พรุ่งนี้ (20 ก.พ.) ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ…. จะเข้าสู่ที่ประชุมของ สนช. ในวาระสองและวาระสามแล้ว ประเด็นที่สังคมกังวลคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนมากกว่าชาวนา เพราะมีการเขียนว่าให้ตีความได้ว่า ห้ามแจกหรือขายเมล็ดพันธ์ุข้าวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทั้งบุคคลในสนช. รัฐบาล หรือกระทั่งไลน์กลุ่ม ‘ข่าวจริงประเทศไทย’ ต่างพยายามให้ข้อมูลโต้แย้งว่า ความกังวลเรื่องนี้ไม่มีแล้ว เพราะแก้ไขร่าง ตัดมาตราที่เป็นกังวลออกไปแล้ว

สำหรับร่างล่าสุดนั้น เขียนเอาไว้ว่า การค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว จะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีบทลงโทษหากชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแจกหรือจำหน่ายเอง ซึ่งสนช.ชี้แจงว่าทำเช่นนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพของข้าวไทย

คณะกรรมาธิการวิสามัญที่ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มมาตรา 27/1 ที่กำหนดให้กรมการข้าวมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าว แล้วจึงจะสามารถนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งต้องได้รับการรับรองในราชกิจจานุเบกษาก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 27/4 ทั้งนี้มีบทเฉพาะกาลให้พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองแล้วตามมาตรา 27/1

เรื่องนี้ทำให้สังคมเกิดคำถามว่าเป็นการปิดโอกาสการเป็นผู้ประกอบการของชาวนาหรือไม่ ขณะเดียวกันรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัย TDRI ได้ให้ความเห็นว่าว่า ถ้ากฎหมายนี้ออกมาการซื้อขายเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่จะผิดกฎหมายทันที เพราะกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่

นอกจากนี้ยังระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดความชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว

ด้านกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ  คณะกรรมาธิการฯ ออกมาตอบโต้ข้อทักท้วงว่า กรณีที่กลุ่มชาวนาที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ มีการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้แล้วแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในเครือข่ายชาวนาด้วยกันจะไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ นิยามคำว่า ‘จำหน่าย’  หมายความว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ขณะเดียวกัน ตามที่มาตรา 27/4  ของร่าง พ.ร.บ.ข้าวกำหนดว่า จะใช้พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2550 ในการควบคุมและกำกับเมล็ดพันธุ์ข้าว เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โพสต์ข้อสังเกตบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ชาวนาก็อาจมีโทษอยู่ดี เพราะมาตรา 14 ของพ.ร.บ.พันธุ์พืชก็อาจตีความได้ว่า ชาวนาที่รวบรวมและแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวอาจมีความผิดตามมาตรา 14 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ข้าว) และมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่พันบาท (มาตรา 56)

นอกจากนี้ ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังคัดค้านการออกกฎหมายฉบับนี้ของสนช. เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาอย่างแท้จริง และขอให้ สนช.ยกเลิกการพิจารณา และให้สภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ

อ่านร่างพ.ร.บ. ข้าวได้ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext84/84716_0001.PDF

 

ที่มา:

Tags: , , ,