Civil Disobedience: ดื้อแพ่ง ขัดขืนอย่างไรให้มีอารยะ

จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมอเมริกัน ได้นิยามการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจากประชาชน (Civil Disobedience) ไว้ว่า “การฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยมโนธรรมสำนึก ซึ่งกระทำอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ โดยไม่ใช้ความรุนแรงและเป็นการกระทำในเชิงการเมืองที่มุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยยายของรัฐบาล ทั้งยังรวมไปถึงการละเมิดกฎหมายซึ่งไม่มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับความเป็นธรรมของตัวกฎหมายเอง แต่อาจละเมิดกฎหมายนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม”[1]

แนวความคิดเรื่องการอารยะขัดขืนนี้ เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า หากโดยทั่วไป กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม แต่ภายใต้หลักนิติธรรม หรือ Rules of Law นั้น ประชาชนจะมีสิทธิปฏิเสธกฎหมายที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ ดังนี้ การปฎิเสธและไม่ยอมรับกฎหมาย ในแง่หนึ่งจึงอาจเป็นการตั้งคำถามถึงหลักนิติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ลำพังในตัวกฎหมาย

อารยะขัดขืนจึงต้องเป็นการทำกิจกรรมที่แสดงออกถึงการปฏิเสธการสยบยอม (Obeying) กับกฎหมาย คำสั่งคำบัญชา หรือนโยบายของภาครัฐ หรือกระทั่งรวมไปถึงอำนาจอื่นๆ[2]

มุมหนึ่ง การดื้อแพ่งโดยปราศจากความรุนแรง จึงเป็นการยึดมั่นต่อความจริงและเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดของผู้ดื้อแพ่ง ที่ยอมพบเจอความเสี่ยงจากการปฏิเสธต่อกฎหมายหรือคำบัญชาจากรัฐ เพื่อสร้างความรับรู้ไปแก่ชุมชนและสังคม กระทั่งสร้างความเปลี่ยนแปลงไปยังสังคม แต่ในอีกมุมหนึ่ง การดื้อแพ่งหรือการปฏิเสธกฎหมายอาจถูกตีความเป็นการท้าทาย กระด้างกระเดื่อง กระทั่งอาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือความแตกแยกมาสู่สังคม

ดังนั้น อารยะขัดขืนจากการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายนั้น ต้องได้รับการตรวจสอบจากสถาบันทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการลงทัณฑ์จากการละเมิดกฎหมายนั้นๆ และผู้ดื้อแพ่งนั้นยินยอมที่จะเข้าสู่กลไกของขบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในกฎหมายที่พวกเขาปฏิเสธจากกลไกภายในระบบกฎหมายเอง ตัวอย่างประการสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ได้แก่ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ที่ทำการประท้วงด้วยการเดินเท้าอย่างสันติเพื่อแสดงความแข็งขืนต่อต้านกฎหมายอังกฤษที่ใช้ปกครองอาณานิคมในลักษณะกดขี่ที่เรียกกันว่า the Salt March กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้, หรืออีกกรณีหนึ่งคือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ที่ใช้วิธีการสันติและเสรีภาพในการแสดงออกร่วมกันจากมวลชนเพื่อแข็งข้อขัดขืนต่อรัฐบาลอเมริกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างสันติเป็นวงกว้างเพื่อปฏิเสธกฎหมายและคำบัญชาของรัฐ

โดยทั่วไป แนวคิดเรื่องการอารยะขัดขืน Civil Disobedience นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในแวดวงสังคมไทยอย่างชัดเจนแต่แรก แต่ได้รับมาหลังจากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบประชาธิปไตยและปัจเจกชนนิยมเข้ามาจากสังคมตะวันตก[3] โดยเห็นได้จากประวัติศาสตร์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลจากการปฏิวัติที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง จากกลุ่มประชาชนที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายหรือคำบัญชาที่พวกเขาอยู่ภายใต้การบังคับใช้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการกระทำในเชิงการเมือง ดังนี้ การดื้อแพ่งอย่างมีอารยะ จึงไม่ใช่การปฏิเสธทางกฎหมายทั้งมวล แต่เป็นการ ‘ฝ่าฝืนกฎหมาย’ โดยยัง ‘เคารพกฎหมาย’ กล่าวคือ ผู้ดื้อแพ่งนั้นจะไม่หลบเลี่ยงการเผชิญกับบทลงโทษ (Sanctions) ที่จะตามมา เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า พวกเขานั้นต้องการต่อสู้กับบางสิ่งโดยที่ยังเคารพระบบโดยรวม[4] เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นไปด้วยการรับรู้โดยสังคมส่วนรวม

แล้วหากไม่ผิดกฎหมาย จะเป็นอย่างไรเมื่อเกิดการต่อต้านโดยปราศจากความรุนแรงท้าทายอำนาจรัฐ

Civil Resistance หรือการต่อต้านด้วยสันติวิธีนั้นหมายความถึง “การกระทำเชิงการเมืองที่ยืนอยู่บนหลักการต่อต้านโดยปราศจากความรุนแรง โดยที่ภาคประชาชนนั้นทำการท้าทายต่อแหล่งอำนาจต่างๆ” ซึ่งการต่อต้านนี้อาจนำไปสู่การสร้างความกดดันเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนา แก่ไข เปลี่ยนแปลง ต่อโครงสร้างของแหล่งอำนาจต่างๆ

การต่อต้านอย่างสันติวิธี อาจปรากฏในรูปแบบของการรวมตัวเดินขบวน การประท้วงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การหยุดงาน การบอยคอตต์แบนสินค้าหรือกลุ่มอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือการอดอาหารเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องและจุดยืนของตนให้สาธารณะรับรู้

การต่อต้านระหว่างภาคประชาชน และรัฐบาลที่ปรากฏออกมาให้เห็นในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ยังคงมีการปะทะต่อต้านระหว่างผู้ปกครองและประชาชนในรัฐอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีผู้ปกครองเป็นเผด็จการส่วนน้อย หรือในสังคมประชาธิปไตยแบบผู้แทน สันติวิธีก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงการเมืองได้ ยกตัวอย่างเช่นขบวนการ People Power Revolution ในฟิลิปปินส์ที่ทำการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ในปี 1896[5] หรือการประท้วงด้วยร่วมในม็อบ Umbrella Movement ในฮ่องกงเมื่อปี 2o14 ที่ใช้ร่มเป็นสัญญะร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ

จะเห็นได้ว่า ในแง่หนึ่ง การต่อต้านโดยปราศจากความรุนแรงและอารยะขัดขืนนั้นมีความคล้ายคลึงและเกี่ยวข้องกัน การต่อต้านด้วยสันติวิธี (Civil Resistant) นั้นไม่ใช่การกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายเป็นจุดเริ่มต้น กล่าวคือ Civil Resistance เป็นการใช้สิทธิตั้งต้นโดยแท้โดยที่กฎหมายไม่อาจแทรกแซงได้ เนื่องจากไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่คำนี้เป็นถ้อยคำที่กว้างมาก ซึ่งครอบคลุมถึงวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งใช้ในการท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงการเมือง ผ่านการระดมมวลชน และการเข้าร่วมมือกันทำการต่อต้านอย่างสันติ

ในขณะที่อารยะขัดขืน (Civil Disobedience) นั้น หมายความถึงการกระทำที่จงใจจะฝ่าฝืนกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพื่อดึงความสนใจของสาธารณะไปที่ประเด็นของความอยุติธรรมของกฎหมาย และกดดันให้เพื่อมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

โดยสรุป อารยะขัดขืนนั้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการต่อต้านด้วยสันติวิธี เพื่อท้าทายและเปลี่ยนแปลงเชิงการเมือง

 

ส่งท้าย

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนั้นสามารถเกิดได้จากภาคประชาชนด้วยวิธีการอันปราศจากความรุนแรง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัจเจกชนทำการละเมิดกฎหมายและพวกเขาเหล่านั้นให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม การจะลงทัณฑ์นั้นต้องมีการพิสูจน์ถึงความผิดนั้นว่าเป็นอาชญากรรมหรือไม่

และหากสิ่งที่ระบบกฎหมายลงโทษต่อผู้ดื้อแพ่งนั้นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของประชาชน มันก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในตัวบทกฎหมายและในสังคม

 

ที่มา

[1] “Civil Disobedience define as a public, nonviolent, conscientious yet political act contrary to law usually done with the aim of bringing about a change in the law or policies of the government.” John Rawls, “A Theory of Justice, p.364 อ้างอิงใน จรัญ โฆษณานันท์, “นิติปรัชญา

[2] Violent Civil Disobedience and Willingness to Accept Punishment, vol. 8, Essays in Philosophy, June 2007, archived from the original on 13 June 2010, retrieved 12 March 2015

[3] ดิเรก ควรสมาคม, นิติปรัชญาเรื่องอารยขัดขืน (Civil Disobedience) เปรียบเทียบกับอสิงหาในพุทธศาสนา, วารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุชบราชธานี, มปป, http://202.28.49.72/LAW-journal/catagorie/4-7/4-7-full.pdf

[4] “เสวนานิติ มธ. แชร์มุมมองอารยะขัดขืน นักวิชาการชี้ ‘ดื้อแพ่ง’มีความผิดแต่คือ’สิทธิ’ตามรัฐธรรมนูญ” https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2492529

[5] Ferdinand Marcos. (2023, January 24). In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Ferdinand_Marcos

Tags: , , , ,