เพื่อระลึกถึงผู้หญิงทุกคนเนื่องในเดือนแห่งวันสตรีสากล Rule Of Law สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านมาสำรวจหมุดหมายในเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับสิทธิสตรี 

ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรอง ‘สิทธิทำแท้ง’ อย่างเฉพาะเจาะจงไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากที่รัฐสภาฝรั่งเศสมีมติ 780 ต่อ 72 ในวันที่ 4 มีนาคม 2024 โดยเป็นการรับรองสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ ‘ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด และสามารถทำได้ในทุกช่วงเวลาของอายุครรภ์’ ซึ่งการรับรองสิทธิของการทำแท้ง ก่อให้เกิดหลักประกันสิทธิที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกได้รับการยอมรับ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และหลุดพ้นจากพันธนาการในบรรดาหนี้ทางศีลธรรมทั้งปวง

ที่มาของการพัฒนา ‘สิทธิ’ การทำแท้งเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หากย้อนเวลากลับไปจะพบว่า ในหน้าประวัติศาสตร์มีการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินี้มาอย่างยาวนาน จนการต่อสู้เดินทางมาถึงวันที่มีกฎหมายรองรับเรื่องการทำแท้งในท้ายที่สุด ถึงแม้จะมีกฎหมายรับรองแล้วก็ตาม แต่กฎหมายก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของหญิงมีครรภ์ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ 

มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญปัญหาและต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ แต่ด้วยความเชื่อทางปรัชญาและศาสนาที่เป็นตัวกำกับต่อการนึกถึงเรื่องดังกล่าว หลายครั้งกรอบทางศีลธรรม ความเกรงกลัวต่อบาปกรรม และเสียงเพรียกของคนรอบข้าง ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถตัดสินใจได้โดยอิสระ 

ยกตัวอย่างในศาสนาพุทธที่มีความเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของมนุษย์ถือกำหนดขึ้นตั้งแต่การปฏิสนธิเมื่อมีการจุติของตัวอ่อน ศาสนาคริสต์ที่นับความเป็นมนุษย์เมื่อวิญญาณที่พระเจ้าประทานให้สถิตเป็นตัวอ่อนเมื่อเกิดการปฏิสนธิ ศาสนาอิสลามก็มีความเชื่อว่าชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์มารดาเช่นกัน 

หรือในบางความเชื่อ เช่น ประเทศเกาหลีและประเทศจีน ที่เริ่มนับอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดารวมเข้ากับอายุชีวิตหลังกำเนิด ทำให้เชื่อว่าชีวิตเป็นชีวิตตั้งแต่มีการปฏิสนธิ ดังนั้นการกำจัดสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้คำนิยามของหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือหลักความเชื่อใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ผิดบาปและก่อให้เกิดความละอายต่อบาป รวมถึงอาจมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในเหตุผลที่มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทารกในครรภ์มารดา และอีกหนึ่งข้อกังวลเกี่ยวกับอัตราการเกิดที่อาจต่ำลง รวมถึงการเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ทำให้สถานการณ์ของการทำแท้งแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บริบทพื้นที่

ในด้านของวิวัฒนาการทางกฎหมายที่เดิมทีหลายประเทศกำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรม มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมมากขึ้นตามกาลเวลา มีหลายประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลทางสุขภาพของหญิงมีครรภ์และเด็ก หรือการทำแท้งเนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือการกำหนดระยะเวลาไว้ระยะเวลาหนึ่งของการตั้งครรภ์ ที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ประกอบ แม้จะมีความก้าวหน้าให้เห็นบ้าง แต่การทำแท้งก็ยังไม่ได้ถูกยกระดับว่า เป็น ‘สิทธิ’ ที่บุคคลมีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ คงเพียงแต่ให้ ‘การทำแท้ง’ เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น  

ก่อนหน้าที่ในเรื่องของการทำแท้ง ประเทศสหรัฐอเมริกาคือต้นแบบของความก้าวหน้า ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี Roe v Wade ในปี 1973 ที่อ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลในการกําหนดสิทธิตามกฎหมายของผู้หญิงในการทําแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ภายใต้สิทธิความเป็นส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้คำตัดสินถูกพลิกกลับในปี 2022 มีการวินิจฉัยจากศาลสูงว่า การทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว ทำให้สหรัฐอเมริกาย้อนกลับมายังจุดเดิมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คดี Roe v Wade ยังคงเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทำแท้งต้องระลึกถึง

คดี Roe v Wade (1973)

ภายใต้บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 14 ของสหรัฐอเมริกา (Fourteenth Amendment) ที่รัฐจะต้องประกันสิทธิเสรีภาพ ไม่อาจละเมิดต่อสิทธิในชีวิตส่วนตัวของบุคคลใดๆ ได้ มีคดีที่เป็นหมุดหมายสำคัญเกี่ยวกับหญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ คดีนี้เกิดขึ้นระหว่าง โร (Roe – นามสมมุติ) กับเวด (Wade) อัยการเขตดัลลัส เมื่อปี 1973 ซึ่งในขณะนั้นกฎหมายรวมถึงทัศนคติของสังคมต่อการทําแท้งยังเป็นเรื่องผิดบาป การทำแท้งทุกกรณีเป็นอาชญากรรม ยกเว้นหญิงที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจากการตั้งครรภ์เท่านั้นที่จะทำแท้งได้ 

โดยโรตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3 จากการถูกข่มขืน แน่นอนว่าไม่เข้าข้อยกเว้นในการทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เธอจึงร้องต่อศาลในรัฐเท็กซัสให้แก้ไขกฎหมายที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรม 

คดีนี้ไปถึงศาลสูงสุดสหรัฐฯ โดยศาลสูงมีมติ 7-2 ว่า การห้ามทําแท้งเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล การถูกบังคับให้ต้องดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปโดยไม่สมัครใจอาจเกิดความเสียหายทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจของผู้หญิง หลังจากที่ศาลสูงมีคำตัดสิน การทำแท้งในสหรัฐฯ จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์สามารถเข้ารับบริการทำแท้งได้โดยมีความปลอดภัยมากขึ้น ในสถานพยาบาลและคลินิกวางแผนครอบครัวทั่วประเทศ

คดีนี้ถือเป็นเรื่องก้าวหน้ามากในยุคเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และทำให้สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากที่สุด โดยศาลสูงให้เหตุผลที่น่าสนใจและกลายเป็นบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลเกี่ยวกับการทำแท้งที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก คำวินิจฉัยไม่ได้เป็นการให้เหตุผลที่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นความพยายามในสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่ถือว่า เป็นสิทธิ ‘ขั้นพื้นฐาน’ ในเรื่องความเป็นส่วนตัว กับสิ่งที่รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และปกป้อง ‘ชีวิต’ อีกหนึ่งชีวิตที่กำลังจะเติบโตเป็นมนุษย์ในครรภ์ของมารดา โดยใช้เส้นแบ่งเวลากับการมีอยู่ของชีวิตทารกในครรภ์

ประการแรก ศาลสูงให้ความเห็นว่า ก่อนที่ตัวอ่อนจะมีชีวิตคือในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ควรเป็นเรื่องของผู้มีครรภ์ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลที่จะต้องไปกะเกณฑ์ว่า หญิงต้องดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถห้ามการทําแท้ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นการแทรกแซงการตัดสินใจของบุคคล 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากนั้น หรือช่วง 3 เดือนต่อมาหลังจากการตั้งครรภ์ ศาลสูงให้ความเห็นว่า มันคือช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นการมีชีวิตของทารกในครรภ์ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้รัฐจึงสามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้ เช่น อาจห้ามไม่ให้ทําแท้งเพื่อปกป้องสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ หรือเพื่อรักษาชีวิตของทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในกรณีใดการทำแท้งจะต้องไม่เป็นอาชญากรรม ซึ่งมีหลายประเทศนำเอาแนวคำวินิจฉัยนี้ ไปปรับใช้สำหรับกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์

แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2022 ศาลสูงพลิกคำตัดสินในคดี Roe v Wade ที่ได้รับรองสิทธิในการทำแท้งของหญิงชาวอเมริกัน โดยมีคำตัดสินว่าการทำแท้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งภายในมลรัฐ แน่นอนว่ามลรัฐที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม ย่อมต้องพิจารณาแก้ไขบทบัญญัติเดิมที่ให้สิทธิในการทำแท้ง หรืออาจถึงขั้นออกกฎหมายห้ามการทำแท้งในทุกกรณี ผลกระทบที่ตามมา คือคลินิกวางแผนครอบครัวที่ให้บริการทำแท้งในหลายรัฐต้องถูกปิดตัวลง และหญิงที่ไม่สมัครใจในการตั้งครรภ์ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการทำแท้งได้อีกต่อไป

กฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย

ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในประเทศไทยอนุญาตให้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ ‘แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย’ ซึ่งแต่เดิมการทำแท้งถือเป็นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามกฎหมายอาญา จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง เป็นความผิดอาญาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ในเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคล 

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของหญิง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน จึงเป็นที่มาของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และมาตรา 305 โดยมีสาระสำคัญคือ กฎหมายอนุญาตให้หญิงทำแท้งได้ทุกกรณีหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่หากเกินกว่านั้นคือระหว่างอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก่อน จึงจะสามารถดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ได้ 

ทั้งนี้ การยุติการตั้งครรภ์จะต้องเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเท่านั้น รวมถึงกำหนดการทำแท้งจะไม่ถือเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อเป็นการทำแท้งของหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ไม่ว่าสุขภาพทางกายหรือจิตใจจากการตั้งครรภ์ หรือกรณีที่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพพลภาพอย่างร้ายแรงของทารก และการทำแท้งของหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

จะเห็นว่าประเทศไทยมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ ที่ทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาของการทำแท้ง โดยไม่ผิดกฎหมายในช่วงเวลาหนึ่ง คือไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทว่าหากทำแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย การทำแท้งยังถือเป็นความผิดในทางอาญา และมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการกำหนดระยะเวลาปลอดความผิดนี้ยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าตัวเลข 12 สัปดาห์นี้อ้างอิงมาจากอายุครรภ์ที่ปลอดภัยสำหรับการทำแท้ง 

แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้หญิงที่รู้ช้าว่า ตนเองตั้งครรภ์และพ้นระยะเวลา 12 สัปดาห์ไปแล้ว ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการอีกขั้นตอนหนึ่ง คือต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ก่อน และการจะทำแท้งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลของการประเมิน และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเพิ่มกระบวนการและสร้างความลำบากอีกหนึ่งขั้นตอน ทำให้สถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทย แม้ว่าจะมีกฎหมายเปิดช่องไว้ แต่ก็ยังมีปัญหาในการบังคับใช้จริงซึ่งอาจมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต 

แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีในเบื้องต้นว่า สังคมไทยกำลังมองภาพเรื่องการทำแท้งที่เปลี่ยนไป มองอย่างรอบด้านมากขึ้น ไม่เอาเรื่องบาป บุญ คุณ โทษเป็นตัวตัดสินอย่างเดียวเท่านั้น แต่คำนึงถึงความจำเป็นและมีความเข้าอกเข้าใจผู้ที่ต้องการเข้าสู่กระบวนยุติการตั้งครรภ์มากขึ้นด้วย

การจะมีมาตรการเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างใดในรัฐๆ หนึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างสิทธิของปักเจกบุคคลกับการกำกับดูแลของรัฐที่ควรได้สัดส่วนเท่ากัน แม้ว่ามนุษย์มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็มีหน้าที่ต่อพลเมืองในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยในชีวิต 

ดังนั้น การที่รัฐจะใช้เหตุผลนี้ในการจำกัดสิทธิบางประการจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และไม่ว่าความคิดเห็นมวลชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง รัฐก็ยังคงต้องมีมาตรการที่เหมาะสมและได้สัดส่วน ควรเปิดช่องทางสำหรับมาตรการการทำแท้งไว้ 

สิทธิในการทำแท้งควรเป็นสิ่งที่พึงมีสำหรับหญิงทุกคน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงหญิงที่ยังไม่มีภาวะความพร้อมในการเป็นมารดา คุณแม่วัยใสผู้ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม การดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก และถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องไว้แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือการเข้าถึงกระบวนการทำแท้งที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย และสะดวกใจ 

หากวันนี้โลกจารึกความสำเร็จอีกก้าวของนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีในประเทศฝรั่งเศสแล้ว ในอนาคตเราคงต้องติดตามกันต่อว่า มาตรการหลังจากนี้จะถูกออกแบบให้เป็นไปแบบใด และเทรนด์เรื่องสิทธิการทำแท้งในประชาคมโลกจะถูกพัฒนาไปในทิศทางไหน ติดตามชมตอนต่อไป

 

อ้างอิง

อธิป ลิ้มไพบูลย์, (2563),การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทารกในครรภ์มารดา ศึกษากรณีการทำแท้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม,มหาวิทยาลัยศรีปทุม

France makes abortion a constitutional right, https://www.bbc.com/news/world-europe-68471568

France makes abortion a constitutional right in historic Versailles vote, https://www.theguardian.com/world/2024/mar/04/france-to-hold-final-vote-on-enshrining-abortion-as-a-constitutional-right 

France becomes the only country to explicitly guarantee abortion as a constitutional right, https://apnews.com/article/france-abortion-right-constitution-parliament-vote-versailles-d6ce4fb3a6a7288033f58235b65f570e

Supreme Court overturns Roe v. Wade, ending right to abortion upheld for decades

https://reproductiverights.org/wp-content/uploads/2020/12/Liberty-Roe-Timeline-spread-for-web.pdf

What might life look like in a post-Roe America?, https://www.npr.org/2022/06/04/1103018467/roe-v-wade-overturned-leaked-decision-supreme-court-abortion

Tags: , , , ,