“ดื่มให้ความขุ่นมัว และความโชคดีของเศรษฐีเมืองไทยบางคนที่รวยขึ้นมาอย่างหน้าด้านด้วยความคดโกง”
ข้อความข้างต้นเป็นถ้อยคำของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่มักเชิญชวนผู้อ่านให้สัมผัสวรรณกรรมที่คละคลุ้งด้วยกลิ่นฉุนของสุรา ทำให้เห็นว่าสุราและเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลายไม่ใช่ของแปลกสำหรับสังคมไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน
กล่าวได้ว่าสามารถพบเห็นในชีวิตประจำวัน คนไทยทุกชนชั้นดื่มเหล้ากันเป็นปกติ อาจผิดแผกแตกต่างไปตามลักษณะและประเภทเมรัย ตามรสนิยมและกำลังทรัพย์ของแต่ละปัจเจกบุคคล วัฒนธรรมการดื่มสุราจึงแฝงตัวอยู่ในทุกบริบททางสังคมไทย สืบทอดต่อกันเป็นหลักฐานสำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาหาร และอารยธรรมในการเข้าบูรณาการกันในชุมชน การบริโภคสุราจึงสะท้อนถึงวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นด้วย
อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการดื่มสุราเมรัยของประชาชนในชุมชนดั้งเดิมนั้น มีอยู่ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ การที่รัฐออกกฎหมายมาจำกัดในภายหลังโดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์การผลิตและบริโภค จึงเป็นการทำลายความสำคัญของวัฒนธรรมการผลิตสุราชุมชนลงไป พร้อมกันกับการตีวงให้แคบของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างการผลิตระดับชุมชนและระดับครัวเรือนให้ลดน้อยถอยลง จากการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานการ ผลิต และเพดานการผลิตขั้นต่ำ ผ่านพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 อันเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับเป็นการกีดกันทางการค้า และทำให้คุณค่าของสุราชุมชนหรือการผลิตเหล้าในครัวเรือนลดน้อยถอยลง จนกระทั่งถูกทำให้กลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ประวัติศาสตร์การบริโภคสุราในประเทศไทยมีมายาวนาน ประกอบกับทรัพยากรการผลิตทางเกษตรกรรมก็มีอยู่มาก ในแง่วัฒนธรรม การผลิตสุราในประเทศไทยมีประวัติการผลิตที่ยาวนานเพื่อการบริโภค กล่าวกันว่าคนไทยในสมัยก่อนต่างผลิตสุราไว้บริโภคในบ้าน ผลิตไว้เลี้ยงแขกเหรื่อเมื่อมีการจัดงานตามประเพณี แต่ไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่าย ทั้งยังปรากฏในศิลาจารึกสมัยลพบุรีในทศวรรษที่ 16 ที่กล่าวถึงการนำสุรามาใช้ในการเซ่นสรวงเทพเจ้า ประกอบไปด้วยเครื่องเซ่นคือ สุรา อาหาร และเนื้อสัตว์
สุราที่ชุมชนท้องถิ่นนิยมนั้นมักเป็นการหมักเมรัยด้วยผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมในชุมชนนั้นๆ เช่น น้ำตาลเมาหรือกะแช่ที่ทําจากน้ำตาล มีการใช้สุราในกิจกรรมหลากหลายประเภท รวมไปถึงการใช้บูชาและบวงสรวงเทพเจ้า และประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมในวันพืชมงคลที่ผ่านมา พระโคเสี่ยงทายก็เลือกกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้าอีกด้วย
ไม่นานมานี้มีคราฟต์เบียร์ที่มีผู้ผลิตเป็นคนไทยผุดขึ้นในตลาดแอลกอฮอล์จำนวนมาก และประสบความสำเร็จในเวทีการค้าโลก เช่นกรณีคราฟต์เบียร์ไทยจากเครือมหานคร (Mahanakhon) ในเครื่องหมายการค้า ‘ศิวิไลซ์’ (Beer Sivilai) ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวที World Beer Awards 2020
แต่เบียร์ศิวิไลซ์นี้กลับได้รับรางวัลในฐานะเบียร์จากประเทศเวียดนาม ไม่ใช่ประเทศไทย เนื่องจากเวทีประกวดอิงจากที่ตั้งของโรงงานผลิตเบียร์ นอกจากนี้ ยังมีคราฟต์เบียร์อีกจำนวนหลายแบรนด์ที่ผู้ก่อตั้งเป็นคนไทย แต่ดำเนินการผลิตที่ต่างประเทศอย่างเวียดนาม ได้แก่ ผีบอก, ภูเก็ต, ลูกกรุง, ข้าวสาร ส่วนในประเทศกัมพูชาได้แก่ เอาท์ลอว์, บ้านนอก, เชียงใหม่ ทั้งยังมีแบรนด์อโศกในประเทศเกาหลี แบรนด์ ไฮยีนาในประเทศเบลเยียม และแบรนด์ชาละวันในประเทศออสเตรเลีย
เนื่องด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นใจให้ผู้ผลิตรายย่อยต้มเบียร์ได้อย่างอิสระ ซึ่งกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า Homebrew จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี
จากการวิจัย World Beer Index 2021 พบว่าคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวดภายใน 1 ปี คิดเป็นเงินจำนวน 686 ดอลลาร์ หรือราว 21,093 บาทต่อปี นอกจากนี้ ประเทศไทยนั้นรักการดื่มถึงขนาดที่ว่ามีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเบียร์มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ข้อมูลปี 2564) แต่ในทางกลับกัน ค่านิยมที่สอดคล้องกับศาสนาพุทธได้ด้อยค่าและปฏิเสธวัฒนธรรมการบริโภคสุราอย่างเข้มข้น สิ่งนี้ปรากฏผ่านสื่อสมัยนิยมทั้งจากโฆษณาจาก สสส. และมาตรการการงดขายสุราในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ แม้กระทั่งคำสอนทางศาสนา และภาพจำของผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคสุรา
สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นผ่านปรากฏการณ์ของ “ภาษีบาป” ที่อ้างว่าถูกใช้เพื่อปลูกสร้างค่านิยมและมาตรฐานความดีอย่างศาสนาพุทธให้เข้าไปสอดแทรกในสำนึกทั่วไปของประชาชน เนื่องด้วยการบริโภคสุรานั้นขัดต่อหลักคำสอนอันเป็นที่พึงปฏิบัติในศาสนาพุทธ คือศีล 5 หรือเบญจศีล ในศีลข้อสุดท้าย สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (สิกฺ ขาปทํสมาทิยามิ) หมายถึง การตั้งใจงดเว้นจากดื่มสุราเมรัย อันเป็นต้นเหตุแห่งความประมาท
แม้ว่าสังคมไทยจะยอมรับการบริโภคสุราและดื่มกินอย่างกว้างขวาง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ผลิตสินค้าแอลกอฮอล์กลับมีเพียงไม่กี่ราย ทั้งการเข้าถึงสายพานการผลิตก็ทำได้ยาก เนื่องมาจากเงื่อนไขกำลังแรงม้าของเครื่องจักรและทุนจดทะเบียนทั้งที่การผลิตสุรานั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นคุณค่าอีกประการที่เป็นนวัตกรรมทางอาหารที่มีความสำคัญ และสมควรที่จะได้รับการยอมรับในฐานะสินค้า
กฎหมายที่ให้อำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมสุราของไทยมีมาคือ พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งมีสาระสำคัญให้สิทธิผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุราแก่ผู้ผลิตรายใหญ่ และตั้งข้อจำกัดแก่ผู้ผลิตรายใหม่ๆ โดยใช้มาตรฐานการผลิตและความสะอาดที่ต้องอาศัยทุนทางนวัตกรรม สวนทางกันกับการผลิตในระดับท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม
ภาษีสุรา เดิมคือ ‘อากรสุรา’ จัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ.1248 (พ.ศ. 2429) ต่อมาถูกแทนที่ด้วย ‘พระราชบัญญัติสุรา’ ที่เป็นกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมการผลิตสุรา ซึ่งนับว่าเป็นข้อจำกัดสำหรับการผลิตสุราในสังคมไทย การจัดเก็บภาษีการบริโภคสุรานี้คือเครื่องมือในการลดผลกระทบภายนอกที่ไม่พึงปรารถนา กล่าวคือเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน โดยมีหลักคิดเบื้องต้นคือ สุราเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณประโยชน์ (demerit goods) สร้างผลกระทบภายนอกที่ไม่พึงปรารถนา (negative externality) แก่สังคม เช่น อุบัติเหตุจากการที่ผู้บริโภคสุราเมาแล้วขับ การก่ออาชญากรรมขณะมึนเมา กระทั่งความรุนแรงใน ครอบครัว เป็นสาเหตุของการขาดสติ กระทำการโดยเลินเล่อ อันจะสร้างความเสียหายต่อสังคมหรือความรำคาญต่อผู้อื่นในสังคม ภาษีชนิดนี้ถูกเรียกว่า ภาษีบาป (Sin Tax) ส่งสัญญาณว่าภาครัฐนั้นไม่สนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ถูกจัดอยู่ในภาษีชนิดนี้
น่าติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขหรือยอมรับการผลิตสุราหรือไม่ หลังจากพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้าถูกปัดตกจากมติการประชุมสภาผู้แทน ด้วยความหวังที่จะเห็นอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์และสุราไทยได้รับการยอมรับในฐานะของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา พร้อมไปกับการนำเสนอวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลก
Tags: พระราชบัญญัติสุรา, เบียร์ไทย, สุราก้าวหน้า, กฎหมายไทย, เหล้าเบียร์, คราฟต์เบียร์, สุราไทย, สุรา, วัฒนธรรมการดื่ม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, Rule of Law, สังคมไทย