คงมีคนทำงานประจำจำนวนหนึ่งที่อยากวางมือจากภาระการทำงานที่อยู่ตรงหน้า เพื่อใช้เวลาที่เหลือในชีวิตทำสิ่งอื่นที่ตนคิดว่าอยากทำมากกว่า ซึ่งบางคนอาจทำได้เร็ว บางคนอาจทำได้ช้า และบางคนอาจทำไม่ได้เลย

ไม่ว่าจะยังอยากทำงานต่อไป หรือไม่อยากทำงานแล้วก็ตาม เมื่อทำงานไปถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต คนที่ทำงานประจำต่างก็รู้ดีว่า  “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การทำงานย่อมมีวันสิ้นสุด” นั่นคือต้องมีการเกษียณอายุจากการทำงานนั่นเอง ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ข้าราชการจะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี ในส่วนของภาคเอกชนนั้น บางบริษัทกำหนดนโยบายการเกษียณอายุไว้ที่ 55 ปี บางบริษัทกำหนดไว้ที่ 60 ปี

หากเป็นคนที่มีความสุขกับการทำงาน การทำงานจนถึงอายุ 60 แล้วต้องเกษียณอาจมองว่าเร็วไป ตนเองยังทำอะไรได้อีก ส่วนหนึ่งได้รับรับข้อเสนอต่ออายุการทำงาน หรือบางคนอาจทำงานต่อแบบไม่เต็มเวลา แต่สำหรับคนที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงานอาจมองว่าการทำงานไปจนถึงอายุ 55 หรือ 60 ปี ย่อมเป็นภาระที่น่าเหนื่อยหน่าย และปิดโอกาสการใช้ชีวิตในบางด้านก็เป็นได้

. . . . . แล้วในต่างประเทศเขาเกษียณตอนอายุเท่าไรกัน

การเก็บข้อมูลอายุเกษียณของแต่ละประเทศเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นอาจมีอายุเกษียณไม่เท่ากันในต่างกลุ่มอาชีพ และในบางประเทศยังมีความแตกต่างกันในอายุเกษียณของคนทำงานเพศหญิงและเพศชาย

แต่ข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลายแหล่ง พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้มีอายุเกษียณอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณช่วงอายุ 62-65 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอายุเกษียณของคนทำงานไทยจะพบว่า คนที่เกษียณตั้งแต่อายุ 55 จะเป็นการเกษียณที่เร็วมาก เมื่อเทียบกับคนทำงานชาติอื่นๆ และแม้ว่าจะทำงานในหน่วยงานที่เกษียณอายุที่ 60 ปี ก็ยังถือว่าเกษียณเร็วกว่าอีกหลายๆ ประเทศในโลกนี้ และหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ (ที่ส่วนใหญ่เป็นสีส้มหรือสีแดงเลือดหมู) จะเห็นได้เลยว่า คนทำงานในประเทศไทยมีการเกษียณอายุจากการทำงานที่เร็วกว่ามาก

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้มีอายุเกษียณอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณช่วงอายุ 62-65 ปี

แต่ถ้าลองเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ก็อาจจะพอกล่าวได้ว่าอายุเกษียณของคนทำงานในประเทศไทย (ยึดตัวเลขที่ 60 ปี) ไม่ได้ต่างจากเพื่อนบ้านมากนัก กล่าวคือไล่เลี่ยกับมาเลเซียและฟิลิปินส์ และยังสูงกว่าอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับประเทศที่กำหนดอายุเกษียณน้อยที่สุดจากกลุ่มข้อมูลชุดนี้คือประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตหรือ UAE ที่มีการกำหนดอายุเกษียณอย่างเป็นทางการไว้ที่ 49 ปี (แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติไปทำงานที่ UAE อายุเกษียณคือ 60 ปี) อีกประเทศหนึ่งที่มีอายุเกษียณน้อยคือประเทศจีน แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ แต่จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า อายุเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 56.25 ปี

ในทางตรงกันข้าม จากกลุ่มข้อมูลชุดเดียวกันนี้ ประเทศที่มีอายุเกษียณช้าที่สุดคือประเทศนอร์เวย์ที่ 67 ปี และเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ล้วนแต่กำหนดอายุเกษียณอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น ซึ่งฟินแลนด์กำหนดไว้ที่ 65 ปี ส่วนสวีเดนกำหนดไว้ที่ 64 ปี เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มีแนวโน้มว่าจำกำหนดอายุเกษียณอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เช่น ที่อเมริกา มีอายุเกษียณอยู่ที่ 66 ปี ส่วนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอย่างเยอรมันและฝรั่งเศสมีอายุเกษียณอยู่ที่ 65 ปี ส่วนส่วนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็มีอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มีแนวโน้มว่าจำกำหนดอายุเกษียณอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เมื่อคนทำงานเกษียณไปแล้ว แต่ละประเทศมีสวัสดิการบำนาญ ให้กับเหล่าผู้เกษียณอย่างไร

 จากการวิเคราะห์ โดยใช้ฐานข้อมูลของฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) แม้ว่าจะไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ครอบคลุมทุกประเทศในโลก แต่ก็สามารถประมาณการประเทศที่มีสวัสดิการเงินบำนาญสูงสุดได้ดังนี้ (จากระบบบำนาญเฉพาะภาคบังคับ ไม่รวมส่วนอื่นๆ)

 ประเทศประมาณการเงินบำนาญหลังเกษียณรายเดือน (บาท)
1เนเธอร์แลนด์136,520.47
2ลักเซมเบิร์ก128,111.50
3เดนมาร์ก121,144.32
4ไอซ์แลนด์103,010.56
5ออสเตรีย100,968.75
6อิตาลี78,439.75
7สเปน71,978.02
8ฝรั่งเศส69,360.43
9สวิตเซอร์แลนด์67,499.21
10นอร์เวย์64,514.65

จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงนั้น สามารถบริหารจัดการให้มีการจ่ายบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุในประเทศได้เป็นอย่างดีพอสมควร แต่เมื่อมองปัจจัยด้านอื่นประกอบกันก็จะเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีการกำหนดอายุเกษียณจากการทำงานในระดับสูงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ที่มีเงินบำนาญหลังเกษียณรายเดือนสูงที่สุดที่ประมาณ 136,520 บาท ก็มีการกำหนดอายุเกษียณจากการทำงานไว้ถึง 65 ปีเป็นต้น

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยที่มีการเกษียณอายุจากการทำงานค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะในบางเอกชนจำนวนไม่น้อย ที่กำหนดไว้ที่ 55 ปี และเมื่อพิจารณาประกอบกับระบบบำนาญของไทย (เช่นกองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ที่อาจไม่ได้มีความครอบคลุมมากพอ ตลอดจนเม็ดเงินก็ไม่ได้มากมายนัก จะเป็นแหล่งพึ่งพิงยามเกษียณได้มากเพียงใด

เมื่อต้องกลับมาตอบคำถามที่ว่าทำงานประเทศไหนถึงได้เกษียณเร็ว ประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มนั้น แต่ถ้าถามว่าทำงานประเทศไหนถึงได้เกษียณรวย การทำงานประจำในประเทศไทยอาจไม่ใช่คำตอบของคนส่วนใหญ่

 

 

(อ้างอิงข้อมูลจาก https://aperioncare.com , http://data.worldbank.org/, http://ec.europa.eu, https://www.thelocal.no/, http://gpssa.gov.ae/, http://www.thenational.ae. http://www.japantimes.co.jp, http://www.economywatch.com/, http://www.etk.fi, https://www.theguardian.com/, https://www.ssa.gov/, http://www.nationsencyclopedia.com/, http://www.independent.co.uk/, http://www.npr.org/, http://gpssa.gov.ae/, http://www.thearabweekly.com/, https://www.iesingapore.gov.sg/, http://gulfnews.com/, https://www.oecd.org/, https://www.shrm.org/, http://www.cepal.org/, http://www.humanosphere.org/ )

Tags: , , ,