เคยมีผู้ให้คำนิยามเกี่ยวกับความงามไว้อย่างโรแมนติกว่า ‘ความงามเป็นเรื่องเหนือกาลเวลา’ ‘ความงามคือความประทับใจตั้งแต่แรกพบ’ หรือในประวัติศาสตร์ ความงามคือภาพแทนของความดีงาม ความบริสุทธิ์ และความจริงใจ ทำให้สังคมให้ค่ากับผู้ที่มีรูปงามนั้นว่าเป็นที่น่าปรารถนายิ่งกว่าสิ่งใด

ในยุคกรีกโรมัน ความสวยในอุดมคติคือ การที่หญิงสาวมีร่างท้วมและผิวพรรณผุดผ่อง ที่น่าสนใจคือ เป็นบุรุษเสียด้วยซ้ำที่ถูกตั้งมาตรฐานเรื่องความสวยงามมากกว่าสตรีเพศ ยุคกรีกโรมัน ความอุดมสมบูรณ์ของหญิงสาวถูกมองว่าเธอมีอันจะกิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในยุคนั้น หรืออย่างในยุคเรเนสซองส์ที่รูปร่างของภรรยาสามารถบ่งบอกฐานะของสามี หากภรรยามีรูปร่างที่ผอมหมายถึง สามีไม่มีกำลังพอจะดูแลครอบครัว โดยหญิงในยุคเรเนสซองส์มีอุดมคติความงามคือ ผิวพรรณผุดผ่อง มีหน้าอกใหญ่ รูปร่างอวบ และสะโพกผาย หากนึกไม่ออกลองนึกถึงภาพของโมนาลิซ่าที่รังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งเป็นภาพแทนของหญิงงามในยุคเรเนสซองส์

ภาพโมนาลิซา

ในประเทศจีน ทุกคนคงเคยเห็นแฟชั่นเท้าเล็กของหญิงชาวจีนที่รัดเท้าเอาไว้ให้มีขนาดเล็กที่สุด หรือยุควิกตอเรียนที่หญิงชาวอังกฤษนิยมการใส่คอร์เซ็ตที่รัดหน้าท้องจนดูชวนอึดอัดไปหมด การมีเอวที่เล็กคอดทำให้หญิงสาวน่าทะนุถนอม หุ่นที่เพรียวบางเหมือนนาฬิกาทรายเป็นที่ปรารถนา การรัดทรงด้วยคอร์เซตทำให้อกผาย ไหล่ผึ่งทำให้มีบุคลิกภาพที่ดี นั่นคือค่านิยมความงามในช่วงเวลาหนึ่ง

ยุคทองของอุตสาหกรรมบันเทิงจากภาพยนตร์เรื่อง The Seven Year Itch ในปี 1955 ฉากสุดอมตะที่ลมพัดจนกระโปรงเปิดของ มาริลิน มอนโร ทำให้เธอโด่งดังข้ามกาลเวลา ที่ไม่ว่าใครคงเคยเห็นภาพที่น่าตรึงใจนั้น แม้ว่าฉากกระโปรงเปิดจะถูกเซนเซอร์ออกไปจนเกือบหมด เนื่องจากสมัยนั้นการโป๊เปลือยยังไม่เป็นที่ยอมรับ มาริลินที่ถูกจดจำในฐานะ Sex symbol ของฮอลลีวูด ได้สร้างอุดมคติความงามของผู้หญิงในสมัยนั้นว่า ต้องไม่มีไขมันส่วนเกิน ขาต้องไม่เบียดและเรียวสวย คิ้วชัดและปากแดง

เห็นได้ว่าความงามในแต่ละยุคสะท้อนให้เห็นผ่านศิลปกรรมบันเทิง ประติมากรรม และจิตรกรรมในแต่ละช่วงเวลา (ในอนาคตอันใกล้เราคงได้เห็นมาตรฐานความงามใหม่ในจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ก็เป็นได้) อาจกล่าวได้ว่าความงามเป็นเรื่อง ‘พลวัต’ ที่เปลี่ยนแปลงค่านิยมความงามตลอดเวลา และมีคุณค่าในแง่ความเชื่อที่ว่า ความสวยสมบูรณ์แบบของผู้หญิงคนหนึ่งในช่วงเวลาใดๆ สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสามารถสร้างความหมายเรื่องอุดมคติของความงามในสมัยนั้นๆ ได้

เพราะความงามทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

แม้โลกเราจะมาไกลแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ผู้ที่มีรูปลักษณ์น่าดึงดูด (ไม่ว่าเพศใด) คือ ผู้ที่มีสิทธิพิเศษบางอย่าง เหมือนมีใบผ่านทางที่มีประตูแห่งโอกาสเปิดรออยู่ ไม่ว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความรัก รวมถึงการจ้างงานที่มีโอกาสมากกว่า และเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน 

จากตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Beauty Tax ที่นำเสนอเกี่ยวกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเก็บภาษีคนหน้าตาดี ซึ่งหากคุณเป็นคนหน้าตาดีกว่ามาตรฐานทั่วไป คุณจะต้องถูกเก็บภาษีที่มากขึ้น โดยมีมาตรวัดความงามที่ใช้เทคโนโลยี AI ของรัฐบาลเป็นเครื่องมือตรวจจับความสวยเพียงสแกนใบหน้า โดยต้องจ่ายภาษีที่เพิ่มมากขึ้นตามอัตราความสวยระดับ 1-5 และต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5-30% เช่น หากคุณไปกินข้าวกับเพื่อนเป็นเงิน 100 บาท แล้วเครื่องตรวจจับความสวยระบุว่าคุณเป็นคนหน้าตาดี คุณอาจจะต้องจ่ายค่าข้าวในราคาที่มากกว่า 100 บาท ซึ่งไม่ใช่แค่การจ่ายค่าข้าวเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกกิจกรรมของชีวิตที่มีการจับจ่ายใช้สอยต้องก็เสียภาษีมากขึ้น แน่นอนว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมาก แต่มีคำพูดหนึ่งน่าฉุกคิดในภาพยนตร์ ซึ่งกล่าวโดยนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ว่า

“คุณเองเป็นคนสวย คุณก็น่าจะรู้ดีว่า การใช้ชีวิตของพวกคุณมันง่ายแค่ไหน พวกคุณเกิดมาพร้อมสิทธิพิเศษบางอย่างตั้งแต่เกิด ได้ของฟรีบ้าง มีคนจ่ายค่าอาหารให้บ้าง”

ตัวเอกชื่อ ไอโกะ คือหญิงสาวหน้าตาดี เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว เธอก็ย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เธอมักจะได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างอย่างพิเศษอยู่เสมอ เธอจึงยอมจ่ายภาษีความสวยที่มากกว่าคนอื่นๆ

จากภาพยนตร์ The Beauty Tax ไอโกะกำลังสแกนใบหน้าเพื่อประเมินการจ่ายภาษี

หรือในการจ้างงานที่คนทั่วไปอาจไม่ได้รับโอกาสนั้น บางอาชีพสงวนไว้สำหรับคนที่มีหน้าตา รูปลักษณ์โดดเด่น และสถานภาพโสด อย่างในอุตสาหกรรมการบริการ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ธุรกิจโรงแรม หรือที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงาม ล้วนจ้างหญิงสาวที่สวยตามพิมพ์นิยม และมีความเป็นหญิง (Feminine) สำหรับงานบริการดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งหนึ่งบริษัทสายการบินเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ ถูกฟ้อง เนื่องจากการเลือกปฏิบัติ โดยจ้างพนักงานต้อนรับหญิงสาวที่เซ็กซี่ น่าดึงดูด เพื่อโปรโมตแคมเปญของสายการบิน ‘แผ่กระจายความรักไปทั่วเท็กซัส’ (Spreading love all over Texas) การโปรโมตนำเสนอโดยหญิงสาวในชุดกางเกงขาสั้นและบูทยาว ซึ่งสายการบินได้อ้างว่า เป็นไปตามคำสัญญาว่าสายการบินจะส่งความรักไปยังอากาศผ่านหญิงสาวเหล่านี้ ดังนั้น การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะนำเสนอแคมเปญนี้จะต้องเป็นผู้หญิงที่มีความสวยสมหญิงและดึงดูดทางเพศเท่านั้น

อีกคดีระหว่างบริษัทเครื่องสำอางลอรีอัลกับยาโนวิช ที่แคลิฟอร์เนีย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อยาโนวิชที่เป็นผู้จัดการประจำเคาน์เตอร์เครื่องสำอางได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้หาคนมาแทนที่พนักงานหญิงคนปัจจุบัน เนื่องจากพนักงานคนนั้น ‘ยังสวยไม่พอ’ โดยเจ้านายสั่งให้เธอไปหาใครสักคนที่สวยกว่านี้ และแน่นอนว่ายาโนวิชปฏิเสธคำสั่งที่ไม่สมเหตุสมผลนี้ จนทำให้เจ้านายโมโหและชี้นิ้วไปยังเด็กสาวผิวขาวผมบลอนด์ คนหนึ่งและบอกกับเธอว่า ‘หาสักคนให้ได้อย่างนี้สิ’ ยาโนวิชปฏิเสธเป็นครั้งที่สอง และนั่นทำให้เธอถูกไล่ออกจากงาน จนเป็นเหตุในการฟ้องร้องคดีขึ้นสู่ศาลมลรัฐในสหรัฐอเมริกา

มาตรฐานความงามถือเป็นอีกชั้นหนึ่งที่ซ้อนทับกับปัญหาของการเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งเพศที่ผู้หญิงมักจะประสบ และสื่อโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานความงามผ่านอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่อวัยวะตั้งแต่หัวจรดเท้าของผู้หญิงมักจะถูกนำไปใช้เพื่อโปรโมตขายสินค้า งานวิจัยจากศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งฟลอริดาพบว่า ผู้หญิงกว่า 87% มักจะเปรียบเทียบรูปร่างของตนเองกับภาพที่เห็นในโซเชียลมีเดีย กว่าครึ่งนั้นไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะก้าวข้ามลักษณะทางกายภาพของตัวเองที่เปลี่ยนไม่ได้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความสวยที่ตนเองจินตนาการถึง เช่น การทำศัลยกรรม จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงโดยลำพังยังคงศรัทธาในความงามโดยเนื้อแท้ของตนเอง แต่เป็นสังคมต่างหากที่สร้างความเป็นอื่นให้เธอรู้สึกแปลกแยกกับตัวตนที่แท้จริง และทำให้เธอปฏิเสธความสวยงามภายในของตนเอง

อีกทั้งเมื่อพิจารณาว่า ความงามเป็นเรื่องของพลวัต เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในปัจจุบันที่ค่านิยมความงามหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีดีแค่หน้าตาสะสวยหรือหล่อเหลา อาจจะงามจากองค์ประกอบภายในอย่างการมีทัศนคติที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่ายิ่งสร้างความกดดันที่มากขึ้นเป็นทบทวี เพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่ความต้องการมีแต่จะไต่ระดับขึ้นไปไม่มีสิ้นสุดเพื่อเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ ทุกองค์ประกอบความงามกลายเป็นเรื่องที่ต้องขวนขวายให้มีทุกอย่าง เช่น นางงามที่นอกจากรูปงามแล้วยังต้องมีทัศนคติที่ดี และฉลาดด้วยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานความงามไว้สูงทะลุฟ้าทีเดียว

บทบาทของกฎหมายในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความงาม

หนึ่งในมาตรวัดความสวยงามคงหนีไม่พ้นวงการบันเทิง ที่เป็นภาพแทนของมาตรฐานความสวย รวมถึงการประกวดนางงามที่นอกจากมีมันสมองแล้ว ยังต้องสวยไม่มีที่ติ บวกกับปัจจุบันสื่อโซเชียลเป็นตัวกระตุ้นในเรื่องมาตรฐานความงามที่สนใจแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ต้องดึงดูดใจ ทั้งการใช้แอพพลิเคชันที่มาพร้อมฟิลเตอร์หน้าสวยใส ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้การสร้างมาตรฐานความงามผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็นการเคารพความงามที่แท้จริง การใช้สื่อโซเชียลนอกจากจะลดทอนความงามที่แท้จริงแล้ว งานวิจัยจากประเทศอังกฤษยังพบว่า พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กวัยรุ่นยังนำมาซึ่งปัญหาของสุขภาพจิต ที่ก่อให้เกิดความกังวล ความกดดัน และนำมาซึ่งการลดทอนคุณค่าของตนเอง เมื่อมาตรฐานทางความงามกลายเป็นปัญหา 

แล้วกลไกอย่างกฎหมายมีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้? 

หลายประเทศมีการปรับตัวเรื่องของการสร้างมาตรฐานสำหรับความงามขึ้นใหม่ ผ่านการป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อคนที่ครั้งหนึ่งถูกลดทอนคุณค่า เพราะอยู่ห่างจากมาตรฐานความงามที่สังคมตั้งไว้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมามีคุณค่าในตัวเองทางสังคมและเศรษฐกิจอีกครั้ง

สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางภาพลักษณ์ (Appearance Discrimination) เพื่อคุ้มครองหญิงสาวที่รูปลักษณ์ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของความสวยแบบอเมริกันชน (American Beauty) แต่ทั้งนี้ยังเป็นกฎหมายเฉพาะที่บังคับใช้ในบางมลรัฐเท่านั้น เช่น ใน วอชิงตัน ดีซี ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับข้อห้ามการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน รวมถึงการป้องกันการเลือกปฏิบัติทาง ‘ภาพลักษณ์ส่วนบุคคล’ ซึ่งหมายถึง ลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้ของปัจเจกโดยไม่คำนึงถึงเพศ หรือรัฐมิชิแกนที่แบนการเลือกปฏิบัติทางภาพลักษณ์เช่นกัน โดยในการจ้างงานต้องไม่คำนึงถึงเรื่องส่วนสูงและน้ำหนักเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ

บางประเทศที่ออกกฎหมายเพื่อนำเสนอความงามที่แท้จริงของบุคคล (Beauty Realistic) นายแบบ นางแบบที่จะออกสู่สายตาสาธารณะจะต้องเป็นการนำเสนอตัวจริงที่ไม่ผ่านการรีทัช เพื่อให้เข้าใจถึงความสวยงามตามธรรมชาติที่แท้จริง เนื่องจากภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นจริงทำให้ปัจเจกจำนวนมากลดคุณค่า และขาดการเคารพในตัวเอง

ประเทศนอร์เวย์ หากเซเลบริตี บล็อกเกอร์ โฆษณาหรือลงรูปภาพของตนเองที่มีการตกแต่งหรือรีทัชภาพ ต้องมีการแทรกข้อความว่า ‘รูปภาพหรือโฆษณาดังกล่าวมีการตกแต่งภาพเพื่อความสวยงาม’ โดยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ ซึ่งในประเทศสเปน อิตาลี และอิสราเอล ต่างก็ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน

ประเทศฝรั่งเศส เมืองแห่งแฟชัน แม้สังคมเราเปิดกว้างมากแล้วกับเรื่องความงาม และให้ค่าความงามที่มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก แต่นักจิตวิทยาเปิดเผยว่า ผู้หญิงมักจะรู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างของตนเอง เพราะนำไปเปรียบเทียบกับผู้หญิงคนอื่น และความสวยกลายเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกัน แทนที่จะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องยอมรับในตัวเองและมีสุขภาพที่ดี ประเทศฝรั่งเศสก็เห็นถึงปัญหาข้อนี้ ต่อไปนี้นางแบบบนรันเวย์ที่สูงชะลูด หุ่นเกือบปลิวลม อาจจะไม่มีอีกต่อไปแล้วในประเทศฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสได้สร้างมาตรฐานความงามไว้ว่า ต้องมีสุขภาพดีเป็นสำคัญ ก่อนขึ้นรันเวย์นางแบบจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ก่อนว่า มวลดัชนีร่างกายมีความสัมพันธ์กันระหว่างน้ำหนักกับส่วนสูงหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นการส่งสัญญาณว่าสุขภาพที่ดีสำคัญกว่าเรื่องอื่นใด ส่วนภาพโฆษณาที่ปรากฏนายแบบและนางแบบที่มีการตกแต่งรีทัชก็ต้องมีการหมายเหตุไว้เช่นกัน ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงหากฝ่าฝืน คือปรับเป็นเงินถึง 75,000 ยูโร (2,700,000 บาท) เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตระหนักถึงการให้ค่านิยมความสวยแบบผิดๆ อาจนำมาซึ่งผลร้าย เช่น ค่านิยมที่สวยต้องมีหุ่นที่ผอม เป็นต้นตอของ โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) ที่ร้อยละ 90 เกิดกับผู้หญิง

จะเห็นได้ว่าตัวกฎหมายเองมีส่วนอย่างสำคัญ ต่อการเป็นกลไกในการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านการบังคับใช้วิธีการที่หลากหลาย ซึ่งทำให้มาตรฐานความงามได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ รวมถึงเป็นการส่งข้อความไปยังทุกคนกลายๆ ด้วยว่า ‘ร่างกายของเธอไม่ได้บอกตัวตนที่แท้จริงของเธอ ร่างกายของเธอไม่ใช่ทุกอย่าง อีกทั้งการมีงานทำ โอกาส ความสำเร็จ และความสุขไม่ควรเป็นสิ่งสงวนไว้สำหรับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น’

Tags: ,