สถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ล้วนมีส่วนประกอบของสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมแบบปิด’ (Closed Culture) อันส่งผลให้เกิดเป็นอุดมคติที่เป็นทางการ (Official Ideology) และศีลธรรมที่เป็นทางการ (Official Morality) ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้น ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความคิดในแง่มุมอื่นๆ แตกต่างจากความเป็นวัฒนธรรมแบบเปิด (Open Culture) ที่ตัวนักเรียน นักศึกษา และผู้สอน สามารถออกสำรวจประเด็นทางสังคมและการเมือง ผ่านแง่มุม วิสัยทัศน์ คุณค่า หรือทฤษฎีต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อนำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบต่อปรากฏการณ์ทางสังคมได้หลากหลายมุมมอง

‘วัฒนธรรมแบบปิด’ คือ วัฒนธรรมอุดมคติที่เป็นทางการและศีลธรรมที่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึง กรอบคิดทฤษฎี ชุดของความเชื่อ และคุณค่าบางอย่างที่คอยครอบงำองคาพยพต่างๆ และส่งผลต่อโลกทัศน์ของผู้คนในสังคม โดยการตั้งคำถาม ตรวจสอบหรือท้าทาย สิ่งเหล่านี้มักจะถูกถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ไม่ชอบด้วยศีลธรรม การเห็นต่างออกไปจะต้องถูกกำจัด และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) อาจก่อให้กลายเป็นความรุนแรงถึงกระทั่งการทำลายชีวิตของผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากอุดมคติที่เป็นทางการด้วย

คำถามมีอยู่ว่า หากปล่อยให้การศึกษากฎหมาย หรือหลักสูตรนิติศาสตร์ถูกครอบงำโดยอุดมคติที่เป็นทางการภายใต้วัฒนธรรมแบบปิด ที่ยึดเพียงแต่หลักการทางกฎหมาย บทบัญญัติกฎหมาย แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ให้เป็นองค์ความรู้อันจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว รวมถึงการตีกรอบความสำเร็จของการเป็นนักศึกษากฎหมายว่าจะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งราชการในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น จะส่งผลอย่างไรบ้างต่อความยุติธรรมในสังคมไทย

การศึกษานิติศาสตร์ไทย

ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ไม่เพียงแต่เฉพาะนิติศาสตร์ คือการเน้นกระบวนการแสวงหาองค์ความรู้ไปในทิศทางเดียว วิธีการเดียวหรือแง่มุมเดียว และอุปโลกน์กันว่า องค์ความรู้นั้นเป็น ‘ความจริงแท้’ หรือ ‘Truth’ โดยเฉพาะความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ในแง่ธรรมชาติของเนื้อหาแล้ว ล้วนต้องสัมพันธ์การวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ศึกษาจะหา ‘ความจริงแท้’ ได้ ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้น หากว่ามันถูกกำหนดให้ถือเป็น ‘ความจริงแท้’ พร้อมกับผ่านกระบวนการผลิตซ้ำเป็นเวลายาวนานและกว้างขวาง โดยปราศจากการถูกตรวจสอบและท้าทาย ความรู้ดังกล่าวจะกลายเป็นอุดมคติที่เป็นทางการได้ภายใต้วัฒนธรรมแบบปิดของสถาบันการศึกษา ซึ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์และบดบังให้มองไม่เห็นปัญหาความอยุติธรรมที่ซ่อนอยู่ในความจริงแท้เช่นว่านั้น

หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ไทยภายใต้วัฒนธรรมแบบปิด มักมุ่งสถาปนา ‘ความจริงแท้ทางกฎหมาย’ (Legal truth) และปิดกั้นการแสวงหาความยุติธรรมในแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากบทบัญญัติของกฎหมาย กฎหมายจึงถูกแยกออกจากอำนาจทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การศึกษาในวิชากฎหมายอาญาส่วนใหญ่ ที่มุ่งเน้นวินิจฉัยความผิดของผู้กระทำในอุทาหรณ์ โดยตัดขาดจากบริบททางสังคม หรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระตุ้นให้บุคคลหนึ่งต้องก่ออาชญากรรมขึ้น การสอนกฎหมายว่าด้วยลักษณะแห่งหนี้และนิติกรรมสัญญาที่ไม่พิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำความไม่ยุติธรรมทางสังคม การสอนกฎหมายครอบครัวที่กำหนดให้การมีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น สภาพความเป็นจริงในสังคมของชีวิตมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายจะต้องถูกผลักไสออกจากการพร่ำสอนกฎหมายในห้องบรรยาย

ปัจจุบันการศึกษากฎหมายในไทยได้รับอิทธิพลมาจากความคิดทางกฎหมายเชิงแนวเสรีนิยม (Legalist Liberalism) และการยึดมั่นต่อหลักการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of law) อย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไปจะเข้าใจกันว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่มีเนื้อหาและกระบวนการที่เป็นรูปแบบ ดำเนินการไปในลักษณะของกลไกที่เคลื่อนไหวตามกันไป โดยไม่ปะปนกับอุดมการณ์หรืออคติใดๆ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความเชื่อว่า การปกครองโดยกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีกว่าการปกครองโดยมนุษย์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมหนีไม่พ้นอารมณ์ ความรู้สึก รัก-โลภ-โกรธ-หลง การปกครองโดยกฎหมายจะช่วยให้มนุษย์ที่มีอำนาจปกครอง ใช้อำนาจต่อผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น

ดังนั้น สำหรับนักนิติศาสตร์จำนวนมาก กฎเกณฑ์ทางกฎหมายจึงมีสถานะไม่ต่างไปจากกฎเกณฑ์ศีลธรรมอันมีศักดิ์สูงสุดที่ต้องเคารพ และไม่อาจปฏิเสธได้ เนื่องจากเชื่อกันว่ามันเป็นสิ่งที่มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งมายาคติดังกล่าวเป็นเหตุให้การเรียนกฎหมายในไทย มักไม่มีการตรวจสอบ ท้าทาย บทบัญญัติทางกฎหมาย การตีความ การวางหลักกฎหมายในคำพิพากษาของศาล แต่เน้นให้เชื่อ และคล้อยตามคำอธิบายของผู้สอน แม้จะเป็นกฎเกณฑ์หรือปฏิบัติการทางกฎหมายที่คอยค้ำจุนสนับสนุนระบบการเมืองที่ไม่เป็นธรรม และโครงสร้างทางสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นไว้ก็ตาม

ต้องเรียกความอยุติธรรมด้วยนามอันแท้จริง

การพิจารณาว่าข้อเท็จจริงหนึ่งๆ ตั้งอยู่หลักของความยุติธรรมหรือไม่ บางครั้งอาจเป็นเรื่องง่ายดายที่จะพิจารณาควบคู่ไปกับตัวบทบัญญัติกฎหมายและแนวคำพิพากษา แต่บางกรณี ข้อเท็จจริงในสภาพความเป็นจริงของสังคมที่มีสลับซับซ้อน กลายเป็นว่าวิธีคิดซึ่งยึดติดกับกฎหมายเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการทำลายและบั่นทอนความยุติธรรม ในแง่ของการทำให้ความไม่เสมอภาค และการกดขี่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงด้วยน้ำมือของระบบกฎหมาย

การแสวงหาความยุติธรรมโดยแยกกฎหมายออกจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ยากที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรมได้จริง ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองบางตอนจะเป็นตัวพิสูจน์ถึงข้อความดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี หากนักกฎหมายยึดมั่นเดินตามแนวคำพิพากษาของศาลเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับบริบทหรือคุณค่าของการเมืองระบอบประชาธิปไตย การยึดอำนาจของคณะรัฐประหารก็ไม่มีทางที่จะถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำความผิดฐานกบฏ และคำสั่งที่มาจากคณะรัฐประหารย่อมมีศักดิ์เป็นกฎหมายทั้งต่อให้เนื้อหาจะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 

“…ข้อเท็จจริงได้ความว่าใน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์…”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512 – 1515/2497 

“…คำว่า ‘รัฐบาล’ ตามที่กล่าวไว้ในกฎหมายลักษณะอาญานั้น ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า “องค์การปกครองบ้านเมือง…รัฐบาลที่โจทย์หาว่าพวกจำเลยจะล้มล้างนั้น เป็นรัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ ในกรณีที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่ดำรงอยู่ก่อน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้เข้าครอบครองและบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสำเร็จเด็ดขาด และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศไว้ได้ และตลอดมาเป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่า เป็นรัฐบาลอันสมบูรณ์มาช้านานจนบัดนี้ ศาลไม่เห็นมีเหตุใดที่จะถือว่า เป็นรัฐบาลอันไม่ชอบธรรมตามความเป็นจริง อันปรากฏประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจน”

ในทางกลับกัน หากนักกฎหมายทำลายกำแพงที่คอยแบ่งแยกระหว่างกฎหมายกับบริบทสังคมด้านอื่นๆ และให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์การเมืองระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการมุ่งแสวงหาความยุติธรรมบนหลักการปกครองโดยกฎหมาย ย่อมช่วยให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวังวนของวงจรอุบาทว์ที่คอยฉุดรั้งให้สังคมไทยถอยหลัง

หรือตัวอย่างที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2535 ขณะที่ประชาชนออกมาโจมตี ‘พระราชกำหนดนิรโทษกรรม’ ว่าเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง เพราะมีขอบเขตของการบังคับใช้ซึ่งครอบคลุมไปถึงคนสั่งการ และเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดต่อผู้ชุมนุม แต่นักกฎหมายไทยส่วนหนึ่งกลับแสดงทรรศนะปฏิเสธความคิดของผู้คนในสังคมทั่วไป โดยโต้แย้งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดหลักกฎหมายและเหตุผลสนับสนุนโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงเหตุที่รัฐตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นว่าเป็นไปเพื่อให้เหตุการณ์ชุมนุมสงบโดยเร็ว เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ ไม่ใช่นิรโทษกรรมการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด และแม้ว่าโดยทั่วไปจะรู้อยู่ว่ารัฐบาลมีเจตนาแฝงเร้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาพิจารณาในการตีความกฎหมายให้เข้าใจกันเช่นนั้น เพราะการตีความต้องอยู่ในเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งในอารัมภบทและหมายเหตุต่อท้ายได้ระบุไว้แล้ว

ทั้งนี้ ข้อโต้แย้งสังคมของนักกฎหมายที่ได้ยกมาข้างต้น แทบไม่ต่างจาการปิดตาข้างเดียว พยายามมองไม่เห็นผลลัพธ์ทางการเมืองที่ระบบกฎหมายได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการก่อความรุนแรงของรัฐผ่านปฏิบัติการทางกฎหมาย ซึ่งมีผลให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดหลุดพ้นจากความรับผิดในทางกฎหมายไปได้อย่างหน้าตาเฉย ที่สำคัญ ปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้ทำให้ข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏผ่านข้อมูลและในภาพสื่อต่างๆ ที่พอจะชี้ว่าใครเป็นผู้ถูกกระทำและใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้สั่งการ ให้กลับกลายเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เร้นลับ และถูกบิดเบือน จนเป็นเหตุให้ผู้กระทำและผู้สั่งการลอยนวลพ้นผิดไปได้ทุกครั้งในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่จัดว่าตนเองเป็นสังคมอารยะโดยเด็ดขาด

ออกจากกรอบคิดทางกฎหมายแบบเดิม

นักเรียนกฎหมายและนักกฎหมาย ควรเลือกออกจากกรอบคิดทางกฎหมายแบบยึดติดกับบทบัญญัติและคำพิพากษา เพื่อนำพามาซึ่งแนวทางการแสวงหาความยุติธรรมใหม่ๆ เปิดรับองค์ความรู้ ริเริ่มพิจารณาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมอื่นๆ เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการเลือกใช้ความรู้วิชาชีพตนให้มีคุณค่าแท้จริงต่อสังคมได้ และก่อสำนึกความยุติธรรม โดยมุ่งแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคมเป็นหลัก

การมีสำนึกความยุติธรรมย่อมสำคัญกว่าการยึดติดกับบทบัญญัติกฎหมาย แนวคำพิพากษาของศาล และหลักการทางกฎหมายเชิงนามธรรม การวิพากษ์ระบบกฎหมายเช่นนี้ จะเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม และเปิดโปงความหน้าไหว้หลังหลอกของระบบกฎหมายไทยที่ถูกกลุ่มผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกดขี่ประชาชน หรือแม้กระทั่งการทำลายชีวิตของประชาชน ด้วยความหวังว่าระบบกฎหมายไทยและสังคมสามารถดีขึ้นกว่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลักการปกครองโดยกฎหมายยังคงเป็นกรอบความคิดที่ทรงคุณค่าและจำเป็นต่อการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้สังคมยังจำเป็นต้องมีกฎหมายมาจำกัดการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจให้เป็นไปในทางปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน เพียงแต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การตรวจสอบ ทบทวนความเข้าใจ หรือตั้งคำถาม ถึงหลักการเช่นว่านี้ ไม่ให้มันทรงอิทธิพลมากเกินไป เพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบเปิดแก่การเรียนกฎหมายที่เห็นคุณค่าของการแสวงหาความยุติธรรมในมิติอื่นๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม

การนำเสนอผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาจากระบบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการปฏิเสธกฎหมาย หรือถือกฎหมายเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่อย่างใด ทว่าหากนักกฎหมายไม่กล้าพอที่จะกล่าวว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเป็น ‘ความอยุติธรรม’ หรือเลือกที่จะพูดแต่ด้านดีของกฎหมาย ขณะที่ตัวเองก็กำลังไม่สนใจและวางเฉยต่อความอยุติธรรมที่มีผ้าคลุมเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องเผชิญปัญหาความชอบธรรมมากกว่าเดิม ทั้งที่กฎหมายควรจะเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

 

เอกสารอ้างอิง

https://fcpp.org/2019/01/16/how-social-justice-warriors-kill-free-thought/

กิตติศักดิ์ ปรกติ, พระราชกำหนดนิรโทษกรรม ยกเว้นความผิดแก่ทหารตำรวจที่ฆ่าประชาชนจริงหรือ? ใน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. บทวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ : พระราชกำหนดนิรโทษกรรม (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536)

จรัญ โฆษณานันท์, นิติศึกษาแนววิพากษ์, นิติปรัชญาแนววิพากษ์ (Critical Legal Philosophies). (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2550)

สุลักษณ์ ศิวลักษณ์, มุมมอง “ส.ศิวลักษณ์” ต่อ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม. ใน เหลียวหลัง แลหน้า จากพฤษภาคม 2535. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2536)

Tags: , ,