‘พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์’ นิทรรศการนำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเคยจัดแสดง ณ พระที่นั่งทรงธรรม พร้อมด้วยนิทรรศการพระเมรุมาศพิมานนฤมิต นำเสนอรายละเอียดและขั้นตอนงานศิลปกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งประกอบพระราชพิธีโดยละเอียด ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมนิทรรศการทั้งสองส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.- 31 ธ.ค. 60 ในระยะเวลาสองเดือนนั้น มีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการราว 4 ล้านคน และเนืองแน่นกระทั่งวันสุดท้ายที่เปิดให้เข้าชมนิทรรศการ ก่อนจะมีการรื้อถอนและย้ายพระเมรุมาศออกจากท้องสนามหลวงในเดือนมกราคม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่พลาดโอกาสเข้าชมนิทรรศการครั้งสำคัญนี้
หลังการรื้อถอน งานประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศทั้งหมด ได้รับการเคลื่อนย้ายไปเก็บยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น อาคารประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา พระจิตกาธาน พระโกศจันทน์ และฉากบังเพลิง นำไปจัดแสดงที่โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระที่นั่งทรงธรรมบางส่วนนำไปก่อสร้างเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนนิทรรศการ ‘พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์’ กรมศิลปากรได้มอบให้กับกรมแพทย์ทหารบกและมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท นำมาจัดแสดง ณ พระราชวังพญาไท เพื่อให้สถานที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรต่อไป
พระราชวังพญาไท เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ ทดลองปลูกพืช เลี้ยงไก่ สร้างโรงนา และโรงพิธี ด้วยมีพระราชดำริให้ย้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบที่ท้องพระเมรุหรือท้องสนามหลวง มาจัดที่นาหลวงคลองพญาไท และเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งแปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวัง หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้โปรดให้ย้ายพระตำหนักอุดมวนาภรณ์จากพระราชวังดุสิตมาสร้างใหม่ที่พระราชวังพญาไทเป็นองค์แรก และพระราชทานนามในเวลาต่อมาว่าพระตำหนักเมขลารูจี และโปรดให้สร้างพระมณเฑียรสถานขึ้นแทนที่ตำหนักเดิมเป็นหมู่พระที่นั่งสามองค์ พร้อมพระราชอุทยานซึ่งจัดเป็นสวนรูปเรขาคณิต ตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนสมัยเรอเนซองส์ แต่เรียกกันว่าสวนโรมัน และย้ายเมืองจำลอง ‘ดุสิตธานี’ สถานที่ฝึกหัดสั่งสอนวิธีการปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาล ตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาไว้ที่นี่ และยังเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบทพระราชนิพนธ์ทรงคุณค่าหลายเรื่อง ใช้เป็นที่ทรงพระราชนิพนธ์ รวมถึง ‘มัทนะพาธา’
นอกจากนี้พระราชวังพญาไทยังเคยได้รับการปรับปรุงให้เป็น ‘โฮเต็ลพญาไท’ เมื่อปีพ.ศ. 2468 เคยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงซึ่งตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท กระทั่งกลายเป็น ‘โรงหมอ’ หรือโรงพยาบาลทหารบกในปี พ.ศ.2489 ก่อนที่กองทัพบกจะขอพระราชทานนามใหม่เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งประกอบพิธีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบัน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ย้ายไปยังอาคารหลังใหม่ และพระราชวังพญาไทได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไทเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2522
หลังได้รับมอบจากกรมศิลปากร นิทรรศการ ‘พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์’ ได้นำมาจัดแสดงต่อ ณ บริเวณโถงพระที่นั่งพิมานจักรี อันมีพื้นที่ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานกำเนิดเป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย และเคยเสด็จพระราชดำเนินหลายครั้งตามพระราชภารกิจต่างๆ
นิทรรศการ ‘พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ณ พระราชวังพญาไท’ ประกอบด้วยเนื้อหา สื่อมัลติมีเดีย และสิ่งของจัดแสดงบางส่วน แบ่งออกเป็นห้าโซน ในพื้นที่สองชั้นของพระที่นั่งพิมานจักรี
โซนที่ 1 ‘เมื่อเสด็จอวตาร’ แสดงพระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุมซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีจากสหรัฐอเมริกานิวัตประเทศไทยตั้งแต่พระชนมพรรษา 1 พรรษา ทรงได้รับการอภิบาลจากสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการศึกษาและอบรมให้มีพระอุปนิสัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ตราบเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาและทรงครองสิริราชสมบัติ จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ
โซนที่ 2 ‘รัชกาลที่ร่มเย็น’ นำเสนอเรื่องราว “อุปกรณ์ทรงงาน” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงกล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ยุคแรกทรงงาน แผนที่ ซึ่งเป็นภาพแทนแผ่นดินไทย ดินสอ ที่ทรงใช้ระบุพิกัดโครงการในพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรยามฉุกเฉินเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงพระราชพาหนะที่นำพาเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดาร เครื่องใช้ในพระราชพิธี ซึ่งเป็นมรดกแผ่นดินที่แสดงเอกลักษณ์ชาติ ตลอดจนการเตรียมพระวรกาย และเตรียมพระราชหฤทัย ด้วยการฝึกพระสติที่ประกอบด้วยธรรม อันเป็นฐานแห่งความสำเร็จในการทรงงานตลอดรัชสมัยอันรุ่งเรือง
โซนที่ 3 ‘เพ็ญพระราชธรรม’ นำเสนอเรื่องราวของธรรมมิกมหาราชาผู้ทรงครองแผ่นดินด้วย ทศพิธราชธรรม เพื่อยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกรผู้อาศัยใต้ร่มพระบารมี การที่ทรงพระผนวชโดยพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา การที่ทรงเป็นพุทธมามกะด้วยความเลื่อมใส ทั้งได้ทรงออกแบบสร้าง พระพุทธนวราชบพิตร พระราชทานเป็นขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแผ่นดิน และการที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ศาสนาหลักในประเทศไทยตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาซิกข์ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งหลายเหล่านี้ มีผลให้แผ่นดินไทยสงบร่มเย็นมายาวนานตลอด 70 ปี
โซนที่ 4 ‘นำพระราชไมตรี’ นำเสนอการทรงงานด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2502 (เสด็จเยือนเวียดนาม) และประเทศในเอเชีย จากนั้นจึงมีการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ต่อด้วยนานาประเทศในทวีปยุโรป และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ จนถึงครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย-เวียงจันทน์ (พ.ศ. 2537) ผลจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือน นอกจากนำมาซึ่งสัมพันธไมตรีที่ดีกับมิตรประเทศ ก่อให้เกิดความร่วมมืออีกมากมาย
หลักการในการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ไม่เพียงแต่ในหมู่ประชาชนชาวไทย แต่ยังเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก สถาบันและองค์กรต่างประเทศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา รวมถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งได้มีการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และส่วนบุคคล อันเป็นการขจัดความยากจน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ครบ 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นพันธกิจร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน
โซนที่ 5 ‘พระจักรีนิวัตฟ้า’ ประมวลภาพหลังจากการประกาศของสำนักพระราชวัง โดยประชาชนชุดดำนับหมื่นนับแสนหลั่งไหลเพื่อให้ได้เฝ้าส่งเสด็จขบวนพระบรมศพ จากโรงพยาบาลศิริราชมายังพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งภาพประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระประมุข และผู้นำประเทศต่างๆ ต่างร่วมรับรู้ความรู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญของโลก โดยมีพระราชสาส์น สาส์น และแถลงการณ์แสดงความอาลัย มายังพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน
นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับใครที่พลาดการเข้าชมนิทรรศการครั้งจัดแสดงยังพระที่นั่งทรงธรรม รวมถึงผู้ที่ประสงค์จะร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้ง ในพระราชวังที่มีความสง่างามทั้งสถาปัตยกรรมและเรื่องราวอันทรงคุณค่าแห่งนี้
Fact Box
นิทรรศการ 'พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ณ พระราชวังพญาไท' เป็นนิทรรศการ 2 ภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) มีการจัดทำข้อมูลดิจิทัลที่ได้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมดซึ่งสามารถเข้าถึงและดาวน์โหลดข้อมูลได้ด้วยรหัส QR Code ที่ปรากฏอยู่ตามบริเวณต่างๆ ภายในบริเวณนิทรรศการ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การเข้าชมเป็นหมู่คณะทำการนัดหมายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์ก่อนวันเข้าชม และแต่งกายสุภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท โทร. 02-354-7987 และ 02-354-7732