ในรัชสมัยที่กำลังจะผ่านพ้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางกระแสค้านของพวกอนุรักษนิยม คาดกันว่ามกุฎราชกุมารนารุฮิโตะจะสืบสานปณิธานของพระราชบิดา เพื่อให้ราชวงศ์ที่มีมานานกว่า 2,600 ปีมีความสมสมัย สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายน ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์ดอกเบญจมาศจะส่งต่อไปยังมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะในวันที่ 1 พฤษภาคม หลังจากขึ้นรัชสมัยใหม่ที่รัฐบาลให้ชื่อว่า “เรวะ” แล้ว บทบาทของสถาบันกษัตริย์จะปรับเปลี่ยนต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่นักสังเกตการณ์กำลังเฝ้ามอง

มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะบอกกล่าวกับสาธารณชนไว้แล้วว่า เมื่อได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาแล้ว พระองค์จะเดินหน้าปรับปรุงให้สถาบันกษัตริย์มี “หน้าที่ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่” และทรงบอกด้วยว่า พระองค์จะเจริญรอยตามพระราชบิดาในเรื่อง “ความใกล้ชิดกับประชาชน”

พระราชกรณียกิจใหม่ๆ ที่ตอบรับกับกาลสมัย จะเป็นเช่นไร การย้อนพินิจถึงบทบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ อาจช่วยชี้แนะเบาะแสของความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่เบื้องหน้าได้บ้าง

จาก ‘จอมราชันย์’ สู่ยุคประชาธิปไตย

ตามจารีตโบราณนั้น ถือว่าสมเด็จพระจักรพรรดิได้รับโองการสวรรค์มาจากสุริยะเทวี นับแต่นั้นเป็นต้นมา ราชบัลลังก์ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2,600 ปีแล้ว โดยมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะจะขึ้นครองราชย์เป็นองค์ที่ 126 ของราชวงศ์

ตลอดช่วงเวลานับพันปี สถานะของพระจักรพรรดิมีการผันแปรไปตามยุคสมัย ตั้งแต่สถานะของนักรบ จอมทัพ จนถึงพระจักรพรรดิราช ผู้เป็นราชาแห่งราชาทั้งปวง

สถานะของพระจักรพรรดิลดลงอย่างมากหลังจากญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1945 แม้รัฐธรรมนูญที่สหรัฐฯ จัดทำยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ตามเดิม ทว่าพระจักรพรรดิก็หมดสิ้นอำนาจทางการเมือง

พระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงแหวกม่านจารีตประเพณีเดิมหลายอย่าง อาทิ ทรงอภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชน และทรงแสดงความเสียใจกับบทบาทของประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกที่ได้รุกรานเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลี

ตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เจ้าชายอากิฮิโตะเพิ่งเจริญพระชนมายุได้ 11 พรรษา พระองค์สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในปี 1989

รัชสมัยของฮิโรฮิโตะเป็นยุคแห่งการทำสงครามรุกรานขยายดินแดนก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะเข้ายึดครองญี่ปุ่นและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งลดสถานะของพระจักรพรรดิจากองค์อธิปัตย์ที่เป็นเสมือนเทพ โดยปราศจากพระราชอำนาจอีกต่อไป

พระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงยอมรับบทบาทใหม่นี้ และเริ่มปรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์จากความสูงส่งเหนืออาณาประชาราษฎร์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับประชาชน

ในปี 1991 ประชาชาติญี่ปุ่นได้สัมผัสกับพระมหากษัตริย์เมื่อพระองค์พับแขนเสื้อ ถอดรองพระบาท นั่งคุกเข่าพูดคุยกับผู้รอดชีวิตในเหตุภูเขาไฟระเบิด ซึ่งเป็นภาพที่เรียกเสียงวิจารณ์จากพวกหัวเก่าอย่างอึงคะนึง ทว่าเรียงเสียงชื่นชมจากคนทั่วไป

Toshifumi KITAMURA / AFP

ภาพเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2011 พระองค์กับพระจักรพรรดินี มิชิโกะ เสด็จฯ เยือนเมืองฟุกุชิมะหลังจากประสบเหตุแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งพวกอนุรักษนิยมพากันตำหนิพระองค์ว่าทำผิดประเพณีดั้งเดิม ซึ่งบทบาทของพระจักรพรรดิก็คือการสวดภาวนา ไม่ใช่การออกไปพบกับประชาชน

นักสังเกตการณ์บอกว่า บทบาทเช่นนี้เป็นความพยายามของพระองค์ที่จะปรับเปลี่ยนสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับยุคประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

คัดค้านความคิด ‘ชาตินิยม’

ความนิยมชมชอบที่ได้รับจากประชาชนเอื้อให้พระจักรพรรดิอากิฮิโตะสามารถแสดงท่าทีได้อย่างสอดคล้องกับกระแสลมของความเปลี่ยนแปลงแม้ว่าทรงหมดบทบาททางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม

ท่าทีที่ทรงแสดงออกอย่างเด่นชัด คือ ทรงคัดค้านแนวความคิดแบบชาตินิยม โดยทรงแสดง “ความโทมนัสอย่างเหลือประมาณ” ต่อการกระทำของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนจีนเมื่อปี 1992 พระองค์ทรงตรัสว่า ญี่ปุ่นได้ “สร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่ประชาชนจีน” และทรงบอกว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่งในเรื่องนี้”

สำหรับกรณีการรุกรานเกาหลีนั้น แม้ไม่เคยเสด็จฯ เยือนเกาหลีใต้ แต่พระองค์ตรัสว่า ทรง “เสียใจเป็นที่สุด” ที่ญี่ปุ่นได้เข้าปกครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงปี 1910-1945 ทั้งยังบอกด้วยว่า ราชวงศ์ของพระองค์อาจมีสายเลือดเกาหลีปะปนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่แหวกขนบของพวกหัวเก่าที่เชื่อในเรื่องสายเลือดบริสุทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่น

สละราชสมบัติ

อากิฮิโตะทรงแหวกม่านประเพณีอีกครั้งในปี 2016 ด้วยการเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกในช่วงเวลานับร้อยปีที่ทรงสละราชบัลลังก์ โดยทรงปรากฏพระองค์ทางโทรทัศน์ ขอให้ประชาชนยอมรับการตัดสินพระทัยของพระองค์ ซึ่งทำให้รัฐบาลและรัฐสภาต้องตราข้อยกเว้นในกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้พระจักรพรรดิครองราชย์จนสิ้นพระชนม์

พระองค์ตรัสว่า ทรงใช้เวลาตลอดรัชสมัยในการค้นหาและพิจารณาถึงบทบาทที่พึงปรารถนาของพระจักรพรรดิ และทรงหวังว่าประชาชนจะเข้าใจ

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยเรวะของพระจักรพรรดินารุฮิโตะ สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นที่คงความต่อเนื่องมานานกว่าสองพันปีจะมีสถานะและบทบาทเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และปีกอนุรักษนิยมจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เป็นโจทย์คำถามสำหรับช่วงเวลาหลายปีข้างหน้า.

อ้างอิง:

The Japan Times, 8 January 2018

The Straits Times, 22 February 2018

AFP via Japan Today, 6 April 2018

 

เครดิตภาพหน้าแรก: HANDOUT / the Imperial Household Agency of / AFP

Tags: , ,