วันนี้ (26 กรกฎาคม 2567) ในงานเสวนา ‘หายนะสิ่งแวดล้อมกรณีปลาหมอคางดำ’ ณ ห้องประชุม Jasper 1 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มีการเปิดเผยภาพที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยระบุว่า เป็นภาพที่ได้รับจากอดีตพนักงานภายในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งหนึ่งที่ถ่ายไว้ระหว่างปี 2553-2560
เลขาธิการมูลนิธิฯ โชว์ภาพบ่อดินภายในศูนย์วิจัยพร้อมกับระบุว่า เป็นภาพระหว่างปี 2553-2560 ที่พบภายในฟาร์มเพาะเลี้ยงของศูนย์วิจัยฯ โดย ‘คนใน’ ซึ่งเป็นอดีตพนักงานบอกกับมูลนิธิชีววิถีว่า “ไม่ต้องไปขุดหาปลาหมอคางดำหรอก เพราะปลาที่นำมาไม่ได้ตายแบบที่เป็นข่าว”
ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของอดีตพนักงานมีใจความว่า ต้นทางของปลาหมอคางดำที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจนมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผสมพันธุ์ต่ออีกหลายรุ่น พร้อมกับมีการเคาะไข่นำไปฟักตัวในทุกสัปดาห์ เป็นการเลี้ยงแบบต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำร่วมกับปลานิลในบ่อเลี้ยงเดียวกัน หรือที่เรียกว่า การเลี้ยงแบบไฮบริดผสมสายพันธ์ุ รวมทั้งเพาะเลี้ยงปลาเก๋าหยกและปลาจะละเม็ดครีบสั้นร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำจึงไม่ได้ ‘ตาย’ หมดทั้งรุ่นในปี 2553 และถูกฝังกลบอย่างที่มีการให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้
อดีตคนในระบุกับมูลนิธิชีววิถีว่า เป็นระบบน้ำระบบปิด มีทั้งบ่อน้ำดีและบ่อน้ำเสีย โดยน้ำเสียจะถูกนำไปบำบัดยังบ่อขนาดใหญ่ และนำน้ำซึ่งผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเลขาธิการมูลนิธิชีววิถีตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยเหตุนี้โอกาสที่ปลาภายในศูนย์วิจัยจะหลุดไปยังคลองธรรมชาติทั้งคลองหลวง คลองบางยาว และคลองดอนจั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้น คือการล้างบ่อเก็บน้ำและบ่อบำบัดน้ำ ที่ต้องใช้วิธีการสูบน้ำภายในฟาร์มออกไปยังนอกฟาร์ม
วิฑูรย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการโยนเกมกันไปมาระหว่างกรมประมงกับบริษัทเอกชน เรื่องการส่งตัวอย่างชิ้นส่วนของปลาหมอสีคางดำนั้น หากว่าไม่มีการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการระบาดของสัตว์น้ำชนิดรุกรานนี้ บริษัทเอกชนคงเงียบหาย ไร้คำชี้แจงว่าได้นำส่งตัวอย่างครีบปลาให้กรมประมงไปก่อนหน้า ทว่าคำชี้แจงนั้นยังคงลอยลมไร้หลักฐานว่า ส่งตัวอย่างจริงหรือไม่
นอกจากภาพซึ่งถูกระบุว่า เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ได้รับจากคนในอดีตพนักงานแล้ว วิฑูรย์ยังพบความไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลจากบริษัทผู้นำเข้าอย่าง CPF ซึ่งให้ข้อมูลไม่ตรง เป็นต้นว่า CPF ระบุว่า หลังจากปลาหมอสีคางดำเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถูกบรรจุ ลงในกล่องโฟม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถีระบุว่า ปลาหมอคางดำถูกบรรจุถุงพลาสติก อีกทั้งข้อมูลที่ระบุว่า ปลาหมอสีคางดำถูกเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ ตามข้อมูลของสำนักข่าวไทยพีบีเอสระบุว่า ภายในศูนย์วิจัยของ CPF มีการเลี้ยงปลาในบ่อดิน
สำหรับข้อมูลที่ถูกนำมาเปิดเผยภายในห้องเสวนาในวันนี้ มูลนิธิชีววิถีพร้อมเครือข่ายนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะนำไปประกอบเป็นหลักฐาน เพื่อใช้กระบวนการทางกฎหมายในการหาตัวผู้รับผิดชอบ กับวิกฤตการณ์ระบาดของปลาหมอสีคางดำในครั้งนี้
“จากหลักฐานทั้งหมดที่เราเห็น 4-5 หลักฐาน และภาพเหล่านี้ ไบโอไทยไม่ได้มีเจตนาอื่น นอกจากเห็นว่า การจัดการกับตัวการระบาดของปลาหมอคางดำ คุณจะจัดการเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่คุณไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบในปัญหานี้และทำผิดซ้ำ เราจะมีวิกฤตซ้ำที่ใหญ่กว่านี้” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถีระบุ