และการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่หลักการสากลของกฎหมายทรัพย์สิน แต่เป็นหลักพื้นฐานที่มาจากภูมิปัญญาของตะวันตก
ดังนั้น มุมมองที่เผยแพร่กันเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ที่สะท้อนอยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพียง ‘ข้อตกลง’ แต่เป็นโครงการอันสลับซับซ้อนที่เต็มไปด้วยคุณค่าที่เกิดจากประเพณีทางวัฒนธรรมเฉพาะ และพัฒนามาจากช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เฉพาะถิ่นของชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณค่าเหล่านี้จะได้รับการยอมรับและแผ่ขยายไปโดยอ้างว่าเป็นสากล แต่ลิขสิทธิ์ยังคงเป็นแนวคิดในหลายวัฒนธรรม หลายสังคมมีมุมมองที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ วัฒนธรรมบางแห่งยังมองว่าการ ‘คัดลอก’ หรือเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ภายในชุมชนยังเป็นการแสดงความเคารพและการยอมรับ (เช่น การแสดงความเคารพครูเพลงด้วยการนำทำนองที่ครูเพลงแต่งไว้เดิมมาใส่เนื้อร้องใหม่) ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าลิขสิทธิ์จะเป็นผลผลิตจากการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของยุโรป แต่ก็มีสถานะเป็นสิทธิตามกฎหมายและได้รับการยอมรับทั่วโลกในปัจจุบัน และจริงๆ แล้ว แม้แต่ในเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทุนนิยมก็มีการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ไปสู่การยอมรับลิขสิทธิ์ (และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ) เนื่องจากต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศ
หากจะกล่าวถึงข้อตกลง TRIPs เป็นการเฉพาะ อัลพานาอธิบายว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่า แนวคิดเสรีนิยมตะวันตกเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้ถูกทำให้เป็นสากล มุ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับประเทศสมาชิก WTO ให้ต้องปฏิบัติ ตามด้วยการวางหลักการและมีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบความสัมพันธ์ที่ชาติตะวันตกมองว่าชาติอื่นๆ ด้อยกว่าตน ไม่ต่างจากความคิดแบบยุคอาณานิคม
ผลลัพธ์ที่ตามหลังจากการเกิดขึ้นของข้อตกลง TRIPs คือความเปลี่ยนแปลงของระบบกฎหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา จากที่เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศตามหลักอำนาจอธิปไตยทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างแข็งขัน ได้กลายมาเป็นเรื่อง ‘สากล’ แม้ว่าจะไม่ปรากฏถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง แต่แนวคิดลิขสิทธิ์ที่ถือกำเนิดมาจากภูมิปัญญาตะวันตก ก็ได้กลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีประเทศสมาชิก WTO มีพันธกรณีในการต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งอีกนัยหนึ่งจำเป็นต้องตระหนักว่า หลักการทางปรัชญาของข้อตกลง TRIPs นั้นมีรากฐานที่มั่นคงในประเพณีเสรีนิยมของตะวันตก ซึ่งถือว่า การแสดงความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของ ‘เจ้าของ’ (ซึ่งมักจะไม่ใช่ผู้สร้างงานจริงๆ แต่เป็นของกลุ่มบรรษัทที่ฉกฉวยประโยชน์จากกลไกสัญญา) และเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ให้งานสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล มักมีข้อโต้แย้งอยู่เสมอ ซึ่งฝ่ายโต้แย้งจะให้เหตุผลว่า การทำให้งานสร้างสรรค์เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เป็นการทำลายระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงไม่ขาดจากพื้นที่สาธารณะและสังคม งานสร้างสรรค์ของมนุษย์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์มีร่วมกันในชุมชนระดับสังคม เกิดจากประสบการณ์และความทรงจำที่มีอยู่ร่วมกัน รวมถึงการสร้างสรรค์งานครั้งหนึ่งมนุษย์ ย่อมจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ การกำหนดให้งานสร้างสรรค์เป็นสิทธิเด็ดขาดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์แต่อย่างใด
อัลพานาสรุปในงานศึกษาของตนว่า ชาติมหาอำนาจตะวันตกยังคงมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ระดับโลกในยุคหลังอาณานิคม ชาติเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หลักในโลกปัจจุบัน แต่การควบคุมวัตถุที่ได้รับการคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ที่ถูกกีดกันทางประวัติศาสตร์ ผลสะสมของการถูกกีดกันอย่างเป็นระบบจากการผูกขาดลิขสิทธิ์อาจมีผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าการเข้าถึงที่ดินหรือทรัพย์สินที่จับต้องได้อื่นๆ เพราะด้านหนึ่งถือเป็นการผูกขาดองค์ความรู้ และการสร้างความไม่สมดุลหรือไม่สมมาตรระหว่างกัน
กลายเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ประเทศมหาอำนาจยังคงถือครองความได้เปรียบในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศเสมอมา การคิดค้นหรืองานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในประเทศโลกที่สาม มักถูกตีตราว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันทีภายใต้ปัจจัยแห่งการจำกัดความรับรู้และการเข้าไม่ถึงข้อมูล กฎหมายลิขสิทธิ์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีอำนาจ และนำมาเป็นกลไกรับรอง (และไม่รับรอง) เพื่อเปิดพื้นที่และกีดกันการช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจลักษณะข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง
จากที่ไล่เลียงมา เป็นการชักชวนให้ตั้งคำถามถึงการคุ้มครองลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ กับความเป็นสากล ว่าจริงๆ แล้ว มีความเป็นสากลโดยแท้ หรือเป็นเพียงแนวความคิดที่มาจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของตะวันตก และแผ่ขยายอิทธิพลในพื้นที่อื่นทั่วโลก เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มนุษย์และนักกฎหมาย โดยเฉพาะในโลกตะวันออกที่ถูกทำให้ด้อยกว่ามาเป็นเวลานาน ต้องเตือนตนเองถึงอดีตของแนวคิดของลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม และรื้อสร้างสถานะขององค์ความรู้ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นความจริงสากลในโลกหลังอาณานิคม
ทิ้งท้ายและฉุกคิด ชวนตั้งคำถาม
ถึงตรงนี้จะเห็นว่า การพิจารณา ศึกษาและวิเคราะห์ในทางนิติศาสตร์ ไม่ใช่การพิจารณาว่า กฎหมายได้วางกฎเกณฑ์หรือระเบียบในเรื่องต่างๆ ไว้ว่าอย่างไร และประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร แต่สามารถสร้างบทวิพากษ์ ท้าทายองค์ความรู้เดิม ขยายพรมแดนความรู้ทางกฎหมายให้ไปไกลกว่าตำรากฎหมายดาดๆ ได้ ด้วยการอาศัยกรอบคิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ที่สำคัญยังมีความรู้ทางกฎหมายอีกจำนวนมาก ที่อาจมีฟังก์ชันไม่ต่างอะไรกับกลไกการครอบงำและการจองจำทางความคิดเช่นเดียวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ (และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ) ที่โดยทั่วไปอาจเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามกันมาเป็นปกติ เว้นแต่จะได้มองผ่านกรอบของแนวคิดหลังอาณานิคม ที่สุดท้ายได้ช่วยทำให้เห็นถึงเค้าลางของอำนาจเจ้าอาณานิคม ที่แปลงกายมาอยู่ในรูปแบบของการสร้างคำอธิบาย การให้ความหมาย และการประกอบสร้างองค์ความรู้ ภายใต้กลไกองค์การระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
Tags: อำนาจของความรู้, กฎหมาย, อาณานิคม, ลิขสิทธิ์, Rule of Law, กฎหมายลิขสิทธิ์