16 ตุลาคม 2022 จะเป็นหลักไมล์ครั้งสำคัญของจีน เมื่อถึงเวลาประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และต้องเลือกประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ให้เป็นผู้นำต่ออีก 1 สมัย เป็นสมัยที่ 3 ซึ่งหากอยู่ได้ครบเทอม สี จิ้นผิง จะเป็นผู้นำสูงสุดอีกอย่างน้อย 5 ปี รวมเป็นนานกว่า 15 ปี และอาจทำให้ สี จิ้นผิง เป็นผู้นำสูงสุดได้ตลอดชีวิต

จีนภายใต้ประธานาธิบดีสีเป็นจีนในรูปแบบใหม่ ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความ ‘ทะเยอทะยาน’ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและในทางการเมือง ไม่ว่าจะการดันจีนให้ขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก การผลักดันโครงการ ‘Belt and Road Initiative’ ที่จีนมุ่งสร้างเส้นทางการค้าเข้ากับภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งผ่านการค้าขายหรือการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมเทคฯ ให้มีบทบาทสำคัญ ขนาดของเศรษฐกิจจึงใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนภายใต้สี จิ้นผิง ก็เต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อันย่ำแย่กับระหว่างจีน-สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรตะวันตก, ข้อพิพาทกับเกาะไต้หวัน, ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้, การจัดการกับประเด็นอ่อนไหวใน ‘ฮ่องกง’ และประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อย หรือแม้กระทั่งประเด็นทางเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งเปราะบางมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นจุดแข็งของจีนมาโดยตลอด

เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของจีนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งความท้าทายในยุคปัจจุบัน The Momentum ชวน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ รีวิว 10 ปีของสี จิ้นผิง และอนาคตต่อไป ในวันที่ปัญหาในจีนเริ่มซับซ้อนและเริ่มมีข่าวการ ‘พลิกขั้ว’ ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนแพร่งพรายมาอย่างจางๆ

ดร.อาร์มเริ่มอธิบายภาพรวมของจีนภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า ทุกวันนี้แตกต่างจากช่วงก่อนปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่สี จิ้นผิง เข้าสู่อำนาจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของเศรษฐกิจ ความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์กับตะวันตก

“ทิศทางการบริหารประเทศเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร แต่ก่อนมีลักษณะการกระจายอำนาจสูงกว่า เน้นเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลัก คบค้ากับต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ และประเทศฝั่งตะวันตก แต่ตอนนี้มีการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น เศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญเท่ากับความมั่นคงของชาติ มีความเป็นชาตินิยมสูงขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงกับต่างประเทศก็ลดต่ำลง”

สำหรับความคิดเห็นของประชาชน ดร.อาร์มระบุว่า ปัจจุบันมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่เน้นความมั่นคงของชาติมากกว่าเศรษฐกิจเช่นนี้

“ประชาชนจะตีความว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติทางการเมืองของแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่สองฝ่าย คือเสรีนิยมที่มองว่าทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ ขณะที่อนุรักษนิยมอาจมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ความท้าทายยุคใหม่ของจีน ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้กระทั่งความท้าทายเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และตะวันตก”

ด้านนิยามของของฝักฝ่ายทางการเมือง ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาขยายความเพิ่มเติมว่า

1. ฝ่ายเสรีนิยมในจีน คือกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ เน้นกลไกตลาด ไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจ พวกเขามองว่ารัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจมาก ควรให้เอกชนเป็นผู้นำการขับเคลื่อนแทน และควรมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น

2. ฝ่ายอนุรักษนิยม คือกลุ่มคนที่มองว่าต้องให้อำนาจการบริหารประเทศกับพรรคคอมมิวนิสต์แบบเบ็ดเสร็จ รัฐต้องเข้าไปควบคุมแทรกแซงเศรษฐกิจให้บรรลุจุดประสงค์ด้านการพัฒนาประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้าไปอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม และจีนไม่ควรพึ่งพิงสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตกสูงเกินไป เนื่องจากอาจสร้างภัยด้านความมั่นคง หากในอนาคตเกิดสงครามและตะวันตกคว่ำบาตรจีน

“โดยสรุป เราอาจเปรียบเทียบคนทั้งสองกลุ่มว่าเป็นความแตกต่างระหว่างฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงเป็นอันดับแรก กับฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก หรือบางคนก็มองว่าเป็นความต่างระหว่างฝ่ายยุทธศาสตร์กับฝ่ายเทคโนแครตก็ได้”

ดร.อาร์มชี้ให้เห็นภาพรวมภายในประเทศว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจเป็นประชาชนรากหญ้าจำนวนมากของจีน รวมทั้งวิธีการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์ก็โน้มเอียงไปตามแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวด้วย

“5 ปีที่ผ่านมา จีนเน้นนโยบายแบบอนุรักษนิยม เน้นนโยบายยุทธศาสตร์ เน้นความมั่นคงมาก่อนเศรษฐกิจ จะเห็นตามข่าวว่าจีนจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกงอย่างเด็ดขาด ใช้นโยบาย Zero-Covid อย่างเข้มข้น อีกทั้งยังจัดระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างเอาจริงเอาจังด้วย

“คนภายนอกจีนอาจจะมองว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลน่าจะมีปัญหา ซึ่งแน่นอนว่ากระแสความไม่พอใจผลงานของรัฐบาลในสังคมจีนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) หรือนโยบายเน้นความมั่นคงของชาติเป็นหลัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทิศทางการบริหารประเทศดังกล่าวก็ได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนไม่น้อยในจีนเช่นเดียวกัน คนจีนจำนวนหนึ่งรับข้อมูลว่าที่อเมริกามีคนเสียชีวิตจากโควิด-19 ประมาณ 1 ล้านคน ในขณะที่จีนมีเพียงหลักพันเท่านั้น

“หรือในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจจีนตอนนี้ไม่ดีเป็นเพราะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของจีน แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ ที่เข้ามารังแก ทั้งหมดยิ่งซ้ำเติมแนวคิดชาตินิยมของคนบางกลุ่มที่ว่า เราจะต้องสามัคคีกันภายใต้ผู้นำที่แข็งแกร่ง เราจะต้องเชื่อมั่นรัฐบาลเพื่อให้ก้าวผ่านยุคสมัยที่ยากลำบากนี้ไปได้ เหตุผลของความยากลำบากล้วนเกิดขึ้นมาจากต่างชาติทั้งสิ้น

“ก่อนหน้านี้ นักวิชาการตะวันตกอาจมองว่ายุคเทคโนโลยีและยุคข้อมูลจะเข้ามาส่งเสริมแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยในจีนมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือเทคโนโลยียุคใหม่ก็ส่งเสริมแนวคิดแบบอนุรักษนิยมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบประเมินพฤติกรรมประชาชน (Social Credit) การพัฒนาเมืองให้เป็นรัฐสอดแนม (Surveillance State) หรือระบบวางแผนเศรษฐกิจโดยมีรัฐเป็นตัวนำ หรือใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งหมดทำได้ง่ายกว่าในอดีตเพราะรัฐมีข้อมูลจำนวนมาก”

แต่ทิศทางการบริหารประเทศที่เน้นยุทธศาสตร์มากกว่าเศรษฐกิจของจีน ก็ทำให้ชนชั้นกลางและคนมีการศึกษาในจีนไม่น้อยรู้สึกกังวลกับทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของสี จิ้นผิง สร้างความกังวลเกี่ยวกับการเมืองจีนต่อจากนี้

“เมื่อห้าปีที่แล้วเขาได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้มหลาม ไม่ว่าจะด้วยนโยบายปราบคอร์รัปชันตามที่กล่าวไป การบริหารเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี การเป็นผู้นำที่เด็ดขาด และมีเสน่ห์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำรุ่นก่อน ทว่าในปัจจุบัน ความนิยมของเขาลดลงจากเมื่อห้าปีก่อน

“ทั้งจากเรื่องเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ประเด็นที่สี จิ้นผิง ไปจับมือกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือมาตรการล็อกดาวน์เคร่งครัดในเรื่องโควิด-19 ทั้งหมดทำให้คะแนนนิยมของเขาลดต่ำลง

“อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจเขา แต่ไม่มีทางที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะออกมายึดอำนาจและโค่นสี จิ้นผิง ลงได้อย่างแน่นอนในเวลานี้ ด้วยนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันทำให้สี จิ้นผิงสามารถรวบอำนาจและกำจัดศัตรูทางการเมือง

“การรัฐประหารแบบที่หลายคนเข้าใจไม่เกิดขึ้นในจีนแน่นอน ถ้าจะเกิดการรัฐประหารคงไม่ใช่รัฐประหารอย่างที่คนบางกลุ่มเข้าใจ ที่ว่าอยู่ๆ ก็มีทหารไปล้อมบ้านสี จิ้นผิง ถ้าจะเกิดจริงๆ ผมมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากถึงไม่มีเลย ในจีนนั้นทหารอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์”

ในประเด็นเรื่องความท้าทายที่สี จิ้นผิง ต้องประสบ ดร.อาร์มระบุว่ามีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือการบริหารเศรษฐกิจในประเทศ​ สงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ รวมทั้งข้อพิพาทกับเกาะไต้หวัน

“ทั้งสามเรื่องเป็นประเด็นที่สี จิ้นผิง ต้องบริหารให้ดี หากตัดสินใจผิดแม้แต่นิดเดียว อาจทำให้เกิดวิกฤตใหญ่ได้ และความผิดพลาดในการบริหารนั้นอาจไปสร้างปัญหาอื่นอีกเป็นโดมิโน”

ท้ายที่สุด สำหรับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2022 ที่จะถึงนี้ ดร.อาร์มกล่าวว่ามีหัวข้อที่น่าติดตามอยู่ 6 ประเด็น

1. องค์ประกอบของคณะกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ – จะเต็มไปด้วยคณะทำงานที่ใกล้ชิดสี จิ้นผิง ทั้งหมดหรือไม่ หรือจะมีการถ่วงดุลกับขั้วการเมืองอื่น จะเป็นตัวสะท้อนว่าเขาสามารถรวบอำนาจได้เบ็ดเสร็จมากน้อยเพียงใด

2. ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป – วาระของ หลี่ เค่อเฉียง (Li Ke Chiang) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกำลังจะหมดลง ดังนั้นควรติดตามว่าใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไป จะเป็นคนของสี จิ้นผิง อีกหรือไม่

3. ว่าที่ผู้สืบทอดอำนาจ – หากมีผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสี จิ้นผิง ก็หมายความว่าเขาต้องการอยู่ในอำนาจเพียง 3 วาระเท่านั้น แต่หากไม่มี ก็หมายความว่าเขาไม่ต้องการให้ใครท้าทายอำนาจเลย

4. ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ – ควรสังเกตว่าจีนจะมีนโยบายเน้นความมั่นคงของชาติต่อไปแบบเดิม หรือหันกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น

5. นโยบายการจัดการโควิด-19 – ควรติดตามว่ารัฐบาลจะยังยืนหยัดใช้วิธีนี้ต่อไปหรือไม่

6. ข้อพิพาทกับเกาะไต้หวัน – ควรติดตามท่าทีและทิศทางที่จีนมีต่อเกาะไต้หวันในอนาคตจะมีแนวโน้มเป็นเช่นไร

Tags: , , ,