เมื่อกล่าวถึง ‘เสรีภาพในการเดินทาง’ หลายคนคงนึกไม่ถึงคำจำกัดความดังกล่าว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เราคุ้นชินกับการออกไปข้างนอก ใช้เวลาพักผ่อนด้วยการเตร็ดเตร่ หรือแม้แต่เดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือถูกพันธนาการไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

แต่สำหรับผู้หญิงบางคนในภูมิภาคตะวันออกกลาง เสรีภาพในการเดินทางแทบจะเป็นเรื่องห่างไกลตัวสำหรับพวกเธอ เมื่อ 15 ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ มีนโยบาย ‘ผู้คุ้มครอง’ (Male Guardianship) โดยผู้หญิง ‘ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชาย’ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ สามี หรือญาติ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัว การเลือกคู่ครอง การทำงาน การเข้าถึงบริการสาธารณะ รวมถึงการเดินทางไปไหนก็ตาม จึงส่งผลให้ผู้หญิงอาจถูกกักขัง บังคับให้อยู่บ้าน หากผู้ชายรายงานว่าพวกเธอออกจากบ้านโดยพลการ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ซาอุดีอาระเบียมีบทลงโทษทางกฎหมายที่ระบุว่า หากภรรยาไม่ยินยอมอาศัยในบ้านของสามี เธอจะสูญเสียการสนับสนุนทางการเงินจากคู่สมรสโดยไม่สามารถโต้แย้งทางกฎหมายได้ นอกจากนี้ นักโทษหญิงในซาอุดีอาระเบียจะไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัว หากไม่มีความเห็นชอบจากผู้ชายอีกด้วย 

มีข้อถกเถียงมากมายว่า นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร แต่ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch: HRW) อธิบายว่า เป็นความเชื่อของแต่ละท้องที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพราะยังปรากฏเนื้อหากฎหมายที่คล้ายกันในแอฟริกาเหนือ รวมถึงกฎหมายเก่าแก่ของยุโรปในโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตย

เช่นเดียวกับกรณีประเทศในตะวันออกกลาง มุซาวาห์ (Musawah) กลุ่มมุสลิมที่ต่อสู้ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของศาสนาอธิบายไว้ว่า นโยบายผู้คุ้มครองไม่มีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์อัลกุรอานโดยตรง แต่ข้อปฏิบัตินี้เกิดจาก 2 แนวคิดทางกฎหมาย ซึ่งถูกตีความจากคัมภีร์ในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ ได้แก่ กิวามะห์ (Qiwamah) หรือแนวคิดผู้ชายต้องปกป้องผู้หญิง และผู้หญิงต้องเชื่อฟังผู้ชาย ขณะที่ วิลายะห์ (Wilayah) คือสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกผู้ชายในครอบครัวที่ต้องทำหน้าที่ปกครองคนในบ้าน (รวมถึงผู้หญิง)

เดอะการ์เดียน (The Guardian) เปิดเผยสถานการณ์การใช้นโยบายคุ้มครองในปัจจุบันผ่านประเทศจอร์แดน เพราะอายา (Aya) (นามสมมติ) ผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะอายุ 30 ปี ถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านที่ตั้งอยู่ในกรุงอัมมาน (Amman) 

อายาไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการเลือกที่อยู่อาศัย เลือกอาชีพการทำงาน สถานศึกษา หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในเรื่องง่ายๆ สำหรับหลายคน เช่น การออกจากบ้านไปกินอาหารกลางวันกับเพื่อน

“ฉันคือนักโทษที่ถูกขังอยู่ในบ้าน ถ้าฉันออกไปข้างนอกโดยที่ครอบครัวไม่รู้ พวกเขาจะขังฉันไว้ในห้องและทุบตีอย่างหนัก จนฉันรู้สึกเจ็บปวดไปหลายเดือน ฉันถูกคุกคามด้วยความตาย มีผู้หญิงมากมายต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับฉัน” อายาอธิบายสภาพชีวิตของเธอ 

เช่นเดียวกับ ลินา (Lina) (นามสมมติ) ผู้หญิงอายุ 24 ปี ในกรุงอัมมาน เธอมีรายได้สูงสุดในครอบครัวถึง 2,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 82,255 บาท) แต่พ่อของเธอไม่อนุญาตให้ออกนอกบ้าน ลินาจึงต้องทำงานจากที่บ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“ฉันไม่คิดว่าตนเองมีทักษะการเข้าสังคมที่ดี เพราะฉันไม่สามารถไปข้างนอก สังสรรค์เหมือนพี่น้องที่เป็นผู้ชาย” เธอกล่าว ไม่เพียงแต่ทักษะการเข้าสังคมต่ำ สถานการณ์นี้ส่งผลให้ลินา ‘ไม่รู้จักวิธีการใช้เงิน’ เพราะเธออุดอู้อยู่แต่ในบ้าน อีกทั้งยังปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งงาน โดยมองว่า ตนเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ

“ผู้คนมากมายพยายามบอกคุณว่า นโยบายนี้ไม่มีอยู่ในจอร์แดน พวกเขาจะบอกว่า ดูสิ มีผู้หญิงมากมายในสาธารณะ ใช้ชีวิตตามปกติ แต่คุณไม่เห็นผู้หญิงที่ถูกขังอยู่ในบ้านต่างหาก

“ถ้าฉันแต่งงาน ฉันจะออกจากจอร์แดน แล้วหย่าซะ ครอบครัวของฉันจะไม่มีวันรู้เรื่องนี้ และฉันจะเป็นอิสระ” ลินาให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนถึงแผนในอนาคตของเธอ 

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์อื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อการใช้นโยบายผู้คุ้มครองรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ประสบความขัดแย้ง เช่น บางพื้นที่ของซีเรีย ผู้หญิงต้องมีมะห์ราม (Mahram) คือสามีหรือญาติคนสนิทไปไหนมาไหนด้วย ขณะที่กลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ในเยเมน ก็บังคับให้ผู้หญิงต้องเดินทางกับมะห์รามมากขึ้น หรืออย่างน้อยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย 

 “ทางการในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กำลังบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ตั้งแต่การออกจากบ้านไปจนถึงการออกนอกประเทศ

“ผู้หญิงในภูมิภาคนี้กำลังต่อสู้กับข้อจำกัดที่ทางการสร้างขึ้น โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องพวกเรา แต่ในความเป็นจริง นโยบายนี้จำกัดสิทธิของผู้หญิง และเปิดช่องให้ผู้ชายควบคุมและข่มเหงเธอตามความต้องการ” รอทนา เบกัม (Rothna Begum) นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิสตรีของฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าว และเรียกร้องให้ยุติกฎหมายนี้ 

ความร้ายแรงของนโยบายดังกล่าวไม่ได้ยุติเพียงแค่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงถูกตราหน้าว่าเป็นภาระของฝ่ายชาย เพราะพวกเธอไม่สามารถหารายได้ และมีข้อจำกัดในการเลี้ยงชีพตนเองจากนโยบายดังกล่าว

 

อ้างอิง

https://www.amnesty.org/en/latest/research/2022/12/saudi-arabia-codifies-male-guardianship-and-gender-discrimination/

https://www.theguardian.com/global-development/2023/jul/18/i-am-a-prisoner-women-fight-middle-eastern-laws-that-keep-them-trapped-at-home

https://www.hrw.org/news/2023/07/18/middle-east-and-north-africa-end-curbs-womens-mobility

https://www.musawah.org/wp-content/uploads/2018/11/MusawahVisionFortheFamily_En.pdf

https://www.hrw.org/news/2021/03/29/qatar-male-guardianship-severely-curtails-womens-rights

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,