ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ลงนามในกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม (Fake news) ซึ่งผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ทำให้สื่อสำนักดังจำนวนมาก อาทิ CNN และ The New York Times ต้องระงับการรายงานข่าวสถานการณ์ในรัสเซีย และเรียกนักข่าวกลับเพื่อความปลอดภัย

แต่ไม่ใช่กับ เยฟเจเนีย อัลบัตส์ (Yevgenia Albats) นักข่าวสืบสวน นักเขียน บรรณาธิการบริหาร และซีอีโอของ The New Times สื่ออิสระของรัสเซีย ที่ยังคงรายงานข่าวในประเทศบ้านเกิดของเธออย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า ไม่กลัวต่อการปราบปรามของรัฐบาลเครมลิน

“ฉันไม่ใช่ผู้พลีชีพใดๆ แต่ฉันแค่รู้สึกว่าต้องมีคนทำสิ่งนี้” อัลบัตส์กล่าวกับ CNN และเสริมว่า นักข่าวที่มีชื่อเสียงจำนวนกว่า 160 คน ได้ออกจากรัสเซียไปแล้ว

สภานิติบัญญัติรัสเซียได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้การเผยแพร่ข่าวปลอมมีโทษปรับหรือจำคุก เนื่องจากทางการรัสเซียมองว่า อริสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติตะวันตก ได้พยายามร่วมมือกันเผยแพร่ข่าวลวง เพื่อสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บค่าปรับจากบุคคลที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรรัสเซียฐานบุกยูเครนด้วย

นอกจากการรายงานข่าว อัลบัตส์ยังทำการโพสต์บนช่องยูทูบของเธอ ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมาย ‘ข่าวปลอม’ ฉบับใหม่ และถูกจับกุม อย่างไรก็ดี เธอเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ และกล่าวว่า ต้องรายงานข่าวด้วยความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการติดคุก โดยเธอเชื่อว่ามัน ‘สายเกินไป’ ที่เธอจะกลัว เพราะเธอได้เผยแพร่ความคิดเห็นต่อสาธารณะแล้ว ทั้งหนังสือ บทความ รวมถึงในนิตยสาร ทำให้เธอกลายเป็นนักข่าวที่รัฐบาลเครมลินจับตามองอย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงเคียฟ โพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เบรนต์ เรโนด์ (Brent Renaud) นักข่าวชาวอเมริกันที่เคยได้รับรางวัลด้านสื่อ ถูกกองกำลังรัสเซียสังหารด้วยการยิงในเมืองเออร์พินของยูเครน โดยถือเป็นรายงานนักข่าวต่างชาติเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในสงครามนี้

“พวกเขาสามารถฆ่าฉันเมื่อไรก็ได้ ไม่มีใครบอกกับฉันว่า ฉันจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปนี่นา” อัลบัตส์กล่าว แต่มากกว่าความกลัวของการถูกจับกุมหรือสังหาร อัลบัตส์ซึ่งบิดาของเธอเคยเป็นสมาชิกทีมลาดตระเวนทางทหาร GRU ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาศัยอยู่ในยูเครนที่โดนเยอรมนียึดครอง ระบุว่า เธอรู้สึกละอายใจกับประเทศของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอมีโอกาสไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนหลายครั้ง ในช่วงที่เติบโตขึ้นมา

“ฉันละอายใจที่ภาษีของฉันกลายเป็นระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนในยูเครน ฉันอยากจะคุกเข่าแล้วพูดว่า ขอโทษที่ประเทศของฉันทำอย่างนี้กับพวกคุณ” อัลบัตส์กล่าว

สถานการณ์ล่าสุดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงร้อนระอุ โดยเมื่อวานนี้ (13 มีนาคม 2565) นอกจากจะมีรายงานการเสียชีวิตของนักข่าว เบรนต์ เรโนด์ กองทัพรัสเซียยังทำการยิงขีปนาวุธ 30 ลูก โจมตีศูนย์ฝึกทหารใกล้กับโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ นาโต้ ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคยิ่งทวีเพิ่มขึ้น

Tags: , , ,