วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายตอนหนึ่งถึงพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ของนายกฯ มูลค่ากว่า 218.7 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note: P/N) เพื่อเปลี่ยนการให้หุ้นบริษัทต่างๆ จากบุคคลในครอบครัว มาเป็นการซื้อหุ้นแทน

วิโรจน์เกริ่นว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 มีการบังคับใช้กฎหมายประมวลรัษฎากรในเรื่องของ ‘ภาษีรับให้’ โดยกำหนดว่า เงินที่ได้รับจากการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท และเงินที่ได้รับจากการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หาจากบุคคลที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามภายหลังที่แพทองธารได้รับการโปรดเกล้าฯ มีการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) โดยพบว่า แพทองธารเป็นลูกหนี้อยู่ 9 รายการ มูลค่ารวมกว่า 4,434 ล้านบาท แต่กลับแนบเอกสารมาเพียง 9 แผ่น จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ไม่ใช่สัญญาเงินกู้ แต่เป็นตั๋ว P/N แบ่งเป็นมอบให้พี่สาวจำนวน 4 ฉบับ รวมมูลค่า 2,388.7 ล้านบาท, พี่ชายจำนวน 1 ฉบับ มูลค่า 335.4 ล้านบาท, ลุงจำนวน 2 ฉบับ รวมมูลค่า 1,315.5 ล้านบาท, ป้าสะใภ้จำนวน 1 ฉบับ มูลค่า 258.4 ล้านบาท และแม่จำนวน 1 ฉบับ มูลค่า 136.5 ล้านบาท

สส.พรรคประชาชนยกรายงานจากสำนักข่าวอิศราที่ให้ข้อมูลว่า ตั๋ว P/N ทั้ง 9 ฉบับนั้นเป็นสัญญาการใช้เงินที่มีเงื่อนไขพิเศษ คือเป็นหนี้สินที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการชำระ การชำระเงินค่าซื้อหุ้นจะเกิดขึ้นเมื่อทวงถาม อีกทั้งยังไม่มีดอกเบี้ยกำหนดไว้

“ถ้าตั๋ว P/N ทั้ง 9 ใบมีรายละเอียดตามที่ว่า ก็แสดงว่าการซื้อหุ้นของแพทองธาร จากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ในครั้งนี้ต้องสงสัยว่า มีการใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือในการทำนิติกรรมอำพราง ทำธุรกรรมการซื้อปลอม ตบตาการได้หุ้นจากการให้เป็นการซื้อหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เป็นพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม เม้มผลประโยชน์ของชาติ บ่อนทำลายการพัฒนาประเทศ”

วิโรจน์ยังอธิบายความแตกต่างระหว่าง ‘การได้หุ้นจากการให้’ กับ ‘การซื้อหุ้น’ โดยกล่าวว่า หากแพทองธารได้หุ้นจะต้องเสีย ‘ภาษีการรับให้’ แก่รัฐ แต่ถ้าเป็นการซื้อหุ้นจะไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐแม้แต่สตางค์เดียว ประกอบกับหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งรายได้จะถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมินก็ต่อเมื่อมีการรับเงินสดจริง ดังนั้นการที่แพทองธาร จ่ายค่าหุ้นที่ซื้อด้วยตั๋ว P/N ไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง

วิโรจน์กล่าวสรุปว่า เมื่อคำนวณออกมาแล้ว แพทองธารใช้ตั๋ว P/N ในการสร้างหนี้ปลอมเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้เป็นเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนเทียบเท่ากับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่อายุ 0-6 ปี เป็นจำนวน 5,000 คน

“หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 50(9) ของรัฐธรรมนูญ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ลำพังแค่จะทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย แพทองธาร ชินวัตร ยังทำให้ดี ทำแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ แล้วจะมีหน้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีของประชาชนคนไทยได้อย่างไร” วิโรจน์ทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , , ,